ทำไมโบราณาจารย์ท่านถึงได้ปลูกฝัง สั่งสอนให้ลูกหลานพยายามท่องจำให้คล่องปาก ขึ้นใจ
เราท่านทั้งหลายมาทำความเข้าใจในพรพาหุงทั้ง ๘ ห้องดูกันหน่อย
วันนี้ขอนำเสนอในห้องที่สอง ความว่า
มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง
โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
พระจอมมุนีทรงเผชิญหน้ากับยักษ์ตนหนึ่งอันมีนามว่า อาฬวกยักษ์ ผู้มีจิตกระด้างหยาบช้า ดุร้ายโหดเหี้ยม
ผู้มากไปด้วยเพลิงโทสะ และความหลงผิด อวดอ้างตนว่าเป็นผู้มีฤทธิ์มาก สามารถเหาะเหินเดินอากาศ ชอบที่จะจับมนุษย์และสัตว์กินเป็นอาหาร
อาฬวกยักษ์ตนนี้ อาศัยอยู่ในวิมานที่ตั้งอยู่บนต้นไทรใหญ่ใกล้เมืองอาฬวี ยักษ์ตนนี้ยังได้รับพรจากท้าวเวสสุวรรณให้สามารถจับมนุษย์และสัตว์ที่เข้ามาในเขตถิ่นที่อยู่ของยักษ์กินได้
อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาทรงนามว่า พระเจ้าอาฬวกะ ได้เสด็จออกล่าเนื้อพร้อมบริวาร จวบจนพระองค์ไล่ล่าเนื้อ หลงทางมายังถิ่นที่อยู่อาศัยของอาฬวกยักษ์ จึงถูกยักษ์นั้นจับตัวเอาไว้ด้วยมุ่งหมายจะกินเป็นอาหาร
พระราชาอาฬวกะ จึงร้องขอชีวิตด้วยการให้สัญญาว่าหากท่านจะกินข้าพเจ้า เสียแต่วันนี้ ท่านก็จะได้แค่กินอิ่มไปเพียงวันเดียว แต่หากท่านยอมอดวันนี้ ท่านจะมีมนุษย์กินอิ่มไปได้ทุกๆ วัน
อาฬวกยักษ์พอได้ฟังดังนั้นจึงถามกลับไปว่า “อย่างไรล่ะที่ท่านจะทำให้ข้ามีมนุษย์กินได้ทุกวัน”
อาฬวกะราชาจึงตอบว่า “หากวันนี้ท่านปล่อยข้า ข้าสัญญาว่าจะจัดส่งนักโทษที่ต้องโทษประหาร มาให้ท่านกินได้ทุกๆ วัน”
อาฬวกยักษ์ พอได้ฟังดังนั้นจึงครุ่นคิดว่า หากวันนี้เราจะยอมปล่อยตัวราชาผู้นี้ไป วันพรุ่งนี้เราจักได้มีมนุษย์กินได้ทุกวันดังที่ราชาสัญญาแก่เรา
คิดดังนี้แล้ว อาฬวกยักษ์จึงยินยอมปล่อยตัวองค์ราชาอาฬวกะไป
วันรุ่งขึ้น พระราชาอาฬวกะ จึงมีพระบัญชาให้พวกราชบุรุษคุมตัวนักโทษประหารมาส่งมอบให้เป็นอาหารแก่อาฬวกยักษ์ตามที่พระราชาได้ให้สัญญาไว้
เมื่ออาฬวกยักษ์ได้มนุษย์มาเป็นอาหาร ก็ใช้มืออันใหญ่รวบจัดมนุษย์นักโทษนั้นเคี้ยวกินเป็นอาหารอย่างง่ายดาย เป็นที่น่าสะพึงกลัวแก่พวกราชบุรุษที่ได้พบเห็นยิ่งนัก
ครั้นกลับไปยังบ้านเมืองแล้ว ก็นำเรื่องดังกล่าวไปพูดคุยบอกเล่ากันฟังในหมู่ชาวบ้าน จนผู้คนพากันหวาดกลัว ไม่มีใครกล้าที่จะกระทำผิดอาญาบ้านเมือง เพราะกลัวจะถูกจับตัวไปให้ยักษ์กิน
เหตุการณ์ผ่านพ้นไปเป็นเวลาแรมเดือน จนนักโทษในคุกหลวงหมดลง พระราชาอาฬวกะ จึงคิดอุบายที่จะนำคนให้ไปเป็นอาหารของยักษ์ ด้วยการนำเอาเงินและทองไปโปรยลงทั่วแผ่นดิน แล้วให้เจ้าหน้าที่คอยสุ่มแอบดูว่า ใครผู้ใดจะเก็บเอาเงินและทองนั้น แต่ก็หาได้มีมนุษย์ตนใดกล้าที่จะเก็บเอาเงินและทองนั้นไว้ไม่ ด้วยเพราะกลัวว่าจะถูกจับตัวเอาไปให้เป็นอาหารของยักษ์
เมื่อไม่มีคนที่จะส่งให้ยักษ์กิน พระราชาอาฬวกะ ก็เริ่มร้อนใจ กลัวว่ายักษ์จะมาเอาชีวิตตน เพราะผิดคำสัญญา องค์ราชาจึงได้ปรึกษากับสภาขุนนาง ได้รับคำแนะนำว่า บ้านไหนมีเด็กเกิดในวันข้างแรม ก็ให้นำตัวเด็กคนนั้นไปส่งให้เป็นอาหารยักษ์
พอข่าวนี้แพร่ออกไปทั่วเมือง หญิงมีครรภ์ท้องแก่ทั้งหลายได้พากันหวาดกลัว ต่างแอบอพยพหลบหนี ออกจากเมืองกันจนไม่มีเหลือผู้หญิงมีครรภ์อยู่เลย
แม้หญิงสาวก็ไม่กล้าที่จะมีคู่ เพราะกลัวว่าลูกของตนจะถูกจับไปเป็นอาหารของยักษ์
ความทุกข์ยากเดือดร้อนครั้งนี้แพร่สะพัดไปในหัวเมืองต่างๆ จึงทำให้ไม่มีใครผู้ใดจะเดินทางไปมาหาสู่แก่ชาวเมืองอาฬวีอีกเลย
กาลต่อมา เช้าวันหนึ่งพระบรมศาสดาทรงตรวจดูสรรพสัตว์ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ ได้ทรงทราบว่า อาฬวกยักษ์ตนนี้ยังพอมีอุปนิสัยที่จะบรรลุพระอริยบุคคลเบื้องต้นได้ หลังจากที่ทรงทำภัตตกิจเช้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงทรงเสด็จออกจากพระนครสาวัตถี ตรงไปยังนครอาฬวี ซึ่งมีระยะทางห่างถึง ๓๐ โยชน์
ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน พระบรมศาสดาทรงเสด็จมาถึงตำบล บ้านที่มีต้นไทรใหญ่อันเป็นที่ตั้งวิมานของอาฬวกยักษ์ จึงทรงเสด็จพุทธดำเนินหยุดยืนอยู่หน้าวิมานของยักษ์
ในเวลานั้น ยามยักษ์ที่ทำหน้าที่เฝ้าประตูวิมานชื่อ คัทรภะ เห็นพระบรมศาสดา จึงตรงเข้ามาถวายบังคมทูลถามว่า ทรงมีธุระอันใดที่เสด็จมาอยู่หน้าวิมานยักษ์ใหญ่เช่นนี้
พระบรมศาสดาจึงทรงตรัสตอบว่า มีพระประสงค์จะพักแรมในที่นี้สักคืนหนึ่ง คัทรภยักษ์ จึงกราบทูลว่า เจ้าของวิมานนี้คือ อาฬวกยักษ์ เป็นยักษ์ที่โหดร้ายหยาบคายมาก ไม่ยอมไหว้ใครๆ แม้แต่บิดา มารดาของตน ไม่รู้จักสมณะชีพราหมณ์ และไม่เคารพพระรัตนตรัย พระพุทธองค์อาจมีอันตรายได้ แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงออกพระโอษฐ์ขอพักอาศัยถึง ๓ ครั้ง ในที่สุดคัทรภยักษ์ก็อนุญาตให้พระพุทธองค์เข้าพักได้ แต่ขอให้ตนไปแจ้งให้อาฬวกยักษ์ทราบเสียก่อน ขณะที่คัทรภยักษ์ไปแจ้งให้อาฬวกยักษ์ได้ทราบ
ในเวลาเดียวกันนั้น ประตูวิมานของอาฬวกยักษ์ก็เปิดออกเอง พระพุทธเจ้าจึงเสด็จเข้าไปประทับนั่ง เปล่งพระรัศมีออกเป็นสีทองอยู่บนบัลลังก์ทิพย์ของ อาฬวกยักษ์ พวกนางสนมของอาฬวกยักษ์เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปก็มีความยินดี พากันมาถวายบังคมแล้วนั่งฟังธรรม ด้านคัทรภยักษ์ เมื่อนำความไปแจ้ง อาฬวกยักษ์ให้ทราบ อาฬวกยักษ์ก็นิ่งไว้ ไม่ได้แสดงอาการเพราะอาย กลัวว่ายักษ์อื่นจะรู้ว่ามีสมณะเข้าไปอยู่ในที่ของตน
ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดนางสนมของพญายักษ์อยู่นั้น มียักษ์อีก ๒ ตน คือ สาตาคิรยักษ์ และเหมวตยักษ์ พร้อมด้วยบรริวาร พากันเหาะผ่านมาเพื่อจะไปประชุมที่ป่าหิมพานต์ แต่เมื่อมาถึงวิมานของอาฬวกยักษ์ ก็ไม่สามารถจะเหาะผ่านไปได้ พอทราบว่าพระพุทธองค์ประทับอยู่ จึงพากันแวะลงไปเฝ้าฟังธรรมก่อนจะเดินทางต่อ เมื่อไปถึงที่ประชุมยักษ์แล้ว สาตาคิรยักษ์ และเหมวตยักษ์ จึงแจ้งให้อาฬวกยักษ์ทราบว่า พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่วิมานของเขา และแนะนำให้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์
เมื่อได้ทราบเช่นนั้นแล้ว อาฬวกยักษ์ก็โกรธ เป็นฟืนเป็นไฟ แม้สาตาคิรยักษ์ และเหมวตยักษ์ จะอธิบายว่าพระบรมศาสดา คือพระโพธิสัตว์ที่จุติจากดุสิตสวรรค์มาตรัสรู้ เพื่อสั่งสอนสรรพสัตว์ อันเทวดาทั้งหลายรู้ดี แต่อาฬวกยักษ์ไม่ยอมเชื่อฟัง ลุกขึ้นเอาเท้าซ้ายเหยียบพื้นศิลา เท้าขวาเหยียบยอดเขาไกรลาส ส่งเสียงร้องกาศชื่อของตนดังก้องไปทั่วชมพูทวีปด้วย
อิทธิฤทธิ์ของอาฬวกยักษ์นั้น อันเป็นเสียงหนึ่งในบรรดาเสียงดังพิเศษ ๔ อย่างอันเป็นที่รู้กันทั่วชมพูทวีป คือ
๑. เสียงปุณณกยักษ์ส่งเสียงไชโย ในคราวชนะพนันพระเจ้าธนัญชัยโกรพยะ
๒. เสียงท้าวสักกะร้องประกาศขู่จะกินพุทธบริษัทผู้ใจบาป ที่ไม่ถือศีล ถือธรรม ครั้งปลายพุทธกาลของพระกัสสปะพุทธเจ้า
๓. เสียงพระเจ้ากุสราชร้องประกาศพระนามของพระองค์ในคราวที่พระองค์ ทรงพาพระนางปภาวะตีเสด็จขึ้นช้างออกจากพระนคร เมื่อนครกุสาวดี ถูกกษัตริย์ทั้ง ๗ ปิดล้อม
๔. เสียงอาฬวกยักษ์ที่ร้องตะโกนขู่ด้วยความอัดอั้นเคืองแค้น
ต่อมาอาฬวกยักษ์จึงได้บันดาลฝนห่าใหญ่ให้ตกลงมา ด้วยหวังใจว่าจะใช้น้ำท่วมพระพุทธเจ้าให้ตาย แต่แม้ว่าฝนจะตกรุนแรง จนแผ่นดินแตกเป็นช่องๆ แต่ฝนนั้นก็ไม่อาจเปียกจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เลย
อาฬวกยักษ์นั้นบันดาลฝนแผ่นหินให้ตกลงมาจากยอดเขาใหญ่ๆ พ่นควันลุกโพลงลงมาทางอากาศ แต่พอถึงพระพุทธเจ้าฝนหินก็กลายเป็นดอกไม้ทิพย์ไปทันที
อาฬวกยักษ์นั้นบันดาลฝนเครื่องประหาร เช่น ถ่านเพลิง ฝนขี้เถ้าร้อน ฝนทราย ให้ตกลงมา แต่ของเหล่านั้นตกลงมากลายเป็นของหอมอันเป็นทิพย์มาบูชาพระพุทธองค์ไปจนหมดสิ้น
อาฬวกยักษ์นั้น เมื่อไม่อาจทำอันตรายพระพุทธเจ้าได้ด้วยการบันดาลฝนต่างๆ จึงพายักษ์และภูตเข้าไปหา แต่ภูตเหล่านั้นก็ไม่อาจเข้าใกล้พระพุทธเจ้าได้ ดุจดังแมลงวันไม่อาจตอมก้อนเหล็กที่ลุกโพลงได้ฉันนั้น
ผ่านไปครึ่งคืน อาฬวกยักษ์คิดว่าจำเป็นต้องใช้อาวุธที่ร้ายแรงที่สุดของตน คือ ทุสสาวุธ ซึ่งมีอาณุภาพร้ายแรงดุจ วชิราวุธของพระอินทร์ คฑาวุธของท้าวเวสสุวรรณ และนัยนาวุธของพระยายมราช ทุสสาวุธนี้มีลักษณะเป็นผืนผ้า หากโยนขึ้นไปในอากาศ ก็จะทำให้ฝนแล้งถึง ๑๒ ปี ถ้าทิ้งลงบนพื้นดิน ต้นไม้ต่างๆก็จะไหม้ทำลายถึง ๑๒ ปี ถ้าทิ้งลงมหาสมุทร น้ำก็จะแห้งขอด ถ้าทิ้งลงบนภูเขา แม้เขาเนรุมาศก็จะระเบิดกระจัดกระจายเป็นผุยผง เมื่ออาฬวกยักษ์จะใช้ทุสสาวุธ บรรดาเทวดาทั่วหมื่นโลกธาตุก็ต่างมาชุมนุมกันเต็มไปหมด เพื่อรอดูพระพุทธบารมีขององค์พระบรมศาสดา ว่าจะปราบอาฬวกยักษ์ตนนี้ได้อย่างไร
อาฬวกยักษ์เหาะวนรอบพระพุทธเจ้าแล้วปล่อยทุสสาวุธไปในอากาศ ทุสสาวุธก็ลอยวนเสียดสีอากาศเสียงดังน่ากลัว ประดุจสายฟ้าผ่า แต่สุดท้ายก็ลอยตกลงมากลายเป็นผ้าเช็ดพระบาทที่แทบเท้าพระพุทธองค์
อาฬวกยักษ์เห็นดังนั้น คิดว่าอาวุธทั้งหมดไม่อาจทำอันตรายพระพุทธองค์ได้ จึงออกคำสั่งแก่พุทธองค์ว่า "สมณะ ท่านจงออกไปเดี๋ยวนี้" พระพุทธเจ้าทรงดำริว่าอาฬวกยักษ์ตนนี้เป็นผู้มีจิตใจแข็งกระด้าง หากตอบโต้ด้วยความแข็งกระด้าง ก็จะกลับมีจิตใจกระด้างขึ้นกว่าเก่า ดำริแล้วก็ทรงลุกขึ้นแล้วเสด็จออกจากวิมานยักษ์
อาฬวกยักษ์เห็นดังนั้นจิตใจก็อ่อนลงคิดว่าพระพุทธเจ้านี้ว่าง่าย แล้วออกคำสั่งต่อว่า "สมณะ ท่านจงเข้าไป" พระพุทธเจ้าก็ทรงเสด็จเข้าไปในวิมานยักษ์
อาฬวกยักษ์ได้ใจ ออกคำสั่งให้พระพุทธเจ้าเข้าๆออกๆ อยู่ถึง ๓ ครั้ง ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงทำตาม ประดุจการตามใจบุตรเมื่อร้องไห้ แต่เมื่อถึงครั้งที่ ๔ อาฬวกยักษ์สั่งว่า "สมณะ ท่านจงออกไป" ครั้งนี้พระพุทธเจ้าทรงดำรัสตอบว่า "เราไม่ออกไป ท่านจะทำอะไรก็ทำเถิด"
เมื่ออาฬวกยักษ์ถามเหตุผล พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า "เมื่อเราเข้ามานั้น เราไม่ได้รับอณุญาตจากเจ้าของบ้าน เมื่อเจ้าให้ออกเราจึงออก แต่เมื่อเจ้าของบ้านอนุญาตให้เราเข้ามาแล้ว เหตุใดเราต้องออกไปอีก ดูก่อน อาฬวกยักษ์ เจ้าอนุญาตให้ใครเขาเข้ามาแล้วออกปากไล่เขาไปเช่นนี้ จักไม่เป็นการเสียมารยาทล่ะหรือ หากข่าวนี้แพร่สะพัดไปแล้วจะมีใครนับถือท่านเล่า"
อาฬวกยักษ์แปลกใจในพุทธปัญญา จึงเปลี่ยนเป็นทูลถามปัญหา โดยขู่ว่าหากพระองค์แก้ไม่ได้ เขาจะฉีกหัวใจ และจับร่างพระองค์เหวี่ยงข้ามแม่น้ำคงคา
แล้วอาฬวกยักษ์ก็ไปนำคำถามมาถามพระพุทธเจ้า โดยคำถามนี้มีที่มาจากในอดีตกาลในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน คือ พระมหากัสสปะพุทธเจ้า บิดามารดาของอาฬวกยักษ์ ได้เคยถามปัญหาจากพระพุทธกัสสปะ และได้นำมาสั่งสอนอาฬวกยักษ์ แต่พอนานวันเข้าอาฬวกยักษ์ก็จำได้แต่คำถาม แต่ลืมคำตอบ ถามใครๆ ก็ไม่มีใครตอบได้ เพราะเป็นปัญหาที่ตอบได้เฉพาะพระพุทธเจ้า อาฬวกยักษ์จึงเขียนคำถามเก็บไว้ในวิมาน พระพุทธเจ้าก็ทรงแก้ปัญหาให้อาฬวกยักษ์เหมือนที่พระพุทธกัสสปะเคยแก้ไว้ ดังนี้
ปุจฉา : อะไรเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย และเป็นอยู่อย่างไรที่นักปราชญ์ยกย่องว่าประเสริฐสุด
วิสัชนา : ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของคนในโลก ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ความสัตย์เป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย และผู้อยู่ด้วยปัญญานักปราชญ์ทั้งหลายสรรเสริญว่าประเสริฐสุด
ปุจฉา : คนข้ามโอฆะได้อย่างไร ข้ามอรรณพได้อย่างไร ล่วงทุกข์ได้อย่างไร บริสุทธิ์ได้อย่างไร
วิสัชนา : คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา
ปุจฉา : คนมีปัญญาได้อย่างไร หาทรัพย์ได้อย่างไร หาชื่อเสียงได้อย่างไร ผูกมิตรได้อย่างไร และทำอย่างไรจึงจะไม่เศร้าโศกเมื่อไปสู่ภพหน้า
วิสัชนา : บุคคลเชื่อฟังธรรมย่อมได้ปัญญา บุคคลไม่ประมาท ฉลาด ไม่ทอดธุระ มีความเพียรย่อมหาทรัพย์ได้ บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์ ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ และบุคคลผู้มีธรรม ๔ ประการคือ สัจจะ ทมะ จาคะ และขันติ บุคคลละโลกนี้ไปแล้วย่อมไม่เศร้าโศก
ในที่สุดแห่งการทูลถามปัญหานี้ อาฬวกยักษ์ ผู้ส่งจิตใจไปตามพระธรรมเทศนา ก็สำเร็จเป็นพระโสดาบันในรุ่งแจ้งนั่นเอง เมื่ออาฬวกยักษ์สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็เปล่งเสียงสาธุการ เป็นเวลาเดียวกับคนที่เมืองอาฬวี นำอาฬวกกุมารมามอบให้ อาฬวกยักษ์นั้นรับพระราชกุมารนั้นแล้วก็ประคองราชกุมารน้อมถวายแด่พระพุทธองค์ด้วยความเคารพ พระพุทธองค์ทรงรับพระราชกุมารนั้นมา ทรงประทานพรและมอบคืนให้คนของกษัตริย์เมืองอาฬวี พระราชกุมารนั้นจึงมีพระนามว่า หัตถกอาฬวกะ แล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จเข้าไปบิณฑบาตรในเมืองอาฬวี มีอาฬวกยักษ์เดินถือบาตร และสังฆาฏิตามมาส่งถึงครึ่งทางแล้วจึงกลับ หลังจากนั้นอาฬวกยักษ์ก็อยู่ในศีลธรรม เลิกกินเนื้อมนุษย์ตั้งแต่บัดนั้น
และหากจะมองในแง่ธรรมาธิษฐาน คือ การยกเอาธรรมเป็นที่ตั้ง เราท่านทั้งหลายจะเห็นว่า องค์พระบรมศาสดา ทรงใช้ความอ่อนโยน ชนะความแข็งกร้าว ทรงใช้ความอดทน ชนะความเย่อหยิ่งจองหอง บ้าอำนาจ และทรงใช้ปัญญา ชนะความยโส อวดดี