ตอนที่แล้วจบลงตรงที่ พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อที่จักทำให้การระงับอธิกรณ์ที่เกิดแก่นางภิกษุณีกุลธิดาเป็นบรรทัดฐานในการระงับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์จึงทรงให้มีการประชุมภิกษุบริษัททั้ง ๔ อันมีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกันเพื่อร่วมระงับอธิกรณ์ที่เกิดกับนางกุลธิดาภิกษุณีผู้ตั้งท้อง

โดยมีพระอุบาลีเถระเป็นผู้ซักถาม
นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นผู้ตรวจครรภ์
ครั้งพอได้เวลาพระอุบาลีเถระ จึงเข้าไปนั่งอยู่บนตั่งอาสนะ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางพุทธบริษัททั้ง ๔
เมื่อทุกคนเข้านั่งในที่อันควรของตนแล้ว พระอุบาลีจึงมีบัญชาให้นางวิสาขา นำนางภิกษุณีกุลธิดาเข้าไปตรวจครรภ์ในม่านที่กั้นเอาไว้
ซึ่งก็ตรวจดูมือและเท้า ตรวจสะดือพร้อมลักษณะของครรภ์
พร้อมทั้งนางวิสาขา จึงได้ซักถามนางกุลธิดาภิกษุณีว่า นางพอจำได้หรือไม่ประจำเดือนของนางขาดไปตั้งแต่วันใด เดือนใด
นางกุลธิดาภิกษุณีจึงได้ตอบคำถาม ประจำเดือนของนางไม่มีมาตั้งแต่ก่อนนางจะมาบวช
นางวิสาขามหาอุบาสิกา จึงได้มาแจ้งแก่พระอุบาลีเถระและพุทธบริษัททั้ง ๔ ให้ได้ทราบว่า ภิกษุณีกุลธิดาผู้นี้หาได้ทำให้ศีลด่างพร้อยไม่
เหตุที่นางตั้งครรภ์นั้น นางได้ตั้งครรภ์มาตั้งแต่อยู่กับสามี แต่นางไม่ทราบ นางจึงมาขอบวช หลังจากบวชแล้ว อายุครรภ์ของนางก็โตขึ้นจนเป็นเหตุให้ต้องอธิกรณ์เจ้าค่ะพระคุณเจ้าขา
พระอุบาลีเถระ จึงได้ประกาศตามคำพิสูจน์ของนางวิสาขามหาอุบาสิกา ให้บรรดาภิกษุบริษัททั้ง ๔ ได้รับทราบแล้วจึงถามภิกษุบริษัททั้ง ๔ ขึ้นว่า
มีใครมีข้อสงสัยต้องการซักถามเพิ่มเติมหรือไม่
พระอุบาลีเถระ ได้ประกาศอยู่เช่นนี้ถึง ๓ ครั้งในที่ประชุม แต่ก็ยังไม่มีใคร ผู้ใดมีข้อสงสัยในการตรวจครรภ์ของนางวิสาขามหาอุบาสิกา
พระอุบาลีเถระ จึงได้ประกาศว่า เมื่อนางภิกษุณีกุลธิดาผู้นี้ตั้งครรภ์มาก่อนที่นางจะเข้ามาบวช เช่นนี้ศีลของนางกุลธิดาภิกษุณีผู้นี้ จึงไม่ด่างพร้อย ความบริสุทธิ์ในศีลของนางจึงยังสมบูรณ์
ท่านทั้งหลายเห็นด้วยตามนี้ ก็จงเปล่งสาธุการ
ท่านทั้งหลายเห็นด้วยตามนี้ ก็จงเปล่งสาธุการ
ท่านทั้งหลายเห็นด้วยตามนี้ ก็จงเปล่งสาธุการ
ภิกษุบริษัททั้ง ๔ จึงพร้อมใจกันเปล่งสาธุการ ให้ภิกษุณีกุลธิดา เธอพ้นจากมลทิน
แล้วเข้าไปกราบทูล เนื้อความถวายองค์พระบรมศาสดาให้ทรงทราบ
องค์พระบรมศาสดาทรงตรัสอนุโมทนาว่า สิ่งที่พระอุบาลีและนางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้กระทำในครั้งนี้จักเป็นคุณูปการต่อพระธรรมวินัย และคณะสงฆ์ต่อไปในอนาคต พร้อมทั้งทรงตรัสว่า
“ความถูกต้อง คือ ความยุติธรรม”
เมื่อกาลผ่านพ้นไป ครรภ์ของนางกุลธิดาภิกษุณีก็ครบถ้วนถึงวันคลอด พอดีในเวลานั้นองค์ราชาปเสนทิโกศล ได้เข้าไปทำบุญในสำนักของนางภิกษุณี
พอได้ทราบว่า นางกุลธิดาภิกษุณีได้คลอดทารกออกมาเป็นบุตรชาย
องค์ราชาปเสนทิโกศล จึงทรงตรัสแก่บรรดาภิกษุณีสงฆ์ทั้งหลายว่า การปรนนิบัติเลี้ยงดูทารกเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นยิ่งนักแก่เพศสมณะ อย่ากระนั้นเลย เราขอรับเลี้ยงกุมารนี้ไว้เป็นบุตรบุญธรรมเอง
พร้อมทั้งทรงตั้งชื่อให้ว่า กุมารกัสสปะ
กุมารกัสสปะ ได้รับเลี้ยงดูเยี่ยงพระราชกุมารอันเป็นพระราชบุตรของราชาปเสนทิโกศล ได้รับความรักความเมตตาเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่อิจฉาริษยาจากพระกุมารองค์อื่นๆ พร้อมกับทำกิริยารังเกียจแล้วกล่าวว่า
ไอ้เด็กไม่มีพ่อแม่ กำลังจะขึ้นแท่นยื้อแย่งความรักและราชสมบัติของเรา
กุมารกัสสปะพอได้ยินเช่นนั้น จึงเข้าไปกราบทูลถามองค์ราชาปเสนทิโกศลว่า พระมารดาของหม่อมฉันคือใคร
ราชาปเสนทิโกศล จึงชี้ไปยังแม่นมทั้งหลาย พร้อมกล่าวว่า หญิงพวกนี้คือมารดาของเจ้า
กุมารกัสสปะ จึงตรัสถามต่อว่า มารดาของหม่อมฉันทำไมถึงได้มีตั้งหลายคน ไม่เหมือนกับพี่ๆ เพื่อนๆ ของหม่อมฉันที่มีพระมารดาเพียงองค์เดียว
เมื่อถูกกุมารกัสสปะเซ้าซี้ซักถาม องค์ราชาปเสนทิโกศล จึงจำยอมที่จะบอกความจริงว่า มารดาของเจ้าก็คือ นางภิกษุณีกุลธิดา ผู้บวชอุทิศแด่องค์พระบรมศาสดา
แต่ก่อนที่แม่เจ้าจักออกบวช ก็มีเจ้าติดมาในท้องโดยที่นางไม่รู้ตัว พอนางบวชแล้วจึงได้คลอดเจ้าออกมา
พ่อไปทำบุญที่สำนักพระภิกษุณีนั้น เห็นเจ้าแล้วจึงขอเจ้ามาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม แล้วส่งมอบให้บรรดาหญิงนางนมเหล่านี้ช่วยกันเลี้ยงดูเจ้า
กุมารกัสสปะ พอได้ทราบความจริงเช่นนั้น จึงเกิดความสลด สังเวชในตนเองว่า ช่างเป็นเด็กที่มีชีวิตอันน่าอนาถนัก เกิดมาก็ไม่เคยได้เห็นหน้าพ่อหน้าแม่แท้ๆ เลย ทั้งยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พ่อแม่ของตนชื่ออะไร อีกทั้งไม่รู้ว่า เวลานี้มารดาภิกษุณีของตนจะมีชีวิตอยู่อย่างไร
 
พุทธะอิสระ