วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

บทที่ ๖ เจริญสติในกาย เวทนา จิต ธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมแห่งการแยกส่วน

ชื่อเรื่อง เจริญสติในกาย เวทนา  จิต ธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมแห่งการแยกส่วน   

แสดงธรรมวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๑  ณ.วิหารพระโพธิสัตว์   โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ  

สาระสังเขป

         อบรมกรรมฐานวิถีจิต ให้จิตอยู่ในกายจั้งแต่หัวจรดเท้า และรู้ว่าจิตเป็นผู้อาศัยกาย ไม่ฟุ้งซ่าน อยู่ในเวทนา คือ สภาวะอารมณ์ที่ปรากฏ อารมณ์ในฝ่ายที่เป็นกุศล อารมณ์ในฝ่ายอกุศล อารมณ์ที่เป็นอัพยากฤต คือ ความว่าง จิตตั้งอยู่ในจิต พัฒนาขึ้นสู่คำว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน อยู่กับสิ่งที่คุ้นเคย จิตนี้มีหน้าที่อะไรล่ะ รับ จำ คิด รู้  รับอารมณ์ จำอารมณ์ รู้อารมณ์ คิดอารมณ์  ไม่ต้องปรุงแต่ง อยู่กับหน้าที่อย่างซื่อตรง ทำหน้าที่อย่างซื่อตรง ไม่มีคำว่าชอบ ไม่มีคำว่าชัง ไม่มีคำว่ายอมรับ ไม่มีคำว่าปฏิเสธ จนกระทั่งมันสำรอก ทำหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ ซื่อตรง ไม่มีแม้กระทั่งคำว่า จิตเป็นผู้ทำหน้าที่   ไม่ใส่อารมณ์ในขณะที่รับมา ต้องระวังอย่ามีคำว่า ตัวกู เข้าไปทำหน้าที่..กูรับ กูจำ กูคิด กูรู้ จะมีแต่หน้าที่กับหน้าที่ แล้วก็ หน้าที่ ไม่มีแม้กระทั่งคำว่า จิต เป็นผู้ทำหน้าที่ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สภาพธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ทรงอบรมสั่งสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นธรรมที่ชำแรกแยกส่วน ไม่ใช่เป็นธรรมรวมศูนย์ หรือรวมส่วน แยกสสารออกจากพลังงาน แยกพลังงานออกจากสสาร แยกตัวกูออกจากธาตุ ๔

 

เนื้อหา

 

ปฏิบัติธรรม :   

ลุกขึ้นยืน  

อยู่กับกาย ยืนขึ้นมาแล้วก็อยู่กับกาย  

ตั้งมั่นอยู่ในกาย 

เราจะรู้ได้ว่า โลกนี้มี ๒ โลกซ้อนกันอยู่ ก็ต่อเมื่อต้องเริ่มต้นจากการหาที่อยู่แห่งจิตที่มั่นคงและเหมาะสม พระพุทธเจ้าทรงชี้ที่อยู่แห่งจิตที่มั่นคงและเหมาะสมที่อยู่แล้วเจริญ อยู่แล้วเป็นเลิศ อยู่แล้วประเสริฐ อยู่แล้วเป็นผลดี นั่นคือ  

  • อยู่ในกาย ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า จิตตั้งมั่นอยู่ภายในกายเรา 
  • อยูในเวทนา คือสภาะวอารมณ์ที่ปรากฏ
  • อยู่ในจิต คือ สิ่งที่มีอยู่ตามหน้าที่ในวิถีแห่งจิต คือ รับอารมณ์ จำอารมณ์ รู้อารมณ์ และคิดในอารมณ์ 
  • กาย เวทนา จิต และ ธรรม 

 

จิตตั้งอยู่ในกาย  

คนอาศัยเขาอยู่ โวยวาย โหวกเหวกไม่ได้ จิตต้องสำเหนียกแบบนี้ ต้องระลึกรู้อย่างนี้ว่า เรามาเป็นผู้อาศัยกาย จะมาแสดงอาการ กิริยา ต้องใช้เหมือนกับคำว่า สงบเสงี่ยม จิตมาอาศัยกาย อาศัยด้วยความสงบเสงี่ยม เจียมตัว อย่าโวยวาย อย่าโหวกเหวก อย่าฟุ้งซ่าน อย่าหงุดหงิด รำคาญ ทำให้ผู้เป็นเจ้าของรู้สึกรำคาญ ต้องสงบเสงี่ยม เจียมตัว 

จิตตั้งอยู่ในกาย ก็อยู่แบบสงบเสงี่ยม เจียมตัว อารมณ์ประมาณนั้น อยู่ในกาย ด้วยความสงบเสงี่ยม เจียมตัว ระลึก รู้ อยู่ตลอด 

ถ้าเป็นหมาเป็นแมวก็ต้องหูตูบหางตกประมาณนั้น ไม่ต้องถึงขั้นเลียแข้งเลียขาประจบกาย แต่ใช้คำว่า สงบเสงี่ยม สงบจิตอยู่ในกาย 

อยู่ในกาย ด้วยความสำนึก สำเหนียกว่า เรามาอาศัยเขาอยู่ 

 

จิตตั้งอยู่ในเวทนา  

ทีนี้จากกาย ขยับขึ้นมาอยู่กับเวทนา 

  • เวทนา คือสภาวะอารมณ์  สุขอยู่หรือทุกข์อยู่ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เฉยๆ  
  • มีราคะหรือไม่มีราคะ มีโทสะหรือไม่มีโทสะ มีโมหะหรือไม่มีโมหะ 

สำรวจพิจารณาจากกาย มาสู่เวทนา คือ  

อารมณ์ที่ประกอบจิต :  อารมณ์เครื่องปรุงจิต  อารมณ์ที่ครอบงำจิต อารมณ์ที่มีอำนาจเหนือจิตอารมณ์ที่เป็นเครื่องอยู่อาศัยแห่งจิต ซึ่งแบ่งเป็นหมู่ใหญ่ๆ ได้ ๓ หมู่ หรือ ๓ ประเภท คือ กุศล อกุศล และอัพยากฤต คือเฉยๆ  

       อารมณ์ในฝ่านที่เป็นกุศล ก็เริ่มต้นจาก สติ สัมปชัญญะ สมาธิ-ความตั้งมั่น ปัญญา-ความรอบรู้ในกองสังขาร เหล่านี้ถือว่าเป็นอารมณ์ในฝ่ายกุศล ยังแบ่งแยกออกเป็นหมวดเป็นหมู่อีก 

-      อารมณ์ในฝ่ายอกุศล ก็เริ่มต้นจาก รัก โลภ โกรธ หลง  รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสตระหนี่ คับแคบ เอาเปรียบ เห็นแก่ตัว ตัณหา-ความอยาก  อุปาทาน-ความยึดถือ เหล่านี้ถือว่าเป็นอารมณ์ในฝ่ายอกุศล แม้ที่สุด คำว่า โง่ หรือ ไม่รู้ หรือ อวิชชา ก็เป็นอารมณ์ฝ่ายอกุศล  

เมื่ออารมณ์ฝ่ายอกุศลเข้ามาชำแรกแทรกสิงจิต ก็ทำให้จิตนี้เป็นจิตอกุศลไปด้วย เช่นเดียวกัน เมื่อใดที่มีอารมณ์กุศล สติ สัมปชัญญะ ศีล สมาธิ ปัญญา เข้ามาชำแรกแทรกจิต จิตนี้ก็กลายเป็นจิตกุศล 

ยิ่งถ้ามีปัญญารู้ชัดสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ถึงขั้นรู้ว่า  สัพเพ สังขารา อนิจจา-สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง..สัพเพ สังขารา ทุกขา-สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์..สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ –ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่มีตัวตน เหมือนดั่งคำสอนที่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนโมฆราช ว่า “โมฆราชะ เมื่อใดที่ท่านมีสติพิจารณาโลกนี้ทั้งภายในและภายนอก แม้แต่ในกายตนให้เป็นของว่าง เมื่อนั้นมัจจุราชก็มองไม่เห็นเรา”  เหล่านี้ ถือว่าเป็นอารมณ์ในฝ่ายกุศล และมหากุศล ตามลำดับขั้น 

 

-ส่วนอารมณ์ที่เป็นอัพยากฤต คือ ความว่าง เรียกว่า เฉยๆ คือ สภาพสภาวะจิตที่ปราศจากอารมณ์เข้ามาครอบงำ มีอยู่ ๒ ลักษณะใหญ่  คือ ลักษณะที่ถึงความว่างด้วยปัญญา กับ ลักษณะที่ถึงความว่างด้วยสัญญา 

-ว่างด้วยปัญญา ก็คือ ใช้ปัญญาพิจารณาจนรู้เท่าทันตามความเป็นจริงว่า มันไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร ไม่เหลืออะไร รู้เห็นด้วยปัญญาจริงๆ อย่างนี้ เรียกว่า ว่างด้วยปัญญา 

-ว่างด้วยสัญญา ก็คือ ประมวลภาพ ประเมินสถานการณ์ แล้วจดจำเอาไว้เฉพาะอารมณ์ว่างเฉยๆ ความว่างเฉยๆ โดยไม่สนใจแยกแยะสสาร พลังงาน นิวตรอน โปรตอน อะตอมใดๆ ไม่สนใจทั้งนั้น ไม่สนใจองค์ประกอบอะไร จับจ้องอยู่เฉพาะคำว่า อารมณ์ว่าง ๆ อย่างนี้เขาเรียกว่า ว่างโดยสัญญา ว่างโดยการเพ่งอารมณ์นั่นเอง ซึ่งจะแตกต่างจากว่างด้วยปัญญา 

ว่างด้วยปัญญา คือ ว่างเพราะเข้าใจ รู้จักตามความเป็นจริง แล้ววาง แล้วว่าง 

ท่านทั้งหลายต้องทำความเข้าใจให้แจ่มชัดถึงความหมายของคำว่า ว่าง ว่าเรากำลังว่างด้วยการเพ่งอารมณ์ หรือว่างเพราะว่ามีปัญญา ทั้งหมดนี่ก็คือคำว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน 

 

........... 

จิตตั้งอยู่ในจิต  

ต่อไปพัฒนาขึ้นสู่คำว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน 

ทีนี้ก็อยู่กับสิ่งที่คุ้นเคย คุ้นเคยอย่างไร 

  • จิตนี้มีหน้าที่อะไรล่ะ (รับ จำ คิด รู้)  รับอารมณ์ จำอารมณ์ รู้อารมณ์ คิดอารมณ์ 
  • ถ้า รับ จำ คิด รู้ อย่างซื่อตรง ไม่ต้องตีไข่ใส่สีใดๆ พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ต้องปรุงแต่ง ไม่ต้องทำอารมณ์ให้เป็นอาลัย เราจะได้ไม่มีอะไรในอารมณ์ 
  • อยู่กับหน้าที่อย่างซื่อตรง ทำหน้าที่อย่างซื่อตรง ไม่มีคำว่าชอบ ไม่มีคำว่าชัง ไม่มีคำว่ายอมรับ ไม่มีคำว่าปฏิเสธ 
  • โดยไม่ใส่อารมณ์ในขณะที่รับมา ไม่ปรุงแต่งในขณะที่จำไว้ หรือ รู้ หรือ คิด อยู่ เรียกว่า อยู่ในหน้าที่ของวิถีแห่งจิต 

อยู่ จนกระทั่งมันสำรอก ทำหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ซื่อตรง

ไม่มีแม้กระทั่งคำว่า จิตเป็นผู้ทำหน้าที่   

ขั้นตอนนี้ ต้องระวังให้มากๆ  

เพราะเราจะหลงกับการทำหน้าที่ แล้วจะมีคำว่าตัวกูเข้าไปทำหน้าที่ กูรับ กูจำ กูคิด กูรู้  ถ้าเป็นอย่างนี้ มั่ว มัวเมาล่ะ ..จะไม่มีคำว่า ตัวกู เข้าไปทำหน้าที่ ฉะนั้น จะมีแต่หน้าที่กับหน้าที่ แล้วก็ หน้าที่ ไม่มีแม้กระทั่งคำว่า จิต เป็นผู้ทำหน้าที่ 

 

ธรรมะคือการทำหน้าที่  (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน) 

เพราะฉะนั้น ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน ก็คือ ธรรมะคือการทำหน้าที่ ประมวลได้อย่างนี้ว่า ธรรมะคือการทำหน้าที่ นั่นหมายถึงหน้าที่ของจิตที่กำลังทำอยู่   เมื่อพิจารณาอย่างนี้ก็กลายเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขยับไปเป็นขั้นสูงสุด 

ปัญหาอยู่ที่ว่าเรามีเครื่องมือที่จะรู้อย่างนี้ไหม เครื่องมือนั้นก็คือ สติ-ความระลึกได้ สัมปชัญญะ- ความรู้ตัว เรามีไหม  ถ้าไม่มี เราก็ไม่รู้อะไรเลย รู้แต่ว่าโลกนี้เป็นมายาหรือดีไม่ดี แต่ไม่รู้ว่าโลกนี้เป็นมายา กลายเป็นว่าโลกของกู ตัวกูไป ที่ให้เห็นอยู่ก็เป็นความจริงไปหมด อย่างนี้เป็นต้น 

  

วิถีพุทธ ก็คือปัญญารู้แจ่มชัด พุทธ หมายถึง รู้ตื่น และเบิกบาน 

ถ้าพุทธไม่รู้เรื่องพวกนี้ ก็ไม่ใช่พุทธ 

รู้แค่บุญ รู้แค่บาป รู้แค่ศีล รู้แค่ทาน รู้แค่ธรรม ก็ยังไม่ใช่พุทธ  
เพราะพุทธแท้ๆ ต้องแยก แยะถูก ผิด 

  

ลงนั่ง 

ยังอยู่กับกาย อยู่กับเวทนา อยู่กับจิต แล้วก็อยู่กับธรรม 

  

สภาพธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ทรงอบรมสั่งสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นธรรมที่ชำแรกแยกส่วน ไม่ใช่เป็นธรรมรวมศูนย์ หรือรวมส่วน 

แยกสสารออกจากพลังงาน แยกพลังงานออกจากสสาร แยกนิวตรอนออกจากโปรตอน แยกธาตุออกจากมหาธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แยกดินออกจากดิน แยกน้ำออกจากน้ำ แยกลมออกจากลม แยกไฟออกจากไฟ แล้วก็ แยกไฟออกจากน้ำ 

พูดอย่างนี้หลายคนจะสงสัยว่าแยกไฟออกจากน้ำอย่างไร 

เลือดก็คือน้ำ แต่ถ้าเมื่อใดเลือดอุ่น ก็แสดงว่ามีไฟอยู่ในน้ำ ก็คือมีไฟอยู่ในเลือด นี่เรียกว่าแยกไฟออกจากน้ำ 

แยกดินออกจากน้ำ น้ำนี้ก็คือเลือด น้ำเหลือง ตกตะกอนนอนก้น ขุ่นก็กลายเป็นดิน นี่คือธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า เรียกว่าธรรมแห่งการแยกส่วน แยกจนกระทั่งให้เห็นตามความเป็นจริง ว่าส่วนต่างๆ ที่เราว่า มีตัว มีตน จริงๆ แล้วมีอยู่ตรงไหน 

แยกน้ำออกจากกระดูก แยกไฟออกจากกระดูก แยกลมออกจากกระดูก  กระดูกจริงๆ ประกอบไปด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ พอแยกออกจากกันแล้ว กระดูกแท้ๆ อยู่ตรงไหน นี่คือธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า 

ธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้าใช้ปัญญาล้วนๆ ไม่มีสัญญาเลย เรียกว่า ธรรมแห่งการแยกส่วน ไม่ใช่ธรรมแห่งการรวมศูนย์  

 

แยกตัวกูออกจากธาตุ ๔   

ผมเป็นตัวกู หนังเป็นตัวกู เล็บเป็นตัวกู ฟันเป็นตัวกู  ตัวกูคือตัวกู  

แล้วตัวกูประกอบไปด้วยอะไร โกนผม ดึงหนัง ถอดฟัน ดึงเล็บ เอามากองๆๆๆ รวมกันไว้ แยกออกจากกัน เป็นชนิดๆ 

ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เหล่านี้เป็นธาตุดิน เราเชื่อว่าเป็นดินเพราะมันแข็ง แต่ในผมก็มีน้ำ ในฟันก็มีไฟ ในหนังก็มีดิน งั้น ดิน น้ำ ลม ไฟ มีอยู่ในผม เล็บ ฟัน หนัง รวมกันจนเราสมมติ เรียกขานมันว่าเป็นอย่างนั้นๆ อย่างนี้ๆ ชื่อนี้ๆ เรียกว่า บุคคลบัญญัติ คือบุคคลบัญญัติขึ้น 

นี่แหละคือการเจริญสติปัญญา ไม่ใช่ความสงบคือสมาธิ 

เจริญสติปัญญา แยกเป็นส่วนเป็นชนิดแยกเพื่ออะไร 

เพื่อไม่ให้เกิดอุปาทาน-ความยึดถือ 

เพื่อถอนตัณหา-ความทะยานอยาก 

เพื่อให้มีวิชชา จะได้ดับอวิชชา 

ให้มีปัญญาจะได้ไม่โง่ ถูกมันหลอก 

                  _________________________

 

แหล่งข้อมูล

หลวงปู่พุทธะอิสระ. ๒๕๖๐. เจริญสติในกาย เวทนา จิต ธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมแห่งการแยกส่วน   ใน วิถีจิต

วิถีปัญญา (น. ๑๖๐ - ๑๖๗) . นครปฐม: มูลนิธิธรรมอิสระ.

หลวงปู่พุทธะอิสระเจริญพระพุทธมนต์ แสดงธรรมนำปฏิบัติ บ่าย, สืบค้น ๒๕ มีนาคม

๒๕๖๘ จาก https://www.youtube.com/watch?v=kqIBVBA3EGE&list=PLJmPSYMcXHqd8Bj6qysVWYGiD1xzL2oNf

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

269 | 2 เมษายน 2025, 17:04
บทความอื่นๆ