วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

บทที่ ๗ วิปัสสนูปกิเลส

วิถีจิต วิถีปัญญา

ชื่อเรื่อง วิปัสสนูปกิเลส

แสดงธรรมวันที่ ๗  ตุลาคม ๒๕๖๑  ณ.วิหารพระโพธิสัตว์  โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ 

สาระสังเขป 

         กล่าวถึงคุณของนิมิต ศีล สติ รักษาจิตไม่ให้กระเพื่อม ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท มีความเห็นตรงถูกต้องตามความเป็นจริงอยู่เนืองๆ ใช้ปัญญาใคร่ครวญอยู่เนืองๆ กับการดำรงชีวิต ทำ พูด คิด มีปัญญา วิปัสสนาญาณ ๙ หรือ ปัญญา หรืออารมณ์ ๙ อย่าง ข้อแรก มีปัญญา รู้การเกิด-ดับของสังขารทั้งปวง ข้อต่อมา รู้การแปรปรวน เสื่อมโทรม และก็แตกสลายของสังขารทั้งปวง  ข้อที่ ๓ ใช้ปัญญาเห็นโทษภัยและความไม่ปลอดภัย ข้อที่ ๔  พิจารณาว่ามีโทษไหม..มี มันมีโทษในตัวมัน  ขั้นที่ ๕  นิพพิทาญาณความเบื่อหน่าย ขั้นที่ ๖ ปรารถนาที่จะพ้น ขั้นที่ ๗  วางสังขารนี้ได้ เรียกว่า ละอุปาทานในขันธ์ทั้ง ๕  ขั้นที่ ๙ จึงจะเห็นอริยสัจ  ข้อที่ ๑๐ วิปัสสนูปกิเลส ก็คือ นิกันติ -เสพติดในอารมณ์ทั้งปวง

 

เนื้อหา

เจริญธรรม เจริญสุข ท่านสาธุชนคนใฝ่ดีที่รักทุกท่าน 

วันนี้ถือว่าเป็นวันแรกแห่งการเปิดพิธีเทศกาลกินเจของโรงเจหอคุณธรรมฟ้า แห่งมูลนิธิธรรมอิสระ สังกัดวัดอ้อน้อย ประจำปี ๒๕๖๑ ถือว่าเป็นปีพิเศษตรงที่จะตรงกับเดือนตุลาคม เป็นเดือนแห่งการถวายความไว้อาลัยต่อองค์พ่อหลวงในรัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐยิ่ง ที่ทรงเสด็จสู่สวรรค์คาลัย ได้จากพวกเราไปอย่างไม่มีวันกลับ 

พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ยิ่งใหญ่มหาศาลที่ลูกไทยหลานไทยทุกคนจะต้องตระหนักสำนึกระลึกรู้อยู่เสมอ ถือว่าเป็นอนุสติเตือนใจในคุณงามความดีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นเอนกอนันต์นานัปการเอาไว้กับแผ่นดินไทย ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อลูกไทยหลานไทยทุกคน 

 

ผู้ไม่เคลื่อนจากมรรคาปฏิปทา 

เราในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทที่โดนอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก อยู่ในท้อง ตั้งแต่เกิดจนอายุขัยแก่เฒ่าชรา ที่พระศาสดาทรงสอนว่า นิมิตตัง สาธุรูปานัง กตัญญูกตเวทิตา เครื่องหมายของคนดี ก็คือ กตัญญู-รู้คุณ กตเวทิตา-ตอบแทนคุณ 

นิมิต คือเครื่องหมาย พวกเราก็มาทำนิมิตอันเป็นบุพนิมิต คือนิมิตเครื่องหมายแห่งความงดงามของชีวิต เริ่มต้นก็คบคนดี เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร มีปัญญา มีศีล รักษาศีล ทำกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยมีสติตั้งมั่น  

-ศีล รักษาได้ก็ต่อเมื่อต้องมีสติ มีหิริ ความละอายชั่ว มีโอตัปปะ ความเกรงกลัวบาป ไม่งั้น ศีลคงขาดๆ เกินๆ ก็ต้องมีสติ เพราะสติเป็นอุปการะต่อศีลและธรรมทั้งปวง 

-เรื่องสติ ก็คงไม่ต้องพูด เพราะเราฝึกกันมาเป็นสิบๆ ปีล่ะ บางคนสติเกินด้วยซ้ำไป สติเกินจนกลายเป็นล้น เขาเรียกสติล้น 

-เรามีศีลแล้ว พระพุทธเจ้าบอกว่ายังไม่พอต้องศรัทธาในธรรม เชื่อในกฎของกรรม เชื่อว่า ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อว่า สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ดีชั่วเลวหยาบ พอเชื่ออย่างนี้เราก็เลยเลือกจะทำแต่กุศลกรรม ทำแต่คุณงามความดี  

-เมื่อรู้แล้วก็ต้องฝึก ทำดีแล้วก็ต้องหมั่นฝึกฝนตัวเองอยู่เนืองๆ ทำให้ตัวเองเป็นผู้ที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลาอย่านิ่งเฉย 

ตอนที่หลวงปู่ไปอยู่ในคุกจะพร่ำบอกกับเพื่อนๆ ผู้ร่วมชะตากรรมอยู่เนืองๆว่า มนุษย์ไม่ใช่ได้ดีเพราะมียี่ห้อเป็นมนุษย์ แต่มนุษย์ได้ดีเพราะการฝึกหัดปฏิบัติศึกษาเรียนรู้  ตี ๑ กว่าเราก็ลุกล่ะ ตื่นขึ้นมาปฏิบัติธรรม เจริญกรรมฐาน นั่งนาน ปวดหลังก็นอน นอนสวดมนต์ ปฏิบัติธรรมจนถึงตี ๕ เขาก็สวดมนต์กัน เราก็สวดกับเขาอีก เสร็จแล้วก็ออกมาสรงน้ำ เขาเตรียมอาหารฉันถวาย  ฉันเสร็จก็ฝึกปฏิบัติ เดินจงกรม เดินไม่ไหวก็ใช้ไม้ ให้คนมานั่งรถ แล้วเราก็เข็นรถเพื่อจะออกกำลัง ฝึกสติ รักษาจิตไม่ให้กระเพื่อม 

คนเขาถามว่าอยู่ในคุกเป็นทุกข์ไหม ไม่ได้รู้สึกเป็นทุกข์ กลับรู้สึกสบายผ่อนคลายไม่มีภาระ อยู่ในสภาวะเขาเรียกว่า สภาวะจำศีล ความดันฯ เหลือ ๕๐ –๔๐ บางวันก็ลดลงมาเหลือ ๔๐-๓๐-๓๕ จนผู้คุมทั้งคุกเขากลัวกันหมด  วันไหนผู้คุมแดนเขาบอกว่า ความดันเลือดหลวงปู่นี่มาตามตะวัน ขึ้นลงตามตะวัน พอตะวันขึ้นก็ความดันฯขึ้น พอตะวันมืดก็ความดันตก ทีนี้ใครเข้าเวรก็ซวยล่ะ ต้องคอยเฝ้ามอง หลวงปู่อย่าเป็นอะไรนะครับ แต่เรารู้ดีว่าเราไม่ได้เป็นอะไรหรอก แต่ชาวบ้านเขากลัวไง 

-รักษาจิตไม่ให้กระเพื่อมตามตาเห็น ไม่ให้กระเพื่อมตามหูฟัง ไม่ให้กระเพื่อมตามจมูกดมไม่ให้กระเพื่อมตามลิ้นรับรสไม่ให้กระเพื่อมตามกายสัมผัส รักษาใจให้เป็นกลางไว้ ฝึกตัวเอง 

-หลังจากฝึกตัวเองแล้วยังไงต่อ ก็ต้องตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท เขาเรียกว่า มีความเห็นตรงถูกต้องตามความเป็นจริงอยู่เนืองๆ ไม่ใช่ฝึกตัวเองแล้วก็ไม่มีความเห็นตรงหรือว่าเห็นผิด ก็ไม่ถูกอีกเหมือนกัน ต้องฝึกฝนอบรมตัวเองอยู่เนืองๆ อย่าให้ตัวเองมัวเมาประมาท 

ไม่มัวเมา ไม่ประมาท ใช้ปัญญาใคร่ครวญอยู่เนืองๆ กับการดำรงชีวิต ทำ พูด คิด มีปัญญา 

ถ้าทำได้อย่างนี้ แม้นข้อใดข้อหนึ่งไม่ต้องทั้ง ๗ ข้อดังกล่าวมา พระศาสดาทรงยกว่า นี่คือ ผู้ที่ไม่เคลื่อน หรือไม่หลุดเลื่อนออกจากมรรคาปฏิปทา แม้นข้อเดียวก็พ้นจากเหวปากนรกแล้ว สักข้อหนึ่งในชีวิตเรา 

 

วันนี้พวกท่านทั้งหลายก็มาทำได้ตั้งหลายข้อ บางคนมาตั้งแต่เมื่อวาน เราไม่ได้มุ่งหวังว่า เราจะได้อะไร แต่มุ่งหวังว่ามาเพื่อให้อะไร นี่เป็นสิ่งที่งดงามมาก แต่ถ้ามุ่งหวังว่ามาเพื่อจะได้อะไร เรายังไม่ได้จริงๆ แต่ถ้าเราเข้ามานี่แล้วเราปรารภปรารถนาว่า ใกล้วันสวรรคตของพ่อหลวงผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐของชีวิตเราแล้ว เราก็มาระลึกถึงพระองค์ท่าน ทำบุญกรวดน้ำน้อมถวายเป็นพระราชกุศล อย่างนี้เขาเรียกว่ามุ่งหวังมาเพื่อจะให้ สิ่งที่ได้มาจะเกินคาด  แต่ถ้ามุ่งหวังมาว่าไปวัด ไปทำไม ไปเอาบุญ อย่างนี้แสดงว่าเริ่มจะมาเอา พอเริ่มจะมาเอานี่ก็ไม่ถูกล่ะ กลายเป็นตัณหา เป็นความอยาก มันก็เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับผู้เจริญวิถีจิต 

 

วิปัสสนูกิเลส ทางที่ไม่ใช่ทาง  

เพราะฉะนั้นคนที่ฝึกฝนอบรมวิถีจิต หลวงปู่จึงพยายามพร่ำสอนอยู่ตลอด ต้องบอกว่าตลอดชีวิตว่าพวกที่ชอบคุยว่าเห็นแสง จิตสงบระงับ ขนลุกขนชัน ขนพอง มีความสุข มีปีติ มีความอิ่มใจ มีความรู้มากมายอะไรเยอะแยะ เราก็พยายามที่จะปฏิเสธและก็บอกว่า นั่นไม่ใช่ทาง 

ถามว่าทำไมไม่ใช่ทาง ก็เพราะว่าพระศาสดาทรงชี้ให้เห็นว่า ความสุขนี่เป็นอารมณ์ไหม แสงสว่างนี่เป็นอารมณ์ไหม นิมิตแห่งความสว่างเป็นอารมณ์ไหม  แสงสว่างก็เป็นอารมณ์ ญาณหยั่งรู้เป็นอารมณ์ไหม เป็น แม้มีญาณหยั่งรู้ก็เป็นอารมณ์ 

ปีติ สุขนี่เป็นอารมณ์ไหม มีปีติ อิ่มเอิบ ซาบซ่าน ขนพอง ขนลุกเป็นอารมณ์ไหม น้ำหูน้ำตาไหลเกิดปีติในใจเป็นอารมณ์ทั้งนั้น เมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน  หลวงปู่จึงเขียนบทโศลกไว้ว่า 

“ลูกรัก อย่าทำอารมณ์ให้เป็นอะไร ไม่งั้นเราจะมีอาลัยๆ ในอารมณ์มากเหลือเกิน”  เราก็อย่าไปยึดมันไว้เป็นอารมณ์ 

ถามว่าเป็นอารมณ์อย่างนี้ดีไหม ? 

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่าสิ่งเหล่านี้คือกิเลส เขาเรียกว่า อุปกิเลส หรือ  อุปกิเลสที่เป็นอนุสัยนอนเนื่องเป็น วิปัสสนูปกิเลส แสงสว่าง ญาณหยั่งรู้ ปีติ ความอิ่มเอิบ ปัสสัทธิ ความสงบระงับในใจ  

แม้นที่สุดความสงบระงับในขณะเจริญวิปัสสนา หรือเจริญวิถีจิตก็เป็นกิเลส เป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง  

เพราะว่าจะทำให้เราไม่พัฒนา ไม่ก้าวหน้า เราจะพึงพอใจกับความสงบระงับเหล่านั้น แล้วสมองสติปัญญาของเรา ความใฝ่รู้ใฝ่เรียนที่จะเข้าไปถึงคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะไม่ได้พัฒนาจิตของตน ก็จะเสพแต่ความสงบระงับ ความสุข มันจะไม่ข้ามก้าวล่วงไปได้  

-มีความสงบระงับถือว่ายังเป็นกิเลสอยู่ แล้วอะไรอีกล่ะที่เป็นกิเลส แม้นที่สุดที่เราบอกว่าเรามีความเพียร ความน้อมใจให้เชื่อ หรือว่าเชื่อในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ก็เป็นกิเลส 

-มีความเพียรอันพอดีก็เป็นกิเลส พระพุทธเจ้าบอกว่า พอดีแล้วก็ไม่ต้องพัฒนาแล้ว 

ผู้ปรารถนาเข้าสู่วิโมกข์หรือ ความพ้นทุกข์ ต้องค้นหาตลอดเวลา ต้องศึกษาตลอดเวลา อย่าเพียงพอสำหรับสิ่งที่เราได้ อันนี้หมายถึงพระธรรมนะ หมายถึงปัญญา 

-กระบวนการความเพียรพอดี แม้นที่สุดเราบอกว่าเรามีสติ พระพุทธเจ้าบอกว่ามีสติ แต่ว่าถ้าเพ่งสติมาก ยึดถือแต่สติอย่างเดียว ก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง  คนมีสติมากๆ นี่จะนอนหลับไหม นั่นแหละเขาเรียก เพ่งแต่สติ ตั้งมั่น พวกนี้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ยิ่งไม่มีปัญญาเข้าใจรู้จักความเป็นจริงแล้วก็ยิ่งนอนดิ้นจนหนังกลับอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่หลับ ตื่นตี ๑ ตี ๒ ก็อยู่อย่างนั้นแหละ เพราะเหตุผลว่าสติเราเยอะเกินไป แล้วแถมถ้าไม่มีปัญญาด้วยก็ไม่รู้จักดึงสติมาพิจารณาไตรลักษณ์ ไม่รู้จักพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ยิ่งไม่หลับใหญ่ ยิ่งฟุ้งไปใหญ่ ยิ่งสัดส่ายกระเสือกกระสนทุรนทุรายไปใหญ่  

-และอุบกขารมณ์ คือการวางเฉย พัฒนาไหม ไม่พัฒนา เราจะไม่สามารถเข้าถึงซึ่งวิปัสสนาญาณขั้นสูงๆ ที่เราจะต้องเรียนรู้ ไม่ใช่ได้มาจากการวางเฉย แต่ต้องได้มาจากการศึกษาสั่งสมอบรมเจริญปัญญา เฝ้าสังเกตอารมณ์ทุกชนิดทุกขณะที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ว่ามีสถานภาพอย่างไร  

-อะไรเป็นรูป อะไรเป็นรส อะไรเป็นกลิ่น อะไรเป็นเสียง อะไรเป็นสัมผัสกระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  

-เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เป็นทุกขเวทนา หรือสุขเวทนา 

-เป็นเวทนาเพราะเหตุปัจจัย หรือเรามีอุปาทานในเวทนานั้น หรือมีตัณหาในเวทนานั้น มีความอยาก เมื่อมีความอยากก็มีอุปาทานทำให้เกิดภพ-แดนเกิด ชาติ-การเกิดตามมาปัญหามันก็จะไม่จบก็จะวนอยู่อย่างนี้ 

เพราะงั้นเราต้องก้าวข้ามล่วงพ้นมันให้ได้ ต้องวิเคราะห์ทุกเรื่องทุกอย่างที่เข้ามาและออกไป ไม่ใช่เฉยๆ แข็งทื่อ 

วิปัสสนา หรือ ปัญญา ท่านถึงได้เปรียบเหมือนอากาศที่ซึมสิงอยู่ในทุกอณูของร่างกายทั้งภายในและภายนอก  

ส่วนสมถะ เปรียบเหมือนก้อนหินก้อนหนึ่ง หรือ ภูเขาลูกหนึ่งที่แข็งทื่อ ซึมกะทือ ไม่เดือดร้อนอะไรเราก็เลือกเอาว่า เราจะเป็นภูเขา หรือว่า เป็นอากาศ 

 

นิกันติ การเสพติดในอารมณ์ 

แม้นที่สุดข้อสุดท้าย นิกันติ คือการเสพติดในอารมณ์ วิปัสสนูปกิเลสข้อสุดท้าย มีอารมณ์ปีติ เสพติดในปีติ ความอิ่มอกอิ่มใจ เสพติดในอารมณ์สงบระงับ หรือเสพติดในสุขที่เรียกว่าความสบายใจ เสพติดในแสงสว่างในองค์ฌานในญาณหยั่งรู้ เสพติดในความรับรู้ ความเพียรพอดี หรือเสพติดในการปลงใจเชื่อ เรียกว่าอธิโมกข์ เอาล่ะสิ่งที่เราทำเราเชื่อล่ะ เราพอล่ะ เราจะไม่เชื่อเรื่องอื่นแล้ว อย่างนี้ก็เป็นกิเลสเพราะว่าไม่พัฒนาไง 

รวมๆ แล้วอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้พระพุทธเจ้าเรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส และก็เป็นอารมณ์ฝ่ายอกุศลละเอียด ซึ่งหลวงปู่มักจะคอยบอก คอยเตือน คอยสอน คอยห้ามว่า อย่าเลยใครที่บอกว่าเจริญสติทำกรรมฐานแล้วเห็นแสง เห็นความสุข ความปีติ บังเกิดความสงบ ญาณหยั่งรู้นั่นมันมายาการ มันหลอกตัวเองทั้งนั้นไม่ใช่ของจริง ของโกหก ของหลอก 

 

 

วิปัสสนาญาณ ๙ หรือ ปัญญา ๙ อย่าง 

 

แล้วของจริง คืออะไร ของจริงมีอยู่ ๙ อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนไว้เรียกว่า วิปัสสนาญาณ ๙ หรือ ปัญญา หรืออารมณ์ ๙ อย่าง หรือสิ่งที่ควรรู้ซึ่งท่านไม่เรียกอารมณ์นะ เพราะเป็นกระบวนการตามรู้ ตามศึกษา รู้แล้วละ รู้แล้วว่าง รู้แล้ววาง รู้แล้วดับ รู้แล้วเย็น มีอะไรบ้าง 

 

 ข้อแรก มีปัญญารู้การเกิด-ดับของสังขารทั้งปวง

สังขาร มีอะไรบ้าง มีสังขารอันมีวิญญาณครอง กับสังขารที่ไม่มีวิญญาณครอง และสังขารที่เป็นนามธรรม ที่เรียกว่าเพราะอวิชชาคือความโง่ทำให้เกิดสังขาร-ความปรุงแต่ง นั่นคือสังขารที่เกิดจากการปรุงแต่งของอารมณ์ และของใจที่โง่เขลา 

รวมแล้ว สังขาร มีอยู่ ๓ อย่าง 

-สังขารที่เป็นวัตถุธาตุ เรียกว่า รูป ซึ่งมีวิญญาณครอง กับไม่มีวิญญาณครอง  

-สังขารที่เป็นนามธรรม ที่เรียกว่า นาม คือใจที่ปรุงแต่ง พวกเราปรุงแต่งอยู่ตลอด ก็เกิดสังขารอยู่ตลอด พอปรุงแต่งปุ๊บก็เกิดสังขาร พอเกิดสังขารเกิดภพไหม..ขึ้นอยู่กับว่าเราจะปรุงแต่งให้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์  ถ้าปรุงแต่งให้เป็นทุกข์ก็เป็น ทุคติภพ ถ้าปรุงแต่งให้เป็นสุข ก็เป็น สุคติภพ  

เพราะฉะนั้น สุคติ ทุคติ ใครสร้าง  (เรา)  ดังนั้นจึงต้องศึกษา ธรรมะมีเอาไว้ให้ศึกษาให้แจ่มชัด นี่อารมณ์แรกรู้การเกิด-ดับของสังขาร หนึ่งในวิปัสสนาญาณ ๙ 

ข้อต่อมา รู้การแปรปรวน เสื่อมโทรม และก็แตกสลายของสังขารทั้งปวง  

ตามรู้อย่างนี้ เพราะฉะนั้นเอาแค่ รู้ ๒ รู้ มันมีแสงสว่างไหม มีปีติไหม มีความสุขไหม มีไหม (ไม่มี) มันไม่ได้มีแสงสว่าง ไม่มีปีติ แม้มีญาณหยั่งรู้ ญาณหยั่งรู้นั้นก็ไม่ได้ยึดถือ เพราะรู้แล้วละ รู้แล้ววาง เพราะญาณหยั่งรู้นั้นก็ไม่คงที่ แล้วก็ไม่มีปีติสุขใดๆ ไม่มีแม้กระทั่งเสพติดในอารมณ์ใดๆ เพราะ รู้แล้วละ รู้แล้ววาง รู้แล้วว่าง 

ข้อแรก รู้การเกิด-ดับของสังขาร  ข้อที่ ๒ รู้การแปรปรวนแตกสลาย 

 

วิปัสสนาญาณข้อที่ ๓ ใช้ปัญญาเห็นโทษภัยและความไม่ปลอดภัย  

ต้องใช้คำว่า ความไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัยในสังขารนี้ สังขารนี้เป็นที่อยู่อาศัยที่มันไม่ปลอดภัย ไม่ปลอดภัยอย่างไรก็มันหวังไม่ได้ เดี๋ยวมันก็เสื่อม เดี๋ยวมันก็ทรุด เดี๋ยวมันก็แก่ ก็หง่อม ก็งุ้ม เดี๋ยวก็เจ็บปวด มันมุ่งหวังไม่ได้ ให้มันคงที่ตั้งมั่นอยู่กับเราก็ไม่ได้ เป็นที่อยู่อาศัยที่ไม่ปลอดภัย พระพุทธเจ้าสอนให้ดูอย่างนี้ว่า สังขารนี้เป็นที่อยู่อาศัยที่ไม่ปลอดภัย พอไม่ปลอดภัย  

 

ข้อ ที่ ๔ พิจารณาว่ามีโทษไหม..มี มันมีโทษในตัวมัน 

สังขารนี้ คือรูป เวทนา  สัญญา สังขาร และวิญญาณ 

รูป เกิดจากตาเห็น 

เวทนา ก็ สุข ทุกข์ เกิดจากการสัมผัส รับรู้ ทางกาย และทางใจ 

สัญญา ความจำได้หมายรู้ 

สังขาร คือ การปรุงแต่ง 

วิญญาณ คือ การรู้อารมณ์ 

รวมเป็นสังขารนี้ มันมีโทษของมันอยู่เนืองๆ ไม่คงที่แปรปรวนพร้อมแตกสลาย แถมมีโทษ 

วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๕  นิพพิทาญาณความเบื่อหน่าย 

เห็นอย่างนี้แล้วเบื่อไหม เหนื่อยไหม.. เบื่อ เหนื่อย หน่ายต่อมัน เขาเรียกว่า นิพพิทาญาณ เป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่อมา มีวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๕ แล้ว เพราะนิพพิทาญาณบังเกิดแล้ว 

 

วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๖ ปรารถนาที่จะพ้น

      พอเหนื่อย เบื่อหน่าย ญาณขั้นต่อมาปรากฏ ไม่ไหวแล้วกู เหนื่อยเหลือเกิน เบื่อเหลือเกินแล้วมึง กูจะพ้นล่ะ กูไม่อยากอยู่กับมึงล่ะ ทีนี้ก็ขวนขวาย พอปรารถนาจะพ้นก็ขวนขวาย วิปัสสนาญาณขั้นต่อมาก็เกิดขึ้น คือ ขวนขวายหาทางที่จะพ้น 

 

แล้วทางที่จะพ้น คือ อะไรบ้าง 

พระพุทธเจ้าให้ดู ๒ อย่าง อนิจจัง กับ ทุกขสัจจะ 

  1. อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา   
  1. ทุกขสัจจะ 

 

ทุกขสัจจะนี่ยังไม่เห็น ขนาดขั้นที่ ๖ ที่ ๗ นี่ยังไม่เห็นทุกขสัจจะ ใครบอกว่าให้เห็นทุกข์ง่ายๆ ทุกข์นี่จะเห็นไม่ได้ง่าย ถ้ายังไม่ผ่านกระบวนการตามรู้ชัดตามความเป็นจริง ยังไม่เห็นทุกขสัจจะจนกว่าจะถึงคำว่า เห็นสังขารนี้ เมื่อเราหาทางเจอแล้วก็ขวนขวายพัฒนาเดินตามทาง 

 

วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๗  วางสังขารนี้ได้ เรียกว่า ละอุปาทานในขันธ์ทั้ง ๕   

ละอุปาทานในสังขารนี้ และเห็นสังขารเป็นกลาง เป็นเพียงแค่เรือนพ่วงแพที่มาอยู่อาศัยเพื่อให้ได้ประโยชน์ และก็วาง ว่าง ดับ เย็น ไป 

วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๘ วางจิตเป็นกลางในสังขารทั้งปวง

สุดท้ายวิปัสสนาญาณ ขั้นที่ ๙ จึงจะเห็นอริยสัจ  

พอเห็นอริยสัจจะทีนี้ก็ โคตรภู ก็จะเกิดขึ้น นี่คืออารมณ์ที่เป็นมหากุศลละเอียดของผู้ฝึกจิตต้องใฝ่รู้ 

ผู้ฝึกจิตจะไปใฝ่รู้แสงสว่าง แสวงหาความสงบ หาความสุข ความชาญฉลาด หาความมีสติตั้งมั่น หาพละกำลัง หาความศักดิ์สิทธิ์วิเศษ หรือจะหาความสงบระงับในกาย วาจา ใจ ยังเป็นวิปัสสนูปกิเลสอยู่ 

หลวงปู่จึงพยายามพร่ำบอกสอนสั่งพวกเรามาเนิ่นนานเป็นสิบๆ ปี ว่าเวลาฝึกวิถีจิต อย่ามาบอกว่า ฉันสงบเหลือเกิน ฉันเห็นแสงสว่าง ฉันเห็นพระพุทธเจ้า ฉันพบพระพุทธรูป ฉันเจอความงดงาม เจอสวรรค์ เจอนู่นนี่นั่น อันนั้นไม่ใช่แล้ว หลงทางไหม ..หลงทาง มันไม่ใช่ทางของผู้เจริญปัญญา 

พูดมาทั้งหมดนี่พอจะเริ่มเข้าใจไหมว่า  

เราฝึก วิถีจิต รับ จำ รู้ คิด.. รู้ รับ จำ คิด..คิด รับ จำ รู้ ก็เพียงเพื่อจะให้เข้าใจถึงบทบาทของอารมณ์ที่ปรากฏกับจิต   

และอารมณ์ที่ปรากฏกับจิตที่ควรจะต้องเกิดไม่ใช่วิปัสสนูปกิเลส หรืออารมณ์ที่เป็นกุศลแม้เป็นของละเอียดก็ต้องละ 

วิปัสสนูปกิเลส เป็นอารมณ์ชั้นละเอียดสุดนะ เพราะมีคำว่าโอภาส-แสงสว่าง..ญาณคือความหยั่งรู้ พอถึงคำว่าญาณ คนฝึกสมถะฝึกวิปัสสนาก็จะภูมิใจมากว่ากูถึงญาณแล้ว กูได้หยั่งรู้แล้ว แต่พระพุทธเจ้าบอก ไม่ใช่ 

สิ่งที่ควรจะรู้ ก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ญาณหยั่งรู้ 

วิปัสสนาญาณข้อแรก คือเห็นการเกิดขึ้นและการดับ ถ้ายังไม่เห็นการเกิด-ดับ จะมาบอกว่า เป็นผู้มีญาณหยั่งรู้ไม่ได้..รู้หวย รู้อะไรต่ออะไร รู้ไปสารพัดรู้ แต่ถ้าไม่เห็นการเกิด-ดับ ก็ไม่เรียกว่าผู้เจริญปัญญา ยังไม่อยู่ในมรรควิถี 

พอมีญาณหยั่งรู้ ก็เกิดปีติ..ปีติ คือความอิ่มอกอิ่มใจก็ไม่ได้ ผู้เจริญปัญญาจะมาอิ่มอกอิ่มใจภาคภูมิใจก็ไม่ได้ จะไม่มีคำว่าอิ่มอกอิ่มใจ มันต้องไปโลดๆ ไปแบบชนิดไม่ต้องพกอะไรไป ไปแบบตัวเปล่าๆ ไปแบบไม่มีตัวกู ไม่มีสมบัติอะไร ก็บอกแล้วว่า ไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร ไม่เหลืออะไร แล้วสุดท้ายกูตายแน่ นั่นแหละ ต้องไปแบบนั้น 

 

วิปัสสนา ไม่มีญาณหยั่งรู้  ไม่มีปีติ ความอิ่มเอิบ ไม่มีปัสสัทธิ ความสงบระงับ  

จะภูมิใจในความสงบระงับ วันนี้เวลานี้กายเราจิตเรา สังขารเราสงบระงับเหลือเกินไม่ได้ เพราะว่าถ้าสงบก็แสดงว่าไม่พัฒนาแล้ว  

ภูมิใจในความสงบนั้นเสียแล้วการรับรู้การเกิด-ดับของสังขารก็ไม่เกิด เห็นโทษเห็นภัยแห่งสังขารก็ไม่มี แล้วสงบระงับไปเพื่ออะไร.. หลบๆ แอบๆ หลบๆ แอบๆ แล้วเราก็พึงพอใจในความหลบๆ แอบๆ จะหลบอีกกี่ภพกี่ชาติ จะหลบกันอีกนานเท่าไหร่ 

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงบอกว่ามันเป็นวิปัสสนูปกิเลส  มีปัสสัทธิ-ความสงบระงับ ยิ่งไม่ได้ แล้วสุขคือความสบายใจก็ยิ่งไม่ได้ 

วิปัสสนา ผู้เจริญปัญญา วิถีจิต ความสบายใจเป็นอารมณ์ไหม ไปเสพกับมันแล้วติดไหม มันจะตกลงตรงข้อห้ามสุดท้าย นิกันติ คือ การเสพติดในอารมณ์ แม้ความสบายใจก็เป็นการเสพติดได้ จะทำให้เราเสพติดในความสบายใจนั้นๆ 

เอาล่ะมาวัดนี้ทำกิริยาแบบนี้ ธรรมะเช่นนี้ เราฟังแล้วเราสบาย ติด เสพติดในอารมณ์แล้ว เราเสพติดแล้วอย่ามาถามว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ไหน ..ไม่มีหาไม่ได้ 

เสร็จเรียบร้อยแล้วปลงใจเชื่อ อธิโมกข์-คือ ความปลงใจเชื่อ..ก็ไม่ได้ พระพุทธเจ้าบอกว่าห้ามเชื่อ คนเจริญวิถีจิตเจริญปัญญาเชื่อไม่ได้ คำว่าเชื่อไม่ได้ คือจะเชื่ออะไรง่ายๆไม่ได้ ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ทราบ หยั่งรู้ให้แจ่มชัดด้วยตัวเอง ฟังเขาพูดมาให้เชื่อไม่ได้คำว่า อธิโมกข์-การปลงใจเชื่อ จึงเป็นวิปัสสนูปกิเลส 

ปัคคาหะ บางตำราท่านก็เรียกว่า ปัคคัยหะ แต่คัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านเขียนไว้ เรียกไว้ว่า ปัคคาหะ คือการมีความเพียรพอดี เอาล่ะเราเพียรแค่นี้พอดีแล้ว นั่งมานานแล้วเอาแค่นี้ก่อนพอดีแล้ว อย่างนี้พัฒนาไหม วันนี้เราบอกว่า เราเอาสักชั่วโมงหนึ่งพอดี เอาล่ะ ร่างกาย พรุ่งนี้ ๔๐ นาทีก็พอ พอดีล่ะ.. มะรืนนี้ อื้ม เมื่อวานก็เยอะแล้ว วันนี้เอาแค่ ๓๐ แล้วกันน่ะ  พอคำว่า ความเพียรพอดีเกิดขึ้นกับใครมันไม่คงที่หรอก คงที่ไหม มันไม่มีเพิ่มหรอก มีแต่ลดใช่ไหม มันจะลดลงเรื่อยๆ  

เพราะฉะนั้นคำว่าความเพียรพอดี จึงเป็นข้อห้ามของผู้เจริญปัญญา เป็นข้อห้ามของผู้ฝึกวิถีจิตต้องเพียรจนถึงขั้นที่เราจะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา 

นี่ธรรมข้อแรกเลยที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ในวิปัสสนาญาณ ๙ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต้องมาก่อน ปัคคาหะ-ความเพียรพอดี ยังไม่ใช่ของดี\ 

 

แล้วสติ การเพ่งสติมั่นล่ะ อุปัฏฐาน-การเพ่งสติมั่น ดีไม่ดีก็บ้า อีก ๓ วันไม่ได้หลับไม่ได้นอน ๗ วันหลับตาไม่ลง มีไหม (มี)  บ้าล่ะสิ..พยักหน้าอย่างนี้ ก็เริ่มบ้าแล้วสิ เพราะว่า เราไม่รู้จักวางไง ไม่วาง ว่าง ไม่รู้จักดับ เย็น 

เมื่อใดที่เกิดปัญหาเพ่งสติมั่น วิธีแก้ไม่ยากเลยกลับมาอยู่กับตัวเอง มีสติในกาย กายไม่ลำบาก มีสติในวาจา วาจาไม่ลำบาก มีสติในใจ ใจนี้ก็ไม่ลำบากเลย เดี๋ยวก็หลับไปเองปกติพวกมึงนี่ไม่ต้องท่องคำนี้ก็หลับอยู่แล้ว  

ข้อต่อมา การวางเฉย เรียกว่า อุเบกขารมณ์ ก็ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับผู้เจริญปัญญา เพราะไม่พัฒนาไง มันไม่พัฒนา ดังนั้นวางเฉยก็ไม่ได้  เพราะฉะนั้นผู้เจริญปัญญาเห็นทุกเรื่องต้องหยิบมาสำรวจ เฉยไม่ได้ เฉยในบุญ เฉยในบาป เฉยในถูก เฉยในผิด เฉยในกุศล เฉยในอกุศลไม่ได้ ถ้าเราคิดที่จะข้าม เรียกว่าเข้าสู่โคตรภูญาณ คือญาณข้ามภพชาติ คือไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์จะเฉยไม่ได้ 

 

ข้อสุดท้าย ข้อที่ ๑๐ วิปัสสนูปกิเลส ก็คือ นิกันติ -เสพติดในอารมณ์ทั้งปวง แม้นในกุศล บุญบาป ความพึงพอใจก็ไม่ได้ทั้งนั้น 

รวมแล้ว มีอะไรไหม..ไม่มีอะไร  

คนเจริญปัญญา ต้องไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร ไม่เหลืออะไร กูตายแน่ ..หยิบแล้ววาง วางแล้วว่าง ดับแล้วเย็น นั่นแหละคือ ผู้เจริญปัญญาอันแท้จริง   

 

นี่คือ ข้อห้ามของผู้ศึกษาวิถีจิตและศึกษาปัญญา แล้วข้อปฏิบัติก็อย่างที่บอก :- 

-มีปัญญาเห็นการเกิด-ดับของสังขารทั้งหลาย เป็นวิปัสสนาญาณข้อที่ ๑ เป็นอารมณ์ที่เป็นมหากุศลที่ควรจะรู้อยู่เนืองๆ สังขารทั้งหลายมีอะไรบ้าง สังขารที่มีวิญญาณครอง และไม่มีวิญญาณครอง กับสังขารที่เกิดจากนาม ที่เรียกว่าการปรุงแต่งของจิต ต้องทำความเข้าใจในสังขาร 

ค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ ทำไปจนถึงขั้นวิปัสสนาญาณ ๙ ก็คือ ญาณที่ข้ามโคตรภูญาณแล้ว นั่นคือเห็นทุกขอริยสัจแล้ว   

เพราะงั้นการที่จะพูดพล่อยๆ ว่าให้เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นง่ายไหม ไม่ง่าย ไม่ได้เห็นง่าย พูดน่ะง่ายแต่คนพูดเห็นหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่กว่าจะเห็นอย่างที่พระพุทธเจ้าบอกให้เห็น และควรจะเห็นต้องผ่านกระบวนการวิปัสสนาญาณมาถึง ๘ ขั้นตอน ต้องมีปัญญาสั่งสมจนกระทั่งเห็นทุกข์เป็นอาจินต์ เข้าใจไหม 

-หายใจเป็นทุกข์ ยืนเป็นทุกข์ นั่งเป็นทุกข์ เดินเป็นทุกข์ นอนเป็นทุกข์ ทำ พูด คิด เป็นทุกข์หมด แบบนั้นน่ะโลกนี้มีแต่ทุกข์ สัตว์ผู้มีทุกข์หามีไม่ ต้องเป็นแบบนั้น ไม่ใช่เห็นทุกข์เป็นครั้งๆ เป็นคราวๆ เห็นทุกข์เป็นทีๆ ไม่เห็นทุกข์ถี่ๆ อย่างนี้ไม่ใช่วิปัสสนา เขาเรียก วิปัสสนึก ลูก เข้าใจหรือยัง 

-ผู้เจริญปัญญา ผู้ฝึกวิถีจิต ต้องเข้าใจบริบทของเส้นทางการเดินแห่งจิต เส้นทางวิถีจิต  วิถีก็คือทาง-การเดินแห่งจิต จิตที่จะเดินไปต้องเดินอย่างซื่อตรง อย่าเดินแบบมูมมาม ตะกรุมตะกรามตะกละ สงบกูก็เอา ปีติกูก็เอา ญาณหยั่งรู้กูก็เอา สุขกูก็เอา ความพึงพอใจกูก็เอา ความเพ่งเพียรพอดีกูก็เอา ความมีสติตั้งมั่นกูก็เอา เอาหมดทุกอย่าง สุดท้ายทั้งตัวมีแต่ขยะ แล้วจะเห็นทุกข์ที่ไหนล่ะ  

ทุกข์ก็จะไม่เกิด อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะไม่ปรากฏขึ้นให้เราเห็น 

ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีอยู่จริง มันก็จะถูกมองข้ามไป งั้นต้องเข้าใจ  ธรรมะ เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจ แล้วต้องศึกษาเรื่อยๆ บ่อยๆ ศึกษาถี่ๆ ไม่ใช่นานๆ ที 

แล้วจำไว้ว่าในขณะที่เรามีอารมณ์ เสพอารมณ์ เรียกว่า นิกันติ คือเสพติดอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง อยากแนะนำท่านทั้งหลายว่าให้ย้ายอารมณ์มาอยู่กับ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ มาอยู่กับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ มาอยู่กับเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ หรือ มาอยู่กับกายาหรือกายนี้ก็ได้ ดีกว่าไปอยู่กับ รัก โลภ โกรธ หลง  เพราะถ้าอยู่กับ กาย เวทนา จิต และธรรม มันยังเป็นกุศลไหม (เป็น) มันดีกว่า 

 

จิตนี้ปฏิเสธอารมณ์ไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะเสพอารมณ์ได้ 

ก็บอกแล้ว จิตนี้ปฏิเสธอารมณ์ไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะเสพอารมณ์ได้ เลือกได้ไหม? ฉลาด จึงเลือกได้ แต่ถ้าโง่ล่ะ ถูกมันเลือก  ถ้าฉลาดเราเป็นผู้เลือก แต่ถ้าโง่จะถูกมันเลือก  

เหมือนกับคนในคุกมันทะเลาะกัน หลวงปู่ก็เรียกมาเคลียร์ เข้ามาอยู่ที่นี่ก็ทุกข์แย่อยู่แล้ว ทำไมยังต้องมานั่งเพิ่มทุกข์ให้แก่กันและกันอีก ทุกข์กายก็พอทนแหละ แต่ถ้าเพิ่มทุกข์ใจเข้าไปอีกเราจะอยู่ได้หรือ เพราะฉะนั้นผู้ฉลาดจะไม่ทรมานตน ไม่เพิ่มทุกข์ให้แก่ตน ไม่ทำร้ายตน แล้วมันก็หันหน้าเข้าหากัน แล้วก็ยกมือไหว้กันและกันกลับ ต่างคนต่างไป 

เพราะฉะนั้นทุกวันนี้เราก็ทุกข์เยอะอยู่แล้วล่ะ หลวงปู่คุยกับจตุพร เขาบอกเราก็ทุกข์กันเยอะอยู่แล้ว อย่ามานั่งเพิ่มทุกข์ให้แก่กันมากนัก ลดๆ ทุกข์กันบ้างก็จะดี อย่ามาเพิ่มทุกข์ให้กับคนและใครต่อใคร แม้เราทั้งหลายก็ต้องไม่เพิ่มทุกข์ให้แก่กัน 

ไอ้ที่เราต้องเพิ่มทุกข์ให้แก่กัน แสดงว่าเรายังมองไม่เห็นทุกข์ เรายังเป็นผู้ที่แบกบรรทุก แล้วเราก็เป็นผู้รับทุกข์ในที่สุด 

ถ้าเข้าใจความหมายแห่งพระธรรม เราก็จะรู้ว่าเราจะตั้งมั่นอยู่ในองค์คุณแห่งธรรมข้อใด พูดมาทั้งหมดนี่เข้าใจไหม (เข้าใจ)  ต้องทบทวนบ่อยๆ ลูก ในวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่าง  วิปัสสนาญาณ ๙ อย่าง 

 

เอกัคคตารมณ์ ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส 

วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่าง เป็นอารมณ์อกุศลอันละเอียดยิ่งที่แฝงเข้ามากับสิ่งที่ชอบ และของที่ใช่ รวมทั้งของดีที่เราคิดว่ามันใช่  แม้แต่คำว่าฌาน หรือญาณ  

ผู้เจริญกรรมฐานสมถะจะมีวิปัสสนูปกิเลสเยอะมากนะ เพราะว่าอารมณ์แห่งฌาน ต้องผ่าน วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาแม้แต่คำว่า เอกัคคตารมณ์ ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลสนะ เพราะถ้าจะพัฒนาเข้าถึงกระบวนการคำว่าปัญญาหยั่งรู้  

เอกัคคตารมณ์ ก็คืออารมณ์เดียวที่เป็นอารมณ์ ซึ่งยังไม่มั่นใจว่าเป็นปัญญาหรือเปล่า เพราะมาจากคำว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข เราเสพวิตก วิจาร ปีติ สุขมาตลอด เราไม่ได้เสพอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราไม่ได้เสพของจริง เราเสพอารมณ์ปลอมๆ หลอกๆ มา  ยกเว้นแต่ว่า ท่านผู้นั้นมีบารมีแก่กล้าสั่งสมอบรมปัญญามา เจริญสมถะเป็นพื้น แล้วก็ต่อยอดด้วยปัญญา ถ้าอย่างนี้ก็จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ง่าย  

แต่ส่วนใหญ่ เห็นไหม.. ส่วนใหญ่ไม่เห็น เห็นแต่องค์ฌาน เห็นแต่ความสงบ ปีติ สุข เอกัคคตา แล้วก็ทึกทักว่ากูสำเร็จแล้ว พูดอย่างนี้ ข้าใจไหม เพราะงั้นอันตรายเสียเวลาเนิ่นช้า 

 

คำสอนที่เป็นวิถีแห่งจิต จึงเป็นคำสอนแห่งปรมัตถสัจจะ เป็นคำสอนแห่งปัญญา 

ผู้เจริญปัญญา ยืนก็สว่าง นั่งก็สว่าง นอนก็สว่าง อยู่ในที่ใดๆ แม้มืดมิดก็ยิ่งสว่าง แต่ผู้ไม่เจริญปัญญาอยู่ในที่สว่างก็มืดบอดเสมอ 

หลวงปู่จึงเขียนบทโศลกสอนไว้เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้วว่า  

ลูกรัก พระอาทิตย์สว่างกลางวัน พระจันทร์สว่างกลางคืน คนมีปัญญาสว่างได้ทั้งคืนทั้งวัน  

เพราะงั้น ต้องสั่งสมบรมปัญญา แล้วปัญญาข้อแรกควรสั่งสมอบรม คืออะไร ข้อแรกเลยไง เห็นการเกิด-ดับแห่งสังขารทั้งปวงให้ได้ก่อน ไม่ต้องไปขยันข้อ ๒-๓-๔-๕ ไม่ต้อง.. 

หวีๆ ผมอยู่ โอ ผมเราร่วงนะ “ผมเรา” เรามันอยู่ตรงไหนหว่า หาตัวเราให้เจอ ถ้ามันเป็นเราจริง ผมเราต้องสั่งได้ว่าผมอยู่บนหัวมึงอย่าร่วง  ส่องกระจก โอ้หนังเราเหี่ยวนะ เหี่ยวยั่งเหี่ยวยืน เหี่ยวถาวร เหี่ยวเป็นอาจินต์ เหี่ยวเป็นนิจสิน ใช้แป้งใช้ครีมดึงย้อมก็ยังไม่ได้ยังไม่หายเหี่ยว ยังเหี่ยว หนังเราทำใมเหี่ยวยั่งยืนอย่างนี้ ของเราต้องไม่เหี่ยวสิ เพราะเราต้องสั่งได้ ต้องฝึกค้นหา 

 

ผู้เจริญปัญญาจะไม่นิ่ง ซึ่งอุเบกขารมณ์ไม่มี  เอกัคคตารมณ์ไม่มี ค้นหาตลอด สงสัยตลอด 

ผู้เจริญปัญญา ถ้าไม่สงสัย มีปัญญาไหม (ไม่มี)  แต่สงสัยไปไล่ถามคนอื่นได้ไหม อย่า.. อัตตาหิ อัตโนนาโถ สงสัยต้องถามตัวเองหาคำตอบให้กับตัวเอง 

หลวงปู่อยู่ในคุกถ้าสงสัยพระธรรมข้อใด หลวงปู่ก็จะถามตัวเอง ตี ๑ กว่าก็จะขึ้นมาปุจฉา อีกองค์หนึ่งก็แยกออกมาวิสัชนา ไอ้คนนอนข้างๆ มันก็เอ๋อ หลวงปู่คุยกับใคร จุ๊ๆๆ เงียบๆๆ กำลังถาม-ตอบปัญหาธรรม สักพักหนึ่งเช้าขึ้นมา หลวงปู่คุยกับใครอ่ะ 

กูคุยกับคนที่นอนตายอยู่ตรงนี้..หา จริงอ่ะ หลวงปู่รู้ได้ไงว่ามีคนนอนตาย..  

ก็มันมาคุยกับกูไง เหรอ..ตายแล้ว พรุ่งนี้ผมย้ายห้อง พอดีมีคนนอนตายตรงที่หลวงปู่นอน ก่อนจะเข้าไปมันนอนหัวใจล้มเหลวตาย เราก็คุยกับมันคุยนู่นนี่นั่นเรื่อยเปื่อยไป ทำบุญอุทิศส่วนกุศล ใครเขาให้อะไรไปก็เรียกเอามาบริจาค กรวดน้ำให้พวกไม่มีญาติ 

พูดถึงไม่มีญาติ พุธหน้าพวกลูกศิษย์ท่านชัยณรงค์เขาจะมาทำเส้นหมี่ ๑๗ กับ ๒๔ เดือนนี้ เป็นเดือนถวายพระราชกุศล แสดงความอาลัยต่อองค์พ่อหลวง ที่จริงแล้วทุกพุธ หลวงปู่จะให้โรงครัวอีอ้วนกับพวกพ้องพี่น้องเขาทำกระเพาะปลาเลี้ยงทุกพุธ พุธละพันหนึ่งบ้าง ๕๐๐ ๗๐๐ ถุงบ้าง แต่พุธที่จะถึงนี้ประมาณร่วมพันกว่าชุด แล้วพุธต่อไปหลวงปู่ก็เลยให้ลูกศิษย์ท่านชัยณรงค์เขาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ลูกพี่เขา เห็นลูกพี่เขาตอนอยู่เต็นท์หมายเลข ๙ ชอบทำเส้นหมี่ นึกถึงว่าให้มาทำเส้นหมี่บ้าง ใครมีเวลาว่างเย็นวันอังคาร ตั้งแต่ตี ๑ มาห่อเส้นหมี่ ขอจิตอาสาหน่อยใครอยู่ใกล้ๆ สัก ๓,๐๐๐ ห่อ  ทำสงเคราะห์มาสัก ๑๐ โมงกลางคืน ห่อเส้นหมี่แห้งลูกชิ้นปลาเอาไปให้คนอยู่ในคุก 

เราอย่าไปมองว่าคนติดคุกเป็นคนชั่วทั้งหมดนะลูก ไม่ใช่นะ บางคนนี่ไม่รู้เรื่องเลยว่า ติดเพราะอะไรก็มีเยอะแยะไป ก็เอาเป็นว่ามันมีคนที่ไม่มีญาติอยู่เยอะ ก็ช่วยเขา บางคนไม่มีใครไปเยี่ยมเลยเยอะแยะมากมายอยู่หลายปี ไม่มีญาติ ญาติตายบ้าง ญาติเอือมบ้างระอาบ้าง  แต่มนุษย์นี่มันไม่มีใครชั่วเกินร้อยหรอก แล้วมันก็ไม่มีใครดีเกินร้อย ถ้าเราให้โอกาสกันคนชั่วที่สุด อาจจะเป็นคนดีที่สุดก็ได้ ดูอย่างองคุลีมาลเป็นต้น เราอย่าไปมองว่าทุกคนต้องชั่วหมด ไม่ใช่ ถ้าเราไม่ลงนรกก็จะไม่รู้ความทุกข์ของสัตว์นรก ก็จะไม่เห็นใจสัตว์นรก 

เขาให้หลวงปู่ไปติดคุกก็เพื่อไปเห็นใจคนติดคุก แล้วก็ไปนั่งคุยกับคนที่อยู่ในคุก ออกมาจะได้ทำให้บ้านเมืองสงบเย็นก็เท่านั้น 

เอ้า พอสมควรแก่เวลาแล้ว ลูก เดี๋ยวจะต้องแจกมหาทานเพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล พวกเราทุกคนได้ข้าวกันหมดหรือยังล่ะ โรงเจเขามีอาหารเจเลี้ยงตลอดทั้งเดือนนะ ลูก เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล ใครจะมาเป็นแม่ครัวจิตอาสา ทำอาหารเจเลี้ยงพี่น้องประชาชนผ่านไปมา ใครหิว อยากกินอาหารเจ ก็แวะเวียนเข้ามากินได้ฟรี  ไม่เสียสตางค์ น้ำท่ามีให้ดื่ม ๓ มื้อ เช้า กลางวัน เย็น สั่งไว้แล้ว เดี๋ยวจะให้ใส่ถุงแจกด้วย เขาทำไว้หรือเปล่า 

 เดี๋ยวก็ไปทำพิธี จุดธูปบูชาฟ้าดิน เทพเจ้า ทั้งหมดนี่ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ เป็นบุพนิมิตอย่างหนึ่ง คือ นิมิต เครื่องหมายของคนดี แต่อย่าไปยึดติดมัน ทำได้ทุกเรื่อง ลูก อย่ายึดติด ขอเป็นเพียง เป็นประโยชน์ท่าน ไม่ใช่ประโยชน์ตนอย่างเดียว 

จำไว้ว่าเวลาจะทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร คิดเพื่อคนอื่น ทำเพื่อคนอื่น พูดเพื่อคนอื่น ก่อนที่คิดเพื่อตัวเอง ทำเพื่อตัวเอง และพูดเพื่อตัวเอง 

เมื่อใดที่เราคิด พูด ทำเพื่อคนอื่น นั่นแหละคือบารมีและบุญของเรา แต่เมื่อใดที่เรา ทำ คิด พูดเพื่อตัวเอง ตัวเราจะจนมาก เราจึงตะกละมากจึงต้องการมาก เราอยากมาก เราก็ไม่ต่างอะไรกับเปรต อสุรกาย  

แต่ถ้าเราคิด ทำ พูดเพื่อคนอื่น เราคือผู้ร่ำรวยมาก ผู้ยิ่งใหญ่มาก ผู้เจริญงอกงามมาก เราจะเป็นมหาเศรษฐีมากๆ แต่ถ้าเมื่อใดที่เราเป็นคนตะกรุมตะกรามตะกละ เจ้าประคุ๊ณ ขอให้กูได้นู่น นี่นั่นเยอะแยะมากมาย เรายากจนมาก เราน่าสงสารมากๆ 

ชีวิตหลวงปู่ไม่ได้หวังว่าตัวเองจะได้อะไร แต่หวังว่าชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บ้านเมืองปลอดภัยอยู่ได้ ลูกหลานฉลาดรู้เท่าทันสภาวะธรรมที่ปรากฏ ไม่โง่โดนใครเขาแหกตาหลอกลวง ทำตนเป็นประโยชน์ท่าน และก็ประโยชน์ตนให้พร้อมมูล ก็ภูมิใจที่มีลมหายใจ มีชีวิต 

ให้ทุกท่านรุ่งเรืองเจริญมีความสุขสมบูรณ์ คิดหวังสิ่งใดสมความปรารถนา ให้เจริญในธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ทรงแสดงไว้ดีแล้ว และให้ได้ในสิ่งที่หวัง ทุกท่านทุกคน เทอญ  

(กราบ) 

---------------------- 

แหล่งข้อมูล

หลวงปู่พุทธะอิสระ. ๒๕๖๐. วิปัสสนูปกิเลส   ใน วิถีจิต วิถีปัญญา (น. ๑๖๙ - ๑๙๒) .

นครปฐม: มูลนิธิธรรมอิสระ.

153 | 7 เมษายน 2025, 16:50
บทความอื่นๆ