วันนี้เสนอคำว่า จนเงิน จนทรัพย์ ก็ไม่เท่ากับอับจนปัญญา

อธิบายคำว่า จนเงิน จนทรัพย์ หมายถึง ความฝืดเคืองอัตคัด ขัดสน ขาดแคลนในเงินทองทรัพย์สิน

อธิบายคำว่า ไม่เท่าอับจนปัญญา หมายความว่า การไม่มีปัญญาอาจจะนำมาซึ่งความขาดแคลนทรัพย์ แม้จักมีทรัพย์มหาศาลหากขาดปัญญาเสียแล้วย่อมนำพาทรัพย์นั้นให้ฉิบหายได้

การมีปัญญาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน จักอยู่ถิ่นฐานใด ไม่ขาดแคลน ทรัพย์เป็นแสน ย่อมเกิดได้ด้วยปัญญา

ปัญญา จึงมีค่ามากกว่าทรัพย์

ด้วยเพราะแม้จะมีทรัพย์สินมากมายเพียงใด สุดท้ายตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ แต่ถ้ามีปัญญาจักบริหารทรัพย์นั้น ให้กลายเป็นอริยทรัพย์ เช่น สละแบ่งปันบริจาคให้แก่ สมณะชีพราหมณ์ สร้างประโยชน์สาธารณะ สงเคราะห์ผู้ประสบภัย บริจาคให้ทุนการศึกษาแก่ผู้ยากไร้ ช่วยเหลือสรรพสัตว์ผู้ตกทุกข์ได้ยาก หรือแม้แต่เสียภาษีให้แก่รัฐ เหล่านี้ถ้ามีปัญญาพิจารณาใคร่ครวญถี่ถ้วนดีแล้ว ล้วนแต่ส่งผลให้ทรัพย์เหล่านั้นกลายเป็น อริยทรัพย์ ที่สามารถติดตามตนไปข้ามภพ ข้ามชาติได้ทั้งนั้น

รวมความแล้ว ผู้มีปัญญาเท่านั้นจึงจักมีชีวิตอยู่และตายไป ด้วยความมั่งคั่ง ร่ำรวย และมีกำไร

ซึ่งจะแตกต่างจากผู้อับจนปัญญา ถึงจะมีทรัพย์มากมายเป็นล้าน ก็จักไม่รู้วิธีบริหารทรัพย์สินนั้น จากทรัพย์เป็นล้าน อาจจะเหลือแค่หลักร้อย และน้อยลงจนสูญสิ้นทรัพย์

หากไม่มีปัญญา ต่อให้ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐรายวัน รายเดือน รายปี จำนวนเป็นสิบๆ ล้านหรือร้อนล้าน ก็แค่เป็นการให้ทรัพย์ไปถมทะเลเฉยๆ เป็นแค่การทำหน้าที่

แต่ถ้ามีปัญญาพิจารณาให้รู้ชัดว่า ทรัพย์ที่เราสละเสียภาษีให้แก่รัฐทุกครั้งนี้ รัฐได้นำไปใช้สร้างสาธารณูปโภคให้เกิดประโยชน์ต่อคนทั้งแผ่นดิน

แม้จักนำทรัพย์ที่เราสละให้ไปใช้จ่ายเลี้ยงชีพข้าราชการ พนักงานลูกจ้าง หรือนำทรัพย์เราไปสงเคราะห์แก่ผู้ยากไร้ใดๆ ก็ตาม

ประโยชน์เหล่านั้นสำเร็จได้ด้วยทรัพย์ของเรา ขอประโยชน์เหล่านั้นพึงพลันสำเร็จแก่เราในทุกภพทุกชาติ

เช่นนี้เรียกว่าสละทรัพย์เสียภาษีด้วยปัญญา ทำหน้าที่ด้วยศรัทธา มิใช่สละทรัพย์เสียภาษี แค่ทำหน้าที่เฉยๆ

ท่านทั้งหลายเห็นหรือยังว่า ขอเพียงมีปัญญา จากสิ่งที่ดูจะเป็นภาระ ก็จักกลายเป็นผลกำไรได้ในทันที

เช่นนี้แหละพุทธะอิสระจึงได้เขียนบทโศลกเอาไว้เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้วว่า

ลูกรัก

พระอาทิตย์สว่างกลางวัน พระจันทร์สว่างกลางคืน

คนมีปัญญา สว่างได้ทั้งคืนทั้งวัน

พุทธะอิสระ