visakha21May2016 1

หลวงปู่นำเจริญพระพุทธมนต์บทระตะนัตตะยัปปะณามะคาถา บทพิจารณาสังขาร อะภิณหะปัจจะเวกขะณะปาฐะ แผ่เมตตา...

วันนี้นำเจริญพระพุทธมนต์บทวิปัสสนากรรมฐานเพื่อทบทวน ให้บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายได้เข้าใจถึงความเป็นจริง ได้เรียนรู้ศึกษาถึงสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอน พระองค์สอนในสิ่งที่เป็นความเป็นจริง และความจริงนั้นเมื่อเราเรียนรู้ศึกษาแล้วมันต้องทำให้เกิดนิพพิทาญาณ

นิพพิทาญาณก็คือความเบื่อหน่าย คลายความกำหนัดยินดี ธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นไปเพื่อคลายความกำหนัดยินดี ธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไปเพื่อความไม่สั่งสม ไม่ พอกพูน ธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นไปเพื่อความรู้ชัดตามเป็นจริง

ธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไปเพื่อความสงบระงับ ธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไปเพื่อความสำรวม สังวรระวัง ธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น เพราะฉะนั้นถ้าอะไรที่เป็นคำสอนที่นอกเหนือจากสิ่งเหล่านี้ นั่นไม่ใช่ธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ต้องคุย ต้องเน้นเรื่องนี้ก็เพื่อให้ท่านได้แยกแยะได้ชัดว่าอะไรเป็นสัจธรรม อะไรเป็นอธรรม เวลาเราไปหาครูบาอาจารย์ เกจิทั้งหลาย ก็จะได้วิเคราะห์ได้ว่า สิ่งที่เขาสอนเขาอบรมนั้นเป็นสัจธรรมหรือเป็นอธรรม ถ้าเป็นอธรรมก็ลุกเดินหนีซะ แต่ถ้าเป็นสัจธรรมก็จงตั้งใจฟังด้วยความเคารพนบนอบว่านั่นคือ ธรรมะขอพระผู้มีพระภาคเจ้า เราจะได้ไม่เยิ่นเย้อ ไม่เนิ่นช้า ไม่เสียเวลากับการที่ต้องมานั่งเสียอกสัยใจ กับ สมีต่างๆ ... ที่ไปแล้ว

แล้วสุดท้ายพุทธบริษัทไทยได้อะไร ได้แต่ความเสียอกเสียใจ เจ็บช้ำน้ำใจ แม้ที่สุด มิตซุโอะก็ไปแล้ว

รวมๆ แล้วเราเจ็บช้ำมานานมากพอแล้ว เราหมดกำลังใจกับเรื่องพวกนี้มามากพอแล้ว มันควรจะยุติได้แล้ว

วันนี้ก็เลยนำเอาพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ต้องอัญเชิญพระธรรมมาก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า อลัชขีมันสอนเนี่ย ถูกหรือผิด .. นักบวชทั้งหลายที่พยายาม พร่ำสอนว่ามันถูกต้องหรือว่า มันผิดพลาด อุตส่าห์ไปค้นเอามาให้ให้เรียนรู้ ให้ศึกษา ให้ได้อบรม เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลาย โปรดจงสดับฟังเทศนาขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยความสงบสำรวม เคารพและสังวรณ์ระวัง มีสติตั้งมั่น ฟังด้วยดีแล้วจะเกิดปัญญา

visakha21May2016 2

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เรื่องรูปฌาน ๔

ดูก่อนจุนทะ เรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมให้พระจุนทะเถระเจ้าได้สดับ ด้วยเหตุผลว่าพระจุนทะเถระเป็นผู้ชื่นชอบในฌานสมาบัติ ถึงขนาดเมื่อบรรลุอรหันต์แล้ว ก็ยังได้รับขนานนามเป็นอสีติมหาสาวก ผู้ชำนาญในทิพยจักษุญาณ คือ มีตาเป็นทิพย์ มีสัมผัสเป็นทิพย์ เพราะเป็นผู้ช่ำชองเรื่องสมาบัติและชอบสมาบัติมาก จนกระทั่งท่านหวิดที่จะหลงทาง และไม่สามารถอยู่ในวิถีแห่งมรรคาปฏิปทา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตรัส พระคาถานี้ ว่า

ดูก่อนจุนทะ ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ ภิกษุนั้นจะพึงมีความคิดที่ต้องการว่า เราจะอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส โดยความเข้าใจสำเหนียกผิดว่า องค์ฌานนั้นสามารถขัดเกลากิเลสได้

ดูก่อนจุนทะ แต่ธรรมคือปฐมฌานนั้น เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส ในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพนี้ ในวินัยของพระอริยะ

อนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ภิกษุนั้นแม้จะต้องการและมีความคิดอยู่อย่างนี้ว่า เราย่อมอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส คือสำคัญผิดคิดว่าองค์ฌานชั้นทุติย สามารถขัดเกลากิเลสได้

ดูก่อนจุนทะ แต่ธรรมคือทุติยฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสได้ในวินัยของพระอริยเจ้า เรากล่าวว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพนี้เท่านั้น ในวินัยของพระอริยะ

อนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป ทุติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ ผู้ที่ได้ฌานนี้ เป็นผู้ที่มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข ภิกษุนั้นพึงมีความคิดปรารถนาว่า เราย่อมอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสเช่นนี้

ดูก่อนจุนทะ แต่ธรรมคือตติยฌานนี้เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสได้ ในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น

อนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีขึ้นได้ ที่เกิดแก่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อบรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสในก่อนนั้นเสียได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ภิกษุนั้น พึงมีความคิดอย่างนี้ว่า มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า เราย่อมอยู่ในธรรมนี้เพื่อขัดเกลากิเลส

ดูก่อนจุนทะ แต่ธรรมคือจตุตถฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสได้ ในวินัยของพระอริยเจ้า เป็นแต่ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขเฉยๆ

ดูก่อนจุนทะ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยมนสิการระลึกและรู้อยู่ อากาศไม่มีที่สุด และก้าวล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่มนสิการนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวงอยู่ ภิกษุนั้นพึงมีความคิดอย่างนี้ ต้องการอย่างนี้ว่า นี่คือธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส

ดูก่อนจุนทะ เรากล่าวว่า แม้อากาสานัญจายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในวินัยนี้เลย

อนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แก่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พึงล่วงอากาสานัญจายตนฌานเสียโดยประการทั้งปวง แล้วมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุด พึงบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ภิกษุนั้นจะพึงมีความคิดและต้องการอยู่ว่า เราจะอยู่ในธรรมนี้เพื่อขัดเกลากิเลส
ดูก่อนจุนทะ แม้ธรรมคือวิญญาณัญจายตนนั้น เราก็กล่าวว่า ไม่ได้เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส

อนึ่ง ฐานะนี้มีอยู่กับภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เพื่อต้องการจะทำให้ฌานเจริญขึ้น พึงล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง แล้วมนสิการไปว่า ไม่มีอะไรเหลือสักน้อยนิดพึงบรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ภิกษุนั้นระลึกอยู่อย่างนี้ว่า นี่คือธรรมเครื่องขัดเกลา

ดูก่อนจุนทะ แม้ธรรมคืออากิญจัญญายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัยนี้เลย

อนึ่ง ข้อนี้ ฐานะที่จะมีได้แล ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พึงล่วงอากิญจัญญายตนฌานเสียโดยประการทั้งปวง แล้วพึงบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ภิกษุนั้นพึงมีความคิดและความต้องการอย่างนี้ว่า เราจะอยู่ในธรรมนี้เพื่อขัดเกลากิเลส

ดูก่อนจุนทะ แต่ธรรมคือเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมที่สามารถขัดเกลากิเลสได้ เป็นแต่เพียงธรรมเพื่อให้อยู่อย่างสงบระงับเฉยๆ เท่านั้น จบ องค์ฌานทั้ง ๔ (สาธุ)

จะเห็นว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงไล่ฌาน ที่ละข้อๆ ตั้งแต่ ฌาน ๔ ฌาน ๕ ฌาน ๖ ฌาน ๗ แล้วก็ฌาน ๘ ที่เรียกว่า สมาบัติ ๘ ก็ไม่สามารถขัดเกลากิเลสได้ เป็นแต่เพียงให้สงบระงับอบยู่เฉยๆ เพราะฉะนั้นไม่มีธรรมอันใดที่จะกำจัดขัดเกลากิเลสได้ถ้าไม่ใช้ “ปัญญา” เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นชัดเจนว่า แม้แต่องค์ฌานที่เกิดจากสมถะ เจริญสมาธิถึงขั้นสูงสุด ก็ไม่สามารถขัดเกลากิเลสได้ เป็นแต่เพียงทำให้สงบ ระงับอยู่เฉยๆ ยกเว้นจะเจริญปัญญาจึงจะสามารถขัดเกลากิเลสได้ เป็นการยืนยันให้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกย่องยอมรับปัญญา คือเครื่องขัดเกลากิเลส แล้วก็ทรงตรัสว่า “ผู้มีปัญญา ย่อมมีแสงสว่างในโลก “ ที่นี้เราจะทำอย่างไรให้เกิดปัญญา...

มีปัญญาคือผู้มีแสงสว่างในโลก ที่นี้เราจะทำอย่างไรให้เกิดปัญญา...

ฝึก มีความเพียร วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ฝึก มีความเพียร ศึกษา อบรม สั่งสมปัญญา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้วิถีแห่งปัญญาว่า
๑ สุตตมัยปัญญา ฟัง ศึกษา ค้นหา ค้นคว้า
๒ จินตามัยปัญญา คิด วิเคราะห์ พินิจพิจารณา
๓ ภาวนามัยปัญญา ลงมือกระทำ

ฟัง คิด ทำ ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปฏิเสธ ฌาน ทั้ง ๘ ว่าไม่สามารถขัดเกลากิเลส ก็ต้องถามตัวเราว่า เราต้องการขัดเกลากิเลส หรือต้องการสมาธิ เลยเป็นที่มาว่า บทโศลกที่หลวงปู่เขียนไว้เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วว่า

“ลูกรัก เมื่อใดที่เจ้าต้องการสมาธิ เห็นพระพุทธเจ้าต้องหนีให้ไกล เห็นพระธรรมต้องเผาทิ้ง เห็นพระสงฆ์ต้องฆ่าทิ้ง”

ด้วยเหตุผลว่า นั่นไม่ใช่ทำให้เกิดสมาธิ เพราะสมาธิมีอารมณ์เดียวเท่านั้น ถ้าไปเจอพระพุทธเจ้าก็แสดงว่า สองอารมณ์ สามอารมณ์ ยังเขียนบทโศลกเอาไว้อีก ซึ่งจริงๆ เขาไม่ได้พิมพ์ มันตกหล่นอยู่ แต่คู่กับบทโศลกบทนี้ว่า

“ลูกรัก เมื่อใดที่เจ้าต้องการกำจัดชาติ ชรา มรณะ สมาธิ และอุปกิเลสทั้งปวง เรื่องมันง่ายมาก เพียงแค่เจ้าทำความเข้าใจรู้จักสภาพธรรมที่ปรากฎตามความเป็นจริง อยู่เนืองนิตย์”

แล้วก็เขียนบทโศลกเอาไว้อีกบทหนึ่งว่า " ลูกรัก กิจของพระศาสนานี้มีอยู่ ๓ อย่าง หนึ่ง ไม่เพิ่มขยะใหม่ สอง ทำลายขยะเก่า สาม ทำของดีที่มีอยู่แล้ว ให้ผ่องใส... จบกิจพระศาสนา" ทั้งหมดนี่เขียนเอาไว้ เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว

แต่ไม่ค่อยมีใครจะศึกษา ไม่มีใครจะวิเคราะห์ใคร่ครวญ เพราะนึกว่าเป็นของเล่นๆ เขียนไว้ดู สลวย สวยหรู จริงๆ แล้วมันเป็นโศลกธรรม เป็นข้อธรรมที่นำมาขยายใจความได้มหาศาล เยอะแยะ

เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลาย การเจริญปัญญาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับศาสนาพุทธ บุคคลผู้มีปัญญา คือบุคคลผู้มีแสงสว่างในโลก ...

“ พระอาทิตย์สว่างกลางวัน พระจันทร์สว่างยามค่ำคืน แค่คนมีปัญญาสว่างได้ทั้งคืนทั้งวัน”

แล้วเราจะทำอย่างไรให้มีปัญญา เอากระดาษ ปากกามา ...มีมั้ย สั่งให้เอามาแล้วนี่ คราวที่แล้วน่ะ ...

ไม่อยากโง่ ไม่อยากโดนหลอก ไม่อยากโดนแหกตา ไม่อยากให้ใครเขามาล่อลวง ไม่อยากให้ใครเขามาครอบงำ ไม่ตกอยู่ในอำนาจมายาคติ ไม่อยู่ในอำนาจการครอบงำของมายากาล มายาสาไถ ต้องศึกษาสั่งสม อบรมปัญญา ...ดูท่าจะไม่รอด ไม่รอด อย่างงี้ไม่รอด... ยกเก้าอี้ออก

(หลวงปู่ให้เจ้าหน้าที่ยกเก้าอี้ออก ท่านเปลี่ยนอิริยาบถมานั่งท่าสมาธิ และเริ่มสอนขยับกายท่านั่ง กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน ในหมวดอิริยาบถและสัมปชัญญบรรพ มีสติเป็นไปภายในกาย ตั้งแต่ลมจนถึงการเคลื่อนไหวของกาย )

ติดตามรายะละเอียดของท่าต่างๆ ได้จากวิดิโอภาคเช้ากรรมฐานวันที่ ๒๑ พ.ค.๕๙ มีลิงค์ในคอมเมนท์ นาทีที่ ๕๒.๓๐ ถึงชม.ที ๑.๒๕.๕๕

 

ผู้บันทึกย่อ: Apiradee Kongchira