ความเดิมตอนที่แล้ว จบลงตรงที่องค์พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมหมู่ภิกษุสงฆ์ ทรงเสด็จมาโปรดพระโสณโกฬิวิสะ ณ ป่าช่าสีตวัน
ทรงโปรดเทศนาตรัสเตือนสติให้พระโสณโกฬิวิสะระลึกถึงการดีดพิณ ๓ สาย ที่ท่านเชียวชาญเคยเล่นมาตอนเป็นฆราวาส
สายพิณ หากขึงตึงเกินไปก็อาจจะทำให้ขาดได้
สายพิณ หากขึงหย่อนเกินไป ก็อาจจะทำให้ดีดแล้วเสียงไม่ไพเราะ
สายพิณ ที่ขึงพอดี ก็จะสำเร็จประโยชน์ดังที่ต้องการดีด
ฉันใดก็ฉันนั้น การบำเพ็ญเพียร หากมากเกินไปนอกจากจะไม่สำเร็จประโยชน์แล้ว อาจทำให้ผู้บำเพ็ญเพียรต้องได้รับความทุกข์ยากลำบาก โดยเปล่าประโยชน์
แต่หากหย่อนยานเกินไปก็จักทำให้ตั้งอยู่ในความมัวเมาประมาท ไม่สำเร็จประโยชน์ใดๆ เลย
หากบำเพ็ญเพียรแต่พอดี กระทำให้พละทั้ง ๕ อันมี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เหมาะสม กลมกลืน ตั้งมั่น สมบูรณ์ เช่นนี้จึงจะสำเร็จประโยชน์ต่อการบำเพ็ญเพียร
กาลต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรแต่พอเหมาะ ทราบข้อที่อินทรีย์ทั้งหลายเสมอกัน และได้ถือนิมิตในความสม่ำเสมอ ครั้นแล้วได้หลีกออกอยู่แต่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปในพละทั้ง ๕ เป็นที่ตั้งแห่งจิต ไม่นานเท่าไรนัก ได้ทำให้แจ้งซึ่งคุณพิเศษอันยอดเยี่ยม เข้าถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันกุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบแล้วต้องประสงค์ ด้วยปัญญา อันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันนี้แหละ เข้าถึงอยู่แล้ว ได้รู้ชัดแล้วว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ เราได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีแล้ว
พระโสณะได้ตรึกขึ้นว่า บรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อบรรลุธรรมแล้ว จักควรทำกิจใดต่อไป พระโสณโกฬิวิสะ จึงได้เห็นได้ด้วยญาณวิถีว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อได้บรรลุธรรมแล้วสจักเข้าไปเฝ้าถวายพังคม พระบรมศาสดาท่านจึงได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้ว กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว จบพรหมจรรย์แล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องทำอีก มีภาระหนักอันวางแล้ว ได้ถึงประโยชน์ของตนแล้ว มีธรรมที่ทำให้ติดอยู่ในภพหมดสิ้นแล้ว รู้ชอบ จึงพ้นแล้วจากอาสวะ ภิกษุผู้เป็นอรหันต์นั้นน้อมเข้าไปแล้วในคุณ ๖ สถาน คือ น้อมเข้าไปแล้วในบรรพชา,ในที่สงัด,ในความสำรวม ไม่เบียดเบียน,ในความไม่ถือมั่น,ในความไม่มีความอยาก และในความไม่หลง
พระบรมศาสดาได้ทรงสดับแล้วตรัสสรรเสริญว่า พระโสณโกฬิวิสะพยากรณ์พระอรหันต์ กล่าวแต่เนื้อความไม่นำตนเข้าไปเทียบ และเพราะเหตุที่ท่านได้ปรารภความเพียรด้วยความอุตสาหะอย่างแรงกล้า แต่ครั้งยังไม่บรรลุอรหัตตผล
พระบรมศาสดาจึงทรงตรัสยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียรในพระพุทธศาสนา
เพราะท่านโสณโกฬิวิสะ ทำความเพียรจนฝ่าเท้าแตกเลือดไหลได้รับทุกขเวทนาอย่างหนัก ทรงปรารภเหตุนี้ จึงทรงอนุญาตให้เธอสวมรองเท้าชั้นเดียวได้ แต่ท่านได้กราบทูลขอโอกาสให้ทรงมีพระบรมพุทธานุญาต แก่พระสาวกรูปอื่น ๆ ด้วย พระพุทธองค์จึงทรงประทานให้ตามที่ขอโดยรับสั่งให้ประชุมสงฆ์แล้วตรัสสิกขาบท มูลบัญญัติพุทธานุญาตว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตให้พวกเธอสวมรองเท้าชั้นเดียวได้ แต่ไม่อนุญาตรองเท้าหลายชั้น”
(ต่อมาภายหลัง พระมหากัจจายนะ กราบทูลขออนุญาตรองเท้าหลายชั้นใน
ปัจจันตชนบท องค์พระบรมศาสดาจึงทรงประทานอนุบัญญัติ คือ ข้อบัญญัติทีหลังความว่า ตั้งแต่นี้ไปพระภิกษุสงฆ์จึงสวมรองเท้ามีพื้นหลายชั้นได้)
พระโสณโกฬิวิสะ ท่านดำรงอายุสังขาร สมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน
 
วันนี้จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ เพราะต้องตรวจต้นฉบับของข้อกฎหมายที่พรรคก้าวไกลจะทำหนังสือโต้คำกล่าวหา ว่าทำได้แค่ไหน
จบจ๊ะ
 
พุทธะอิสระ