หลวงปู่จะไม่รู้สึกกระดากเลย ที่จะพูดถึงพลังของพระพุทธะ ผู้ยิ่งใหญ่ จะไม่รู้สึกลำบากที่จะอธิบายถึงจิตวิญญาณ ที่เป็นพลังแห่งพระพุทธะเพราะถือว่าเป็นการกล่าวประกาศพระเกียรติคุณในจิต วิญญาณของพระองค์ให้ยิ่งใหญ่ แผ่กว้างออกไป
      
       เพราะฉะนั้น หน้าที่ของพวกเราทุกคน คือถ่ายทอดจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ดวงอื่นเข้าไปสู่จิตดวงหนึ่ง และส่งทอดต่อๆ กันไปกับจิตดวงอื่นเรื่อยๆ อย่างชนิดไม่จบไม่สิ้น และพลังชนิดนี้ก็จะยืนหยัดอยู่ในโลกได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีประโยชน์ชนิดช่วย สรรพสัตว์
      
       โดยหน้าที่ของนักบวชในศาสนานี้ หลวงปู่พูดไว้เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ว่า "มีหน้าที่ปลดจากความเป็นทาสของประชาชาติและสัตว์โลก"
      
       ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้สืบทอดจิตวิญญาณของพระพุทธะ และส่งทอดกันต่อๆ ไป ก็คือ ผู้กล้าและผู้อาจ ผู้มีความสามารถ ในจิตวิญญาณตนยากและหาได้น้อยมาก ที่จะเข้าถึงสัจธรรมแห่งพลังงานนี้และที่จะอธิบายชี้แจงแสดงเงื่อนไขแห่ง พลังวิเศษ๒ ชนิด ที่มีอยู่ในพระวรกายแห่งพระพุทธะผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต นั่นคือ "พลังงานอนันต์ " ที่เรียกกันว่า "พลังบุญ" หรือที่เรียกว่า "พลังอมตะ"
      
       เรามีหน้าที่ที่จะพัฒนาพลัง ๒ ชนิดนี้ให้อยู่ในจิตวิญญาณของเราและเราสาวกของชาวศากยะ มีหน้าที่ที่จะชี้นำ อบรม สั่งสอน และเผยแพร่ " วิถีทางแห่งความหลุดพ้น "ชนิดนี้ให้กับหมู่สรรพสัตว์ สรรพชีวิตทั้งหลายได้รับรู้ เพื่อนำเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ในชีวิตตนและคนทั้งปวง
      
       ก่อนที่จะมาพูดถึงพลัง ควรต้องพูดถึง ประตูกับหน้าต่างก่อน ถ้าเปรียบสมาธิก็คือ พลังหรือสมบัติในบ้าน สติก็คือประตู หน้าต่างคือรั้ว คือข้างฝา คือหลังคา คือพื้น คือสิ่งแวดล้อมที่รักษาพลัง เปรียบเหมือนกับคนที่อยากจะฝึกพลัง แต่ไม่มีสติ ก็ไม่มีพลัง ไม่มีสมาธิสติเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ สมาธิเป็นพลัง เป็นผลของสติ
      
       เพราะฉะนั้น หลวงปู่จึงพูดไว้ว่า พระที่วิเศษไม่ใช่พระหลวงพ่อไม่ใช่พระเหรียญห้อยคอ แต่มันคือ "พระสติ"
      
       คนมีพระสติ ไม่ต้องพยายามทำให้ใครนิยมยอมรับ แต่ทำ ตนให้เป็นที่ยอมรับของตนเอง แจ่มแจ้งชัดเจนในตัวเอง รักษาพลังสั่งสมพลัง ดูแลพลัง แล้วก็ค่อยๆ ที่จะใช้พลัง
      
       "บุญ"นั้นคือ พลังงานชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความละเอียดอ่อน ยิ่งกว่าพลังงาน โปรตรอน นิวตรอน และอีเล็กตรอน ซึ่งถือว่า "บุญ" เป็นพลังงานอนันต์ของสรรพสัตว์ ของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ พระปัจ-เจกโพธิ์ พระเจ้าแผ่นดิน
      
       ต่อคำถามที่ว่า ระหว่าง "พลังบุญ" กับ "พลังจิต" อันไหนมี พลังกว่ากัน เหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร คำตอบคือ ไม่เหมือนกัน แต่ บุญ เป็นเหตุแห่งจิต และจิต เป็นผลแห่งบุญ บุญเป็นอาหาร แห่งจิต ดั่งแสงแดดเป็นตัวการสำหรับปรุงอาหารให้กับต้นไม้
      
       จิตนั้นไร้รูปร่าง เหมือนสุญญากาศ และมีพลังอันยิ่งใหญ่แฝงอยู่ พระพุทธเจ้า เรียกว่า "สุญญตา" คือ ความว่าง ความโปร่ง ความโล่ง ความเบาและสบาย ละเอียดยิ่งกว่า "สุญญากาศ" เข้าถึง "พลังแห่งจิต" เข้าถึงโลกและจักรวาล พระศาสดาผู้เข้าถึงพลังนี้ พระองค์จึงเรียกขานตัวเองว่า เราคือโลก โลกคือเรา จิตคือ โลก โลกคือจิต จิตคือเรา เราคือจิต
      
       หลวงปู่อาจจะเคยพูดว่า บุญเป็น พลังงานอนันต์ ทำให้คนเป็นพระพุทธเจ้า บุญเป็นพลังงานอนันต์ ทำให้ยาจกเป็นพระราชา ทำให้คนธรรมดาเป็นเหนือธรรมดา บุญเป็นพลังงานอนันต์ ที่ทำให้คนใกล้ตาย กลับไม่ตาย และทำให้ได้พบความสำเร็จลุล่วงได้ตามประสงค์
      
       แต่บุญก็ยังเป็นพลังงานที่รองลงมาจากพลังงานอมตะแห่งจิต ถึงแม้ว่าเราจะปฏิเสธการเรียนรู้เรื่องจิต แต่ทุกคนมีพลังจิตชนิดนั้น อยู่ หากไม่ได้พัฒนา และไม่รู้จักวิธีใช้ บางทีเราก็อาจใช้อย่างฟุ่มเฟือยและไม่รู้จักรักษาสร้างเสริมเพิ่มเติม
      
       จิตทุกดวงมีพลังอมตะ และเท่าเทียมกัน ต่างกันตรงที่คนคนนั้นจะเข้าถึงจิตของตนมากน้อยอย่างไร บุคคลนั้นๆ จะเปิดประตู แห่งวิญญาณไปรู้จักหน้าตาแห่งจิตแท้ๆ อย่างละเอียด หยาบ สุขุม ลุ่มลึก หรือรู้จักแบบความไม่มีอะไรให้ยึดถือได้
      
       เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงสอนให้เราเข้าถึงจิตของตนและพระองค์ก็ทรงชี้ประโยชน์แห่งการเข้า ถึงจิตของตนว่าคน คนนั้นจะดับและเย็น นั่นคือ "นิพพาน" ซึ่งผู้มีบุญหรือมีเพียงพลังงาน อนันต์ไม่สามารถผลักดันให้ถึงนิพพาน อันแปลว่าดับและเย็นได้ พลังงานชนิดเดียวเท่านั้นที่ทำให้เข้าถึงนิพพานได้ คือ พลังแห่งจิต
      
       พลีงงานซึ่งเป็นพลังงานอมตะนั้น ไม่ใช่ได้มาจากที่อื่นไม่ใช่ได้มาจากครูคนใด ไม่ใช่ได้มาจากพระพุทธเจ้าประทานให้ แต่ได้มาจากหัวใจที่เอื้ออารี และเต็มเปี่ยมด้วยคุณความดีที่เรียกขานกันว่า "ผู้มีบุญ "และมันก็ได้มาจากการทำกรรมดี ที่ เรียกว่า "ทำบุญ" แต่สุดท้ายต้องไม่ยึดติดใน " บุญ "
      
       หน้าที่ของสาวกแห่งพระศาสดา คือ "นักบวช" ที่ทำหน้าที่บริหารบุญ และให้แล้วซึ่งบุญต่อ "ทายก" คือผู้ให้ หรือผู้ต้องการบุญจากนักบวชผู้ประเสริฐ เพื่อพัฒนาไปสู่พลังงานอนันต์เนื่องจากบุญเป็นอาหารแห่งจิต ผู้มีบุญเท่านั้น จึงจะถึงพลังแห่งจิตได้
      
       พระพุทธเจ้า จึงสอนให้พวกเราทำบุญ ๑๐ ประการ คือ
      
       ๑. ให้ทาน
       ๒. รักษาศีล
       ๓. ฟังธรรม
       ๔. แผ่เมตตา
       ๕. เจริญภาวนา
       ๖. ทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้องอย่าบกพร่อง
       ๗. อ่อนน้อมถ่อมตน
       ๘. ยินดีเมื่อเห็นคนอื่นทำดี
       ๙. ปฏิบัติธรรม
       ๑๐. ทำความเห็นให้ตรงและถูกต้อง
      
       เมื่อเข้ามาสู่ประตูแห่งคำว่า "บุญ" คือ เต็มเปี่ยมไปด้วย บุญทั้งปวงแล้ว ก็ ละวาง แม้แต่ บุญ ก้าวล่วงพ้นคลังบุญ เข้าสู่ความว่างเข้าสู่วิญญาณแห่งสุญญตา เมื่อนั้น เขาผู้นั้นจะเข้าถึงนิพพาน อันแปลว่า ดับ และ เย็นนั่นเอง
      
       นี่คือวิธีเข้าถึงพลังงานอนันต์ ถ้าเปรียบเป็นวิทยาศาสตร์ มันก็เหมือนกับกระสวยอวกาศ ยานอวกาศ ที่หลุดออกไปพ้นจากแรงดึงดูดของโลกเพื่อก้าวล่วงข้ามไปสู่วงโคจรแห่งจักรวาล ได้ ก็ต้องอาศัยเชื้อเพลิงที่จะผลักดันเอายานอวกาศลำนั้น ให้หลุดไปจากแรงดึงดูดของโลกก่อน เมื่อเชื้อเพลิงมันผลักดันเอากระสวยอวกาศให้หลุดออกไปได้แล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็จะใช้วิธีคำนวณเพื่อจะให้สลัดหลุดจากแหล่งเชื้อเพลิงอัน นั้น ต่อไปก็จะเดินทางด้วย พลังอีกชนิดหนึ่ง นั่นก็คือ พลังบุญ เป็นพลังงานที่จะผลักดันเอากระสวยอวกาศ ให้พ้นจากแรงดึงดูดของโลก เมื่อกระสวยอวกาศพ้นจากแรงดึงดูดของโลกแล้ว ผู้ควบคุมยานอวกาศลำนั้น ก็จะทำหน้าที่กดปุ่มเพื่อจะสลัดเอาเชื้อเพลิงที่ติดมากับกระสวยอวกาศนั้น สลัดให้หลุดและทิ้งไปและก็จะใช้พลังงานชนิดใหม่เพราะในอวกาศไม่มีแรงดึงดูด เป็นระบบสุญญากาศต้องใช้เชื้อเพลิงชนิดใหม่ที่เบา แข็งแรง มีพลัง และต้านแรงกดดันได้เป็นเยี่ยม และเชื้อเพลิงชนิดนั้นก็ต้องเปรียบได้ว่าเป็นพลังจิต
      
       เพราะฉะนั้น พวกเรามีหน้าที่ที่จะทำให้หลุดออกไปจากโลกนี้ให้ได้ แล้วพลัง ๒ ชนิดที่จะทำให้เราหลุดออกไปจากโลกนี้ก็คือ พลังงานอนันต์ คือ บุญ กับพลังแห่งจิต นั่นคือพลังอมตะ พวกเราก็เหมือนกัน มีหน้าที่ที่จะพัฒนาชีวิตให้เข้าไปสู่พลัง ๒ ชนิด แล้วก็เป็นหน้าที่ที่พระศาสดาองค์พระสัมมาสัมพุทธะ ผู้ยิ่งใหญ่สืบทอดและสั่งสอนกันต่อๆมาในตระกูลศากยะและ ชาวพุทธะทั้งปวงให้รู้และเข้าใจ
      
       เหมือนดังบทโศลกที่หลวงปู่ได้เขียนสอนลูกหลานทั้งหลายเอาไว้ว่า
      
       "ใช้สมมติ ให้เกียรติในสมมติ
       ให้ประโยชน์ในสมมติ ได้ประโยชนในสมมติ
       และท้ายที่สุดอย่ายึดติดในสิ่งที่เป็นสมมติ"