บทที่ ๘ สัจจานุโลมิกญาณ การเห็นสัจจะความจริงในสังขารธรรม
วิถีจิต วิถีปัญญา
ชื่อเรื่อง สัจจานุโลมิกญาณ การเห็นสัจจะความจริงในสังขารธรรม
แสดงธรรมวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ ณ ศาลาวัดอ้อน้อย
สาระสังเขป
อธิบายหลักพระศาสนาเรื่องการไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตให้ผ่องแผ้วบริสุทธิ์ การไม่ทำบาปทั้งปวง หมายถึงไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ซึ่งได้แก่การไม่ผิดศีลห้า และทางใจได้แก่ โลภอยากได้ของเขา พยาบาทปองร้ายเขา การเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมในขั้นปรมัตถสัจจะ คือเห็นว่างาม เห็นว่าเที่ยง เห็นว่ามีตัวตน ส่วนการเห็นผิดทำนองคลองธรรมในขั้นสมมติสัจจะ ได้แก่ อกตัญญู ไม่เชื่อเรื่องกรรม คนที่เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ก็จะทำเหตุปัจจัยให้ต้องเกิดมารับผลแห่งกรรม แต่ถ้าเห็นถูกตามทำนองคลองธรรม ก็จะไม่ทำเหตุปัจจัยให้เกิดมารับผลแห่งกรรม เพราะผู้รับไม่มีอยู่จริง ที่เรียกว่าทุกข์นั้นมีอยู่จริง แต่บุคคลผู้รับทุกข์นั้นหามีอยู่ไม่ กรรมดี หรือกรรมชั่วก็มาจากอวิชชา อวิชชาก่อให้เกิดสังขารการปรุงแต่ง สังขารแบ่งออกเป็นสังขารที่เกิดจากรูป ประกอบไปด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ สังขารที่เกิดจากนามหรือจิต ประกอบด้วย เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จิตต้องไม่กระเพื่อมตามสังขารปรุงแต่งเหล่านี้จึงจะเป็นผู้ที่เห็นถูกตามทำนองคลองธรรม วางจิตให้เป็นกลางในสังขารทั้งปวง การเข้าใจ รู้จักแจ่มชัด ตามทำนองคลองธรรม ทั้งฝ่ายสมมติบัญญัติ และฝ่ายปรมัตถบัญญัติ เป็นเหตุให้การไม่ทำบาปทั้งปวงสัมฤทธิ์ประโยชน์ การทำกุศลให้ถึงพร้อม หมายถึง มีความชาญฉลาดเข้าใจรู้จักสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ทำให้สามารถเข้าถึงวิปัสสนาญาณ ๘ คือปัญญาเห็นการเกิด ดับ แห่งสังขารทั้งปวง เพราะสังขารทั้งปวงมีสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีโทษมีภัย ไม่เป็นที่ปลอดภัยแห่งการอยู่อาศัย เมื่อเห็นแล้วก็วางจิตให้เป็นกลางได้ การหมั่นเจริญวิปัสสนาญาณทั้งเก้า และการเจริญขั้นที่ ๘ ให้แจ่มชัดจนถึง สัจจานุโลมิกญาณ คือเห็นสัจจะและความจริงในสรรพสิ่งทั้งปวงในสังขารทั้งหลาย และเห็นทุกข์สัจจะอย่างแจ่มชัดจิตก็จะคลายจากความยึดถือ ถึงคำว่า “ดับแล้วเย็น” วาง ว่าง ดับ เย็น คือการทำกุศลให้ถึงพร้อม ทำอย่างเนืองๆ ค่อยเป็นค่อยไปจนกระทั่งเกิดคำว่าดับแล้วเย็น แต่ปัญญาไม่เกิดได้ง่าย เพราะจิตมีธรรมชาติทำหน้าที่รับ จำ รู้ คิด เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย จึงต้องกำกับดูแลจิตด้วยหลักพละ ๕ อย่างคือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา จะเป็นปัญญาในระดับสมมติกับปรมัตถ์อย่างชัดเจน แยกแยะได้ ก็ต้องใช้อิทธิบาท ๔ วิถีแห่งการเจริญวิปัสสนา เจริญปัญญา ต้องคิดจนกระทั่งมันทะลุทะลวง จนไม่มีอะไรให้คิด ไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร ไม่เหลืออะไรกูตายแน่ นั่นคือ วิถีแห่งวิปัสสนา แต่ต้องสร้างสติ เมื่อเข้าถึง สัจจานุโลมิกญาณแล้ว ก็จะเข้าสู่กระแสแห่งนิพพาน นิพพาน เป็นสิ่งที่ไม่มีสภาวะ ไม่มีคำเรียกขาน เราคลายจากอุปาทานในขันธ์ทั้งปวงเสีย คือ ความดับแล้วเย็น เมื่อเข้าใจสิ่งที่เป็นความจริงธรรมชาติทั้งภายใน ภายนอก และรอบกายแล้วเราจะวางจิตกับธรรมชาติเหล่านี้อย่างไร แค่มีปัญญารู้เท่าทันสภาวธรรมตามความเป็นจริงของจิตแต่ละขณะ เมื่อใดที่เข้าสู่วิถีจิตในแต่ละขณะๆ ธรรมะจะเกิดขึ้นเอง แล้วเราจะทำความเข้าใจด้วยความแจ่มชัดแห่งปัญญาตนเอง ฝึกรู้จัก จิตแท้ ๆ ของตนเอง รู้หน้าที่ ๔ อย่าง ที่จิตทำ คือรับ จำ คิด รู้ จิตรู้ คือ รู้เฉยแบบไม่ยินดียินร้ายกับรูปรสกลิ่นเสียงที่สัมผัส จิตคิด คือคิดแบบไม่มีอวิชชาปรุงแต่ง ใช้ปัญญาใคร่ครวญ อยู่กับจิตที่เป็นกลางต่อสังขารทั้งปวง รู้พร้อมเฉพาะอยู่ในปัจจุบันขณะจิต ปัญญาสูงสุดต้องเห็นสามัญลักษณะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับ ไม่มีอยู่จริง
เนื้อหา
เจริญธรรมเจริญสุข ท่านสาธุชนคนใฝ่ดีที่รักทุกท่าน
วันนี้เป็นสัปดาห์ที่ ๓ ของเดือนตุลาฯ ซึ่งเป็นเดือนแสดงความอาลัยต่อองค์พ่อหลวงผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐยิ่ง ที่จริงเดือนตุลาคม นี้เป็นเดือนพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสรรคตถึง ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นที่ประจักษ์ในพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงกระทำให้กับปวงชนชาวไทย
เราก็เลยมารวมตัวกันที่จะทำบุญทำกุศลทำคุณงามความดี ละชั่ว ทำดี ทำใจนี้ให้ผ่องแผ้วผ่องใส ตามคำสอนของพระบรมศาสดาที่ทรงตรัสสอนพวกเราเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็นหลักการของการปฏิบัติเป็นศาสนิกชนที่เรียกว่า
๐ สัพพะปาปัสสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง
ไม่ทำบาป ต้องหมายถึงไม่ทำบาปทางกาย ไม่ทำบาปทางวาจา และไม่ทำบาปทางจิตใจ
หลวงปู่ไม่แน่ใจหรอกว่า วันๆ หนึ่งเราเฝ้าระวังบาปอกุศลที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราได้มากแค่ไหน แน่นอนล่ะ เราอาจจะรู้สึกได้ว่าเราระวังบาปทางกายโดยไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม เราระมัดระวังบาปทางวาจา ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบแต่เราได้เคยระมัดระวังบาปทางใจบ้างหรือเปล่า
บาปทางใจ มีอะไร ก็โลภอยากได้ของเขา พยาบาทปองร้ายเขา โลภอยากได้ของเขานี่เห็นชัด พยาบาทปองร้ายเขาก็จับต้องได้ การเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม มันเป็นบาปทางใจอย่างหนึ่ง
เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
เห็นว่างาม เห็นว่าเที่ยง เห็นว่ามีตัวตน เห็นว่าเป็นสุข
เห็นผิดจากทำนองคลองธรรมเห็นอย่างไร เห็นว่างาม เห็นว่าเที่ยง เห็นว่ามีตัวตน เห็นว่าเป็นสุข เห็นว่าโลกนี้งาม เห็นว่าโลกนี้เที่ยง เห็นว่าโลกนี้มีตัวตนชัดเจนแท้จริง และเห็นว่าโลกนี้อยู่เป็นสุขแท้ อย่างนี้เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ถ้าเป็นเช่นนั้นเราทำบาปทางใจทุกวันไหม
เราทำบาปทางใจทุกวัน เมื่อใดที่เราเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
ทำนองคลองธรรมนี่มีหลายระดับนะ ทำนองคลองธรรมที่หลวงปู่ว่าเมื่อเห็นว่างาม เห็นว่าเที่ยง เห็นว่ามีตัวตน เห็นว่าเป็นสุข เป็นทำนองคลองธรรมในขั้นปรมัตถสัจจะ
แต่ทำนองคลองธรรมในขั้นสมมติบัญญัติ หรือสมมติสัจจะ คืออะไร
เริ่มต้นจาก กตัญญู กตเวทิตา นิมิตตัง สาธุรูปานัง กตัญญูกตเวทิตา นี่ทำนองคลองธรรมเบื้องต้นนะ เรากำลังจะทำบาปทางใจโดยอกตัญญูหรือเปล่า ไม่สำนึกบุญคุณ ไม่รู้จักคุณท่าน ไม่ทดแทนบุญคุณท่าน
หรือเรากำลังทำบาปทางใจโดยการที่เรามองโลกไม่แจ่มชัด มองโลกไม่แจ่มชัดอย่างไร คือไม่รู้จักเข้าใจถึงกฏแห่งกรรม ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่เข้าใจเรื่องกฏแห่งกรรม รองลงมาจาก นิมิตตัง สาธุรูปานัง ก็คือ ไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อว่าทำดีได้ดี ไม่เชื่อว่าทำชั่วได้ชั่ว ไม่เชื่อว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกรรม ไม่เชื่อว่ากรรมนั้นย่อมจำแนกสัตว์ให้ดีชั่ว เลว หยาบ แล้วเราก็เฝ้าทำแต่กรรมทางกาย กรรมทางวาจา และกรรมทางใจอยู่เนืองๆ เพราะความไม่เชื่อกรรมเราจึงลงมือทำกรรม แต่ถ้าเราเชื่อกรรมจะลงมือทำกรรมไหม ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีก็ตาม กรรมชั่วก็ตาม เราต้องเกิดมารับผลไหม (รับ)
เพราะฉะนั้นคนที่เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ก็จะทำเหตุปัจจัยให้ต้องเกิดมารับผลแห่งกรรม
แต่ถ้าเห็นถูกตามทำนองคลองธรรม ก็จะไม่ทำเหตุปัจจัยให้เกิดมารับผลแห่งกรรมที่เรียกว่าทุกข์นั้นมีอยู่จริง แต่บุคคลผู้รับทุกข์นั้นหามีอยู่ไม่
ทำไมถึงว่าบุคคลผู้รับทุกข์หามีอยู่ไม่
ก็เพราะว่าเหตุปัจจัยให้เกิดบุคคลที่รับทุกข์มันไม่มี ก็คือ กรรม แล้วเราทำกรรมได้ทั้งกุศลก็ตาม อกุศลก็ตามมาจากเหตุปัจจัยอะไร เพราะอวิชชาทำให้เกิดสังขารการปรุงไง ฉะนั้นมันก็มาจากเหตุปัจจัยแห่งอวิชชา
ฉะนั้นกรรมก็ทำได้ไม่ว่าจะเป็นกรรมดี หรือกรรมชั่วก็มาจากความโง่ทั้งนั้นแหละ มาจากความโง่ทั้งนั้น อย่างนี้แหละพระพุทธเจ้าจึงสอน
“โมฆราช ถ้าเธอไม่อยากให้มัจจุราชเห็นเธอ เธอต้องมองโลกนี้ให้เป็นของว่าง”
มองโลกนี้ให้เป็นของว่าง ก็จะตรงกับ สังขารุเบกขาญาณ ในวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๘
คือ มีปรีชาญาณ วางจิตให้เป็นกลางในสังขารทั้งปวง
สังขารทั้งปวงไม่ใช่เพียง สังขารที่เกิดจากรูป ซึ่งประกอบไปด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้นนะ แต่รวมหมายไปถึง สังขารที่เกิดจากนาม ที่ประกอบด้วย เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จิตเราต้องไม่กระเพื่อมตาม
-เวทนา คือความสุข ความทุกข์ ความรู้สึกใดๆ ก็เข้ามาทำให้เรากระเพื่อมไม่ได้
-สัญญา ความจำได้หมายรู้ทั้งอดีต ทั้งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ก็ไม่ทำให้จิตเรากระเพื่อมได้
-สังขาร การปรุงแต่งใดๆ ไม่ว่าจะเกิดจาก รัก โลภ โกรธ หลง โง่ ฉลาด เราก็ต้องไม่กระเพื่อมตาม
มีแต่จิตรู้ปรากฏอยู่ อย่างนี้แหละจึงจะเรียกว่า เราเป็นผู้ที่เห็นถูกตามทำนองคลองธรรมเข้าใจ รู้จักแจ่มชัด ตามทำนองคลองธรรม ทั้งฝ่ายสมมติบัญญัติ และฝ่ายปรมัตถบัญญัติ การไม่ทำบาปทั้งปวงจึงจะสัมฤทธิ์ประโยชน์
๐ กุสะลัสสูปะสัมปะทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม
การทำกุศลให้ถึงพร้อมแค่ข้อเดียวนี่ก็ปาเข้าไปถึงวิปัสสนาญาณ ๘ แล้วนะ แล้วถ้าเราเข้าใจธรรมชาติแห่งธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็บอกแล้วว่าธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมสมังคีสามารถทำให้เราจาก ๑ ไปต่อ ๒, จาก ๒ ไป ๓, จาก ๓ ไป ๔, จาก ๔ ไป ๕
ตัวอย่างเช่น :-
เพราะมีปัญญาเห็นการเกิด ดับ แห่งสังขารทั้งปวง
เมื่อเห็นการเกิดดับของสังขารทั้งปวงแล้วก็ได้เห็นการเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งปวง
เห็นว่าสังขารทั้งปวงเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยอันไม่ปลอดภัยแท้จริง
แล้วก็เห็นโทษเห็นภัยแห่งสังขาร จนเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง
ก็ขวนขวาย ปรารถนาจะหลุดพ้นมันซะ ไม่ไหวแล้ว
หาทางเดินตามทางนั้น จนเห็นประจักษ์ตามความเป็นจริงว่า สังขารทั้งปวงมีสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีโทษมีภัย ไม่เป็นที่ปลอดภัยแห่งการอยู่อาศัย ก็วางจิตให้เป็นกลาง
๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ แล้วก็ ๘...๙ แล้วก็ถอยหลังลงไป ไล่ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ทำให้ ๘ หนักขึ้น กระจ่างชัดมากขึ้นจนถึงคำว่า สัจจานุโลมิกญาณ คือเห็นสัจจะและความจริงในสรรพสิ่งทั้งปวงในสังขารทั้งหลาย และเห็นทุกข์สัจจะอย่างแจ่มชัด คำว่าสัจจะก็คือ ความจริง ความจริงที่อยู่ในโลกและในความทุกข์ทั้งปวงว่าเป็นสภาพธรรมที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ จับต้องไม่ได้
เมื่อเห็นความจริงอย่างนี้แล้ว จิตก็จะคลายจากความยึดถือ ถึงคำว่า “ดับแล้วเย็น” วาง ว่าง ดับ เย็น วางว่างดับเย็นอย่างนี้ต่างหากเล่าจึงจะถึงคำว่า กุสะลัสสูปะสัมปะทา การทำกุศลให้ถึงพร้อมมีลักษณะอย่างนี้
กุศลอันประเสริฐที่เข้าไปถึงคำว่า วาง ว่าง ดับ เย็นได้ มีลักษณะอย่างนี้
กุศลไม่ได้หมายถึงคำว่า บุญ
กุศล นี่ต้องเข้าใจความหมายให้ชัดว่าไม่ได้หมายถึงคำว่าบุญ เจ้าประคู๊ณขอให้ได้นู่นนี่นั่น สวรรค์สมบัติ มนุษย์สมบัติ เทวดาสมบัติ หรือนิพพานสมบัติอะไรอย่างนั้น ..ไม่ใช่
กุศล คือความฉลาด ชาญฉลาดเข้าใจรู้จักสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง แน่นอนล่ะ โดยธรรมชาติของมนุษย์เราๆ ท่านๆ มนุษย์ขี้เหม็น กิน ยืน เดิน นั่ง นอน ยังถูกตัณหาหล่อเลี้ยงอยู่ ยังมี กาม รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ยังเสพกาม ยังขวนขวายแสวงหากาม ยังถูกกามครอบงำ แม้เราจะมีปัญญาละวางกามได้บ้าง คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แต่เราก็ต้องตั้งมั่นและเชื่ออยู่ในความหมายของคำว่า “วางให้ได้ ว่างให้ได้ ดับให้ได้ และเย็นให้ได้” ต้องเป็นไปอย่างนี้อยู่เนืองๆ ค่อยเป็นค่อยไป
วันนี้ทำไม่ได้ พรุ่งนี้ทำให้ได้ พรุ่งนี้ทำไม่ได้ มะรืนทำให้ได้ มะรืนทำได้หน่อยก็ดีกว่าทำไม่ได้เลย ทำไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดคำว่าดับแล้วเย็นเอง
สำคัญว่าปัญญาไม่ได้เกิดได้ง่ายนะลูก คนไม่เข้าใจก็จะนึกว่าพอถึงปัญญาแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการหรือหมวดแห่งปัญญาโดยไม่มีคำว่า สัญญา สังขาร วิญญาณเข้ามาครอบงำเลยไม่ใช่ เพราะจิตนี้สลับสับเปลี่ยนกันทำหน้าที่อยู่ตลอด เดี๋ยวมันก็รับ เดี๋ยวมันก็จำ เดี๋ยวมันก็รู้ เดี๋ยวมันก็คิด เดี๋ยวมันก็คิดในเวลาที่ไม่ควรคิด มีบ่อยไหมรู้ ในเวลาและในเรื่องที่ไม่ควรรู้ ก็มีบ่อย เรื่องที่อยากจะรู้ แล้วควรจะรู้ มันก็ไม่พยายามจะรู้ เมื่อมันสับเปลี่ยน สลับกันทำหน้าที่อย่างนี้อยู่เนืองๆ บ่อยๆ สำหรับปุถุชนแล้ว มันก็เลยเป็นอะไรที่มันลุ่มๆ ดอนๆ
การกำกับดูแลจิต
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงสอนให้เรากำกับดูแลจิตนี้ด้วยอำนาจแห่งสติและสมาธิ ให้ตั้งมั่น และด้วยคุณธรรมอันหลากหลาย เช่น ถ้าทำให้จิตนี้มีกำลัง ก็ต้องมีศรัทธามีความเชื่อ อย่างแรกเลยที่บอกแล้วเมื่อครู่นี้ว่า
เชื่อเรื่องกรรม :-
-เชื่อว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกรรม เชื่อว่ากรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ดี ชั่ว เลว หยาบ
-เชื่อว่ากรรมนี้ทำให้เราเป็นสุขเป็นทุกข์ได้
-เชื่อว่ากรรมนี้เป็นบันไดขั้นแรกที่จะก้าวไปสู่คำว่า กุศล และมหากุศลได้ ถ้าจะเป็นงานก็เป็นงานในฝ่ายดี เป็นกรรมก็เป็นกรรมในฝ่ายดี
-และต้องเชื่อถึงที่สุดว่าเพราะกรรมไม่ว่าจะเป็นดีหรือไม่ดี กุศลหรืออกุศลก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดภพ เกิดชาติ เกิดชรา เกิดมรณะ เกิดพยาธิ
การเชื่อกรรมต้องเชื่อให้ถึงที่สุด ถึงขั้นนี้ถ้าเชื่อกรรมแค่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ยังไม่ถึงที่สุดแห่งการเชื่อกรรม
ถ้าเชื่อถึงที่สุดแห่งการเชื่อกรรม ต้องเข้าใจรู้จักตามสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า ผลแห่งกรรมส่งผลให้เราเกิดภพ เกิดชาติด้วย
เพราะการเชื่อกรรมถ้าเชื่อแบบผิดๆ ประมาณว่าใส่บาตรสักเที่ยวหนึ่งก็เจ้าประคู๊ณ ขอให้เกิดชาติหน้า ได้ขึ้นสวรรค์ เกิดภพไหม เกิดภพ เกิดชาติ อย่างนี้เชื่อผิดหรือเชื่อถูก (ผิด) เจ้าประคู๊ณ งวดที่แล้วถากไปหน่อยเลขตัวเดียวเอง ของวดนี้ตรงๆ เถอะหลวงพ่ออย่างนี้ผิดหรือถูก (ผิด) เพราะเชื่อแล้วสร้างภพสร้างชาติ
เชื่ออย่างไรไม่ให้สร้างภพ สร้างชาติ ก็ต้องเชื่ออย่างมีปัญญา
เชื่ออย่างชาญฉลาด ในหลักพละ ๕ อย่าง ท่านจึงสอน ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ แล้วต้องมีปัญญา
พอมีศรัทธา ศรัทธาต้องใช้คู่กับอะไร ศรัทธาต้องใช้คู่กับปัญญา ถ้าเชื่อแล้วไม่มีปัญญามันก็จะต้องสร้างภพ สร้างชาติ เชื่อแล้วใช้ปัญญาแล้วเป็นปัญญาในระดับไหน ปัญญาในระดับขั้นทั้งโลกียะและขั้นโลกุตตระ ปัญญาในระดับสมมติกับปรมัตถ์
ทีนี้ จะเป็นปัญญาในระดับสมมุติและปรมัตถ์อย่างชัดเจน แยกแยะได้ ก็ต้องใช้อิทธิบาท ๔ เข้ามากำกับ
ฉันทะ ความเชื่อบางทีบางครั้งก็ต้องประกอบไปด้วยความพึงพอใจด้วย เพราะถ้าไม่พึงพอใจ ความเชื่อนั้นเขาเรียกศรัทธาหัวเต่า มันผลุบๆ โผล่ๆ อาจารย์กูแย่ซะแล้ว ติดคุกซะแล้วเว้ยไม่ไหวแล้ว พวกคนดีๆ เขาติดคุกกันที่ไหน ไม่ไหวนี่มันไม่ดีถึงได้ติดคุก ไม่เอาแล้วไปดีกว่า เพราะถ้าเชื่อแบบไม่มีปัญญาก็ต้องเป็นอย่างนั้นไง ไม่แยกแยะ
พระพุทธเจ้าเชื่ออย่างมีปัญญา พระองค์จึงทำให้โจรองคุลีมาลเป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าเชื่อแบบมีปัญญาก็จะรู้ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนเลว สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่ สิ่งที่ใช่อาจยังไม่เห็น อันนี้ เป็นคำที่ต้องนำมาใช้กับคนยุคนี้ได้เยอะมาก เพราะคนยุคนี้ชอบเชื่อในสิ่งที่เห็น เหมือนกับที่มีข่าวโยมตาเฒ่าแก่ๆ แถวทางใต้ เดินลากศพหมาไปข้างถนน คนก็รุมด่าประนามแกใหญ่ อุ๊ย..ทรมานสัตว์ตีหมาตายแล้วลากไปตามถนน แต่ข้อเท็จจริงแล้วหมาโดนรถชนตาย แกเดินไปเจอเข้าก็ลากไปจะไปฝังแต่คนด่าแกไปครึ่งเมืองแล้ว เห็นไหม เล่นเอาตาลุงงงไปเลยว่า เอ๊ะ กูไปเห็นศพหมาอยู่ข้างถนน กูจะสงเคราะห์เอาไปฝัง มึงด่ากูแล้วทั้งเมือง ก็เห็นภาพไง มีคนถ่ายคลิปเอาไปลงแล้วก็แชร์ อย่างนี้เป็นต้น ความเป็นจริงของสิ่งที่เรายังมองไม่เห็นยังมีอีกเยอะ ต้องค้นหาลูก ต้องค้นหา
ฉะนั้น จะเชื่ออะไรต้องใช้ปัญญา แล้วปัญญาอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้ “ฉันทะ” ความพึงพอใจ ใส่ใจเข้าไปในความเชื่อนั้น พอใส่ใจแล้วปัญญาจะส่งผลแวววาว มีชีวิตชีวาขึ้นมาทันทีเลย แต่ถ้าไม่ใส่ใจ ปัญญาจะแห้งๆ จะไปแบบชืดๆ ไม่ได้มีความรักที่จะแสวงหาคำตอบ แต่ถ้าใส่ใจเข้าไปจะมีความรักที่จะแสวงหาคำตอบ จะค้นหาความเป็นจริงว่าข้อเท็จจริงคืออะไร
เพราะฉะนั้น ศรัทธาในพละ ๕ อย่าง หรือ อินทรีย์ ๕ อย่าง นั้น ใช้ปัญญาอย่างเดียวไม่ได้ด้วย ต้องใช้ ฉันทะ ความพึงพอใจ ในอิทธิบาท ๔ เข้าไปประกอบกำกับด้วย อย่างนี้เป็นต้น
วิริยะ คนเรามีความเพียร อ้าว..ฝนตกแล้วนี่ เลิกเหอะ..นอน นอนไหม ก็ฝนตกแล้วนี่ จะอยู่ทำไมล่ะ นอนสิ.. ความเพียรมันได้แค่นี้ ฝนตกแล้วก็นอน พอ บรรยากาศดีนะหมอนสักใบเสื่อสักผืน เพราะขาดความตั้งมั่น ขาดสมาธิคือความตั้งมั่น
เพราะฉะนั้นวิริยะต้องทำคู่กับสมาธิความตั้งมั่น แล้วสมาธิความตั้งมั่น ใช้ได้พอไหม..ไม่พอ ไม่พอด้วยเหตุผลอะไร เพราะว่าสมาธิตั้งอยู่ไม่ได้นาน สำหรับปุถุชนแล้วสมาธิอยู่กับเรานานไหม ไม่นานหรอก เดี๋ยวเจอตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส อารมณ์ที่ปรากฏกับใจ เราก็เลิกแล้ว สมาธิหลุดเหมือนกับ “ดาบส-อดเหาะ” ได้สมาบัติ ๘ เหาะบนอากาศได้ ได้ยินเสียงน้องหญิงระริกระรี้ก็ชำเลืองตาลงไปดู อู้หูขาวจัง ดาบสตกลงมาทันที สมาธิตกเพราะน้องหญิงแก้ผ้าโดดน้ำตูมๆ เข้า ดาบสเลยอดเหาะ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าอย่างนั้นก็ใช้ จิตตะ เอาใจจดจ่อ
จิตตะ นี่อยู่ในอิทธิบาท ๔ คือ เอาใจจดจ่อ มีวิริยะแล้ว มีสมาธิ-ความตั้งมั่นแล้ว ก็เอาใจจดจ่อกับสิ่งที่เราเพียรทำด้วยใจ สมัยนี้เขาใช้คำว่า “ทำดีด้วยหัวใจ ทำดีด้วยใจ” พอทำด้วยใจแล้วมันคิดเยอะไหม ไม่เยอะ คิดไม่มาก คิดไม่เยอะ ขอให้ได้ทำเราทำด้วยใจทุ่มเทกำลังใจใส่เข้าไปในสิ่งที่ทำอย่างตั้งมั่น
แล้ว สติ ก็ควบคุมกำกับทุกเรื่อง สิ่งที่ทำ คำที่พูด สูตรที่คิด
จะเห็นว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้แหละลูก เป็นธรรมสมังคี เราทำข้อหนึ่งก็ได้หลายๆ ข้อ นี่คือหลักการในการใช้ธรรมะของพระพุทธเจ้า
ธรรมะของพระพุทธเจ้าใช้สำรอก ชำระล้างจิต
แล้วธรรมะของพระพุทธเจ้ามีประโยชน์อะไร ก็สำรอกไง ชำระล้างจิต อยู่ดีๆ จะมาวางจิตเป็นกลางต่อสังขารทั้งปวงทำได้เลยไหม..ไม่ได้ คนที่ไม่ได้เรียน ไม่ได้ศึกษาวิถีจิตมา แค่มาได้ยินคำว่าวิปัสสนาญาณ ๙ ก็ อู้หู..วิปัสสนาญาณ ๙ เลยเหรอ ไม่เอาดีกว่า เดี๋ยวเป็นบ้า ปวดหัวหนัก สิ่งสำคัญที่สุดคือนอนไม่หลับนั่นแหละ เพราะอาตมาจะไม่ได้นอน กูจะไม่ได้นอน มันจะนอนไม่ได้ เพราะเราคิดว่ามันจะต้องคิด หลวงปู่เขียนบทโศลกไว้สมัยที่อยู่วัดคลองเตยในวิถีแห่งการเจริญวิปัสสนาเจริญปัญญา
ลูกรัก เรื่องทั้งหลายมีไว้ให้คิด เมื่อใดที่เจ้าคิด เรื่องที่จะคิดต่อไปจะไม่มี
แต่ถ้าเมื่อใดที่เจ้าไม่คิด เรื่องที่คิดจะมีอยู่มากมาย
วิถีแห่งการเจริญวิปัสสนา เจริญปัญญา
คนเจริญวิปัสสนา เจริญปัญญา นิ่งได้ไหม นิ่งได้รึเปล่า..นิ่งไม่ได้ เพราะวิปัสสนูปกิเลสข้อที่ ๙ อุเบกขา-การวางเฉยเป็นวิปัสสนูปกิเลส และข้อที่ ๑๐ นิกันติ-การซ่องเสพอารมณ์ การเสพติดอารมณ์ ตกเป็นทาสของการครอบงำแห่งอารมณ์ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส แม้ที่สุดแสงสว่าง ญาณหยั่งรู้ ปีติ สุข-ความสบายใจ ปัสสัทธิ-ความสงบระงับ อธิโมกข์-ความปลงใจเชื่อ ปัคคาหะ-ความเพียรพอดี เราคิดว่าเราเพียรเยอะแล้ว เราเพียรพอดีแล้ว หรือความเพ่งสติมั่น ทั้งหมดนี่เป็นวิปัสสนูปกิเลสทั้งนั้น
ผู้เจริญวิปัสสนาต้องไม่มีอารมณ์ดั่งนี้เกิดขึ้น คิดจนกระทั่งมันทะลุทะลวง จนไม่มีอะไรให้คิด คิดตรึกวิเคราะห์ใคร่ครวญเหมือนกับการลับแท่งเหล็ก ท่อนเหล็กท่อนใหญ่ๆ ลับไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันจะกลายเป็นเข็ม ลับไปเรื่อยๆ อย่าหยุดลับ อย่าพึงพอใจว่า แค่นี้พอแล้ว แค่นี้แหลมพอแล้ว แค่นี้เล็กพอแล้ว
ลับจนมันไม่เหลืออะไรให้ลับนั่นแหละคือ ผู้เจริญวิปัสสนา เพราะฉะนั้น จึงมีคำว่า ไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร ไม่เหลืออะไรกูตายแน่ นั่นคือ วิถีแห่งวิปัสสนา
คนที่ไม่ได้เจริญวิถีจิตมาเก่าก่อน แค่ได้ยินคำว่า วิปัสสนาญาณ ๙ ก็ไม่ไหวแล้ว มันยากเกินไปแล้ว มันทำยากมากแล้ว จริงๆ มันไม่ได้ยากเลยลูก เรื่องของเรื่องเพียงแค่ว่าทำความเข้าใจ
สร้างสติ
แต่กว่าจะถึงคำว่า “ทำความเข้าใจ” จะต้องมีอะไรก่อนรู้ไหม ที่ผ่านมาหลายสิบปีหลวงปู่สอนอะไร สอนเรื่องสติ ไม่ว่าจะเดินป๊อก ไม่ว่าจะขีดจิต ไม่ว่าจะปราณโอสถ ไม่ว่าจะลม ๗ ฐาน ทั้งหมดเป็นที่มาของการ “สร้างสติ” ให้เกิดทั้งนั้น ส่วนผลพลอยได้ในการเกิดสติ จะมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ หรือมีผลอะไรเยอะแยะมากมาย ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการที่จะต้องให้ได้รับคำตอบ หรือไม่ได้เป็นจุดมุ่งหมายหลัก แต่จุดมุ่งหมายหลักจริงๆ ก็เพื่อให้เราเข้าใจ รู้จัก ๒ สิ่ง
เรียนรู้ชีวิต ศึกษาวิชชา ลุถึงปัญญา นำพาชีวิตได้ ให้เข้าใจเท่านี้
เข้าใจ ๒ สิ่งคือ รูปกับนาม กายกับจิต เท่านี้เอง
ไม่ได้ให้เข้าใจเรื่องอื่นเลย พูดมาทั้งหมดนี่ เข้าใจไหม ดูเหมือนเข้าใจนะเข้าใจรึเปล่า (ขณะนี้ ฝนกำลังตก ได้ยินมีเสียงฟ้าร้อง) ผู้เข้าถึงวิปัสสนาญาณ ผู้เข้าถึงวิถีจิตดูไม่ยาก ไม่ว่าฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว มัจจุราชอยู่ข้างหน้า แม้เวลาใกล้ตายหรือกำลังจะตาย เขาจะไม่ประหม่า ไม่สะดุ้งผวา ไม่หวาดกลัว เพราะเข้าใจ-รู้จักสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงอย่างแจ่มชัดในหลักวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ ว่า :-
-โอ้หนอ สังขาร มีความเกิดขึ้น ดับไปเป็นธรรมดา
-โอ้หนอ สังขารนี้ มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
-โอ้หนอ สังขารนี้ เป็นที่พึ่งพึงอิงอาศัยอย่างไม่ปลอดภัยเลย
-โอ้หนอ สังขารนี้ มีโทษ มีภัยอยู่เนืองนิจ
แล้วจะเห็นโทษ เห็นภัย เห็นความไม่ปลอดภัย เห็นความเสื่อม เห็นการเกิด-ดับ จนเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายจนถึงขีดสุด มัจจุราชรออยู่ข้างหน้า ทำไมต้องไปหวั่นหวาด สะดุ้ง ผวา เพราะปรารถนาที่อยากจะพ้นมันอยู่แล้ว จะตายหรือดีสิ.. เราจะได้พ้นมันไปซะ แต่ไม่ได้หมายถึงให้ไปฆ่าตัวตายนะ
พูดถึงว่าถ้าเราจำเป็นจะต้องเผชิญต่อความตายที่ปรากฏตรงหน้า เอ้า..ดีสิ มันจะได้พ้นจากสังขารนี้ไปเสียที แล้วเราจะพ้นไปอย่างไร อย่างที่ไม่มีสังขารอื่นใดเข้ามาครอบ ก็เพราะเราเห็นสังขารนี้ หรือสังขารทั้งหลายมันเป็นที่อยู่อาศัยที่ไม่ปลอดภัยแล้วไงเล่า ไม่ว่าปัจจุบันสังขาร อดีตสังขาร หรืออนาคตสังขาร มันก็เป็นที่อยู่อาศัยอันไม่ปลอดภัยอยู่ดี
ถ้าอย่างนี้ก็หาทาง เมื่อเจอทางก็เดินตามทาง แล้วเห็นทางนั้น ปฏิบัติทางนั้นจนจิตเป็นกลางต่อสังขารทั้งปวงก็ถึงคำว่า วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๙ ธรรมชาติ น่ะลูก
ที่พูดมานี่คือธรรมชาติเลย เป็นเรื่องสภาวะจิตขณะหนึ่งๆ ขณะหนึ่งๆ ที่เห็นความจริงของรูปนาม ของสังขาร
พอถึงความจริงอันสูงสุด ก็คือสัจจา หรือสัจจะ ความจริงอันสูงสุด เรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ ความจริงอันไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว เป็นความจริงอันแท้ที่เราเหยียบย่างเข้าสู่คำว่า กระแสแห่งคำว่า ดับและเย็นแล้ว ที่เรียกว่า กระแสแห่งนิพพาน
นิพพาน
นิพพานนี่อย่าไปทำเหมือนกับเป็นเมือง เป็นบ้าน เป็นคฤหาสน์ เป็นวิมานอะไรใหญ่โต ไม่ใช่นะลูก นิพพานเป็นอะไร นิพพาน เป็นสิ่งที่ไม่มีสภาวะ บางคนก็อาจจะเรียกว่า นิพพานคือสภาวะธรรม ถ้าสภาวะก็แสดงว่ายังมีอยู่ไหม สภาวะเป็นสิ่งที่ยังมีอยู่ไหม (มีอยู่)
เพราะฉะนั้นเป็นความจริงอันปรากฏอยู่ จนทำให้ เราคลายจากอุปาทานขันธ์ทั้งปวงเสีย คือความดับแล้วเย็น หลายคนชอบเรียกสภาวะธรรมอย่างหนึ่งๆ เขาใช้คำว่า สภาวะ แม้แต่คำว่า
พระนิพพาน ได้ไหม..ไม่มีคำเรียกขาน ลูก มันไม่มีคำเรียกขานใดๆ
พูดมาทั้งหมดนี่เพื่อท่านทั้งหลาย พูดเยอะๆ ก็ความดันขึ้นตา น้ำตาไหล เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจสิ่งที่เป็นความจริงของธรรมชาติรอบกาย ธรรมชาติในกายทั้งภายในและภายนอก
เมื่อเข้าใจสิ่งที่เป็นความจริงธรรมชาติทั้งภายใน ภายนอก และรอบกายแล้ว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะวางตัว วางตน วางใจ กับธรรมชาติแห่งความจริงอย่างนี้เหล่านี้อย่างไร
ก็อย่างที่บอกว่าปุถุชนบางทีจะเอาปัญญาให้เกิดขึ้นมันไม่ได้ง่ายนะลูก เพราะเมื่อใดที่ปัญญาเกิดขึ้นมันจะเข้าใจว่า แม้นที่สุดเราก็พยายามจะหักห้ามใจ เวลาจะเจริญสติ ทำสมาธิ จิตจะแว็บไปนู่น จิตจะแว็บไปนี่ แม้ที่สุดคนที่เรียนรู้วิถีจิตอยากจะทำความรู้จักจิต เราคิดเราเชื่อว่าจิตแท้ๆ นั้นต้องไม่รับ ไม่จำ ไม่คิด มีแต่รู้ แล้วเราก็เชื่ออย่างนั้น แล้วเราก็ต้องการให้ จิตรู้ทรงสภาพเช่นนั้น จิตคิด จิตรับ เราไม่อยากเจอหน้ามัน สุข-ทุกข์ก็ไม่อยากเจอ จิตจำก็ยิ่งไม่อยากเจอ เราอยากเจอแต่จิตรู้ใช่ไหม แต่หารู้ไม่ว่าทั้งหมดเป็นจิตไหม สุขทุกข์เป็นจิตไหม เป็นการทำงานของจิตที่มีอารมณ์เข้ามาชำแรก เข้ามาครอบงำ
ปัญญาหยั่งรู้
ถ้าเรามีปัญญาเยอะๆ ใช้คำว่า มีปัญญาหยั่งรู้ ก็เพียงแค่ดูว่า :-
-อ๋อ นี่จิตกูกำลังจะสุข ..อ๋อ นี่จิตกูกำลังจะทุกข์
-อ๋อ นี่จิตกูกำลังจะมีเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งปรากฏขึ้น เกิดสังขารจิต เกิดวิญญาณจิต เกิดสัญญาจิต เกิดเวทนาจิต เท่านี้แหละ แต่เราคิดว่าเป็นสิ่งน่ารังเกียจมาก ถ้าเมื่อใดที่เราคิด อู้หู เอาอีกแล้ว ฟุ้งอีกแล้วๆ ฟุ้งไหม ข้อเท็จจริงมันไม่ได้ฟุ้งนะลูก มันเป็นจิตไหมล่ะ เป็นไหม
-แค่รู้ ก็หยุดแล้ว ก็รู้จักมัน มันก็หยุดแล้วไง แค่มีปัญญารู้เท่าทันสภาวธรรมตามความเป็นจริง จิตฟุ้ง มันก็ฟุ้งต่อไปไม่ได้แล้ว แม้ที่สุดเวทนาจิต สุข ทุกข์ ก็จะเกิดขึ้นต่อไปไม่ได้เลย เพราะเมื่อเรารู้เท่าทันว่า
-อ้อ นี่ ที่สุขอยู่นี่ เป็นสภาพจิตอย่างหนึ่งนะที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ใจรับรู้อารมณ์ เกิดสังขาร-การปรุงแต่ง เกิดวิญญาณ-การรับรู้ เกิดนามรูป เกิดสฬายตนะ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา-สุขทุกข์ เกิดตัณหา-ความทะยานอยาก เกิดอุปาทาน
มันจะเห็นขณะจิตหนึ่งที่สุขนั้นประกอบไปด้วยปฏิจจสมุปบาทแต่ละขณะๆๆ
เห็นอย่างนี้ได้ไหม (ได้) ยากไหม (ยาก) สำหรับคนไม่มีปัญญา
ปัญญา แห่งพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
ปัญญา ถ้าเป็นปัญญาแห่งพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน ไม่มีที่ไหนที่มืด เพราะไม่มีเมฆหมอกมาบดบัง แต่เป็นปัญญาอย่างพระจันทร์ก็ย่อมอึมครึมคลุมเครือเห็นไม่แจ่มชัดและก็คาดเดาเอา ทีนี้ก็หลงเข้าไปในเมฆหมอกแห่งการบดบังนั้น จนเราไปค้นหาว่าตัวกูอยู่ไหน จิตกูอยู่ไหน
เหมือนๆ กับที่เราอยู่ในท่ามกลางพายุแห่งเวทนา สุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ หรืออยู่ในท่ามกลางพายุแห่งสังขาร-การปรุงแต่ง ทั้งที่ ต้นตอแห่งพายุทั้ง ๒ ชนิดก็เป็นจิต แต่ทำหน้าที่ของมันอีกอย่างหนึ่ง แต่เรามองไม่เจอหน้ามัน ตัวจิตอยู่ไหน เจอแต่ตัวพายุเมฆหมอก ฝุ่นละอองธุลีดินปลิวว่อนไปหมด
ถ้าเรามีปัญญารู้ชัด เราก็จะรู้ว่า อ๋อ จิตเราอยู่นั่นไง ไอ้พวกนี้เป็นขยะ อย่าไปยุ่งกับมัน จิตมันอยู่ก็เข้าไปหาจิต จบ.. เวทนาจะยุติทันที สังขาร-การปรุงแต่งก็จะจบลงทันที
ธรรมะเกิดขึ้นเอง ด้วยความแจ่มชัดแห่งปัญญา
เพราะงั้นคนเรียนรู้ศึกษาวิถีจิตจะบอกว่าไม่รู้ธรรมะเลย ไม่ได้ลูก ไม่รู้อนิจจัง ไม่รู้ทุกขัง ไม่รู้อนัตตาไม่รู้วิปัสสนา ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท ไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่ได้
เพราะเมื่อใดที่เข้าสู่วิถีจิตในแต่ละขณะๆ ธรรมะจะเกิดขึ้นเอง แล้วเราจะทำความเข้าใจด้วยความแจ่มชัดแห่งปัญญาตนเอง
ทุกวันบ่ายๆ บ่าย ๒ โมง หลวงปู่จะไปนั่งอยู่ที่ลานโพธิ์ทุกวัน แต่ละวันๆ ก็จะมีหลากหลายวิชชาปรากฏขึ้น
-บางขณะปัญญาเห็นการเกิด-ดับแห่งสังขารทั้งปวงแล้วจึงหายใจเข้า
ปัญญาเห็นการเกิด-ดับแห่งสังขารทั้งปวง แล้วจึงหายใจออก
-ปัญญาเห็นความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งปวง แล้วจึงหายใจเข้า
ปัญญาเห็นความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งปวง แล้วจึงหายในจออก
-บางวันเห็นสภาวะแห่งจิตที่ประกอบไปด้วยนิวรณ์ ๕ อย่าง แล้วจึงหายใจเข้า
เห็นกามฉันทะ ความพึงพอใจ รักใคร่ในกามคุณ แล้วจึงหายใจออก
-เห็นพยาบาท ความอาฆาต โกรธ ไม่พึงพอใจ แล้วจึงหายใจเข้า
วางความอาฆาต โกรธ วางความไม่พึงพอใจ แล้วจึงหายใจออก
-เห็นความง่วงหงาวหาวนอน แล้วจึงหายใจเข้า
วางความง่วงหงาวหาวนอนเสียได้ แล้วจึงหายใจออก
-เห็นความฟุ้งซ่าน แล้วจึงหายใจเข้า
วางความฟุ้งซ่านเสียได้ แล้วจึงหายใจออก
-เห็นวิจิกิจฉา คือความระแวงสงสัย แล้วจึงหายใจเข้า
วางความระแวงสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว จึงหายใจออก
แต่ละวันหลวงปู่ก็จะฝึกปรือวิชชาอยู่ที่ลานโพธิ์
-หายใจเข้า จิตตั้งอยู่ที่กลางกระหม่อม จิตรู้อยู่กลางกระหม่อม แล้วจึงหายใจออก
จิตตั้งอยู่ที่ต้นคอ ท้ายทอยด้านหลัง แล้วจึงหายใจเข้า
จิตเคลื่อนไปที่กระดูกสันหลัง แล้วจึงหายใจออก
วันทั้งวันมีจิตอยู่กับกาย มีจิตอยู่กับเวทนา มีจิตอยู่กับจิต และมีจิตอยู่กับธรรม
ทำความรู้จักจิตตัวเองอยู่เนืองๆ เราจะไม่หลงว่า นั่นไม่ใช่จิตกู เพราะสุขทุกข์ก็เป็นกระบวนการทางจิตอย่างหนึ่งที่เกิดจากอารมณ์
-หรือไม่ก็ทบทวน ดูจิตคิดอยู่
หายใจเข้าเป็นจิต น้อมไปในสิ่งที่คิดเป็นมโน หายใจออก
คิดเป็นจิต น้อมไปเป็นมโน ประกอบกับลมหายใจ
-หรือไม่ก็ไม่มีลมหายใจ มีแต่จิตรู้ รู้อยู่ว่า การปรุงแต่งแห่งสังขารทั้งปวง ไม่ปรากฏขึ้น
สังขารที่เกิดจากรูป จากเวทนา จากสัญญา จากสังขาร จากวิญญาณ
สังขารที่เกิดจาก รส กลิ่น เสียง สัมผัส คือ ผัสสะ และวิญญาณ การรับรู้ก็ไม่ปรากฏขึ้น
-วางจิตให้เป็นกลาง มีจิตอยู่เป็นกลาง
รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทำปฏิบัติการใดๆกับจิตนี้ไม่ได้ ไม่ทำให้จิตนี้กระเพื่อม
หลากหลายวิชชาที่แต่ละวันหลวงปู่ได้ นั่งทบทวนอยู่ที่ลานโพธิ์ทุกวันๆ แล้วมานั่งนึกว่า พวกสูเจ้าทั้งหลาย สัปดาห์หนึ่งเจอหน้าอาตมาทีหนึ่ง ก็มานั่งหลับๆ ตื่นๆ สัปหงก เงิกงากๆ อ้าปากหวอ เข้าใจไหม...(เข้าใจครับ เข้าใจค่ะ) รู้ไหม..รู้ค่ะ แล้วก็วูบไป...เข้าใจไหม เข้าใจค่ะ จบแล้ว แล้วมันจะได้อะไรล่ะ
ได้ไหม (ได้)
วัดอ้อน้อยนี่สอนเยอะไหม (เยอะ) สอนเยอะนะ เยอะไปรึเปล่า..กูว่าเยอะไป เยอะจนล้นไปหมดล่ะ ลุกขึ้นยืน ปฏิบัติธรรม
----------------------
ปฏิบัติธรรม ฝึกจิตที่เป็นกลางต่อสังขารทั้งปวง
ปฏิบัติธรรมวิถีจิต :
ฝึกรู้จัก จิตแท้ ๆ ของตนเอง
ลุกขึ้นยืน ...ฝนมันกระเซ็นสาด ก็ขยับเข้ามาสิ ลูก
เอ้า ไล่พิจารณาดูจิตตัวเอง ทำความรู้จักกับจิตตัวเอง
ค้นหาว่า เวลานี้จิตตัวเองอยู่ที่ไหน
ปัญหาของพวกเราที่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็เพราะว่า เราไม่รู้จักจิตแท้ๆของตัวเราเอง พูดง่ายๆ
คือ เราไม่รู้จักตัวตนแท้ๆของตัวเราเอง เรารู้แต่ตัวเนื้อ ตัวหนัง และตัวลม แต่ตัวจิตรู้ จิตรับ จิตจำ จิตคิด เราไม่เห็น เราไม่คุ้นเคยกับมัน
หลวงปู่เคยสอน วิถีจิต ๑๐ อย่าง ไปแล้วว่า
คิด เป็นจิต
น้อมไป เป็นมโน
เก็บไว้ เป็นหทัย
พอใจ เป็นมนัส
แช่มชื่น เบิกบาน เป็นบัณฑระ
สืบต่อ เป็นมนายตนะ
เป็นใหญ่ เรียกว่ามนินทรีย์
รู้อารมณ์ เป็นวิญญาณ
รู้เป็นเรื่องๆ อย่างๆ เป็นวิญญาณขันธ์
รู้แจ้งในอารมณ์นั้นๆ เป็นมโนวิญญาณธาตุ
แต่เราก็ไม่ค่อยสำเหนียก คือไม่ค่อยนำมันเอามาใช้ว่าขณะนี้จิตเราแปรรูปเป็นอะไร..เป็นมโน เป็นมนัส เป็นบัณฑระ เป็นมนายตนะ เป็นมนินทรีย์ เราไม่สำเหนียก
เอาล่ะมันเยอะไป ไม่สำเหนียกก็ไม่เป็นไร
แต่รู้ให้ได้ถึง หน้าที่ ๔ อย่าง ที่จิตทำ (รับ จำ คิด รู้)
อันนั้นสำคัญมากคือ รับอารมณ์ เพราะตัวรับ นี่แหละทำให้เกิดเวทนาจิต เป็นหนึ่งในนาม นามะรูปังเวทนา นามะรูปังสัญญา นามะรูปังสังขาร-การปรุงแต่ง นามะรูปังวิญญาณ-การรับรู้
..................
รับ จำ คิด รู้
ดูที่จิต จิตรับอยู่ หรือ จิตรู้อยู่ หรือ จิตคิดอยู่ ถ้าคิด ก็ปรุงแต่ง
ท่านทั้งหลาย หลายคนที่มาใหม่ ทบทวนให้ฟังว่า แรกๆ หลวงปู่จะสอน
ให้แยก กุศลจิต กับ อกุศลจิต
จิตนี้มีโลภะ หรือ จิตนี้ไม่มีโลภะ
จิตนี้มีโทสะ หรือ จิตนี้ไม่มีโทสะ
จิตนี้มีโมหะ หรือ จิตนี้ไม่มีโมหะ
จิตนี้มีบาป หรือ จิตนี้มีบุญ
จิตนี้โง่ หรือ จิตนี้ฉลาด
ทำความรู้จักเบื้องต้นนี้ก่อนก็ได้
เพราะว่า รับ จำ รู้ คิด เป็นอะไรที่ใกล้มากจนเรามองไม่เห็น
ก็ตามดูอารมณ์ที่มาประกอบกับจิต
-จิตนี้ฟุ้งซ่านอยู่ หรือ จิตนี้ไม่ฟุ้งซ่านอยู่
-จิตนี้มีกามฉันทะ-ความพอใจรักใคร่ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือจิตนี้ไม่มีกามฉันทะ-ไม่พอใจรักใคร่ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
-จิตนี้มีพยาบาท คือ ความโกรธ อาฆาต จองเวร หงุดหลิด รำคาญ หรือ จิตนี้ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่อาฆาต ไม่จองเวร ไม่หงุดหงิด ไม่รำคาญอยู่
-จิตนี้มีความง่วงหงาวหาวนอน หรือ จิตนี้ไม่ได้ง่วงหงาวหาวนอนอยู่
ดูไปที่จิต
..........
วาง ว่าง ดับ เย็น... วาง ว่าง ก่อน ..วางให้ได้ก่อน
วางรัก วางโกรธ วางง่วง วางฟุ้งซ่าน วางความระแวงสงสัย
เพราะทั้งหมดนี่เป็น เขาเรียกว่า เครื่องกั้นความดี พระพุทธเจ้า เรียกว่า นิวรณ์-เครื่องกั้นความดี ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้าน ก็พูด วางรัก วางโลภ วางโกรธ วางหลง
วางแล้ว จิตจะว่าง
.........
วางจิตเป็นกลาง ไม่กระเพื่อม
ถ้าพูดในหลักวิปัสสนาญาณก็อยู่ใน ขั้นที่ ๘ สังขารุเบกขาญาณ คือปรีชาญาณในการเห็นความเกิด-ดับ เห็นความเสื่อม เห็นความไม่ปลอดภัย เห็นโทษเห็นภัย ในสังขารทั้งปวง แล้ววางจิตเป็นกลางในสังขารทั้งปวง...ไม่ถือโทษ ไม่โกรธเคือง ไม่รังเกียจ ไม่พึงพอใจ ไม่นิยมชมชอบ
วางจิตเป็นกลาง ไม่กระเพื่อม
ฟ้าจะร้อง ฝนจะตก น้ำจะท่วม อสุนีบาตจะฟาด เราก็ไม่กระเพื่อม จิตวางเฉยต่อตาเห็น หูฟัง จมูกดม ลิ้นรับ กายสัมผัส
ไม่ใช่เฉยอยู่ข้างนอก แต่มาเฉยอยู่ในกายเรา
ไม่ใช่วางอยู่ข้างนอก วางเข้ามาในตัวเรา ในกายนี้
ดูเข้าไปในกายนี้
วาง ว่าง ดับ แล้ว เย็น
.........
เมื่อถึงคำ วาง ว่าง ดับ เย็นวางเฉยต่อสังขาร-การปรุงแต่งทั้งปวง ก็อยู่กับการวางเฉยอย่างนั้น
ในขณะที่จิตวางเฉย ต่อการปรุงแต่งแห่งสังขารทั้งปวง ถ้าพูดตามสถานการณ์ (ขณะนี้ ฝนกำลังตก) คือเฉยต่อเสียงลมพัด เสียงฝนตก เสียงฟ้าร้อง เสียงฟ้าผ่า เสียงสายฟ้าฟาด และเสียงอึกทึกครึกโครม อย่างนี้เรียกว่า วางเฉยต่อสังขารทั้งปวง
แม้ที่สุดวางเฉยต่อความคิด เรียกว่า จิตคิด จิตรับ จิตจำ มีแต่จิตรู้เฉยๆ อยู่กับจิตรู้เฉยๆ
เมื่อใดที่เราอยู่กับจิตรู้ พระพุทธะก็เกิดขึ้นกับเรา
...........
รู้เฉยๆ
คำว่า รู้เฉยๆ คือแค่ไหน
ก็ไม่รำคาญในเสียง ไม่ยินดียินร้ายในเสียงที่ได้ยิน ไม่ยินดียินร้ายในกลิ่นที่ได้รับ ที่ดมอยู่ ไม่ยินดียินร้ายในกายที่สัมผัส ไม่ยินดียินร้ายในรูปที่ตาเห็น
อยู่กับตัวรู้ ท่านผู้รู้ และจิตรู้ ภายในกาย
มีแต่จิตรู้.. ไม่มีจิตคิด ไม่มีจิตรับ ไม่มีจิตจำ
ยังอยู่กับจิตรู้ มันจะรู้แล้วเบา.. ยิ่งรู้ยิ่งเบา เพราะไม่ยึดติดไง
ยิ่งรู้ อยู่กับท่านผู้รู้ ยิ่งใกล้ผู้รู้ แล้วเรากลายเป็นตัวรู้
เป็นผู้รู้ มันยิ่งเบา.. รู้จนเบา ไม่ใช่สบายนะ ไม่ใช่อิ่มใจ
เอาแค่เบา ที่เรียกว่า ลหุตา คือ ความเบากายเบาใจ
..........
รู้เฉยๆ ไม่คิด ไม่รับ ไม่จำ ไม่มีอารมณ์
ไม่มีอารมณ์อื่นใด นอกจาก รู้
ระวังจะเคลื่อนออกจากตัวรู้ กลายเป็น ตัวฟุ้ง ตัวคิด ตัวรับ ตัวจำ
รู้อยู่ภายใน... บางคนอาจรู้อยู่ที่หน้าอก หน้าอกจะเย็น เบา
บางคนอาจจะรู้อยู่บนศีรษะ ศีรษะก็เย็น เบา ...บางคนอาจจะรู้อยู่ที่บ่า บ่าก็เย็น เบา
บางคนอาจจะรู้ที่ช่องท้อง ช่องท้องก็เย็น เบา ...บางคนอาจจะรู้ที่ฝ่ามือ ฝ่ามือก็เย็น เบา
บางคนก็อาจจะรู้อยู่ภายในกายทั้งตัวตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า ตัวเราหัวจรดปลายเท้าก็เย็น เบา
ถ้าไม่คิด ก็ไม่เป็นจิต
เพราะเมื่อใดที่มีจิต เป็นจิต เราก็จะกลายเป็นผู้หนัก
น้อมไปเป็นมโน ยิ่งหนักใหญ่...เก็บไว้เป็นหทัย ก็หนักขึ้นอีกมันหนักขึ้นเรื่อยๆๆ
เมื่อใดที่มีจิต เมื่อนั้นก็จะต้องมีอะไรๆ ตามมาเยอะแยะ
...........
ใช้พละ ๕ ใคร่ครวญ
ที่เราอยู่กับท่านผู้รู้ วาง ว่าง ดับ เย็น ได้อย่างไม่มั่นคง เพราะเราขาดอะไรในอิทธิบาท ๔ ขาดอะไรในพละ ๕ อย่าง ใคร่ครวญดูซิ ถามตัวเองดูซิ เรามีศรัทธาไหม เรามีปัญญาไหม เรามีความเพียรไหม เรามีสมาธิ ความตั้งมั่นไหม จิตนี้มีศรัทธาไหม
ถ้ามันหลุดออกจากความเป็นกลาง วาง ว่าง ดับ เย็น ก็แสดงว่า จิตเราเคลื่อนออกจากอะไรสักอย่างใน ๕ อย่างนี้..ค้นหา อย่าเสพติดอารมณ์ไปเรื่อย
หาคำตอบ หาวิธีแก้ ทำไมเราฟุ้งซ่าน ทำไมเราง่วง ทำไมเราสับสน วุ่นวาย ..ค้นหาคำตอบ
............
ถ้าจิตเคลื่อนออกจากความเฉย หรือเป็นกลางในสังขารทั้งปวง ก็แสดงว่า เราเริ่มเสพติดอารมณ์
แล้วอารมณ์ตัวไหนเข้ามาติด วิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นกับเราล่ะ นิวรณ์ ๕ อย่าง เกิดขึ้นกับเราล่ะ
ดูซิตัวไหนเข้ามา ความพอใจ รักใคร่ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือความโกรธ ความพยาบาท หรือความง่วงหงาวหาวนอน หรือความฟุ้งซ่าน หรือความหวาดระแวงสงสัย
แล้วจิตเราหายไปไหน..ค้นหา
อารมณ์ใหญ่กว่าจิต แล้วจิตไปไหนแล้วล่ะ
...........
จิตนี้ เวลาเสพติดอารมณ์ก็เหมือนกับหม้อที่มีแกงอยู่เต็ม
เราไม่เคยใส่ใจหม้อ เราสนใจแต่แกงที่อยู่ในหม้อ ทั้งที่จริงๆ แล้วแกงมันจะให้เรากินสำเร็จประโยชน์ได้ อิ่มได้ ก็ต้องอาศัยหม้อ แต่เรามองไม่เห็นหม้อ เห็นแต่แกงในหม้อ
จิตนี้ก็เหมือนกัน เวลาเสพติดอารมณ์แล้ว มองไม่เห็นจิต เห็นแต่อารมณ์ แล้วจิตไปอยู่ไหน
ค้นหา อย่าปล่อยให้อารมณ์ทับถมจิต
...........
จิตคิด
มาจากวิชชา หรือ อวิชชา
จิตนี้กำลังคิดอยู่ กำลังปรุงแต่งอยู่ ปรุงแต่ง คิด มาจากวิชชา หรือ อวิชชา
เพราะอวิชชา ทำให้เกิดการปรุงแต่งที่เรียกว่า สังขาร หรือเปล่า
จะเป็นจิตคิดได้ ต่อเมื่อไม่มีอวิชชา แต่ถ้าเมื่อใดที่เป็นสังขาร การปรุงแต่ง แสดงว่า อวิชชาเกิดขึ้นคิดเหมือนกัน แต่มันคิดผิดไง เขาเรียกว่า คิดชั่ว คิดไม่ดี พระพุทธเจ้าจึงเรียกมันว่า สังขาร..สังขารจิต เพราะมันมีปัจจัยเกิดจากความโง่ ความไม่รู้
แต่เมื่อใดที่มีความรู้ มีวิชชา มีปัญญา แม้นคิดมันมีทางจบไง พระองค์ไม่เรียกความคิดเช่นนั้นว่า สังขาร-การปรุง แต่เรียกว่าปัญญา เรียกว่าวิชชา เรียกว่าความคิด
ในขณะที่เราใคร่ครวญ ใช้ปัญญานิสัมมะ กะระณังเสยโย อันนั้นเป็นปัญญา เป็นความคิด
แต่ถ้าเมื่อใดที่เราฟุ้งไปเรื่อยเปื่อย เสพติดอารมณ์ไปเรื่อยโดยไม่รู้ มองไม่เห็น เหมือนกับคนตักแกง มองไม่เห็นหม้อ เหมือนกับอารมณ์ที่ครอบงำจนมองไม่เห็นจิต ถ้าอย่างนี้เป็นอวิชชา เป็นความโง่
.............
ค้นหาจิต อย่าปล่อยให้หลงอยู่ในพายุแห่งอารมณ์
วันนี้ถ้าไม่ช่วยมันออกมา วันต่อไปเราก็ช่วยมันไม่ได้แล้วมันก็จะเปียกปอน พายุแห่งอารมณ์อย่างนี้ไปไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ เราต้องทรมานไปกับพายุแห่งอารมณ์อย่างนี้ โดนครอบงำทั้งตื่นทั้งหลับ ทั้งวันทั้งคืน ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว มันไม่มีอะไร มันไม่ได้อะไร มันไม่เหลืออะไร
แต่เพราะเราโง่ไงเรามีสังขาร-การปรุง มีวิญญาณ-การรับรู้ มีนามรูป มีผัสสะ มีเวทนา มีตัณหาเข้ามาครอบอีกต่างหาก ตามไปด้วยอุปาทาน ยึดมันไว้ จนกลายเป็นเหตุปัจจัยให้ภพเกิดขึ้น
เราเป็นผู้สร้างภพเอง ชาติก็ตามมา ชรา มรณะ พยาธิ ทุกข์โทมนัสก็ตามมาอีก
เรื่องของเรื่องอยู่แค่โง่ หรือ ฉลาด
.............
ปัญหาสำคัญ หาจิตให้เจอ
อย่าให้หลงอยู่ในพายุแห่งอารมณ์ ดึงมันออกมา..ต้องรู้เท่าทันมัน
............
บางทีเจอแล้วมันอยู่กับเราไม่นาน นั่นเพราะอะไร ค้นหา
ความเพียรเราไม่คงที่หรือเปล่า
สมาธิเราน้อยไปไหม
สติ เราดับๆ ตื่นๆ เกิดๆ ดับๆ ผลุบๆโผล่ๆ หรือเปล่า
.........
ยังอยู่กับ จิตที่เป็นกลาง ต่อสังขารทั้งปวง
สังขารทั้งปวง อันประกอบด้วย รูป กับ นาม
รูป คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ...จิตนี้ก็ไม่กระเพื่อมตามดิน ตามน้ำ ตามลม และตามไฟ
นาม นี้ประกอบไปด้วย เวทนา คือสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ จิตนี้ไม่กระเพื่อมตาม
สัญญา ความจำได้หมายรู้ จิตนี้ก็ไม่กระเพื่อมตาม
สังขาร-การปรุงแต่งทั้งปวง จิตนี้ก็ไม่กระเพื่อมตาม
วิญญาณ-การรับรู้ ก็รู้พร้อมเฉพาะอยู่ภายในกาย จิตนี้ไม่กระเพื่อมตาม
รู้พร้อมเฉพาะอยู่ในปัจจุบันขณะจิต
ต้องใช้คำว่า ปัจจุบันขณะจิต เพราะมีคำว่าปัจจุบัน เดี๋ยวก็นึกว่าปัจจุบันนี้ฝนตก ก็อยู่กับฝนตก..ไม่ใช่ปัจจุบันที่อยู่กับรูปนั่ง ก็อยู่กับท่านั่งก็ไม่ใช่ ต้องเป็นปัจจุบันในขณะหนึ่งจิต หรือ จิตหนึ่งๆ จึงจะถูกต้อง ต้องละเอียดยิบย่อยลงไปอีก
ปัจจุบันในขณะบรรยากาศรอบกาย หยาบ
ปัจจุบันในขณะในกายก็หยาบ
ปัจจุบันในขณะอารมณ์ หรือเวทนาแห่งจิตก็หยาบ
ต้องเป็นปัจจุบันในขณะจิตหนึ่งๆ จึงจะใช้ได้
ชำแรกเข้าไป ไม่กระเพื่อมตามปัจจุบันขณะจิตหนึ่งๆ
...........
ไม่มีอะไร ไม่ได้อะไรไม่เหลืออะไร
ปัญญาที่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอน เป็นปัญญาที่ย่อยยิบ จนทุกอย่างไม่เหลืออะไร
ไม่มีอะไร ไม่ได้อะไรไม่เหลืออะไร
ไม่ใช่ปัญญาย่อยยิบแล้วยังเหลือตัวกู เหลือบุญ เหลือกุศล เหลือนิพพาน นั่นไม่ใช่
ปัญญาสูงสุด ต้องไม่มีอะไร ย่อยจนกระทั่งมันไม่มีอะไร ไม่เหลืออะไร ไม่ได้อะไร
ย่อยจน เห็นสามัญลักษณะ เกิดขึ่น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอยู่จริง
สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ธรรมทั้งหลายไม่มีอยู่จริง นั่นคือคำตอบสุดท้ายของปัญญา
เตรียมตัวแผ่เมตตา พนมมือ
กราบลาพระ
..........
ปัญหาของพวกเราคือ อยู่กับความ วาง ว่าง ดับ เย็น ไม่ได้นาน อยู่กับความเป็นกลางในสังขารทั้งปวงไม่ได้นาน วิธีแก้ ฝึกสติเพ่งจิตให้มีสมาธิให้ได้นานให้มากขึ้น เขาเรียกสมาธิสั้นก็เลยไม่ยั่งยืน แก้ให้มันยั่งยืนซะ เดี๋ยวทุ่มครึ่ง เจอกันใหม่ (สาธุ)
(กราบ)
_______________
หลวงปู่พุทธะอิสระ. ๒๕๖๐. สัจจานุโลมิกญาณ การเห็นสัจจะความจริงในสังขารธรรม ใน วิถีจิต วิถีปัญญา,
(น. ๑๙๓ - ๒๒๓) . นครปฐม: มูลนิธิธรรมอิสระ.
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๑, สืบค้นวันที่ ๑๑ เมษายน จาก