บทที่ ๕ โลกแห่งอารมณ์ โลกแห่งจิต เป็นความว่าง
วิถีจิต วิถีปัญญา
ชื่อเรื่อง โลกแห่งอารมณ์ โลกแห่งจิต เป็นความว่าง
แสดงธรรมวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๑ ณ.วิหารพระโพธิสัตว์ โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ
สาระสังเขป
กล่าวถึงการมีชีวิตเป็นสิ่งมีค่า ถ้าไม่มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม ความทุกข์ทั้งหลายอาจจะครอบงำเราได้ทุกเวลา เพราะความตายเป็นสิ่งสาธารณะ ประโยชน์สูงสุดแห่งการได้เกิดมาเป็นคน คือ ความเข้าใจ รู้จัก มีปัญญาตั้งมั่น เข้าใจรู้จักตามสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง แสวงหาสติปัญญาให้มากที่สุด มีสติ พิจารณาโลกให้เป็นของว่าง แยกโลกมายากับโลกแห่งสัจจะให้ได้
เนื้อหา
เจริญธรรมเจริญสุข ท่านสาธุชนคนใฝ่ดีที่รักทุกท่าน
วันนี้ขออภัยสุขภาพไม่เอื้ออำนวยเท่าไหร่ วันนี้แสดงธรรมประจำเดือนต้นเดือนเมษายน ๒๕๖๑ ท่านทั้งหลาย ใกล้วันเฉลิมฉลองวันมหาสงกรานต์ สิ่งหนึ่งที่อยากฝากบอกไว้ ก็คือช่วงที่หลวงปู่เดินทางไปภาคเหนือ ขณะเดินทางทั้งไปและกลับก็เจออุบัติเหตุเป็นระยะๆ การเดินทางแต่ละครั้งแต่ละครา อยากให้ระลึกรู้อยู่เสมอ มีสติตั้งมั่นอยู่เนืองๆ ความตายมันเป็นของสาธารณะจริงๆ ที่จะเข้ามาครอบงำเราได้ในทุกโอกาสทุกเวลา เมื่อใดที่เราประมาท เผลอไผล พลาดพลั้ง ขาดความระลึกได้รู้ตัว เราก็จะผิดพลาด บกพร่อง บางทีบางครั้งอาจจะถึงกับเสียทรัพย์ เสียอวัยวะ เสียชีวิตล้มหายตายจาก
ที่จริงความตายเป็นสิ่งที่เป็นปกติธรรมชาติเกิดอยู่กับคนทุกคน สัตว์ทุกชนิด สรรพสิ่งทั้งหลายหนีไม่พ้นความเสื่อมและความตาย แต่ถ้าตายอย่างขาดสติมันน่าเสียดาย ตายแบบขาดสติ ทำให้โลกหลังความตาย ยากจะเกิดความคาดเดา อันนี้คือสิ่งที่เห็นมาแล้วก็อยากหยิบมาเล่ามาพูดมาเตือนกันว่า เดินทางแต่ละครั้งๆ ก็ให้ระมัดระวังอย่างยิ่ง อย่าปล่อยให้ตัวเองหลงอยู่ในความประมาทมัวเมา แล้วเราก็จะกลายเป็นคนที่พลาดพลั้งเสียหายได้
ชืวิตเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง ถ้าหากว่าเรายังทำไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันก็เสียดาย ถ้าไม่มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม ความทุกข์ทั้งหลายอาจจะครอบงำเราได้ทุกเวลา
เพราะความตายเป็นสิ่งสาธารณะ ความตายเป็นสมบัติของคนทุกคน ความตายเป็นสิ่งที่ใครก็ไม่อาจปฏิเสธได้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เช่นใด เราก็มีสิทธิ์ตายได้ตลอดเวลา งั้นก็ ให้ระมัดระวัง
ไม่ใช่ระวังเพราะความหวาดกลัวต่อความตาย แต่ระวังว่าเราจะไม่ถึงซึ่งประโยชน์สูงสุดแห่งการได้เกิดมาเป็นคน หรือเป็นสิ่งมีชีวิตอันประเสริฐ
ประโยชน์สูงสุดอันนั้นก็คือ ความเข้าใจ รู้จัก มีปัญญาตั้งมั่น เข้าใจรู้จักตามสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
เมื่อใดที่เรายังไม่เข้าใจ ไม่รู้จักก็ไม่ถึงประโยชน์อันสูงสุด ไม่เข้าถึงสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ก็เท่ากับว่าเราต้องกลับมาวนเวียนว่ายตายเกิด หลง งมงาย มัวเมา งี่เง่า อยู่ไปไม่จบสิ้น
เพราะฉะนั้นก็ ใช้ชีวิตที่มีอยู่ให้คุ้มโดยการแสวงหาสติปัญญาให้มากที่สุด ไม่อย่างนั้น จะกลายเป็นผู้รับมรดกมรณสมบัติโดยที่เราอาจจะเสียดายแต่ภายหลังว่า นี่เรายังไม่ทำสิ่งนั้น เรายังไม่ทำสิ่งนี้ เรายังไม่มีสิ่งใดๆ ที่เป็นมงคล เป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับการมีชีวิตในความเป็นคน ซึ่งมนุษย์หรือคนนี่ได้มายากมากนะ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ได้เกิดเป็นคนได้ง่ายๆ เมื่อได้มายากก็ใช้ให้มันคุ้ม เรียกว่าประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านให้เหมาะสม ให้คุ้มค่า แล้วก็รักษามันไว้ด้วยความรู้สึกสำนึกว่า
เราจะมีชีวิตอยู่เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้สมบูรณ์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท คำว่า ไม่ประมาท นี่สำคัญมาก พระพุทธเจ้าทรงเตือนพระโมฆราชะว่า
“ดูก่อน โมฆราช เมื่อใดที่เธอมีสติ เมื่อนั้นเธอมีตัวรู้ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม พิจารณาโลกเป็นของว่าง เมื่อนั้นมัจจุราชก็จะไม่เห็นเธอ”
เพราะฉะนั้น มีสติ พิจารณาโลกให้เป็นของว่าง นั่นหมายถึงว่า เราต้องเข้าใจ รู้จักสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงจนรู้แจ้งแล้ว ประจักษ์แล้วว่าโลกนี้ว่างแท้ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนไม่มีเราเขาสิ่งของ ไม่มีตัวกูของกู ไม่มีสมบัติใดๆ ปรากฏ ถ้าพิจารณาได้อย่างนี้อยู่เนืองๆ ก็เท่ากับว่า เราไม่ทำอารมณ์ให้เป็นอะไร ไม่มีอะไรในอารมณ์ ไม่ตกอยู่ในอำนาจการครอบงำของสิ่งใดๆ ได้ อย่างนี้ถือว่าไม่เสียชาติเกิด เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ถือว่าสมบูรณ์แบบ ชาติภพเราก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์ในขณะที่ได้เป็นมนุษย์กับเขามา
แต่ถ้าเมื่อใดที่เรายัง มีตัวกู มีของกู มีรักกู โลภกู โกรธกู หลงกู แล้ว กูเป็นผู้รัก กูเป็นผู้โลภ กูเป็นผู้โกรธ กูเป็นผู้หลง อยู่เนืองๆอยู่ มันก็เกิดเรื่องขึ้นมาทันที เรื่องเยอะแยะมากมายที่เราต้องไปบริหารจัดการ ต้องไปถูกกระทำ ต้องเป็นผู้กระทำ ต้องโดนกระทำ ผู้รับการกระทำ สารพัดอย่าง ผลัดกันทำ มั่วไปหมด สุดท้าย เราจะกลายเป็นผู้หลงโลภ หลงลาภ หลงเกียรติ หลงชื่อ หลงสักการะ แล้วก็หลงมัวเมาประมาทขาดสติในที่สุด
ฉะนั้นทำยังไงก็ได้ให้เพศภาวะแห่งความเป็นมนุษย์ของเราถึงที่สุดแห่งประโยชน์ หรือถึงประโยชน์สูงสุด หรือเข้าถึงประโยชน์อันมากล้น ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ก็ถือว่าเราไม่เสียชาติเกิด ทีนี้ถ้าจะถึงคำว่า สมบัติมรณะ หรือว่า มรณสมบัติ เกิดขึ้น ก็ไม่เสียดาย ไม่เสียหาย ไม่รู้สึกกระวนกระวาย ไม่ทุกข์ระทม ก็จะวาง ว่าง ดับ เย็น ได้
แต่ถ้าเรามีชีวิตอยู่อย่างมัวเมาประมาท พลาดพลั้ง เผลอไผล ไร้สาระอยู่ตลอดเวลา พอถึงเวลาที่จะรับมรณสมบัติก็หวาดผวาสะดุ้งกลัว ไม่กล้าเผชิญกับความเป็นจริง ไม่กล้าที่จะสิ้นชีวิต ไม่กล้าจะรับความจริงที่ชีวิตเราจะดับดิ้นสิ้นใจตาย เราจะทุรนทุรายทุกข์ทรมาน ทีนี้เราก็จะมีความรู้สึกว่า โลกหลังความตาย มันเป็นอะไรที่น่ากลัวมาก ทั้งมืด ทั้งอับ ทั้งชื้น ทั้งสกปรก ทั้งไร้ผู้คน ทั้งว้าเหว่ ทั้งโดดเดี่ยว ทั้งหวาดผวา ทั้งสะดุ้งกลัว ทั้งมัวเมา ทำให้เราขลาดเขลา ขาดสติปัญญา เห็นอะไรก็ไม่มีแสงสว่าง มันมืดมนอนธการทั้งต่อหน้าและลับหลังอยู่ตลอดเวลา
ทำอย่างไรให้ชีวิตเราผ่าทางตันให้สว่าง ให้โลกนี้โลกหน้า สว่างตลอดเวลาได้ นั่นแหละเป็นสิ่งที่ดีที่สุด อย่างนั้นเราก็ต้องฝึก
พระพุทธเจ้าย้ำนักหนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ธรรมะข้อไหนสำคัญที่สุด คือ มีสติพิจารณา โลกนี้ โลกไหนๆ ว่าเป็นของว่าง แม้ที่สุดโลกแห่งอารมณ์ โลกแห่งจิตวิญญาณก็เป็นความว่าง เป็นของว่าง
ถ้าท่านทั้งหลายจะจำได้ เรื่อง มูลแห่งกุศล และมูลแห่งอกุศล
มูลบัญญัติแห่งอกุศลมูล บทแห่งอกุศลมูลที่มีอยู่ในใจเรา ในจิตเรา ซึ่งเป็นต้นเค้าต้นเรื่องแห่งอกุศลทั้งปวงคือ ราคะ โทสะ โมหะ
เมื่อใดที่เราสามารถกำจัดราคะ โทสะ โมหะได้ ก็เป็นผู้ที่มีมูลแห่งกุศล แต่ถ้าเมื่อใดที่เรายังมีราคะ โทสะ โมหะ อยู่ในอารมณ์ อยู่ในจิต อยู่ในสันดาน อยู่ในวิญญาณตน เราก็เป็นผู้มั่งมีไปด้วยมูลแห่งอกุศล เมื่อมั่งมีมูลแห่งอกุศล ทำการงานใดๆ ทีนี้ก็ยากลำบาก ทำบุญก็ไม่ได้บุญ พูดง่ายๆ ทำดีก็ไม่ได้ดี เพราะเริ่มต้นจากมูลรากเหง้าแห่งอกุศล ทำด้วยราคะ ทำด้วยกำลังขับเคลื่อนแห่งโทสะ ทำด้วยกำลังขับเคลื่อนแห่งโมหะ คือความหลง แม้เราจะบอกว่าเราทำดีแทบตายแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ดีเพราะทำด้วยกำลังขับเคลื่อนแห่งอกุศลมูล
เมื่อใดที่เรากำจัดอกุศลมูลในจิตได้ มันทำให้เราแม้ทำดีนิดหน่อยก็เป็นดีมากมายมหาศาล ถึงดีหนักเท่าเข็มแต่ก็หนักมากกว่าภูเขา ดีเท่าแท่งเข็มก็หนักมากกว่าภูเขา เพราะทำด้วยจิตที่มากไปด้วยกุศลมูล คือไม่ประกอบไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ ราคะจิต โทสะจิต โมหะจิต ไม่ครอบงำจิตนี้ไม่มีอารมณ์ สภาพธรรมที่เป็นปราศจากอกุศลมูลทั้งสิ้น
ต้องพิจารณาอยู่อย่างนี้เนืองๆ ลูก พิจารณาอยู่เนืองๆ พิจารณาอยู่แต่เรื่องอารมณ์ของจิต เรื่องที่ตั้งแห่งจิต เรื่องสภาพธรรมที่ปรากฏกับจิต เรื่องความจริงและความไม่จริงที่มีอยู่กับจิตตน
ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เนืองๆ อยู่อย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ถือว่า เราเป็นผู้เข้าถึงซึ่งพระธรรม ซึ่งจิตอันตั้งมั่นอยู่ใน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จิตมีที่ตั้งอยู่ ๔ อย่าง ที่เป็นส่วนที่เป็นกุศล เป็นมหากุศลที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นที่ตั้งแห่งจิตอันยอดเยี่ยม ประเสริฐ และทำให้จิตนี้เจริญรุ่งเรืองได้คือ จิตตั้งอยู่ในกาย จิตตั้งอยู่ในเวทนา จิตตั้งอยู่ในจิต จิตตั้งอยู่ในธรรม
กาย เวทนา จิต และธรรม เป็นที่ตั้งแห่งจิตอันยอด เมื่อใดที่ตั้งแล้วมีแต่ผลกำไร ไม่ขาดทุน
ปุถุชนชอบใจในมายา
แต่ถ้าจิตนี้ไปตั้งอยู่กับออเจ้า หมื่นหื่นกระหายตะกายฝา น้ำปลาหวานออเจ้า อะไรต่ออะไรแล้วแต่ โลกเราเวลานี้กลายเป็นโลกแห่งมายา ดูเหมือนกับเป็นโลกแห่งมายา แล้วเราก็กล่อมเกลาเฝ้าเลี้ยงดูกันด้วยมายาการ จนกระทั่งกลายเป็นความรู้สึกอลังการงานสร้าง แม้กระทั่งเวลานี้ผียังโดนขโมยเครื่องนุ่งห่มที่คนเอาเครื่องทรงเครื่องนุ่งห่มไปถวายผี ขโมยก็ไปขโมยมาต่อ ขโมยเอาเครื่องนุ่งห่มผีมาขายให้ออเจ้าทั้งหลายได้แต่ง ฟังดูแล้วมันเป็นเรื่องตลก เราเดินมาถึงจุดนี้ได้ยังไง ขนาดขโมยเครื่องแต่งตัวผีมาใส่ชุดไทยทั้งหลาย เดี๋ยวนี้อีนาคชุดหายหมดไม่รู้มาอยู่วัดอ้อน้อยหรือเปล่าไม่รู้ ชุดที่มาใส่ๆ ขโมยอีนาคมาหรือเปล่าไม่รู้ มันเกิดอะไรขึ้นไม่รู้ บ้านเมืองนี้หรือว่าจะเป็นความบันเทิง เริงรมย์ เป็นคำนิยมยกย่อง เป็นมายาการที่ครอบงำให้จิตนี้หลงปลื้มได้ดีมีสุข ภาคภูมิ มันก็เป็นมายา เราก็ชอบใจในมายา
ที่พูดทั้งหมด ก็เพื่อเตือนให้รู้ว่า อย่าหลงนัก อย่าโง่นัก อย่างมงายมากนัก เอาแค่ประมาณ หอมปากหอมคอ รู้จักหยิบ แล้วก็รู้จักวาง ถ้าหยิบแล้วไม่รู้จักวาง เดี๋ยวออเจ้าทั้งหลายจะมานั่งเศร้าใจ เมื่อหมื่นหื่นกระหายตายจากไป รู้สึกหมื่นหื่นกระหายเขาจะภาคภูมิใจกับชุดเขามากนะวันนี้ท่านหมื่นนั่งปิ้งกล้วยหรือ เอาเถอะ เอาที่สบายใจ แต่อย่าโง่แล้วกัน อย่าหลงจนกลายเป็นเราตกเป็นทาสของมัน
โลกมี ๒ อย่าง ๒ โลกซ้อนกัน เรียกว่า ๒ มิติ โลกแห่งสมมติ กับโลกแห่งปรมัตถ์ โลกแห่งมายา กับ โลกแห่งสัจจะ
โลกแห่งมายา
เวลานี้โลกแห่งมายามันใหญ่มาก จนโลกแห่งสัจจะมันเล็กลงๆ ทั้งๆที่จริงๆ แล้วโลกแห่งสัจจะนี่ใครไปบีบคั้นให้เล็ก มันไม่มีสิทธิ์จะเล็กเพราะมันเป็นความจริง เป็นสิ่งที่ใครก็ทำร้ายทำลายไม่ได้ มีแต่โลกแห่งมายามีสภาพเหมือนกับลูกโป่งพองลม มันแฟบ มันฟู มันฟุ้ง มันไปของมันตามกระบวนการแล้วแต่ค่านิยม ตามสถานการณ์ของสังคม ตามอารมณ์ของผู้คนในสังคม ตามการยอมรับและปฏิเสธ
โลกแห่งมายา จะเป็นสภาพอย่างนี้ ไม่คงที่ ไม่ตั้งมั่น ไม่อยู่ตลอดกาลตลอดสมัย
โลกแห่งสัจจะ
แต่โลกแห่งสัจจะ โลกแห่งปรมัตถ์ซึ่งไม่ใช่มายา ไม่ใช่สมมุติ จะคงที่ของมันอยู่ จะกว้างยาว หนาทึบสั้น เท่าเสมอ ไม่ว่าจะกี่ชาติ กี่ภพ กี่กัปป์ กี่กัลป์ กี่หมื่น กี่ปี กี่วัน ก็จะอยู่ของมันอย่างนั้น คงที่เป็นของเที่ยงและมั่นคงตลอดเวลา
โลกแห่งสัจจะ คืออะไร
โลกแห่งสัจจะ คือ สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์... สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง ...สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ธรรมทั้งหลาย ไม่มีตัวตน นี่โลกแห่งสัจจะ
พระพุทธเจ้าเรียก โลก ๓ ชนิดนี้ว่า ธรรมนิยาม คือทุกโมงยามมีธรรมอยู่อย่างนี้ ทุกเวลานาทีทุกลมหายใจเข้าออกก็มีธรรมอยู่เช่นนี้ มีอยู่เช่นนี้จริงๆ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงมันได้เลย
พูดเหมือนกับง่ายลูก แต่ทำความเข้าใจรู้จักเข้าถึงมันยากนะ มันยากเพราะว่าเราเสพกับสิ่งที่เป็นมายาการสิ่งที่เป็นบุคคลบัญญัติ สิ่งที่เป็นสมมติจนคุ้นเคยแล้วก็ชินในรสชาติ มีพระเขามาถามหลวงปู่ว่าเวลาผมทำอารมณ์เหมือนที่หลวงปู่สอน ผมรู้สึกโลกนี้มันแห้งๆ ไม่มีรสชาติ เหมือนกับว่าชีวิตผมขาดอะไรไปอย่างหรือขาดไปหลายๆ อย่างถ้าเมื่อใดที่จิตนี้ผมไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏปรุงแต่งจิตนี้เหมือนกับจะแห้งแล้งเหี่ยวเฉาหงอยเหงา เปล่าเปลี่ยวไร้ซึ่งเรี่ยวแรง ไม่มีรสไม่มีชาติ ไม่มีกำลังวังชา แต่พอผมมาลิ้มรส สัมผัสถึงรูป รส กลิ่น เสียง สุข-ทุกข์ ชอบ-ไม่ชอบ ยอมรับ-ปฏิเสธ ราคะ โทสะ โมหะ จิตนี้กระปรี่กระเปร่ากระชุ่มกระชวยกระฉับกระเฉง อย่างนี้เป็นมิจฉาทิฐิหรือสัมมาทิฐิ (มิจฉาทิฐิ) รู้ไหมว่าเป็นมิจฉาทิฐิ รู้ แล้วยังเสพอยู่ไหม.. ก็ยังเสพอยู่
แล้วอะไรทำให้เราต้องเสพ เคยถามตัวเองไหม
ถ้าไม่เสพแล้วมันขาดไม่ได้ เหมือนกับคนเป็นเบาหวานขาดน้ำตาลไม่ได้ มือไม้สั่นไปหมด ไม่เสพ มันขาดไม่ได้เหมือนกับคนแก่ที่ติดยาหอมต้องคอยดม คอยดูด คอยหาทางที่จะเสพมันอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับคนติดบุหรี่ ติดเหล้า ติดยาเสพติด
พระพุทธเจ้าจึงเรียกว่าเป็น ความหลง โลกสมัยใหม่เขาเรียก เสพติดอารมณ์ เราเป็นโรคเสพติดอารมณ์เสียจนกลายเป็นสันดาน แรกๆ ก็ทดลองดูก่อนน่ะ ต่อมาๆ ก็ชอบ จากชอบก็พัฒนามาเป็นความเคยชิน
เมื่อใดที่เราเห็นของอร่อยที่อยู่ข้างหน้าแล้วรีบลุกเข้าไปหาสวาปามกัดกินแสดงว่าเราเสพติดล่ะ แต่ถ้าเมื่อใดที่เห็นของอร่อยอยู่ข้างหน้า แล้วก็ยืนมองด้วยใช้สติพิจารณา แล้วก็เดินหนีจากมันไป แสดงว่าเรากำลังจะหาวิธีชนะมัน กำลังจะปฏิเสธสิ่งเสพติดทั้งปวงที่เริ่มจากการเสพติดอารมณ์ความชอบก่อน เราปฏิเสธได้
แล้วก็ปฏิเสธต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคุ้นเคย ทีนี้เราก็จะเห็นข้อแตกต่าง เห็นโทษเห็นภัย เราจะรู้สึกได้ว่านี่เป็นพิษ นี่เป็นยาเสพติด นี่เป็นสิ่งก่อมะเร็ง นี่เป็นสิ่งไม่ดี นี่เป็นสิ่งทำร้ายทำลายจิตวิญญาณ นี่เป็นเครื่องประหัตประหาร นี่เป็นสภาพธรรมที่ทำร้ายเราทั้งโลกนี้และโลกหน้าได้ เราจะไม่เสพมันต่อไป
เหมือนที่พระพุทธเจ้าทรงทัก กิเลส ตัณหาทั้งหลายว่า
“นี่แน่ะ นายช่างผูกเรือน เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เราจะไม่ยอมให้เจ้ามาทำโครงเรือนให้เราได้อีกต่อไปแล้ว ยอดเรือนของเจ้า เราก็หักเสียแล้ว บัดนี้ เราได้ถึงแล้วซึ่งสภาพที่อะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไปแล้ว” อย่างนี้เป็นต้น
นั่นคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงทัก ตัณหา ชาติ ภพ อวิชชา กิเลส อุปาทานทั้งปวง
แล้วเรามีโอกาสได้ทักอย่างนี้บ้างไหม อ้าวนั่น ออเจ้าของโปรด อันนั้นพี่หมื่น ของชอบ ไอ้นั่นท่านขุน ของติดใจ แล้วสุดท้ายได้อะไรก็ได้มายาต่อไป แล้วโลกเรากำลังเป็นอย่างนี้นะ เรากำลังถูกมอมเมาแบบนี้ สมกับคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอน
“สูทั้งหลาย จงมาดูโลกนี้อันตระการดุจราชรถ ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่”
ตระการ ก็คือความสวยงามที่เขาประดับประดาตกแต่งด้วยทองเพชรนิลจินดา ดอกไม้ เครื่องห้อย เครื่องหอมทั้งหลาย มันงดงาม สวยงามมาก
พระองค์ทรงสอนต่อไปว่า ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่
เราก็ยังเป็นคนเขลาที่หมกอยู่ ไม่ได้เป็นผู้รู้ ถ้าเมื่อใดที่เป็นผู้รู้ เราก็จะไม่ข้อง ไม่ยึดติด ไม่อยู่ในอำนาจการครอบงำ
แล้ววิธีที่จะไม่ข้อง ก็ต้องเรียนรู้ ต้องศึกษา ต้องสั่งสม อบรม ให้รู้เท่าทันสภาวธรรม
-เริ่มต้นจากการ ระลึกได้ รู้ตัว มีสติระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา ระลึกได้ รู้ตัว
-แล้วก็พัฒนามาสู่กระบวนการของปัญญา เข้าใจรู้จักตามสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
-จากปัญญาก็พัฒนาไปสู่คำว่า เห็นโทษเห็นภัย มองให้เห็นโทษเห็นภัยในโลกแห่งมายาการ และเห็นสัจธรรมความจริงในโลกแห่งปรมัตถธรรม ในโลกแห่งความเป็นจริง
-แล้วก็พัฒนาไปจนถึงคำว่า โลกทั้ง ๒ นั้น ไม่ใช่เป็นที่อยู่แห่งสัตว์บุคคล เรา เขา และสิ่งของ
ทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอนแบบนี้ แล้วก็กลับไปหาคำว่า สติ-ระลึกได้ สัมปชัญญะ-ความรู้ตัว เหมือนเดิมอีก
ลุกขึ้นยืน
(ต่อด้วยปฏิบัติธรรม)
_________________________________
แหล่งข้อมูล
หลวงปู่พุทธะอิสระ. ๒๕๖๐. โลกแห่งอารมณ์ โลกแห่งจิต เป็นความว่าง ใน วิถีจิต
วิถีปัญญา (น. ๑๔๙ - ๑๕๙) . นครปฐม: มูลนิธิธรรมอิสระ.
หลวงปู่พุทธะอิสระสอนกรรมฐานวิถีจิต ๑ เมษายน ๒๔๖๑, สืบค้น ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๘ จาก
https://www.facebook.com/watch/?v=731629627184228
หลวงปู่พุทธะอิสระเจริญพระพุทธมนต์ แสดงธรรมนำปฏิบัติ บ่าย ๑ เมษายน ๒๕๖๑, สืบค้น มีนาคม ๒๕๖๘
จาก https://www.youtube.com/watch?v=z8S6FRfhNG0&list=PLJmPSYMcXHqd8Bj6qysVWYGiD1xzL2oNf&i เมษายน ndex=2