วันนี้เสนอคำว่า

"เย ธมฺมา เหตุ ปัพฺพวา เตสํ เหตุงฺ ตถาคโต เตสญฺจะ โย นิโรโธ จะ เอวํ วาที มหาสมฺโณ"

ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น

พระพุทธองค์มีปกติตรัสอย่างนี้

อธิบายคำว่า ธรรมเหล่าใด หมายถึง ธรรมทั้งฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศล

- ธรรมฝ่ายกุศล ได้แก่ ธรรมฝ่ายดี

- ธรรมฝ่ายอกุศล ได้แก่ ธรรมฝ่ายไม่ดี

- โลกียธรรม ได้แก่ ธรรมที่เป็นวิถีแห่งโลก

- โลกุตรธรรม ได้แก่ ธรรมเป็นเครื่องพ้นโลก เช่น มรรค ๔ ผล ๔ นิพพานฯ

- รูปธรรม ได้แก่ ธรรมที่เป็นรูปขันธ์ทั้งปวง

- อรูปธรรม ได้แก่ ธรรมที่ไม่มีรูป มองไม่เห็นด้วยตา ฟังไม่ได้ด้วยหู ดมไม่ได้ด้วยจมูก รับรสไม่ได้ด้วยลิ้น สัมผัสไม่ได้ด้วยกาย

แต่รูปได้เฉพาะใจเท่านั้น เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า นามธรรม

- สังขตธรรม ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ ขันธ์ ๕ อันมี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

- อสังขตธรรม ได้แก่ ธรรมที่ไม่มีปัจจัยใดๆ ปรุงแต่งได้นั้นคือ นิพพาน

อธิบายคำว่า เกิดแต่เหตุ หมายถึง มูลเหตุแห่งการเกิดธรรมทั้งปวง เช่น อวิชชาความไม่รู้ เป็นเหตุให้เกิดสังขาร

เพราะมีสังขารการปรุงแต่ง จึงเป็นเหตุให้เกิดวิญญาณการรับรู้

เพราะมีวิญาณการรับรู้ จึงเป็นเหตุให้เกิดกายใจหรือนามรูป

เพราะมีนามรูป จึงเป็นเหตุให้เกิด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แดนต่ออารมณ์

เพราะมีแดนต่ออารมณ์ จึงเป็นเหตุให้เกิดสัมผัส

เพราะมีสัมผัส จึงเป็นเหตุให้เกิดเวทนา สุข ทุกข์

เพราะมีเวทนา จึงเป็นเหตุให้เกิดตัณหาความทะยานอยาก

เพราะมีตัณหาความทะยานอยาก จึงเป็นเหตุให้เกิดอุปาทานความยึดถือ

เพราะมีอุปาทานความยึดถือ จึงเป็นเหตุให้เกิดภพ

เพราะมีภพ จึงเป็นเหตุให้เกิดชรา มรณะ

เพราะมีชรา มรณะ จึงเป็นเหตุให้เกิดความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความทุกข์เดือดร้อนทั้งปวง

องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมดังที่กล่าวมานี้

และหากจะดับธรรมทั้งหลาย ก็ต้องดับต้นเหตุแห่งการเกิดของธรรมทั้งปวง นั้นก็คือ ดับอวิชาความไม่รู้ นั้นเอง

พุทธะอิสระ