ความเดิมตอนที่แล้ว จบลงตรงที่
พระโสณโกฬิวิสะ ท่านเพียรพยายามปฏิบัติธรรมอย่างอุตสาหะจนฝ่าเท้าของท่านบวมแดงและแตกจนมีโลหิตไหลนองเต็มพื้นที่ แต่ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมใดๆ ได้
จนท่านมีความคิดเห็นว่าตนคงเป็นคนประเภทปทปรมะ ผู้ที่โง่เขลา มีความเห็นผิด ไม่มีศรัทธา จึงยังไม่สามารถบรรลุธรรมใดๆ ได้ แล้วเราจะมาทนลำบากลำบนบวชอยู่ทำไม สึกไปเสพสุขปกครองทรัพย์สมบัติที่บิดามารดาสร้างเอาไว้ให้มากมายจะดีกว่า
หากเราอยากได้บุญก็เพียรพยายามบริจาคทาน รักษาศีล บำเพ็ญบุญเอาในเพศฆราวาสวิสัยก็ได้
สืบเนื่องเรื่องนี้ที่เกิดมาจากคลับเฮาส์ ชายหนูตั้งประเด็นสงสัยว่า ทำไมเป็นถึงพระอสีติมหาสาวกถึงได้มีความคิดจะมาละความเพียรเสียกลางคันเล่า
อธิบายได้ว่า ต้องโทษที่ตลอดชีวิตของท่านโสณโกฬิวิสะ มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายจนเสพติดกามคุณทั้ง ๕ เช่น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จนอิ่ม อึดอัด แล้วเกิดความเบื่อหน่ายชั่วขณะจึงมาขอบวช
รวมความว่า ตลอดชีวิตของท่านไม่เคยได้สัมผัสกับความทุกข์ยาก เดือดร้อนมาเลย เพราะเป็นบุตรชายคนเดียวของมหาเศรษฐี มีปราสาท ๓ ฤดูเป็นที่อยู่อาศัย มีสาวสรรกำนัลใน คอยปรนนิบัติรับใช้ ทั้งวันทั้งคืน
การเสพติดในกามคุณจนเป็นความคุ้นเคยกับตัณหา ความทะยานอยาก และด้วยอำนาจแห่งตัณหานี้แหละ พอถึงคราวที่จะบำเพ็ญเพียรทางจิต ก็ใช้สิ่งที่ตนคุ้นเคย คือ ตัณหามาเป็นพลังขับเคลื่อนวิมุตติธรรม
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า วิมุต คือ ความหลุดพ้น หากใช้พลังแห่งตัณหา ซึ่งแปลได้อีกอย่างว่า เครื่องผูก เครื่องข้อง มาขับเคลื่อนความหลุดพ้น จิตที่มีแต่ความทะยานอยาก ไม่ผ่อนคลาย เป็นกลาง แต่กลับมากไปด้วยความแบก ความยึด การผูกพันมันอยู่เต็มอกเต็มใจ จนล้น ท่วมท้น ทับถม ปิดบังจิตแห่งการตรัสรู้
เช่นนี้หากยิ่งดึงดันที่จะเพียรพยายามใช้แต่แรงขับเคลื่อนของตัณหา ให้เข้าถึงซึ่งความหลุดพ้น นั้นคือความผิดพลาดต่อการปฏิบัติธรรม
เว้นเสียแต่จะยอมตายแม้ไม่บรรลุธรรม ก็จะไม่ล้มเลิก และด้วยหลักคิดเช่นนี้ที่ว่า ยอมตายนี่แหละ คือ การเข้าถึงซึ่งการที่จิตทอดอาลัย ไม่ยินดียินร้ายในตัวกูของกู
ความยึดมั่นถือมั่นก็ผ่อนคลาย เบาบาง จิตก็เบาสบาย ปราศจากความยึด ความผูก จนจิตมีความอิสระผ่อนคลาย จึงจักเจริญสติ สมาธิ ปัญญาพิจารณาวาง ว่าง ในทุกสรรพสิ่ง สรรพชีวิต สรรพวัตถุเสียได้
แค่นี้ จิตก็มีอิสระสูงสุดจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง จึงเป็นจิตที่ควรแก่การงาน ผ่องแผ้ว ขาวรอบได้ในที่สุด
 
พุทธะอิสระ