วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

บทที่ ๒ ฝึกหน้าที่จิตรับจำคิดรู้

วิถีจิต วิถีปัญญา

ชื่อเรื่อง ฝีกหน้าที่จิตรับจำคิดรู้

แสดงธรรมวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ช่วงบ่าย  

สาระสังเขป

          แสดงธรรมปุจฉาวิสัชนาเก่ารมณ์ยวกับการดูอารมณ์ การแยกอารมณ์โดยฝึกขีดจิตเมื่อรับอารมณ์ อารมณ์เหมือนโจรปล้นจิต ถ้าเฝ้ามองมันจะหลบ เผลอก็เข้ามาครอบงำจิต จิตที่สะอาดก็คือจิตที่ไม่มีอารมณ์จิตที่ปราศจากอารมณ์ สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่จิตสะอาด สิ่งที่เราต้องการก็คือความไม่มีจิต ความรู้เท่ากันกองแห่งอารมณ์กองแห่งจิต อย่าไปยึดถือจิตที่สะอาดเป็นสรณะ ฝึกขีดจิตเมื่อจิตกระเพื่อมเพราะการรู้ คิด รับ จำอารมณ์

         

 

เนื้อหา  

ปุจฉา   ตามที่หลวงปู่ได้สอนให้พิจารณาการเกิดอารมณ์ในจิตปรากฏว่าไม่สามารถเห็นอารมณ์ในจิตได้ชัดเจน เห็นเพียงความเฉย รู้เฉยๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งต่างจากเวลาที่หลวงปู่ให้ดูจิตในกายจะเห็นการกระเพื่อมของจิตในกายอย่างชัดเจน หรือแม้แต่ขณะให้ขีดลมหายใจเข้าออกยังได้เห็นอาการของจิตกระเพื่อมออกมาให้เห็น จึงขอกราบเรียนถามว่า ในขณะที่หลวงปู่ให้ดูจิตในจิตจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้เห็นกระบวนการเกิดอารมณ์ในจิตอย่างชัดเจน  

 

วิสัชนา ธรรมชาติของอารมณ์ถ้ามันมีคนเฝ้าดูอารมณ์มันเหมือนโจรน่ะ โจรเวลามีคนเฝ้าดูมันจะออกปล้นไหม (ไม่)  แสดงว่าอารมณ์ไม่ใช่ของดี มันกลัวผู้ตรวจการ กลัวนายตำรวจ กลัวผู้รับรู้ มันก็เลยไม่ปรากฏ แต่ถามว่ามันยังมีอยู่มั้ย (มี) ดูต่อไป จบ  

 

ปุจฉา ในการขีดจิตตอนแรกรู้สึกง่วง ขีดตัวรู้ว่าง่วง ง่วงหายไปแต่เกิดเป็นลมร้อนและเวียนหัว ขีดดูจิตรู้ว่าตามดู ขีดตัวรู้ต่อแล้วเกิดอาการเย็นที่ท้องแล้วเกิดอาการอกยกขึ้นช้าๆ แล้วหายใจทางท้อง โล่ง เย็น สบาย ขอเมตตาหลวงปู่แนะนำการปฏิบัติต่อไปเจ้าค่ะ 

 

วิสัชนา ไม่แนะนำอะไร แค่เป็นมายาการของจิตอย่างหนึ่ง ทำต่อไป ไม่มีอะไรพิสดาร ดูจิตไม่ใช่ดูลม ถ้าไปสนใจลมจิตจะอยู่มั้ย แสดงว่าเคลื่อนออกจากจิตแล้ว ออกไปดูลมแล้ว กลับมาดูจิตต่อ จบ 

 

ปฏิบัติธรรม  

(ฝึกดูจิต แยกอารมณ์ให้ชัดว่าเจตสิกที่เข้ามาครอบจิตมาจากการรับ หรือมาจากการจำ หรือมาจากการคิด)  

 

ดูจิต  รับอารมณ์ ขีด  

อย่าไปสนใจประสบการณ์และมายาจิต มายาการ ซื่อตรงต่อหน้าที่ ขีดตัวรับก็รับอย่างเดียว มันจะรู้ มันจะจำ มันจะคิด อย่าไปสนใจ ไม่งั้นมันจะกลายเป็นขี้ก็กำไม่ได้ ตดก็กำไม่ได้ ไม่เหลืออะไรสักอย่าง ถึงเวลาแล้วมึน มีลม มีหาว มีง่วง อะไรยุ่งไปหมด  

รากำลังดูว่า เรากำลังทำให้จิตนี้มันกระเพื่อม มันกระเพื่อมจากผลแห่งการรับก็ขีด มันก็จบแล้ว หน้าที่เรามีแค่นั้น อย่าไปเยอะกับมัน ตรงไปตรงมา ชัดเจน ฝึกจิตไม่อ้อมค้อม คนที่เยอะกับจิตแล้วเยอะทุกเรื่องแล้วมันจะกลายเป็นมายาของจิตไปหมด ทีนี้ทำอะไรก็จะเยอะไปหมดล่ะ ไม่ตรง อ้อมค้อม เยิ่นเย้อ ยืดยาด อ้างสารพัด คำสั่งก็คือให้ขีดสิ่งที่รับเข้ามาแล้วทำให้จิตกระเพื่อม มันไม่เห็นความกระเพื่อมก็ต้องดูให้เห็น มันไม่กระเพื่อมก็อย่าคิดว่ามันไม่มี ที่มันไม่แสดงตัวออกก็เพราะมันกลัว ธรรมชาติของโจรอารมณ์มันไม่มีอะไรดี อารมณ์ก็คือมันเข้ามาปล้น มันเป็นโจรที่เข้ามาปล้นสะดมจิต เวลาเราเฝ้ามองมันมันก็เลยหลบๆ แอบๆ เดี๋ยวเราเผลอมันก็เข้ามาครอบอีก เพราะงั้นอย่าเผลอ ปัญญาเป็นก้องแก้วส่องดูแถวแนวหินผา ใช้สติปัญญาส่องดู  

ระวัง อย่าลืม ศึกษา สงสัย ขวนขวาย แสวงหา ห้ามเฉย เดี๋ยวจะลืมซะ ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมจิตไม่กระเพื่อม สำรวจดูลึกเข้าไปๆ  

 

นั่งเขย่าปากกาเล่นน่ะรู้มั้ยมันทำได้ยังไง ถ้าจิตไม่สั่งมือมันจะเขย่าปากกามั้ย จิตสั่ง สมองบังคับมือทำ เรากำลังจะฝึกจิต มือไปทำอีกอย่างหนึ่ง กายไปทำอีกเรื่องหนึ่งแล้วจิตจะฝึกได้อย่างไร แสดงว่าจิตไปสั่งกายแล้ว มันไปคุมกายให้ทำนู่นนี่นั่นแล้ว แต่เราตามรู้มันไม่ทัน แม้กระทั่งการกลืนน้ำลาย กระพริบตา  จิตมันแวบออกไปให้มองซ้ายมองขวา กระพริบตา กลืนน้ำลาย กระดิกตัว ขยับตีน กระดกมือ จิตสั่งงานทั้งนั้นแต่เราตามรู้ไม่ทัน ต้องตามรู้ให้ทัน ไม่งั้นมันจะเป็นมโนวิญญาณธาตุได้อย่างไร  รู้แจ้งในสรรพอารมณ์ทั้งปวง เรื่องเล็กน้อยก็ห้ามหลุด วันนี้หลุดเล็กพรุ่งนี้มันก็จะกลายเป็นหลุดใหญ่ สะสมไปเรื่อยๆๆๆ ทีนี้ก็เหมือนสากกะเบือไม่รู้รสแกงแล้ว ไม่รู้รสพริกน่ะ ไม่ใช่ทัพพีนะ สากกะเบือ 

เกาหน้า กระดิกขา ขยับมือ กระพริบตา จริงแหละแม้เราจะเฝ้าดูจิตแต่อาการทางกายเกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้ที่จิตจะไม่สั่งงาน จิตมันต้องไปสั่งงาน มันต้องมีรับ มีจำ มีคิด มีรู้ ขยับแขนขยับขาเป็นไปไม่ได้หรอกที่จิตไม่กระเพื่อม แม้แต่รับรู้ลมหายใจเข้าออกก็จิตกระเพื่อมแล้ว ยกเว้นมึงจะไม่หายใจ  

ขีดจนกว่ามันจะตัดวงจรแห่งการสืบต่อหรือเชื่อมต่อของกระบวนการรับที่เกิดจากตา จากหู จาก ลิ้น จากกาย หูเราฟังเสียงจิตไปรับเข้ามา จมูกได้กลิ่นจิตรับมา ลิ้นรับรสจิตรับมา กายสัมผัสจิตรับมา ต้องตัดออก เพราะการรับเข้ามามันทำให้จิตเรากระเพื่อม ไม่ได้ให้เพ่งความไม่กระเพื่อม ไม่ได้ให้เพ่งความเฉย แต่ให้ตามดูอารมณ์ที่รับเข้ามาแล้วทำให้จิตกระเพื่อม กำจัดมัน อารมณ์ที่ปรากฏและทำให้จิตกระเพื่อมจับใส่เข้าไปใสกระดาษขีดมัน อย่าไปอยู่กับความเฉย  

ต้องรู้ให้ได้ว่าจิตนี้มันกระเพื่อมเพราะเหตุมาจากอะไร เกิดมาจากทางตา เกิดมาจากทางหู เกิดมาจากทางจมูก เกิดมาจากทางลิ้น เกิดมาจากทางกาย หรือเกิดมาจากภายในใจตัวเองภายในจิตตัวเอง ไม่ได้ให้อยู่กับความนิ่ง ไม่ได้ให้อยู่กับความเฉย  

ถ้ามันมาจากจิต ความกระเพื่อมถ้ามาจากจิตก็ต้องตามดูต่อไปว่ามาจากจิตดวงไหน จิตดวงรับ ดวงจำ หรือดวงคิด แล้วรู้มั้ย ตั้งข้อสงสัยตลอด สืบค้นหาต้นตอ  

 

 เพิ่มเข้าไปอีกตัว เขียนหัวกระดาษ “จำ”  ใส่ความจำเข้าไป  

จิตจำ รับ จำ ทำให้จิตนี้กระเพื่อม ขีด เหมือนเดิม ค้นหา ความกระเพื่อมเกิดจากความจำก็ขีดตัวจำ ความกระเพื่อมเกิดจากการรับขีดตัวรับ ถ้ามันเกิดทั้งจำทั้งรับ หรือทั้งรับทั้งจำ ก็ขีดสองตัว  

คนที่ไม่ศึกษา ไม่สงสัย ไม่ค่อยขวนขวาย ไม่แสวงหานี่ บางทีบางครั้งมันยากต่อการจำแนกว่าจิตสกปรกกับจิตสะอาดมันต่างกันอย่างไร บางทีเราคุ้นเคยกับความตรึกนึกคิดเสพอารมณ์ไปเรื่อย แล้วเราก็คิดว่าการตรึกนึกคิดเสพอารมณ์นี้มันก็เป็นจิตสะอาดอย่างหนึ่ง จิตที่สะอาดก็คือจิตที่ไม่มีอารมณ์จิตที่ปราศจากอารมณ์ บางคนก็เฝ้าสังเกตว่าจิตสะอาดก็หลงระเริงเพลินไปกับอารมณ์ที่ปรุงแต่งจิตไป วูบหนึ่ง พักหนึ่ง ขณะหนึ่ง ไปเรื่อย เป็นความคุ้นเคย เค้าเรียกว่าไฟสุมขอนไปเรื่อย ไม่ค่อยเห็นความแตกต่าง  

ให้ทำความเข้าใจว่าจิตที่ปราศจากอารมณ์นั่นแหละคือจิตที่สะอาด แล้วเราต้องทำความเข้าใจด้วยว่าสิ่งที่เราต้องการไม่ใชจิตสะอาด สิ่งที่เราต้องการคือความไม่มีจิต ความรู้เท่าทันกองอารมณ์ กองแห่งจิต อย่าไปยึดถือจิตที่สะอาดเป็นสรณะ แล้วถามว่ามันต้องผ่านมั้ย  ต้องผ่านกระบวนการจิตสะอาด  

 

จิตสะอาดแล้วมันจะอยู่ได้อย่างไรในเมื่อจิตมันอยู่ได้เพราะอารมณ์ อารมณ์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิต จิตจะตั้งมั่นได้เพราะอารมณ์ อารมณ์นี่ถ้าศึกษาให้ดีมันมีลำดับขึ้นของมัน อารมณ์หยาบ อารมณ์ปานกลาง อารมณ์ละเอียด แล้วก็อารมณ์ละเอียดที่สุด แม้นเราจะเห็นว่าจิตนี้ไม่มีอารมณ์ ถ้าไม่มีอารมณ์มันอยู่ไม่ได้แต่ที่มันยังอยู่ได้แสดงว่ามันมีอารมณ์ แต่มันเป็นอารมณ์ที่เรายังเข้าไม่ถึงมันเท่านั้นเอง แต่เราก็เข้าใจว่าจิตนี้สะอาดเพราะมันไม่มีอารมณ์ที่เราจับต้องได้ อารมณ์ที่มีมาแล้วในอดีตเรายังกำจัดมันไม่หมด เรามีแต่การกำจัดอารมณ์ที่มีมาแล้วในปัจจุบัน เราไม่ได้สั่งสมอารมณ์เอาไว้เพียงแค่วันนี้หรือปีที่แล้ว แม้นภพชาติที่แล้วเราก็สะสมเอาไว้ แล้วหน้าที่ของจิตมันก็เก็บข้อมูลของอารมณ์เหล่านั้นไว้ เก็บไว้ตรงไหนก็ไม่รู้ แต่รู้แต่ว่ามันเยอะมาก มันเป็นเชื้อในการหล่อเลี้ยงให้จิตนี้ดำรงอยู่และข้ามภพข้ามชาติมา งั้นที่เราเห็นว่ามันสะอาดในปัจจุบันก็อย่าเข้าใจว่ามันไม่มีอารมณ์ แต่ก็ให้มันสะอาดเถอะ ขอให้มันถึงคำว่ามันสะอาดเถอะ แล้วมันต้องสะอาดต่อไปเรื่อยๆ เหมือนกับปอกหัวหอมนั่นแหละ ปอกกลีบหัวหอม สะอาดเป็นชั้นๆๆๆ ปอกออกเป็นชั้นๆ ลอกออกเป็นชั้นๆ  

 

อารมณ์ก็คือเจตสิก เจตสิกที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีมาแล้วในอดีต และจะมีต่อไปในอนาคต ตามหลักพระอภิธรรมการศึกษาวิถีจิตต้องเข้าใจเรื่องเจตสิกเครื่องปรุงจิต จิต เจตสิก รูป แล้วก็นิพพาน รูปก็คือสภาวะปรุงแต่ง หลายสิ่งรวมเป็นหนึ่งสิ่ง เรียกหนึ่งสิ่งนั้นว่ารูป  

จับจ้องอยู่เฉพาะในจิต ดูอารมณ์หรือเจตสิกที่เข้ามาปรุงจิต เข้ามาโดยการรับหรือจำ  

 

 เพิ่มไปอีกตัวหนึ่งที่หัวกระดาษ  “คิด”  

รู้น่ะมันรู้อยู่แล้ว รู้บ้างไม่รู้บ้างก็รู้ล่ะ บางทีรู้ทั้งรู้ก็ยังผิดอยู่ก็รู้แบบผิดๆ น่ะ ก็มันรู้อยู่น่ะรู้ผิดๆ ก็รู้โดยไม่สัมปยุตไปด้วยปัญญา ก็ยังผิดอยู่ รับ จำ คิด ขีด เจตสิกหรืออารมณ์ที่เข้ามาปรุงจิตให้กระเพื่อม เข้ามาจากการรับ หรือการจำ หรือความคิด ขีด ถ้าเข้ามาทางความคิดก็ขีดช่องความคิด คิด รับ จำ  

ถ้าเราไม่ขีดแล้วนั่งดูมันเฉยๆ เนี่ย มันจะเห็นหลังมันไหวๆ เห็นอารมณ์มันวิ่งไปไหวๆ แต่ถ้าขีดเนี่ย พอเห็นหัวมันก็ขีดแล้ว มันจะแตกต่างกัน  

 

 เพิ่มเข้าไปอีกตัวหนึ่งที่หัวกระดาษ “รู้” อารมณ์  

อารมณ์เกิดจากช่องรับก็ขีดช่องรับ เกิดจากช่องจำก็ขีดช่องจำ ถ้าเจอจิตที่จำก็ขีดในช่องที่จำ เกิดจากการคิดก็ขีดในช่องที่คิด เกิดในช่องรู้ก็ขีดในช่องที่รู้  

พัก 

 

๐ สรุปผลการฝึก   

มีความสำรวมสังวรระวังมั้ย มีวิเวกมั้ย ความสงบระงับแห่งกาย มีสติสัมปชัญญะมั้ย มีลหุตาคือความเบา เบาอกเบาใจ มีมั้ย ไม่มี ไม่เบา เครียด เหรอ เครียดถึงบ้าเชียวนะมึง บ้าเลยเหรอ วิถีจิตนี่ถ้าฝึกแล้วเครียด ฝึกแล้วหนักเนี่ย จะบ้า แต่ถ้าฝึกแล้วเบา วิถีจิตนี่จะไวมากจะให้ผลไวมาก คนเรียนรู้ศึกษาวิถีจิตเนี่ย ถ้าเครียดบ้าเลย แต่ถ้าเบาสบายเลย  

สรุปว่าเบาหรือเครียด ฝึกแล้วต้องเบา วิถีจิตถ้าฝึกแล้วเครียด ฝึกแล้วเรื่องเยอะ ฝึกแล้วชีวิตยุ่งยาก บ้าแน่ เพราะเรื่องของวิถีจิตมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มันมีเรื่องต้องจำ ต้องรับ ต้องคิด ต้องรู้, ต้องจำ ต้องรับ ต้องคิด ต้องรู้, ต้องคิด ต้องจำ ต้องรับ ต้องรู้, มีเรื่องต้องรู้ ต้องคิด ต้องจำ แล้วก็ต้องรับ มันสลับสับเปลี่ยนกันอยู่อย่างนี้เยอะแยะมากมาย ทุกเรื่องที่เข้ามาไม่รู้ว่ากี่ร้อยกี่พันเรื่อง เรานั่งมาประมาณชั่วโมงกว่าๆ เนี่ย เป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ขืนเครียด แบก ยึดถือ บ้า เดี๋ยวก็ให้ผลสมองเบลอ หูตาลาย เดี๋ยวก็ปวดต้นคอ ปวดกล้ามเนื้อ เดี๋ยวก็ลำบาก  

แต่ถ้ายิ่งคิด รับ จำ รู้, รู้ รับ จำ คิด, จำ รับ คิด รู้, คิด รู้ รับ จำ หมุนวนกันไปมา เบาเรื่อย เบาขึ้น เบาเรื่อย เบาขึ้น แม้นเรื่องจะเยอะแต่ชีวิตไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน พิจารณาแล้วไม่ซับซ้อน รู้ละ รู้วาง รู้ว่าง รู้เว้น รู้จด รู้ขีด รู้บันทึก มันไม่สะสมไง มันทำให้เราวางว่าง  วางว่าง  วางว่างไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องแบก ไม่เป็นภาระ ไม่ต้องยึดถือ ซึ่งจะแตกต่างจากการมาขีดแล้วรู้ลมหายใจ หรือถ้าเราไม่จับมาขีด เราอาจจะไม่ทันสภาวะเจตสิกหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิต เราไม่รู้ว่ามันเกิดช่องไหน อยู่ดีๆ มันก็โผล่ขึ้นมา รับหรือเปล่า หรือจำ หรือคิด หรือรู้ แล้วถ้าไม่ขีดบางทีบางครั้งก็อมซึมสิงอยู่กับอารมณ์แล้วคิดว่านี่คือใช่ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ มันเป็นศัตรู เพราะอารมณ์นี่มันมีระดับหยาบ ปานกลาง ละเอียด แล้วก็ถึงละเอียดที่สุด อารมณ์ละเอียดที่สุดเป็นอารมณ์มหากุศลแล้ว นั่นคืออารมณ์ละเอียดที่สุด  

 

ที่มันมีจิตอยู่ก็เพราะว่ามันมีอารมณ์อยู่  

ถ้าเมื่อใดที่ดับจิตได้แสดงว่าดับอารมณ์ได้หมดแล้ว  

 

แม้เราบอกว่าราคะไม่มี โทสะไม่มี โมหะไม่มี ตอนที่เราขีดจิตนี่มีราคะมั้ย (ไม่มี) มีโทสะมั้ย (ไม่มี) มีโมหะมั้ย (ไม่มี) เออ ก็ไม่มีอารมณ์แล้วไง ก็ไม่มีราคะไม่มีโทสะไม่มีโมหะแล้วทำไมมันยังมีจิตอยู่ ก็เพราะว่ามันยังมีอารมณ์ที่เหนือละเอียดยิ่งกว่าราคะโทสะโมหะอยู่ แล้วก็จัดการกำจัดมันไปเรื่อยๆๆๆ จนกระทั่งอุปาทาน อุปาทานเป็นอารมณ์มั้ย (เป็น) ความไม่รู้เป็นอารมณ์มั้ย (เป็น) ต้องไม่มี  

พอไม่มีอารมณ์ในฝ่ายส่วนที่เป็นอกุศลแล้ว แล้วอารมณ์ฝ่ายกุศลล่ะ ยังเป็นอารมณ์อยู่มั้ย (เป็น) ฝ่ายกุศลก็เป็นอารมณ์ก็เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตได้อีก งั้นยังอีกเยอะ อย่าเพิ่งบ้า แต่ถ้าทำแล้วไม่บ้า ทำแล้วไม่หนัก ทำแล้วไม่เครียด ทำแล้วไม่แบก ทำแล้วไม่ต้องเป็นภาระ ชีวิตไม่ยุ่งยาก แสดงว่ามาถูกทาง แต่ถ้าทำแล้วเครียด ทำแล้วเป็นภาระ ทำแล้วหนัก ทำแล้วชีวิตยุ่งยาก แสดงว่าผิดทางแล้ว ไม่ใช่แล้ว ปวดหัว ปวดเมื่อย ปวดบ่า ปวดกล้ามเนื้อ มือไม้เกร็ง ปากคอบิดเบี้ยว ยังงี้ไม่ใช่แล้ว บ้าแล้ว ทางใครทางมัน ขืนสอนไปเดี๋ยวเป็นเรื่องเดี๋ยวเดินแก้ผ้าวิ่งรอบวัด  

เพราะงั้นวิถีจิตมันจะเป็นอะไรที่พิสดารในตัวมัน แล้วสำคัญที่สุดคือเมื่อเข้าไปในครรลองทำนองของจิตก็คือวิถีแห่งจิตชัดเจนแล้วเนี่ย เราจะเพลิน เราจะรุกไป ลุยไป เดินหน้าไป จัดการมันไป มันเหมือนกับรถไฟที่อยู่ในราง มันจะเดินของมันไปเรื่อย มันจะวิ่งของมันไปเรื่อย จนถึงที่สุดแห่งสถานีสุดท้าย แต่ถ้ายังไม่เข้ามันก็เหมือนกับเรายังงมอยู่มะงุมมะงาหรา มันเหมือนกับลูกบอลกลมๆ ที่เราเจาะเข้าไปไม่ได้สักทีหนึ่งไม่รู้กูจะเข้าทางไหน เอ้า เดี๋ยวลมหายใจโผล่อีกแล้ว เอ้า เดี๋ยวแสงมายังไงวะเนี่ย  เอ้า เดี๋ยวปวดขาอีกแล้ว เอ้า เดี๋ยวปวดหัว มันไม่เข้าไปสู่วิถีจิตสักที มันเจาะเข้าไปไม่ได้ นั่นเป็นเครื่องบอกอะไรเรา ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่าสติเรายังไม่มั่นคง สติปัญญาก็คือสัมปชัญญะเรายังไม่มั่นคง ต้องฝึกสติสัมปชัญญะให้มากขึ้นอีกไม่งั้นมันเจาะเข้าไปในวิถีจิตไม่ได้ คือมันแยกไม่ได้ไง มันแยกไม่ได้ว่าอารมณ์นี้มันเกิดจากกาย หรืออารมณ์นี้มันเกิดจากจิต แยกไม่ได้ พอแยกไม่ได้มันก็มั่วไปหมดแหละ  

 

เพราะงั้น สติ เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการฝึกวิถีจิต ถ้ามีสติมันก็จะแยกได้ นี่กองแห่งสังขาร กองแห่งอารมณ์ กองแห่งจิต พอแยกได้แล้วมันก็จะง่ายขึ้น  

 

แต่ถ้าแยกไม่ได้มันยังเป็นเหมือนก้อนเนื้อกลมๆ อยู่แล้วข้างในมันมีพลัง เราก็เจาะเข้าไปในก้อนเนื้อไม่ได้จะไปเจอพลังมันก็ไม่ได้ มันเหมือนประมาณนั้นน่ะ มันเหมือนเราเจาะเข้าใจกลางลูกโป่งใจกลางก้อนเนื้อซึ่งมันมีขุมพลังอยู่ แล้วขุมพลังนี้มันก็มีหลายแสงมาก หลายสีมากหลายเรื่องหลายราวมากที่เราต้องศึกษามัน  

 

ตัวรู้ ไม่ใช่หนทางแห่งที่มาของเจตสิก หรือไม่ใช่หนทางที่มาแห่งอารมณ์ 
 

สัปดาห์แรกของพรรษานี้ได้มั้ย สัปดาห์หน้าก็ต้องมาต่อย้ำให้ชัดในเรื่อง รับ จำ คิด รู้ ต่อ จนเรามั่นใจว่าเราแยกอารมณ์ชัดว่าเจตสิกที่เข้ามาครอบจิตมันมาจากการรับ หรือมาจากการจำ หรือมาจากการคิด รู้น่ะมันรู้อยู่แหละ  รู้น่ะมันไม่ได้เป็นทางเข้าของเจตสิกหรืออารมณ์นะ รู้คือตัวเข้าไปรู้ รู้ที่มันเกิดจากการรับ รู้ที่เกิดจากการจำ รู้ที่เกิดจากการคิด แต่ รู้นี่ไม่ได้เป็นทางมาของอารมณ์ แต่เป็นการที่ตัวรู้หรือจิตรู้ไปรับรู้เจตสิกที่มาจากรับ จำ คิด  เพราะงั้นสภาพรู้ดีมั้ย สภาพรู้ดีสิ เพราะเหตุผลว่าที่เราทุกข์อยู่ทุกวันนี้เพราะเราไม่รู้ แล้วการที่เข้าไปรู้รับ รู้จำ รู้คิด มันก็ทำให้ตัวรู้เราคล่องแคล่ว มีพลังมากขึ้น มีอำนาจมากขึ้น แล้วก็ฉับไวมากขึ้น เฝ้าสังเกตได้ชัดเจนมากขึ้น  

เพราะฉะนั้น ตัวรู้ไม่ใช่หนทางแห่งที่มาของเจตสิกหรือไม่ใช่หนทางที่มาแห่งอารมณ์นะ ไม่ใช่ปากประตูแห่งอารมณ์ เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่รู้เท่านั้น เหมือนกับครูที่ทำหน้าที่จดเลคเชอร์ เข้ามาหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ไอ้ตัวรู้เหมือนกับคนที่ไปยืนปากประตูเล้าวัว วัวสีดำวิ่งเข้ามา-ขีด วัวสีขาววิ่งออกไป-ขีด วัวสีเขียววิ่งเข้ามา-ขีด อย่างนี้ เพราะฉะนั้นตัวรู้ไม่ใช่ตัววัว ไม่ใช่ตัววิ่งเข้าวิ่งออก นี่ก็ต้องฝึก ฝึกไปเรื่อยๆ ฝึกกระทั่งมันมองเห็นว่า ไม่มีอะไรจะให้สงสัยแล้วในเรื่องรับ เรื่องจำ เรื่องคิด เรารู้แล้วล่ะ ใช้คำว่าเรารู้แล้วล่ะ ทีนี้ก็ขยับมาในอาการจิต ๑๐ อย่าง ขยับไปเรื่อยๆ ก็คงจะปู๊นนู่นแหละ  

ไปเอาหนังสือสวดมนต์มา เดี๋ยวฝึกจิตจำกันหน่อย  

 (เจริญพระพุทธมนต์

 

แหล่งข้อมูล

หลวงปู่พุทธะอิสระ. ๒๕๖๐. ฝึกหน้าที่จิต รับ จำ  คิด รู้  ใน วิถีจิต วิถีปัญญา, (น. ๑๑๕ - ๑๒๕) . นครปฐม:

มูลนิธิธรรมอิสระ.

หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม บ่าย ณ ศาลาปฎิบัติธรรม วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐

https://www.youtube.com/watch?v=ZXeFjHy4eJs&list=PLJmPSYMcXHqdqEVLaVeSbP3FGA2ZiQLb3&index=15

หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรมเช้า ณ ศาลาปฎิบัติธรรม วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐

https://www.youtube.com/watch?v=i0dSpPpCoRQ&list=PLJmPSYMcXHqdqEVLaVeSbP3FGA2ZiQLb3&index=14&t=337s

201 | 25 กุมภาพันธ์ 2025, 16:48
บทความอื่นๆ