Print
Hits: 1036

 

ท่านผู้พิพากษาตั้งคำถามมาว่า การออกเงินกู้จะถือว่าเป็นการผิดศีลหรือไม่

ตอบ หากการให้เงินกู้ ให้ด้วยจิตมุ่งหวังที่จะอนุเคราะห์ บรรเทาความเดือดร้อนแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แม้จักได้รับดอกเบี้ยค่าตอบแทนเป็นศีลน้ำใจบ้าง โดยไม่ทำให้ผู้กู้เดือดร้อน

ไม่เป็นการไปซ้ำเติมเพิ่มความเดือดร้อนให้แก่เขา เช่นนี้นอกจากจะไม่ผิดศีลแล้วยังไม่ผิดหลักมโนธรรมของมนุษย์ ที่เป็นสัตว์สังคมชั้นสูงที่จักต้องอยู่ร่วมกันด้วย

แต่ถ้าหากการปล่อยเงินกู้ ด้วยจิตที่หวังให้ได้ดอกเบี้ยแพงๆ เก็บดอกเบี้ยเป็นรายวันโหดๆ แถมยังหักดอกเบี้ยก่อนขณะจ่ายเงินต้น พฤติกรรมเช่นนี้ แม้จะไม่ผิดศีลแต่ผิดกฎหมาย ผิดหลักมโนธรรมของสัตว์สังคมชั้นสูงอย่างมนุษย์

ที่ต้องอยู่ร่วมกันจึงจำเป็นต้องมีมโนธรรม สำนึกในการทำหน้าที่ต่อกันและกัน ด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัย เห็นอกเห็นใจ ให้อภัย ไม่เห็นแก่ตัวและต้องไม่ทำลายไม่ทำร้าย ปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมนั้นๆ ด้วย

นอกจากจะไม่ทำลายทำร้ายปฏิสัมพันธ์ที่ควรมีแก่กันและกันในสังคมแล้ว ยังต้องมีหน้าที่ ที่จะต้องเสริมสร้าง ธำรงรักษาปฏิสัมพันธ์นั้นๆ ให้แน่นแฟ้นมั่นคงยิ่งๆ ขึ้น

เช่นนี้จึงจักสมฐานะของคำว่า สังคมมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมชั้นสูง

และการที่ใครก็ตามจักกระทำการทำร้ายทำลายปฏิสัมพันธ์ ทำลายมิตรภาพ ทำลายความซื่อตรง จริงใจ ที่มนุษย์ควรมีให้แก่กัน

บุคคลผู้ทำลายนั้นจักต้องได้รับผลคือ ความล้มเหลว ล้มละลายในอารมณ์ไปชั่วชีวิต แม้บุคคลนั้นจักนั่ง นอนอยู่บนกองเงินกองทองก็ตามที แต่จิตใจเขาจักไม่มีความสงบสุขใดๆ เลย

แม้ลูกเมีย ผัว วงศาคณาญาติของเขาจักประสบความสำเร็จอย่างมากมาย แต่บุคคลนั้นก็จะอยู่อย่างคนสิ้นหวัง ด้วยเพราะเขาได้ทำลายความหวังของการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่คนอื่นมีให้แก่เขาไปเสียสิ้นแล้ว การอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยจึงถูกผู้เก็บดอกเบี้ยแพงๆ ทำลายไปหมดสิ้นนั่นเอง

ที่เขียนอธิบายคำถามมาเช่นนี้ ก็มุ่งหวังว่า ผู้ที่คิดจะขูดรีดดอกเบี้ยแพงๆ แก่ใครๆ คงจำสำเหนียกและระมัดระวังการรับผลกรรมที่จะเป็นผู้ล้มละลายในอารมณ์

พุทธะอิสระ