Print
Hits: 16465
 
 
        หลวงปู่ตั้งคำถามให้แก่ตัวเองว่า วันนี้หลวงปู่ได้ไปพูดคุยอะไรให้ชาวบ้านฟังบ้าง และหลวงปู่ก็ตอบปัญหาในคำถามของตัวเองว่า เรื่องทั้งหลายที่พูดที่คุยนั้น มันได้มาจากจิตที่ฝึกมาดีแล้ว ได้มาจากการเพียรพยายามระแวดระวังอย่าให้จิตกระเพื่อม อย่าให้เสียสมดุลของสภาวะจิต อย่าให้ขบวนการของจิตเกิดมลภาวะ เมื่อเราสามารถฝึกจิตไม่ให้กระเพื่อม ไม่ให้เกิดมลภาวะ และไม่ทำให้จิตเสียสมดุล มันก็เป็นศูนย์รวมข้อมูลและศูนย์รวมของวิชาการด้วยในการหยั่งรู้สรรพสิ่ง
       
       ผู้มีจิตอันฝึกดีแล้ว ย่อมยังปัญญาและความรู้มาให้ เพราะอย่างนี้ เราจะเข้าใจสรรพสิ่งได้อย่างละเอียดถ่องแท้ และสามารถวิจารณ์พิจารณา ตอบปัญหา แก้ไขปัญหา แก้ไขสถานการณ์ได้ทุกกระบวนการ
       
       พวกท่านจะเห็นว่า เวลาที่หลวงปู่แสดงความรู้กับคนอื่นๆ จะเห็นว่าแสดงได้ดั่งน้ำที่ไหลรินเรื่อย ไม่ได้ติดขัด ไม่ต้องเสียเวลา นึกไม่ต้องเตรียมการ และไม่ต้องเตรียมเรื่องที่จะพูด หลวงปู่จะใช้ประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อม จากเหตุปัจจุบันเป็นเครื่องกำหนดวิถีทางแห่งการนำความรู้ให้เขา หลวงปู่จะใช้วิธีการของการดำรงชีวิตในปัจจุบันของพวกเขา เป็นตัวชี้ให้เห็นเหตุและปัจจัยของการผิดพลาด และการแก้ไขที่ถูกวิธี ถามว่าสิ่งเหล่านี้เราไปรับรู้ได้อย่างไร เมื่อมีเวลาอยู่กับเขาเพียงน้อยนิด มันเป็นเรื่องไม่ยาก ก็อย่างที่หลวงปู่พูดเมื่อครู่นี้ว่า ถ้าเรารักษาสภาพสภาวะจิตของเราให้คงไว้ซึ่งสมดุล และรักษาสภาวะจิตของเราไม่ให้กระเพื่อม มีจิตอันไม่เป็นมลภาวะ เราจะรับรู้สรรพสิ่งและสัมผัสได้ทุกสิ่งที่เราต้องการรู้ ต้องการสัมผัส
       
       จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมยังความรู้ทั้งหลายมาให้เรา ย่อมเป็นที่รวมของข้อมูลข่าวสาร ย่อมเป็นที่มาของปัญญาและย่อมเป็นที่มาของวิชาการทั้งปวง การฝึกจิตถามว่าต้องมีเวลาหรือไม่ จริงๆ แล้วอย่างที่ หลวงปู่พูดเมื่อครู่นี้ว่า วันนี้หลวงปู่ไม่ได้ทำงาน เลยต้องสวดมนต์มากหน่อยแรกๆ หลวงปู่ก็ไม่คิดอยากสวดมันหรอก เพราะรู้สึกว่าอากาศมันเป็นอย่างนี้ ทำให้ปวดกระดูก เพราะเป็นโรคแพ้อากาศ แต่ก็พยายามบังคับให้มันจมปลักอยู่ในตัวหนังสือ บังคับให้มันอยู่ในบทภาวนา ทำให้เกิดความรู้สึกจริงจัง จดจ่อ และจับจ้องใน การสวด และก็พยายามสวดมันด้วยความรู้สึกจริงใจ หลังจากสวด ไปแล้วเราก็จะได้ความรู้สึกว่าเราสลัดตัวเองให้หลุดจากการฉุด หรือหยุด ยึดหรือยุด หรือควบคุมกักขังของความเกียจคร้าน ความเบื่อ ความเหนื่อย ความเมื่อย หรือความเซ็งแม้กระทั่งความง่วงเหงาหาวนอน เพราะเราได้ปลดปล่อยมันออกไปจากความจริงใจ ตั้งใจ และก็มีสัจจะกับตัวเองที่จะเอาชนะมัน
       
       ทุกคนมีอารมณ์ขี้เกียจ หลวงปู่ก็ขี้เกียจ ทุกคนมีอารมณ์ง่วงเหงาหาวนอน หลวงปู่ก็มีอารมณ์อย่างที่พวกท่านมี ทุกคนรักสบายหลวงปู่ก็รักสบายอย่างที่พวกท่านเป็น แต่หลวงปู่ต้องเพียรพยายามเอาชนะมันด้วยความรู้สึกว่า เราต้องทำให้ได้ ต้องเอาชนะให้เด็ดขาดและต้องพยายามกับมันทุกเวลาถ้ามีโอกาส
       
       วิธีการฝึกจิตของหลวงปู่ หลวงปู่จะใช้การงานอย่างที่หลวงปู่พูดว่า วันนี้ไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้ทำงาน ก็ต้องสวดมนต์ให้มากหน่อย จะได้ไม่เสียสมดุล ก็แสดงว่าหลวงปู่ทำงานไปด้วยพร้อมกับฝึกจิตไปด้วย ทำให้จิตวิญญาณของเราอยู่ในคอนโทรลของเราได้ตลอดเวลา เราเป็นเจ้าของมัน และมันก็อยู่ในอำนาจของเรา เราจะใช้ จะคิด จะสั่งมันได้ตามสามัญสำนึก ขณะที่หลวงปู่ทำงาน ใครได้ไปเห็นจะเห็นว่าหลวงปู่จับจ้อง ตั้งใจ และจริงจัง จดจ่อกับมันอย่างชนิดที่ว่า ไม่ให้คลาดจากมัน พร้อมกับ มีความรักในมัน สร้างความรักให้เกิดขึ้นในงาน เราก็จะรู้สึกเพลิด เพลิน เมื่อเราจับจ้อง จริงจัง ตั้งใจ และจดจ่อ เลยกลายเป็นความเพลิดเพลิน มันก็จะสนุกกับงานกับการทำงาน มันจะเป็นรสชาติที่แปลกใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอกับงานแต่ละชิ้นที่ผ่านเข้ามา มันจะสร้างเสริมประสบการณ์ในการเรียนรู้ และเบิกจิตวิญญาณของเรา ให้มีความละเอียดถ่องแท้ในการเรียนรู้มากขึ้น การเรียนรู้จากการงาน ทำให้เราเกิดปัญญาในการวิจารณ์และพิจารณา และมี ดวงจิตที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างละเอียดอ่อน
       
       การที่ได้มีโอกาสทำงาน สำหรับหลวงปู่แล้ว จัดเป็นความรู้สึกที่สุดแสนจะวิเศษ ที่จะทำให้เราเป็นคนแกร่งและกล้าต่อการทำงานทุกชนิด การงานสร้างเสริมคุณภาพชีวิต และทำให้เรามีความรู้สึกนึกคิดที่ก้าวไกล หลวงปู่จะใช้เวลาส่วนใหญ่กับการฝึกจิตใจการปฏิบัติงาน เพราะอย่างนั้นเมื่อเราได้จากการงานจากการฝึกจิตที่ได้ทำงาน และใช้จิตได้มีผลงาน เราจะรู้สึกภาคภูมิต่อการดำรงชีวิต ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในสถานะว่าเรามีน้อยกว่าคนอื่น แต่ยังไง เราก็มีผลงานมากกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นผลงานทางรูปธรรมหรือสิ่งที่มองไม่เห็นรูปร่างเป็นแต่นามธรรมก็ ตามที อย่างน้อยๆ ก็ยังดีกว่าพวกที่ไม่ได้ลงมือกระทำการงาน ลงมือแต่นั่งหลับตาอยู่เฉยๆ หรือไม่ก็เอาแต่การท่องบ่นสาธยายโดยไม่ได้คำนึงนึกถึงว่า ชีวิตเรามีศักยภาพคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่
       
       การมีชีวิต เรามีพลัง พลังของเราสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับโลกและสังคมได้มากกว่า กับการเพียงได้แต่นั่งหลับตาภาวนาเฉยๆ ถ้าเราเสียเวลากับการนั่งหลับตาภาวนา สู้เราเอาเวลาเหล่านั้นมาใช้สร้างสรรค์กับการทำงานให้เกิดการงาน ทำให้เกิดกระบวนการสำเร็จในการงานพร้อมกับการฝึกจิตไปในตัว
       
       คนทำอะไรอย่างชนิดไม่ได้ประโยชน์ กับคนที่ไม่ได้ลงมือกระทำ ถือว่าคนลงมือกระทำมีความขยันหมั่นเพียร และมีโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์มากกว่า ส่วนคนที่ทำแล้วได้ประโยชน์ก็ต้องถือว่า ท่านผู้นั้นฉลาดกว่า พร้อมกับได้ใช้สมรรถนะของการมีชีวิตได้อย่างคุ้มค่า โดยการบริหารรูปธรรมและนามธรรมที่อยู่ในตัว เราทำให้มันเป็นผล มันได้ค่ามากกว่าคนที่ไม่ได้ลงมือทำ เพราะฉะนั้นความรู้ที่หลวงปู่แสดงออกในวิถีทางแห่งการทำงาน ไม่ว่าวิถีทางของการแก้ปัญหา หรือไม่ว่าวิถีทางแห่งการดำเนินชีวิต หรือไม่ว่าวิถีทางแห่งการปฏิบัติธรรม ส่วนใหญ่หลวงปู่จะไม่อ้างอิงตำราและประสบการณ์ของชาวบ้าน แม้แต่ของพระพุทธเจ้า เหตุผล ก็เพราะพระองค์ดีกว่าหลวงปู่ หลวงปู่ไม่สามารถรู้เท่าทันที่พระองค์ รู้ แต่ก็เพียรพยายามเรียนรู้ ด้วยความเคารพอย่างลึกซึ้ง สุขุม สุภาพ และหลวงปู่ก็ไม่สามารถรู้ทันคนอื่นที่เขารู้มากกว่า เพราะฉะนั้นหลวงปู่ก็ได้แต่อ้างประสบการณ์ตรงที่เกิดจากกระบวนการทำงานของ ตัวเอง ประสบการณ์ที่เกิดจากจิตวิญญาณในตัวเอง ถ่ายทอดสู่คนอื่น ได้แก่เล่าสู่กันฟังเฉยๆ ไม่ได้มุ่งหวังว่า ตนเองจะดีกว่าพระพุทธเจ้าหรือดีกว่าคนอื่น
       
       การถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของตัวเอง เล่าถ่ายทอดสู่คนอื่นฟัง เป็นวิธีการถ่ายทอดสู่คนอื่นฟังค่อนข้างที่จะมีผล ค่อนข้างที่จะแสดงตรงจุดต่อปัจจุบันธรรม และย่อมแก้ปัญหาได้ถูกกาลสมัยพูดอย่างนี้ก็มิใช่หมายถึงว่า หลักการของพระพุทธเจ้ามิได้ มีกาลเทศะก็หามิได้ หลักการของพระศาสดาถูกต้องทุกกาลสมัย เป็นแต่เพียงหลักการเหล่านั้นสูงส่งยิ่งใหญ่ ประเสริฐสุด หลวงปู่ผู้ต่ำต้อยชั่วช้า ยังมิหาญล่วงเกินแตะต้อง ทำได้แต่เพียง น้อมรับเคารพ เพียรพยายาม จะฝึกฝนปฏิบัติตามอย่างสุดชีวิตจิตวิญญาณอย่างที่หลวงปู่พูดไว้ครั้งที่แล้ว ถ้าไม่ได้นำมาพูด ก็จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่า การบวชนั้น นอกจากการตั้งใจเข้ามาปฏิบัติ ธรรมแล้ว อันดับแรกก็ต้องเข้ามาปรับปรุงนิสัย แก้ไขพฤติกรรม จำเป็นต้องใช้วิธีของพระพุทธเจ้า พระธรรมทุกข้อใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ หลวงปู่เชื่ออยู่อย่างว่า แต่ละธรรมขันธ์มันเป็นกระบวนการปรับปรุงนิสัย แต่ละธรรมขันธ์ก็เป็นกระบวนการแก้ไขพฤติกรรม แต่ที่หลวงปู่ไม่บอกเองโดยตรงก็เพราะพวกท่านไม่สามารถรู้ถึงหัวใจของพระ พุทธเจ้า พวกท่านไม่สามารถเข้าใจจุดมุ่งหมายของการแสดงพระธรรม ไม่เข้าใจถึงหลักการของพระพุทธเจ้าและหลักการของพระธรรม ที่มีเจตนาจะทรงสั่งสอนให้เราเข้าใจถึงการมีชีวิต ว่าเราได้ประโยชน์อย่างไร เราไปตีความพระธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นความศักดิ์สิทธิ์ เป็นความสูงส่ง ความวิเศษพิสดาร ว่าไม่ควรจะพูดถึงพระพุทธพระธรรม ในสังคมของคนขี้เหล้า ไม่สมควรพูด ในสังคมของคนครองเรือน ที่ไม่ควรจะพูดในสังคมของคนมีกรรม มีตัณหา มีความทะยานอยาก เช่นนี้ดูไม่น่าจะเป็นจุดประสงค์ของพระพุทธเจ้า ถ้าในสังคม เหล่านั้นขาดหรือปฏิเสธพระพุทธพระธรรม ย่อมเป็นสังคมของ ผู้มัวเมาประมาท อย่างไม่มีโอกาสจะฉลาดขึ้นได้เลย ฉะนั้นท่านทั้งหลายจงเข้าใจไว้ด้วยว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้า อยู่ได้ทุกสังคม และในทุกสังคมนั้นก็จำเป็นจะต้องมีคำว่าธรรมะ หรือธรรมะจำเป็นสำหรับทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมของการครองเรือน ไม่ว่าจะเป็นสังคมของนักบวช สังคมของอาชญากร หรือนักปราบอาชญากรรม หรือสังคมของโจรห้าร้อย สังคมของผู้ดี ไพร่ ขี้ยา ยาจก เศรษฐี จำเป็นต้องมีธรรมะของพระพุทธเจ้ากำกับดูแล
       
       เพราะถ้าเขาไม่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าดูแล เขาจะขาดทุนในหน้าที่ที่มีอยู่ เขาจะเป็นคนที่ไร้สาระ และเป็นคนที่ หลงลืมตัวเอง เป็นคนที่เลวร้ายชั่วช้า และเอารัดเอาเปรียบต่อสังคมและสุดท้าย ก็เป็นผู้ทำร้าย ทำลายสังคมในที่สุด เราจะเห็นได้ โดยทั่วไปว่าคนที่มีธรรมะ คือคนที่เอื้ออาทรการุณย์และมีจิตใจเมตตาอนุเคราะห์แก่สรรพสัตว์ มหาชนคนทั้งหลาย ก็แสดงว่าธรรมะของพระพุทธ องค์นั้นเป็นเครื่องกำกับดูแลปรับปรุงนิสัยของเราได้ และสามารถแก้ไขพฤติกรรมของเราได้ ปัญหามีอยู่ว่าเรารู้จักวิธีการเรียนรู้ธรรมะข้อนั้นๆ หรือไม่ รู้จักนำธรรมะข้อนั้นๆ มาใช้กับการดำรงชีวิต หรือไม่ รู้จักที่จะใส่ใจน้อมรับเอาธรรมะของพระศาสดาผู้สูงส่ง เข้ามาสถิตในจิตวิญญาณของเรา ด้วยความรู้สึกสามัญสำนึกของการแสวงหาสาระของเรา ด้วยการกล่าวบอกขอบใจและการให้อภัย ความรู้สึกเคารพยอมรับ น้อมเอามาปฏิบัติทำตามด้วยความเต็มภาคภูมิหรือไม่ ถ้าเรามีความรู้สึกอย่างนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเตือนกันโดยตรงว่า เจตนาของการบวชคือ การเข้ามาปรับปรุงนิสัย เจตนา ของการบวชคือ การเข้ามาแก้ไขพฤติกรรมเพราะการเตือนกันโดยตรงว่า เจตนาของการบวชคือ การปรับปรุงนิสัย แก้ไขพฤติกรรม เป็นการเตือนที่ค่อนข้างจะรุนแรง เป็นการเตือนที่ค่อนข้างจะต้องบอกกับตัวเราว่า เราเป็นคนไม่ดีนะการบวชต้องทำให้ได้ดี ตอนที่ยังไม่บวชเป็นคนที่ใช้ไม่ได้ บวชมาแล้วต้องพยายามทำให้เกิดความใช้ได้ มันเป็นความรู้สึกว่าค่าของชีวิตเรามันด้อยไป เป็นความรู้สึกว่าวิถีทางดำรงชีวิตตั้งแต่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดจนถึงวันนี้ ก่อนบวชช่างไร้สาระเสียจริงๆ มันเป็นความรู้สึกอย่างนั้นซะส่วนใหญ่
       
       เพราะงั้นคนอื่นเขาก็เลยไม่นิยมที่จะเตือนว่า การบวชนั้นเป็นการปรับปรุงนิสัยแก้ไขพฤติกรรม แต่ก็จะเตือนกันทางอ้อมว่า บวชเข้ามาแล้วก็จงตั้งใจศึกษาพระธรรม ทั้งๆ ที่บางครั้งผู้บวช หรือบ่อยๆ ครั้งหลายๆ เวลาที่ผู้บวชนั้นก็ไม่เข้าใจถึงความหมายของการเรียนรู้พระธรรมเลยว่า มันทำให้ตนได้รับอะไร มันทำให้เราได้รับความรู้สึกอย่างไรกับการเรียนรู้พระธรรม พระธรรมช่วยเหลือเราได้ในเรื่องใดบ้าง เราไม่ได้รับรู้เลย แต่เราก็พยายามเรียน พยายามขวนขวายพยายามแสวงหา พยายามไขว่คว้า และพยายาม ท่องจำในบทอ่านแห่งคำว่าพระธรรม แต่เราก็ไม่เคยนำมันมาใช้สร้างสรรค์สาระ
       
       เพราะฉะนั้นพระธรรมก็เลยดูไร้ค่าไร้ราคา ไม่มีประโยชน์ กับการเรียน จึงต้องมีคำเตือนว่า เจตนาของการบวชคือ การปรับปรุงนิสัยและแก้ไขพฤติกรรม เมื่อใดที่พฤติกรรมของเราได้รับการแก้ไขเมื่อใดที่นิสัยของเราได้รับการปรับ ปรุง ทำให้มันเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ทันสมัยขึ้น ถูกต้องขึ้น บรรลุเป้าหมาย ของการมีชีวิตได้มากขึ้น เมื่อนั้นถือว่าเรามีพระธรรม จะใช้ธรรมะข้อใดๆ ที่มีใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็ได้ สำหรับการกำกับดูแลนิสัย ธรรมะข้อใดข้อหนึ่งใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ สำหรับที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขพฤติกรรม แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า เรารู้จักนำเอาธรรมะข้อนั้นมาใช้ได้ทันการณ์ ทันเวลา ทันเหตุ ทันสมัย ถูกต้องตามลักษณะนิสัยหรือเปล่า ตรงนี้ต้องใช้ดุลพินิจ ต้องใช้ประสบการณ์ทางวิญญาณต้องอาศัยการฝึกอย่างยิ่ง การเรียนรู้อย่างยิ่ง การทำอย่างยิ่ง อดทนอย่างยิ่ง และการทำตนให้เป็นคนมีสติอย่างยิ่ง เราจึงสามารถหยิบเอาพระธรรมที่พระองค์ถือว่าเป็นอาวุธที่คอยประหัตประหารมาร และซาตานในใจเราให้ด่าวดิ้นสิ้นชีพลงไปให้ได้ เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
       
       แต่ถ้าหากเราเป็นคนที่ฝึกน้อย เรียนรู้น้อย เข้าใจน้อย หรือรู้ความหมายน้อย ก็มีสติอันน้อยนิด เราก็ไม่อาจเรียนรู้ความหมายของพระธรรม ไม่เข้าใจถึงฤทธิ์ รสชาติ หรือคุณสมบัติของพระธรรม เราก็จะไม่รู้ว่า พระธรรมมีประโยชน์อันใด เราจะเข้าใจแต่เพียงว่ามีพระธรรมก็คือ การที่ทำให้เราเป็นคนดี แล้วมันจะดีได้ อย่างไร ก็ในเมื่อเราไม่ลงมือกระทำ ความดีทั้งหลายที่พูดให้ฟังนี่เพื่อความเข้าใจกระจ่างแจ้งชัดในวิถีทางของ การบวช พวกท่านจะสังเกตเห็นว่า หลวงปู่ไม่ค่อยได้ออกไปจากวัด แต่เวลาหลวงปู่แสดงธรรมก็แสดงภูมิความรู้กับคนอื่น หลวงปู่ค่อนข้างที่จะพูดได้ ตรงกับจุดที่เขามีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เพราะหลวงปู่พยายามฝึก การเรียนรู้ ฝึกการรับรู้ หลวงปู่พยายามทำให้เกิดความรู้สึก หูฟัง เสียงสำเหนียกตีความ จมูกได้กลิ่น เกิดมีความรู้สึกในกลิ่น ก็พยายามตีความและหาเหตุของกลิ่น ลิ้นรับรสต้องแยกแยะให้ ได้ว่ารสไหนที่เคยสัมผัส และไม่เคยสัมผัส
       
       หลวงปู่จึงทำกับข้าวได้หลากรส ทั้งๆ ที่ไม่ได้ฝึกมาว่าจะทำด้วยรสอะไร หลวงปู่จึงสามารถแยกแยะรสได้จากการดื่มกิน หรือฉันอาหาร เพราะฉะนั้นการฝึกสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่พิเศษพิสดาร แต่มันเป็นเรื่องความละเอียดอ่อนของกระบวนการแห่งจิต ขอเพียงแต่ฝึกจิตให้ละเอียด ทุกอย่างในการสัมผัสในตัวเรามันก็จะละเอียดตามไปด้วย เราจะมีความสุขุมนุ่มลึกและก็มีความสมดุล ที่คงไว้ซึ่งไม่กระเพื่อม และชีวิตของเราก็จะมีเสรีภาพ เหมือนกับคลังปัญญาที่เดินไปไหนก็พร้อมที่จะใช้งานได้ทุก เวลา เราไม่ต้อง รู้สึกเก้อเขิน ไม่ต้องรู้สึกประหม่า ไม่รู้สึกสั่นกลัว หวาดผวาหรือสะดุ้ง เราจะอาจหาญ ภาคภูมิและรับสถานการณ์ ได้ทุกเวลา
       
       มีครั้งใดบ้างที่พวกท่านเคยสังเกตเห็นว่า หลวงปู่รู้สึกประหม่า ในการเข้าสังคม มีครั้งใดบ้างที่หลวงปู่ทำให้พวกท่าน เกิดความรู้สึกว่า หลวงปู่เกิดความรู้สึกเหงื่อตก หน้าซีด เสียงสั่น กิริยาอาการ สะดุ้งกลัว หลวงปู่ไม่เคย จะบอกว่าหลวงปู่ไม่ เคยเกิดอาการอย่างนั้น ไม่ว่าจะสังคมชั้นสูง ใหญ่โตมโหฬารเทียบ เท่าเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน หรือว่าต่ำสุดระดับขี้ข้า ขอทาน หลวงปู่ก็ เป็นตัวของหลวงปู่เอง เหตุผลก็เพราะผลจากการฝึกปรือ ฝึกให้หนัก เรียนรู้ให้มาก แสวงหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นความรู้ หลวงปู่ เชื่อว่าธรรมชาติ วิญญาณ ของการเรียน ไม่ได้ขึ้นตรงอยู่เฉพาะในหนังสือ ในตำราเรียน ในสถาบันการศึกษา หลวงปู่คิดว่าอย่างนั้น เพราะว่าการเรียนในโรงเรียน ในสถาบันการศึกษา มันเป็นความรู้แห่งหนึ่งในหลายร้อยพันวิชาการ ที่รอบๆ ตัวเรายังรู้ไม่ ถึงรู้ไม่หมด แล้วก็สาขาอาชีพใดๆที่เราเคยอาจจะเรียนอย่างถ่อง แท้ ชำนาญการ ในความรู้จากตำราหรือครูบาอาจารย์อบรมสั่ง สอนในสถาบันการศึกษา แต่เมื่อลงมือกระทำแล้ว มันไม่ได้สวย หรูอย่างคาดคิดเสมอไป
       
       ประสบการณ์ตรงมีค่ามากกับการทำงาน ประสบการณ์ ตรงย่อมให้ประโยชน์มากกว่าความรู้ที่ท่องจำ ประสบการณ์ตรง ย่อมให้คุณลักษณ์ที่ดีกว่าการได้ยิน การบอกเล่าถ่ายทอดสู่กันฟัง เพราะฉะนั้นการทำชีวิตให้ถึงประสบการณ์ตรง ก็คือการแสวงหาความรู้รอบกายก่อน จากต้นไม้ใบหญ้า จากการสัมผัสดินฟ้า อากาศ จากเสียงนกร้อง จากกิริยาอาการของสัตว์ที่อยู่ใกล้ๆ สิ่ง เหล่านี้มันเป็นประสบการณ์ตรงที่จะสอนความรู้ให้เกิดขึ้นมากมาย มากเกินเสียกว่าการศึกษาในตำราและห้องเรียนที่มีอยู่ใน ปัจจุบัน หลวงปู่ว่าอย่างนั้น และสถาบันที่มีเกียรติสูงส่ง มีเกียรติ อันยิ่งใหญ่ที่ฝึกปรือหลวงปู่ให้เกิดขึ้น และฝึกปรือพระพุทธะผู้ ยิ่งใหญ่ให้อุบัติขึ้น และฝึกปรือพระสาวกอันยิ่งใหญ่ที่มีมาแล้ว แต่ในอดีตให้เกรียงไกรและมีบุญฤทธิ์ มีกฤษฎาภินิหาร มีอำนาจ มีพลัง มีตบะ มีปัญญา นั่นคือสถาบันธรรมชาติ ห้องเรียนที่มีอยู่ ในธรรมชาติ ท่านผู้ประเสริฐ เหล่านั้น มีความสำเร็จ ได้สาระจากการศึกษาธรรมชาติ ภายในและนอกกายตน
       
       เพราะฉะนั้นโรงเรียนแห่งธรรมชาติ สถาบันการศึกษาแห่ง ธรรมชาติ มีคุณสมบัติพิเศษมากกว่าโรงเรียนในสถาบันห้องแอร์ หรือในที่ที่ครูผู้สอนมีประกาศนียบัตร หลวงปู่ถือว่าเป็นอย่างนั้น และทุกคนก็ได้รับประโยชน์จากมันอย่างคุ้มค่า เราอาจจะพูดได้เลย ว่า นักเรียนที่ไปเรียนอยู่ในสถาบันศึกษาทั้งหลายในปัจจุบัน ไม่ สามารถนำความรู้มาใช้ประกอบกับการดำรงชีวิตในปัจจุบันได้ถึง ๕๐ % มีเยอะแยะ คนจบกฎหมายมาขายเต้าฮวย คนจบบริหารมา ขายก๋วยเตี๋ยวเป็ดมีเยอะแยะ ที่จบบัญชีไม่มีเลขจะคิด ไม่มีงานจะทำ และตกงานอยู่ แต่หลวงปู่ไม่เคยเห็นคนที่จบวิชาการธรรมชาติ...ตก งาน ชั่วชีวิตของหลวงปู่ที่ยืนหยัดอยู่บนแผ่นดิน ยังไม่เคยเห็นคน ที่จบหลักสูตรวิชาการธรรมชาติตกงาน ตรงกันข้าม คนที่กลับไขว่ คว้ายื้อแย่ง แสวงหาวิชาการในสถาบันดัง โรงเรียนดี กลับเพิ่มพูน มลทินขึ้นเรื่อยๆ มากมายนานนับปีจนบางครั้งดูเหมือน จะหมด โอกาสได้ดี ซึ่งต่างจากคนที่จบวิชาการธรรมชาตินี้ ผู้คนจักพยายาม เมื่อรู้ว่าใครจบวิชาการเหล่านี้ก็พยายามเข้าใกล้ พยายาม ยื้อแย่ง ความเป็นเจ้าของ ยื้อแย่งที่จะอยู่ใกล้ ยื้อแย่งที่จะรับการถ่ายทอด อบรมสั่งสอน เพระมันเป็นวิชาการที่ยิ่งใหญ่ครอบคลุม จักรวาล ได้ เป็นวิชาการที่ทำให้โลกและสังคมอยู่ได้ด้วยความพึ่ง พิงอิง แอบอาศัยเกิดความผาสุก เพราะฉะนั้นหลวงปู่อยากจะบอกท่าน ว่า ความรู้รอบตัวในตัวท่านน่ะยังเรียนไม่หมดเลย นับประสาอะไรที่จะไปเรียนความรู้ที่อยู่ไกลตัว มีความรู้เยอะแยะในตัวและ รอบๆ ตัวเรา เสียงร้องของนก กลิ่นอายของธรรมชาติ กิริยาอาการ เริงระบำแห่งยอดไม้ที่ได้รับสายลมอ่อนๆ กิริยาอาการของดอกไม้ ที่ผลิดอกออกรับแสงตะวันยามเช้า เสียงร้องแห่งผึ้ง กิริยาอาการว่าย น้ำของปลา การแสดงกิริยาของไก่ สิ่งเหล่านี้เป็นครูสอนเราได้เยอะแยะ ว่ามันกำลังบอกอะไรกับเรา มันกำลังทำให้เราเข้าใจอะไรมัน แล้วเราจะสื่อความหมายกับมันได้อย่างไร มันให้ ประโยชน์อะไร กับเราบ้าง และเราจะให้ประโยชน์อะไรกับมันได้บ้าง
       
       การมีชีวิตเพื่อเข้าใจสรรพสิ่ง เนี่ยเป็นยอดของชีวิต แต่ มีชีวิตเพื่อทำลายสรรพสิ่งเนี่ย เลวชีวิต เป็นชีวิตที่ทุเรศ หรือเป็นชีวิต ทุพพลภาพ เพราะฉะนั้นขอเพียงมีชีวิตเพื่อเข้าใจสรรพสิ่ง สรรพสิ่ง ก็จะเข้าใจเรา เมื่อสรรพสิ่งเข้าใจเรา เราเข้าใจสรรพสิ่ง สรรพสิ่งกับ เราไม่ต่างกัน เราจะอยู่กับสรรพสิ่งได้อย่างไม่มีข้อแม้ ไม่มีข้อแตก ต่าง เราก็กลายเป็นหนึ่งสิ่งในหลายสิ่งของสรรพสิ่ง และเมื่อเป็น หนึ่งในหลายสิ่งของสรรพสิ่ง สิ่งนั้นๆ เราก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าของสรรพสิ่ง และสรรพสิ่งก็เป็นของของเรา และในของของเราแห่ง สรรพสิ่งก็ไม่ได้แตกแยกจากกระบวนการ ปรมาณู นิวตรอน โปรตรอน อะตอม และอนุภาค ในกระบวนการดำรงชีวิตของมันคง สิ้นสุดลงที่กระบวนการสุญญากาศ และสุญญตา ที่พระศาสดา ทรงเรียกว่านิพพาน นิพพานแปลว่า ดับและเย็น ตอนนี้พวกท่าน อาจจะฟัง ดูแล้วยังไม่เข้าใจ แต่สักวันหนึ่งพวกท่านคงจะรู้ว่า คำ ว่าสรรพสิ่ง หนึ่งสิ่ง หลายสิ่ง รวมกันแล้วมันจะเกิดปรากฏ การณ์ อะไร แต่อยากจะบอกให้พวกท่านเข้าใจถึงการมีชีวิตว่า ถ้ามีชีวิต อย่างไร้สรรพสิ่ง มีชีวิตอย่างปฏิเสธสรรพสิ่ง และไม่เข้าใจสรรพ สิ่ง ไม่รู้กติกาของความพึ่งพิงอิงแอบของกันและกันในสรรพสิ่ง ถือว่าเป็นชีวิตทุเรศ เป็นชีวิตทำลายสรรพสิ่ง และเป็นชีวิต ที่ไม่มี ชีวิต มันไม่ต่างอะไรกับก้อนหินเดินได้