บทที่ ๓ ผู้เข้าถึงวิถีแห่งจิต
วิถีจิต วิถีปัญญา
ชื่อเรื่อง ผู้เข้าถึงวิถีแห่งจิต
แสดงธรรมวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐ (ช่วงเช้า)
สาระสังเขป
กล่าวถึงมโนวิญญาณธาตุและกระบวนการทำงานของจิต เริ่มจากอาการจิต ๑๐ และอธิบายคำว่ามโนวิญญาณธาตุ มโน คือ น้อมสิ่งที่ดีงามเข้ามาในจิต ผู้ศึกษาเรื่องอาการจิต หน้าที่ของจิต จะต้องไม่ยึดติดในอารมณ์ใด แต่ต้องเข้าใจความเป็นไปของสภาพจิต ต้องไม่ยึดอยู่ในความวางเฉย มันก็จะกลายเป็นการเสพอารมณ์เฉย วิญญาณคือความรับรู้ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ถ้ากลั่นกรองอย่างดีก็จะไม่มีมลภาวะทางอารมณ์ อยู่กับจิตรับ จิตจำ จิตคิด จิตรู้ ไม่ใช่อยู่กับอารมณ์ ปฏิบัติธรรม ฝึกมโน ด้วยอักษรจิตโดยอ่านบทสวดมนตร์ที่ละตัวแล้วใช้จิตน้อมเข้ามาเขียน
เนื้อหา
เจริญธรรมเจริญสุขท่านสาธุชนคนใฝ่ดีที่รักทุกท่าน วันนี้เป็นวันพระ วันธัมมัสสวนะ กาเลนะ ธรรมมัสสากัจฉา กาเลนะ สวนะนัง การเจรจาธรรม การฟังธรรม เอตัมมังคละมุตตะมัง ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด
อาการจิต ๑๐
เมื่อวานพูดถึง สอนอบรมในเรื่องวิถีจิตในเรื่องของอาการจิต ๑๐ อย่าง ได้อธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของมโนวิญญาณธาตุ และกระบวนการทำงานของจิตที่เริ่มต้นจาก
คิด เป็นจิต
น้อม ไปเป็นมโน
เก็บไว้ เป็นหทัย
พอใจ เป็นมนัส
ยินดี เป็นบัณฑระ
สืบต่อ เป็นมนายตนะ
เป็นใหญ่ เป็นมนินทรีย์
รู้อารมณ์ เป็นวิญญาณ
รู้เป็นเรื่องๆ อย่าง เป็นวิญญาณขันธ์
รู้แจ้งในอารมณ์ทั้งปวง เรียกว่ามโนวิญญาณธาตุ
แล้วก็ได้อธิบายความให้เข้าใจว่า มโนก็คือน้อมเข้ามา วิญญาณก็คือหมายถึงวิญญาณทั้ง ๖ ที่เกิดจากตา จากหู จากจมูก จากลิ้น จากกาย แล้วก็จากใจ เรียกว่ามโนวิญญาณ ส่วนธาตุก็รวมธาตุอากาศเข้าไปด้วยเป็น ๕ ธาตุ เดิมทีก็มีแค่ ๔ ธาตุ ก็คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม แล้วก็ธาตุไฟ แต่ในขั้นตอนของผู้ที่เข้าถึงมโนวิญญาณธาตุก็ต้องรู้ละเอียดจนกระทั่งถึงอากาศธาตุ
ฝึกมโนจิตน้อมเข้ามา ต่างจากจิตรับ จิตจำ จิตคิด จิตรู้
แล้วก็สอนให้ฝึกมโน มโนก็คือการน้อมเข้ามา มโนจิตน้อมเข้ามา น้อมสิ่งที่ดีงามเข้ามาในจิต เมื่อวานก็ฝึกให้เจริญมนต์ว่าด้วยนะโม คำนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วก็บทอิติปิโส สวาขาโต แล้วก็สุปฏิปันโน ทั้งบาลีแล้วก็แปล แล้วก็เทียบให้เห็นถึงจิตที่เป็นมโนหรือน้อมเข้ามา กับการศึกษาเรียนรู้หน้าที่ของจิต ๔ อย่าง คือรับอารมณ์ จำอารมณ์ คิดอารมณ์ แล้วก็รู้อารมณ์ รับ จำ คิด รู้ เทียบดูทั้ง ๒ ชนิดก็จะเห็นว่า แม้นจิตรับ จิตจำ จิตคิด จิตรู้ ดูแล้วจะเป็นเรื่องยุ่งวุ่นวายแต่ไม่แบกเบาสบาย ซึ่งจะแตกต่างจากมโนจิตที่ต้องน้อมเข้ามาต้องยึดเข้าไว้ต้องมีพันธนาการ สภาพจิตแม้นจะรวมกันได้ดีแต่ก็แบกหนัก ซึ่งจะแตกต่างจากการศึกษาสภาวะหน้าที่ของจิตคือ พูดง่ายๆ คือศึกษาจิตที่มีหลากหลายให้รู้เรื่องราว ให้คิดสารพัดปัญหา ให้วิเคราะห์ ให้รับ ให้จำ แต่เราไม่แบกเราไม่ได้ยึดไม่ผูก ก็จะสอดคล้องกับบทเรียนกรรมฐานตอนช่วงเย็น
กรรมฐานจิตที่ทำให้เข้าใจความเป็นไปของวิถีจิต
หลังจากเจริญพระพุทธมนต์ตอนเย็นก็จะสอนเรื่องให้เข้ากรรมฐานจิตหรือว่าจิตภาวนา เริ่มต้นจากการจิตอยู่ภายในกายเรียกว่าจิตภายในกายที่เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หลังจากจิตอยู่ในกายแล้วก็ จิตอยู่ในเวทนาของกาย คืออาการที่เกิดจากกายเรียกว่า เวทนาก็ละเอียดขึ้นมาอีกนิด จากจิตที่รู้เวทนาของกายก็มารู้เวทนาของจิต ก็คืออารมณ์ที่ปรากฏกับจิต
แล้วก็จากอารมณ์ที่ปรากฏกับจิตก็มารู้เรื่องจิต
ในขณะเดียวกัน ผู้ศึกษาเรื่องอาการจิต หน้าที่ของจิต จะต้องไม่ยึดติดในอารมณ์ใด แต่ต้องเข้าใจความเป็นไปของสภาพจิต นั่นก็คือต้องไม่ยึดอยู่ในความวางเฉย มันก็จะกลายเป็นการเสพอารมณ์เฉย เพราะงั้นก็ต้องแยกออกมาเป็น ๒ คนในคนเดียวกัน ก็คือมาวิจัยวิจารณ์ว่าเวลานี้จิตรับอยู่หรือจิตจำอยู่ จิตรับอยู่หรือจิตจำอยู่ จิตจำอยู่หรือจิตคิดอยู่ จิตคิดอยู่หรือจิตรู้อยู่ ทั้งรับ จำ คิด รู้ นั่นคือสภาวะจิต แต่ไม่มีอาการเฉย ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา สิ่งของให้ยึดถือ
วิเคราะห์อย่างนี้ ตรึกอย่างนี้ ถกกันอย่างนี้ รู้ รับ ให้ได้อย่างนี้ เข้าใจให้ได้อย่างนี้ จึงจะถือว่าเป็นผู้เข้าถึงวิถีแห่งจิต
สิ่งที่เราต้องการคือ มโนวิญญาณธาตุ ไม่ใช่ความเฉยว่างเป็นอารมณ์
แต่ถ้าเมื่อใดที่เราไปเอาความว่างเป็นอารมณ์ ไปเอาความเฉยเป็นอารมณ์ มันจะกลายเป็นสมถะ มันจะกลายเป็นการเสพอารมณ์ ฉะนั้นการศึกษาเรียนรู้วิถีจิตในวิถีแห่งอาการ หน้าที่จิต ๑๐ อย่าง สิ่งที่เราต้องการก็คือ มโนวิญญาณธาตุ รู้แจ้งในวิญญาณและธาตุทั้งปวง เพราะงั้นถ้าเฉยจะรู้มั้ย เฉยมันก็จะไม่รู้ เพราะฉะนั้นคนศึกษาวิถีจิตที่ชาญฉลาดต้องเข้าใจว่าเวลานี้จิตเรามันเหมือนม้าพยศหรือว่ามันเซื่องซึม เหมือนกับม้าแก่ตัวเก่าที่มันหมดเรี่ยวแรงมันอยากให้หลับ ก็ต้องเข้าใจมัน อย่าไปฝืน ใช้คำว่าอย่าไปฝืนก็คือ เอ้า อยากพยศใช่มั้ย อยากพยศก็ต้องดูว่ามันพยศเรื่องอะไร มันฟุ้งเรื่องอะไร
ในขณะที่เราดูเรื่องกายในข้อกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในมหาสติปัฏฐาน ๔ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง มีทั้งหมด ๖ ข้อใหญ่ หรือ ๖ บรรพ เริ่มต้นจากอานาปานสติกรรมฐานคือรู้ลมหายใจ แล้วก็อิริยาบทบรรพก็คือรู้การยืน การเดิน การนั่ง การนอน คืออิริยาบททั้ง ๔ สัมปชัญญบรรพก็คือรู้การเงยหน้า ก้มหน้า ยกแขน ลดแขน ยกขา ลดขา หันซ้าย หันขวา แม้กระทั่งกระพริบตา กลืนน้ำลาย เหล่านี้เป็นสัมปชัญญบรรพ ต่อไปก็ปฏิกูลสัญญา รู้ความสกปรกภายในกายตนแล้วก็ความสกปรกในกายผู้อื่น แล้วก็ตามด้วยจตุธาตุววัฏฐาน ก็คือรู้ธาตุทั้ง ๔ ภายในกาย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ สุดท้ายก็จะจบลงตรงคำว่านวสีวัฏฐิกาบรรพ
ผู้เจริญปัญญา เจริญวิถีจิตต้องเข้าใจว่าขณะนี้จิตเราเป็นอาการอย่างไร
สรุปแล้วคนเรียนรู้ศึกษาจะเป็นผู้ฉลาดในจิตได้ ต้องเข้าใจว่าขณะนี้จิตเรามันเป็นอาการอย่างไร ถ้ามันไม่สามารถจะให้มันนิ่งมันหยุดอยู่กับเรื่องรับ เรื่องจำ เรื่องคิด เรื่องรู้ หรือไม่สามารถให้มันนิ่งมันหยุดอยู่กับกาย หรือไม่สามารถให้มันนิ่งมันหยุดอยู่กับเวทนา เวทนาของกาย หรือไม่สามารถให้มันนิ่งมันหยุดอยู่กับเวทนาของจิต หรือไม่สามารถให้มันนิ่งมันหยุดอยู่กับจิต แต่จิตนี้มันไปรู้เรื่องลมหายใจ เรื่องอิริยาบทยืน เดิน นั่ง นอน หรือไปรู้เรื่องความตาย ๙ ชนิดที่เรียกว่าป่าช้า ๙ อย่าง ถ้ามันยังไม่ออกไปจากนครกายแห่งนี้เราต้องตามรู้มันไป เช่นถ้ามันจะไปรู้ลมหายใจ เอ้าถ้าอย่างนั้นก็ตามดูลมหายใจ ตามดูลมหายใจจนกระทั่งจิตนี้ตั้งมั่น ดูพอแล้วนะสังเกตดูจิตว่ามันพอ มันบอกตัวมันเองแหละว่าเอาหละเราพอแล้วจิตนี้มันจะไปไหนต่อ มันจะพยศหน้าพยศหลัง มันจะหกคะเมนตีลังกา ดูมัน ตามดูมัน แต่ต้องไม่ออกจากคอก คือต้องไม่ออกจากกาย ไม่ออกจากกาย ไม่ออกจากเวทนา แล้วก็ไม่ออกจากจิต ตามดูมัน ไม่ต้องไปฝืน ไม่ต้องไปบังคับ เพราะไม่ได้ฝึกวิกขัมภนปหานคือการข่ม แต่เรากำลังฝึกปัญญา ฝึกวิถีจิต ที่รู้เท่าทันสภาวะจิตว่าขณะนี้จิตมันกำลังพยศไปในทิศทางไหน แล้วเราควบคุมคอนโทรลมันได้เท่านั้นพอ
รวมๆ สรุปแล้วคนฝึกเรียนรู้ศึกษาวิถีจิตไม่มีกรรมฐานกองใดที่ตายตัวแน่นอน
ในขณะที่เรากำลังเจริญเวทนาอยู่ จิตรู้เวทนาของกายอยู่ เผอิญมันไปเห็นลมหายใจเข้า แม้นเวทนานี้มันละเอียดกว่าลม แต่มันดันเห็นลมหายใจกองใหญ่เยอะมาก อย่างนั้นก็ปล่อยให้มันหายใจไป ตามดูลมหายใจ ในขณะที่กำลังดูลมหายใจอยู่มันเผอิญเห็นเวทนากองใหญ่ของกายหรือเวทนากองใหญ่ของจิต อย่างนั้นก็ลมหายใจมันเบาแล้วก็ไปดูเวทนากองใหญ่ของกายก็ได้หรือเวทนากองใหญ่ของจิตก็ได้ ในขณะที่ดูเวทนาของกายหรือเวทนาของจิตอยู่ มันดันรู้ รับ จำ คิด ขึ้นมา ทบทวนสภาพรู้ รับ จำ คิด อย่างนั้นก็ทิ้งเวทนาไปดูรู้ รับ จำ คิด ให้ชัดเจน
เพราะฉะนั้นรวมๆ สรุปแล้วเราจะเป็นมโนวิญญาณธาตุรู้แจ้งในอารมณ์ทั้งปวงได้ ไม่จำเป็นจะต้องนิ่งอยู่กับที่ เพราะเราไม่ได้ฝึกสมถะ เราเป็นผู้เจริญปัญญา เราเป็นผู้เจริญวิถีจิต วิถีจิตนี่มันไม่มีเครื่องอะไรจำกัด สำคัญที่สุดถ้าไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้เราก็จะคิดว่า ไม่ได้เราอยู่กับกรรมฐานกองนี้เราก็จะอยู่กับกรรมฐานกองนี้ เราจะไม่หากรรมฐานกองอื่น มันเป็นไปไม่ได้หรอกด้วยเหตุผลว่ายาแดงมันจะทาแก้ปวดหัวได้ มันจะทาแก้ปวดท้องได้ มันจะทาแก้ปวดเมื่อยได้ พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้สอนกรรมฐานกองใดกองหนึ่งเฉพาะ แต่ทรงสอนกรรมฐานไว้ถึง ๔๐ กอง เพื่อให้เราให้จิตนี้มันเลือกสรร ใช้คำว่าให้จิตนี้มันเลือกสรรให้เหมาะสมกับกาลสมัย
รู้ รับ จำ คิด ไม่เป็นอารมณ์ เป็นหน้าที่ของจิตหรือธรรมชาติแห่งจิตแท้
เพราะฉะนั้นรู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้สถานที่ รู้ชุมชน รู้จักบุคคลนี่ ความเป็นสัตตบุรุษนี่มันจะแยกแยะได้ เป็นปราชญ์เป็นผู้ฉลาดในจิตนี่ จะสามารถรู้ว่าอารมณ์ชนิดนี้มันคบหาสมาคมได้ ขณะที่เราเป็นผู้ฝึกจิตรักษาจิต ดำรงไว้ซึ่งความเป็นรู้ รับ จำ คิดชัดเจน นั่นคือตัวจิต แต่ถ้าเมื่อใดที่เราไปเสพนอกจากรู้ รับ จำ คิด เช่น เสพความสุข เสพความเฉย ความสุขเป็นเวทนามั้ย (เป็น) เป็นอารมณ์มั้ย (เป็น) ความเฉยเป็นเวทนามั้ย (เป็น) เป็น เป็นอารมณ์มั้ย (เป็น) เป็นอารมณ์ เป็นเวทนา ซึ่งจะแตกต่างจากคำว่ารู้ รู้เป็นเวทนามั้ย รู้ไม่เป็นเวทนา รู้ไม่เป็นอารมณ์ รู้มันเป็นสภาวะของจิต ธรรมชาติเดิมของจิตที่มีหน้าที่ต้องรู้ เพราะฉะนั้นตัวรู้ไม่เป็นอารมณ์
เพราะฉะนั้นทำความเข้าใจให้ชัดว่า รู้ รับ จำ คิด ไม่ใช่อารมณ์ มันเป็นหน้าที่ของจิต เป็นธรรมชาติแห่งจิต แต่ถ้าเมื่อใดที่คิดแล้วมันเกิดอะไรตามมา อันนั้นเป็นอารมณ์มั้ย (เป็น) เป็น
เพราะฉะนั้นระหว่างเฉยๆ กับรู้ รับ จำ คิด อันไหนคือจิตแท้
รู้ รับ จำ คิด เป็นจิตแท้
หลวงปู่จึงบอกว่า เวลาเราศึกษาเรื่องวิถีจิต ถ้าเฉยแสดงว่าเราเสพอารมณ์ใช่มั้ย (ใช่) เราตกอยู่ในอำนาจของอารมณ์ เพราะฉะนั้นเฉยไม่ได้ เราไม่ได้ฝึกสมถะ พวกสมถะเขาชอบเฉย แล้วเฉยนี่มีปัญญามั้ย (ไม่) ไม่มีปัญญา คนเฉยนี่จะไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้นเราจะเฉยไม่ได้แล้วทำยังไง ก็หันมาดูจิต ซึ่งมีตัวตนอยู่ ๔ ตัว คือ ตัวรู้ ตัวรับ ตัวจำ แล้วก็ตัวคิด นี่คือจิต จิตแท้ๆ มันเป็นอย่างนี้ มีหน้าที่รับอารมณ์ จำอารมณ์ คิดในอารมณ์ แล้วก็รู้ในอารมณ์
รู้ รับ จำ คิด ถ้าไปพูดถึงอารมณ์บวกเข้าไปเดี๋ยวเราจะนึกว่าตัวรู้เป็นอารมณ์ ไม่ใช่ คือมีหน้าที่รู้อารมณ์แต่มันไม่ได้เป็นอารมณ์ ตัวรู้ไม่เป็นอารมณ์ ตัวรู้ไม่ได้เป็นอารมณ์ ตัวรับก็ไม่ได้เป็นอารมณ์ ตัวคิดก็ไม่ได้เป็นอารมณ์ แต่ถ้าคิดแล้วต่อจากความคิดนั้น เป็นอารมณ์มั้ย (เป็น) เป็นอารมณ์
ศึกษาหน้าที่การทำงานของจิต รับ จำ คิด รู้ให้เชี่ยวชาญ
เพราะงั้นคำสอนเดิมที่เคยสอนไว้ว่า
มีอารมณ์ก็ทำให้เกิดจิต
มีจิตแล้วทำให้มีอะไร สร้างภพ ชาติ ชรา มรณะ พยาธิ ก็จะตามมา
เราไม่ต้องการให้เกิดอารมณ์แก่จิต แต่เราต้องการจะเรียนรู้ศึกษาหน้าที่ของจิตที่มันรับ มันจำ มันคิด มันรู้ รับ จำ คิด รู้, รู้ รับ จำ คิด,คิด รับ จำ รู้ ซึ่งมันทำงานสลับกันไปมาเนี่ย ให้ช่ำชอง ให้เชี่ยวชาญชำนาญ เมื่อมันรับ มันจำ มันคิด มันรู้อย่างสมบูรณ์ ทีนี้เราก็จะมาดูเรื่อง วิญญาณ สิ่งที่ควรรู้ทางตา สิ่งที่ควรรับทางตา สิ่งที่ควรจำทางตา สิ่งที่ควรคิดทางตา ว่ามันรู้ รับ จำ คิด ทางตา มันเป็นมลภาวะหรือมันเป็นสภาวะ มันเป็นคุณหรือมันเป็นโทษ จึงจะเข้าถึงความหมายของคำว่า มโนวิญญาณธาตุ ผู้รู้แจ้งในวิญญาณทั้ง ๖ แล้วก็ธาตุทั้ง ๕ ซึ่งมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม แล้วก็ธาตุไฟ
สิ่งที่เรารับ จำ คิด รู้เป็นกุศลหรืออกุศล
ทีนี้เราจะเทียบเคียงอย่างไรว่าสิ่งที่เรารู้ก็ตาม รับก็ตาม จำก็ตาม คิดก็ตาม ว่ามันเป็นกุศลหรืออกุศล ก็ไปเทียบเคียงกับจิตที่เป็นอกุศลมูล ๘๒ ดวง หรือง่ายๆ มีอยู่ ๓ กลุ่มใหญ่ๆ ก็คือ โลภะมูลจิต โทสะมูลจิต โมหะมูลจิต ในขณะที่จิตเรารับ เราจำ ในขณะที่จิตเรามีตัวรู้ ตัวรับ ตัวจำ ตัวคิด เราก็มาวิเคราะห์ดูว่าจิตนี้มีโมหะมั้ย จิตนี้มีโทสะมั้ย จิตนี้มีโลภะมั้ย ถ้าไม่มีโมหะ ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ แสดงว่าอกุศลไม่เป็นมูลแห่งจิตนี้ เมื่ออกุศลไม่เป็นมูลแห่งจิตนี้แสดงว่าจิตนี้ไม่เป็นอกุศล หรือว่าจิตนี้ไม่เป็นอกุศลก็แสดงว่าจิตนี้ไม่ตกอยู่ในที่ชั่ว ไม่ตกอยู่ในวิบากกรรมคือทุคติภพ ถ้ามันจะมีภพมันก็กลายเป็นสุคติภพไม่ใช่ทุคติภพอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเราจะต้องศึกษากันต่อไป เรียนรู้กันต่อไป เพราะนี่เพิ่งสัปดาห์ที่สองของพรรษาที่เรียนรู้เรื่องวิถีจิต ถ้าเทียบยกไปเมื่อปีที่แล้วเราก็วางพื้นฐานเรื่องการเรียนรู้ศึกษาลักษณะของจิต ทั้งกุศลจิต อกุศลจิต และอัพยากตจิต รู้ไปตามวิถีแห่งอภิธรรมที่พระบรมศาสดาทรงแสดง เรียกว่าเป็น จิต เจตสิก รูป แต่เรายังไม่ได้เรียนรู้ถึงคำว่านิพพาน ด้วยเหตุผลว่านิพพานเป็นสภาวะธรรม ถ้าเมื่อใดที่กระโดดไปเรียนรู้นิพพานเดี๋ยวก็จะตกหัวตะพานเพราะยังไม่ได้รู้เรื่องอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย
รักษาจิตไม่ให้กระเพื่อม เรียกว่าไม่ให้จิตเกิดอารมณ์
รับ จำ คิด รู้เฉยๆ ไม่เสพอารมณ์
เพราะฉะนั้นรวมๆ สรุปแล้วที่เรียนมาทั้งหมดมันคือเรื่องเดียวกัน ทั้งปีที่แล้วและปีนี้ ในขณะที่เรียนนี่มันก็คือเรื่องเดียวกัน แต่มันเป็นขั้นเป็นตอน เป็นเรื่องเป็นราวที่จะทำให้เราเข้าใจถึงสภาพจิตที่แท้จริง ซึ่งเมื่อมีเหตุปัจจัยแห่งความทุกข์ปรากฏไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าใจไม่แสดงอาการกิริยารับ จำ คิด เอาเข้ามารู้ ความทุกข์นั้นจะเกิดขึ้นกับใจมั้ย (ไม่) ไม่เลย ต่อให้เจ็บกายอย่างไร เวลาหลวงปู่จะป่วยไข้ไม่สบายจะเห็นว่าหลวงปู่จะระมัดระวังจิตมาก ไม่ให้อาการเวทนาของกายเข้ามาเป็นเวทนาของจิต จะเฝ้าดูระวังประคับประคองจิตนี้ว่าไม่ให้เกิดเวทนาที่เกิดจากกาย ไม่ว่าจะโดนงูกัด แตนต่อย ต่อต่อย เกิดบาดแผล มีเหตุสำคัญจำเป็นอะไรตรงไหนอย่างไร เราจะพยายามรักษาจิต รักษาจิตนี้ไม่ให้กระเพื่อม ไม่ให้จิตมีเวทนาปรากฏ เรียกว่าไม่ให้จิตเกิดอารมณ์ มีหน้าที่รับ จำ คิด รู้ อยู่เฉยๆ แต่ไม่ต้องเสพอารมณ์ รับก็เป็นคนฉลาดรับ จำก็เลือกจะจำในส่วนที่ดีงาม รู้หรือจะคิดก็ต้องคิดในส่วนที่เป็นประโยชน์ อะไรที่เป็นโทษก็อย่าเก็บมาคิด ในขณะที่เกิดวิกฤตทางกาย ใจเราต้องไม่วิกฤต เมื่อใจไม่วิกฤตพระพุทธเจ้าก็ยืนยันว่า สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เนี่ยรู้ได้เฉพาะตน คนอื่นจะมาชี้ให้รู้ไม่ได้
แล้วก็มโนหรือว่าใจเนี่ยมันเป็นใหญ่ ใจนี่เป็นใหญ่ในการกระทำทั้งปวง สุขทุกข์ก็เกิดจากใจ กายเป็นสุขถ้าใจไม่เป็นสุขด้วย มันเป็นทุกข์อยู่หรือมีอารมณ์อื่นเข้าแทรก สุขนั้นก็ไม่เกิดขึ้นแก่ใจ เรียกว่าไม่พอ ถ้ากายเป็นทุกข์ใจไม่เป็นทุกข์ด้วย ทุกข์นั้นก็ไม่เกิดขึ้นกับใจ เวทนาก็ไม่สร้าง ไม่สร้างให้เกิดอารมณ์ใจ เวทนาไม่ปรากฏในใจ
เมื่อใจไม่มีอารมณ์ ใจก็ไม่สร้างทุคติภพ เราก็จะอยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันที่มีรู้ มีรับ มีจำ มีคิดอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าใจเรื่องวิญญาณทั้ง ๖ อย่างชัดเจน
วิญญาณ ๖
วิญญาณ ๖ อธิบายก็คือความรับรู้ วิญญาณแปลว่าความรับรู้ รับรู้ทางตาเรียกว่าจักษุวิญญาณ รับรู้ทางหูเรียกว่าโสตวิญญาณ รับรู้ทางจมูกเรียกว่าฆานวิญญาณ รับรู้ทางลิ้นเรียกว่าชิวหาวิญญาณ รับรู้ทางกายเรียกว่ากายวิญญาณ รับรู้ทางใจเรียกว่ามโนวิญญาณ การรับรู้กาย หรือว่าใจ หรือว่าตา หู จมูก ถ้ามันผ่านการกรองอย่างดี รับ จำ คิด รู้ อย่างเหมาะสม สิ่งที่รับเข้ามามันจะไม่เป็นมลภาวะ แต่ถ้ากรองไม่ดี รับ จำ คิด รู้ ไม่เหมาะสม ก็เหมือนบทโศลกที่หลวงปู่เขียนว่า
“ลูกรัก อย่าฝากชีวิตไว้บนฟองน้ำลายที่กระดกบนปลายลิ้นชาวบ้าน ชั่วชีวิตของพ่อไม่เคยฝากชีวิตไว้บนฟองน้ำลายที่กระดกบนปลายลิ้นชาวบ้าน” คือชาวบ้านเค้าจะสาปแช่งเราให้เลวร้ายชั่วช้า เราก็หาได้เลวร้ายชั่วช้าอย่างนั้นไม่ ชาวบ้านเค้าจะยกเราจนเลิศเลอขึ้นสวรรค์ลอยเด่น เราก็ได้เลิศเลอขึ้นสวรรค์ลอยเด่นไม่ สรุปแล้วเราจะเลวจะดีจะเลิศเลออยู่ที่ใคร อยู่ที่เรา อยู่ที่ตัวเรา อัตตาหิอัตตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน เชื่อคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจะเข้าใจวิถีทางในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมถูกต้อง ที่พูดมาทั้งหมดก็คือบทเรียนที่เมื่อวานนี้สอนมา
ปฏิบัติธรรม ฝึกมโนด้วยอักษรจิต
ส่วนวันนี้เราก็กลับมาเรียนรู้ศึกษาในจิตข้อที่ ๒ ก็คือ น้อมเข้ามา เคยสอนวิชาอักษรจิตไปแล้วใช่มั้ย ที่จริงอักษรจิตก็ถือว่าเป็นมโนคือการน้อมเข้ามา น้อมเข้ามาหาตัว
เอาหนังสือสวดมนต์มา เปิดหนังสือสวดมนต์อิติปิโส เริ่มตั้งแต่สังฆคุณ
เมื่อวานนี้ให้ใช้จิตล้วนๆ ในการที่จะทำจินตภาพเห็นบทสวดมนต์ปรากฏตรงหน้า อยู่ที่หน้าอก อยู่ที่ฝ่ามือ เพื่อจะสาธยายมนต์ บางคนก็หัวนะโมขาดบ้างๆ ตกๆ หล่นๆ บ้าง ไม่ครบสมบูรณ์บ้าง
เคยสอนอักษรจิตแล้ว เวลาเขียนปกติเราจะเขียนหัวกระดาษด้านซ้ายใช่มั้ย เที่ยวนี้เขียนหางกระดาษด้านขวาไปหาหัวกระดาษด้านบน หางกระดาษด้านขวาคือหางกระดาษข้างล่างเนี่ย เขียนจากข้างล่างขึ้นไปหาบน แล้วก็ไล่จากข้างหลักขึ้นไปหาข้างหน้า
สังฆคุณ ธรรมคุณ พุทธคุณ และคำนมัสการพระพุทธเจ้า
เขียนตัวสุดท้ายสุดไปหาตัวหน้าสุด
(ปฏิบัติเขียนอักษร)
หลักการฝึกใช้มโนด้วยอักษรจิต
เวลาดูตัวอักษรน่ะ ถ้าดูทีละตัวก็ถือว่าใช้จิตรับจิตจำ แต่ถ้าดูทีหนึ่งเป็นคำ ดูเป็นคำ เช่น และ เราเขียนสระอะ ลอลิง สระแอ มันจะใช้จิตรับ จิตจำ จิตคิด คิดรู้ พร้อมเสร็จ โดยดูครั้งเดียว ในมุมกลับกันก็ใช้มโนคือน้อมเข้ามา น้อมเข้ามาเพื่อเขียนลง ให้สังเกตดูจิตด้วย อย่ามะงุมมะงาหราแค่ที่เขียนแค่อักษร เพราะนี่มันคืออักษรจิต
ดูจิต
เอ้าพอ วางกระดาษปากกา หลับตา
ดูจิตรับ จิตจำ จิตคิด จิตรู้ ดูว่าอะไรอยู่ข้างหน้า รับอยู่หน้าหรือจำอยู่หน้า คิดอยู่หน้าหรือรู้อยู่หน้า ถก สงสัย ตั้งข้อสงสัย ถกถาม รับอยู่หรือจำอยู่ คิดอยู่หรือรู้อยู่
รับ จำ คิด รู้ มีอารมณ์อะไรปรากฏ อารมณ์ใดปรากฏในขณะที่รับ อารมณ์ใดปรากฏในขณะที่จำ อารมณ์ใดปรากฏในขณะที่รู้ เมื่อมีอารมณ์ก็มีภพ ดูจิต รับมีอารมณ์หรือเปล่า รู้มีอารมณ์หรือเปล่า คิดมีอารมณ์หรือเปล่า จำมีอารมณ์หรือเปล่า อะไรเป็นใหญ่ จิตดวงไหนที่เป็นมนินทรีย์คือความเป็นใหญ่
เป็นใหญ่ในการรับ หรือเป็นใหญ่ในการรู้ เป็นใหญ่ในการจำ หรือเป็นใหญ่ในการคิด จิตดวงนั้นเรียกว่ามนินทรีย์คือความเป็นใหญ่
รับเป็นใหญ่กว่าจำ หรือจำเป็นใหญ่กว่ารู้ หรือรู้เป็นใหญ่กว่าคิด
กว่าจะเป็นใหญ่ได้มันต้องสืบต่อ รู้ซ้ำๆ ในเรื่องเดียวกันหลายๆ ครั้ง หรือเรื่องเดียวกันหมวดเดียวกันหลายๆ เที่ยว เรียกว่าสืบต่อ เรียกว่ามนายตนะ
อย่าเฉย ถ้าเฉยแล้วจะโง่ วิถีจิตต้องห้ามเฉย เฉยแล้วจะไม่ฉลาดในจิต ต้องสงสัย ต้องค้นหาคำตอบ ถ้าเฉยก็เป็นการเสพอารมณ์ เสพอารมณ์บ่อยๆ ก็จะทำให้โง่บ่อยๆ เพราะไม่ขวนขวายไม่มีความเพียร ต้องถก ต้องซักถาม ต้องเรียนรู้ศึกษา
ถ้ารับ รับเรื่องอะไร รับไปทำไม สาวหาเหตุ ธรรมใดเกิดแต่เหตุพระศาสดาทรงแสดงเหตุ ถ้าจะดับธรรมนั้นต้องดับที่เหตุว่าทำถึงรับ
ถ้าคิด ก็สาวไปว่าคิดเรื่องอะไร คิดทำไม ทำไมต้องคิด
ถ้าจำ ก็ต้องดูให้ได้ว่าจำไปทำอะไร เป็นสาระหรืออสาระ เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ
ถ้ารู้ ก็ต้องหาให้ได้ว่ารู้ถึงที่สุดแล้วหรือยัง
อยู่กับจิตรับ อยู่กับจิตจำ อยู่กับจิตคิด อยู่กับจิตรู้ ไม่ใช่อยู่กับอารมณ์
ไม่ใช่อยู่ที่อารมณ์จำ ไม่ใช่อยู่ที่อารมณ์คิด ไม่ใช่อยู่กับอารมณ์รับ ไม่ใช่อยู่กับอารมณ์รู้
ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าเราเสพเราตกเป็นทาสของอารมณ์แล้ว เราเศร้าหมองแล้ว เรากระเพื่อมแล้ว จิตนี้อยู่ภายใต้อำนาจของเจตสิกเครื่องปรุงแล้ว
ฝึกวิถีจิตเพื่อให้อยู่เหนือเครื่องปรุงทั้งปวง ไม่ใช่อยู่ภายใต้เครื่องปรุง
วิถีจิตไม่ต้องการอารมณ์ เพราะอารมณ์มันทำให้เกิดภพชาติเกิดจิตสืบเนื่องไม่หยุดหย่อน
สิ่งที่ต้องพัฒนาก็คือ เดินหน้าเข้าไปสู่คำว่ามโนวิญญาณธาตุ รู้แจ้งในวิญญาณทั้ง ๖ รู้แจ้งในธาตุทั้ง ๕
ยกมือไหว้พระกรรมฐาน
_______________________________________________________________
แหล่งข้อมูล
หลวงปู่พุทธะอิสระ. ๒๕๖๐. ผู้เข้าถึงวิถีแห่งจิต ใน วิถีจิต วิถีปัญญา, (น. ๑๒๗ - ๑๔๐) . นครปฐม:
มูลนิธิธรรมอิสระ.
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรมอบรมวิถีจิต เช้า วันอาทิตย์ที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐, สืบค้นวันที่ ๒๐
กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๘ จาก
https://www.youtube.com/watch?v=zZa-eqYjgDw&list=PLJmPSYMcXHqdqEVLaVeSbP3FGA2ZiQLb3
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรมอบรมวิถีจิต บ่าย วันอาทิตย์ที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐, สืบค้นวันที่ ๒๐
กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๘ จาก
https://www.youtube.com/watch?v=x_9zqgg9c6M&list=PLJmPSYMcXHqdqEVLaVeSbP3FGA2ZiQLb3