วันเสาร์ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ ของทุกปี ถือป็นวันอาสาฬหบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘

เป็นวันที่องค์พระบรมศาสดาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนา คือการตรัสเทศนาครั้งแรกหลังจากทรงตรัสรู้แล้ว

ทรงแสดงธรรมนั้นแก่นักบวชฤษีที่มี ๕ ตน เรียกว่า ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕

เรียกพระธรรมนั้นว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่าพระสูตรแห่งการหมุนไปของวงล้อแห่งธรรม

เมื่อฤษีทั้ง ๕ ตนได้สดับพระปฐมเทศนาจบลง ทำให้ฤษีหนึ่งใน ๕ คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้มีดวงตาเห็นธรรม คือมีปัญญารู้เท่าทันตามความเป็นจริง

เช่นนี้จึงถือว่า พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นภิกษุสงฆ์สาวกองค์แรกของโลก

วันอาสาฬหบูชา นอกจากจะเป็นวันปฐมเทศนาแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นวันเกิดพระสังฆรัตนะอีกด้วย

นอกจากนั้นวันอาสาฬหบูชา ถือได้ว่าเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบสาม คือ

พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ

แล้วพระธรรมอันใดเล่าที่มีอานุภาพถึงขนาดทำให้ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม

ปฐมเทศนาหรือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ที่พระบรมศาสดาทรงแสดงนั้นมีหลักธรรมสำคัญอยู่ ๒ อย่างคือ ทรงห้ามส่วนที่สุด ๒ อย่าง อันได้แก่

๑. อัตตกิลมถานุโยค การประกอบหรือกระทำตนให้ลำบาก หาได้เป็นหนทางตรัสรู้ไม่

๒. กามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตนให้มัวเมาประมาท หมกมุ่นอยู่ในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มิใช่หนทางแห่งความหลุดพ้น

แล้วทรงแนะนำ “มัชฌิมาปฏิปทา” คือทางสายกลาง อันประกอบไปด้วยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบตามความเป็นจริง
๒. สัมมาสังกัปปะ การมีเจตจำนง จุดมุ่งหมายแต่ในสิ่งทีดีงาม
๓. สัมมาวาจา การมีวาจาที่สุจริต
๔. สัมมากัมมันตะ การกระทำ และพฤติกรรมที่สุจริต
๕. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตที่สุจริต
๖. สัมมาวายามะ ความเพียรพยายามที่จะละชั่วทางกาย วาจา ใจ และเพียรพยายามที่จะทำดีทั้งทางกาย วาจา ใจ
๗. สัมมาสติ ความมีสติตั้งมั่นอยู่ในกาย เวทนา จิต และธรรมทั้งปวง
๘. สัมมาสมาธิ การมีจิตอันตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกุศลหนึ่งเดียว
เหล่านี้คือธรรมอันเป็นแสงสว่างนำวิถีชีวิตให้เดินไปสู่ความหลุดพ้น

แล้วทรงยืนยันว่าสรรพชีวิตทั้งปวงจำเป็นจะต้องเดินในวิถีทางหลุดพ้นนี้ให้ได้ ด้วยเพราะสรรพชีวิตทั้งปวงล้วนตกอยู่ในห้วงทะเลแห่งความทุกข์ อันประกอบด้วย ชาติ ชรา มรณะ พยาธิ โทมนัส ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น นี่เรียกว่า ทุกขอริยสัจจะ

ทุกข์เหล่านี้ล้วนแล้วเกิดมาแต่เหตุ คือสภาพที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้นมา เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท สืบเนื่องกันดังนี้

เพราะความไม่รู้ เป็นปัจจัย ความปรุงแต่ง จึงมี

เพราะความปรุงแต่ง เป็นปัจจัย ความรับรู้อารมณ์ จึงมี

เพราะความรับรู้อารมณ์ เป็นปัจจัย นามคือใจ และรูปคือกาย จึงมี

เพราะนามรูปคือและกายใจ เป็นปัจจัย

อายตนะภายใน (รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งต้องกาย และธรรมารมณ์)
และภายนอก (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) จึงมี

เพราะอายตนะภายในและภายนอก เป็นปัจจัย สัมผัสจึงมี

เพราะสัมผัส เป็นปัจจัย สุขทุกข์จึงมี

เพราะสุขทุกข์ เป็นปัจจัย ความทะยานอยาก ที่เรียกว่าตัณหา จึงมี

เพราะความทะยานอยาก เป็นปัจจัย ความยึดถือ ที่เรียกว่าอุปาทาน จึงมี

เพราะความยึดถือ เป็นปัจจัย ภพ แดนเกิด จึงมี

เพราะแดนเกิด เป็นปัจจัย การเกิด ที่เรียกว่าชาติ จึงมี

เพราะการเกิด เป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี

ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ 
ความคับแค้นใจ จึงมี

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้

เมื่อเล็งเห็นว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่ทนได้ยาก จึงต้องมีความเพียร ขวนขวายให้พ้นจากทุกข์นั้น นี่เรียกว่า สมุทัยสัจจะ

และสิ่งที่ควรจักขวนขวายเพียรพยายามนั้น จักต้องอยู่ในหลักธรรมทั้ง ๘ ประการ นั่นคือ มรรคมีองค์ ๘ ดังกล่าวมานั่นเอง

หลังจากที่พระบรมศาสดาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงปฐมเทศนานี้จบลง จึงทำให้พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้มีดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบัน เห็นว่าธรรมใดเกิดแต่เหตุ หากจะดับธรรมนั้น ต้องดับที่เหตุ

เมื่อทรงแสดงพระปฐมเทศนาจนได้พระภิกษุสงฆ์สาวกทั้ง ๕ แล้ว พอดีฤดูฝน เป็นวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ นั้น องค์พระบรมศาสดาจึงทรงแนะนำพระภิกษุสงฆ์สาวกทั้ง ๕ อยู่จำพรรษาอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี แล้วทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร เป็นพระสูตรที่แสดงลักษณะเครื่องกำหนดหมายว่า สรรพสิ่ง สรรพชีวิต ทั้งหลายล้าน เป็น อนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน โดยมีใจความโดยย่อดังนี้

พระบรมศาสดาได้ทรงแสดง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ถ้าทั้งห้านี้ พึงเป็นอัตตาตัวตน ทั้งห้านี้ก็พึงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธและบุคคลก็จะพึงได้ในส่วนทั้งห้านี้ว่า ขอให้เป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย แต่เพราะเหตุว่าทั้งห้านี้มิใช่อัตตาตัวตน ฉะนั้น ทั้งห้านี้จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ เพื่อความเสื่อมโทรม และบุคคลก็ย่อมบังคับบัญชาในส่วนทั้งห้านี้ไม่ได้ว่า ขอให้เป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสอบความรู้ความเห็นของพระปัญจัคคีย์ ท่านทั้งห้านั้น

ตรัสถามว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งห้านี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง

ท่านทั้งห้า ทูลตอบว่าไม่เที่ยง

ตรัสถามอีกว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข

ท่านทั้งห้ากราบทูลว่าเป็นทุกข์

ทรงตรัสถามต่อไปว่า สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือจะเห็นสิ่งนั้นว่า นี่เป็นของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นตัวตนของเรา

ท่านทั้งห้าก็กราบทูลว่า ไม่ควรเห็นอย่างนั้น

ต่อมา พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสรุปลงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งห้านี้ที่เป็นส่วนอดีตก็ดี เป็นส่วนอนาคตก็ดี เป็นส่วนปัจจุบันก็ดี เป็นส่วนภายในก็ดี เป็นส่วนภายนอกก็ดี เป็นส่วนหยาบก็ดี เป็นส่วนละเอียดก็ดี เป็นส่วนเลวก็ดี เป็นส่วนประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมดก็สักแต่ว่าเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ควรเห็นด้วยปัญญาชอบ ตามที่เป็นแล้วว่า นี่ไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่นี่ นี่ไม่ใช่ตัวตนของเรา

องค์สมเด็จพระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงผลทีเกิดแก่ผู้ฟังและเกิดความรู้เห็นชอบดั่งกล่าวมานั้นต่อไปว่า อริยสาวกคือผู้ฟังผู้ประเสริฐซึ่งได้สดับแล้วอย่างนี้ ย่อมเกิดนิพพิทา คือความหน่ายในรูป หน่ายในเวทนา หน่ายในสัญญา หน่ายในสังขาร หน่ายในวิญญาณ เมื่อหน่ายก็ย่อมสิ้นราคะ คือ สิ้นความติด ความยินดี ความกำหนัด เมื้อสิ้นราคะ ก็ย่อมวิมุตติ คือหลุดพ้น เมื่อวิมุตติ ก็ย่อมมีญาณ คือความรู้ว่าวิมุตติ หลุดพ้นแล้ว และย่อมรู้ว่า ชาติคือความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงทำเพื่อความเป็นเช่นนี้อีกต่อไป

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงพระธรรมเทศนานี้จบลง จิตของพระปัญจวัคคีย์พ้นแล้วจากอาสวะ ลุถึงอรหัตผล เพราะไม่ถือมั่นยึดมั่นในสิ่งใดๆ

วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันเข้าพรรษาปีนี้ วัดอ้อน้อยจักจัดให้มีการถวายสลากภัตพระภิกษุสงฆ์องค์เณร ๔๕ รูป เพื่อรวบรวมจตุปัจจัยนำไปสมทบทุนในการสร้างอาคารโรงนอน ๒ ชั้น ยาว ๒๐ เมตร กว้าง ๑๐ เมตร ให้แก่เด็กนักเรียนชนเผ่าผู้ยากไร้ ณ โรงเรียนแม่วินสามัคคี ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

จึงใคร่ขอเชิญท่านทั้งหลายมาร่วมปฏิบัติบูชาและทำอามิสบูชา ถวายสลากภัตแก่พระเณรผู้จำพรรษา ณ อาวาสวัดอ้อน้อยสืบไป

พุทธะอิสระ