Print
Hits: 990

 

ยังจำได้ในสมัยเด็กๆ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ชอบชวนเข้าวัดไปใส่บาตร ทำบุญ ฟังพระเทศน์ ในวันโกนวันพระ หากเป็นวันพระใหญ่คือขึ้น ๑๕ ค่ำหรือข้างแรมแม่มักจะชวนไปนอนค้างที่วัดเพื่อรักษาศีลอุโบสถ

เราเองก็ชอบไปเพราะวัดมีขนมเยอะ มีที่วิ่งเล่นกว้าง พระก็ใจดีเลยติดเป็นนิสัย หากมีเวลาว่างก็จักเข้าวัดจนถึงวัยรุ่น สถานที่ที่เราไปบ่อยๆ ก็คือ วัดพระแก้ว วัดมหาธาตุ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เหตุที่ไปหลายวัดเพราะผู้ใหญ่จักคุ้นเคยกับพระเถระของวัดเหล่านี้ บางวัดก็เป็นโยมอุปัฏฐากนำอาหารไปเลี้ยงพระเณรประจำ

วัดส่วนใหญ่ก็จักมีพระพุทธรูปหรือครูบาอาจารย์ที่น่าเลื่อมใสศรัทธา ประจำอยู่ในวัดนั้นๆ เช่น วัดมหาธาตุ ก็มีท่านเจ้าคุณโชดกผู้สอบกรรมฐานซ้ายย่างหนอ ขวายางหน่อ ซึ่งแม่ก็มักจะชอบพาเข้าไปเรียนกับท่าน

ส่วนวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ของหลวงพ่อสด วัดที่ตายาย อุปถัมภ์ถวายอาหารพระเณรเป็นประจำ ท่านมีคำสอนให้เพ่งเฉพาะลูกแก้วหรือกสิณ

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหารนั้นก็มีหลวงตาแพเยื่อไม้เป็นนักเทศน์ที่มีคนติดกันทั้งบ้านทั้งเมือง เวลาท่านมีงานเทศน์เมื่อไหร่ แม่ก็มักจะพาเข้าไปฟังอยู่เสมอๆ หรือไม่ก็เปิดวิทยุฟังเทศน์ท่านอยู่ประจำ

สำหรับวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร โดยพระศาสนโสภณ ซึ่งต่อมาได้เป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ท่านจักสอนให้ดูลมหายใจ

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ก็จักสอนให้ดูรูป ดูนาม ซึ่งสมัยนั้นเราก็ไม่ค่อยจะเข้าใจซักเท่าไหร่

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร นั้นท่านเก่งเรื่องหมอยาและอภิธรรม ซึ่งสอนโดยฆราวาส คือ ท่านเสถียร โพธินันทะ

ที่บรรยายมาเสียยืดยาวนี้ก็เพื่อจะบอกว่า วิชาที่แต่ละวัดสั่งสอนนั้น มันไม่ตรงใจเราด้วยเพราะเราอยากเรียนวิปัสสนา ถึงกับไปถามท่านครูอาจารย์เหล่านั้นว่า ทำไมไม่สอนวิปัสสนา ท่านก็มองหน้าเรา แล้วก็หัวเราะหึหึ ในลำคอพร้อมกับพูดว่า “ไอ้หนูเอ็งจะกระโดดข้ามขั้นขนาดนั้นเชียวหรือ”

เมื่อหลายท่านพูดอย่างนี้ยิ่งทำให้เรามึนงง ไม่เข้าใจและอยากจะรู้ อยากจะเรียนมากขึ้น แต่ไม่รู้จักไปเรียนที่ไหน ก็ได้แต่ตะลอนไปตามวัดต่างๆ เพื่อแสวงหาไปวันๆ

ต่อมาเมื่อได้บวชได้เรียนนักธรรมแล้วจึงได้รู้ว่า สิ่งที่เราท่านทั้งหลายควรจักเรียนรู้ก่อนถึงคำว่าวิปัสสนาก็คือ ศีล สมาธิ แล้วก็พัฒนาจนถึงปัญญาหรือวิปัสสนา รวมเรียกว่าสิกขา ๓ หรือสิ่งที่ต้องศึกษา ๓ อย่างคือ

ศึกษาในศีล ทำให้รักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อย

ศึกษาในสมาธิ ทำให้รักษาใจให้ตั้งมั่น

ศึกษาในปัญญา ทำให้รอบรู้ในกองสังขารและสภาวธรรมทั้งปวง

ส่วนคำว่าวิปัสสนา คือปัญญารู้แจ้ง เห็นชัดตามความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง

ปัญญาที่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จักได้มองเห็นซึ่งพันธนาการที่มีในสังขารทั้งปวง

ปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงในสภาวธรรมทั้งปวง

เมื่อศึกษาตามลำดับขั้นตอนดังกล่าวมาแล้ว จึงจักสามารถมีปัญญารู้ชัดตามความเป็นจริงเรียกว่า วิปัสสนาญาณ ๙

๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้น และความดับไปแห่งเบญจขันธ์จนเห็นชัดว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ครั้นแล้วก็ดับไปในที่สุด (เกิด-ดับ)

๒. ภังคานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิด-ดับ เช่นนั้นแล้ว เข้าใจความดับอันเป็นจุดจบสิ้นก็เห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปในที่สุดไม่มีอะไรคงทน

๓. ภยตูปัฏฐานญาณ หมายถึง ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว คือ เมื่อพิจารณาเห็นความแตกสลายของสังขารแล้วก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนต้องสลายไป ไม่ปลอดภัยไม่คงทน ไม่ตั้งมั่นทั้งสิ้น

๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัวแล้วย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องประกอบไปด้วยความทุกข์

๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณอันคำนึงเห็นความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นว่าสังขารทั้งปวงเป็นโทษแล้ว ย่อมเกิดความหน่ายไม่เพลิดเพลินติดใจในสังขารนั้น

๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ หมายถึง ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายแล้วย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น

๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทางหลุดพ้น คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสียจากสังขารจึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องหรือหาทางหลุดพ้น

๘. สังขารุเปกขาญาณ หมายถึง ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารต่อไปย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริง ว่ามีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย ญาณจึงมุ่งสู่นิพพาน โดยเลิกละความเกี่ยวพันกับสังขารอีก

๙. สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ หมายถึง ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลายและญาณมุ่งสู่นิพพานแล้ว ญาณก็จะส่งผลต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับต่อไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณต่อจากนั้นก็จะทำให้สำเร็จเป็นอริยบุคคลต่อไป

ท่านทั้งหลายจักเห็นว่า วิชาวิปัสสนานั้นไม่ใช่สักแต่จะพูดจะคุยหรืออยู่ดีๆ จักได้รู้ได้เรียนส่งเดช จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาอย่างมั่นคงมาก่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศีลหรือสมาธิ หากผู้เจริญวิปัสสนามีแต่ศีลไม่มีสมาธิ แล้วเจริญสติพยายามทำความเข้าใจ รู้จักสภาพธรรมที่ปรากฏ ตามความเป็นจริงให้ถ่องแท้แจ่มชัด โดยไม่ต้องอาศัยกำลังของสมาธิ เช่นนี้ชื่อว่า “วิปัสสนายานิกะ” คือผู้เจริญ ผู้เข้าถึงวิปัสสนาโดยไม่ต้องอาศัยกำลังฌาน ผลที่ได้จักเรียกว่า พวกสุกขวิปัสสโก คือผู้บรรลุได้ด้วยอำนาจแห่งปัญญา

แต่ถ้าหากมีคำว่าสมาธิมาสนับสนุน ท่านเรียกว่า “วิปัสสนาสมาธิ”

ท่านผู้มีสมาธิเป็นรากฐานของวิปัสสนา ผลที่ได้ก็จักเรียกว่า

เตวิชโช หมายถึง ผู้บรรลุด้วยวิชา ๓ คือ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ

ฉฬภิญโญ หมายถึง ผู้บรรลุด้วยอภิญญา ๖ คือ อิทธิวิธิ ทิพพโสต เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ทิพพจักขุ อาสวักขยญาณ

ปฏิสัมภิทัปปัตโต หมายถึง ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4 คือมีความแตกฉาน 4 อย่างคือ อัตถปฏิสัมภิทา ธัมมปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทา ปฏิภาณปฏิสัมภิทา

ถือเป็นผู้บรรลุด้วยการมีกำลังสมาธิเป็นพื้นฐาน

หวังว่าท่านที่สงสัยกับคำว่า วิปัสสนา คงจะพอใจเข้าใจในการอธิบายอย่างคราวๆ มานี่นะจ๊ะ

พุทธะอิสระ