บทที่ ๙ สติที่เป็นสัมมาสติ จึงจะเป็นผู้เข้าถึงธรรม
วิถีจิต วิถีปัญญา
ชื่อเรื่อง สติที่เป็นสัมมาสติ จึงจะเป็นผู้เข้าถึงธรรม
แสดงธรรมวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๒ โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ ณ ศาลาปฎิบัติธรรม
สาระสังเขป
สติที่เป็นสัมมาสติ คือสติที่ตั้งเอาไว้ในกาย เวทนา จิต และธรรม วิธีฝึกสำหรับผู้ฝึกใหม่ ให้ตั้งจิตอธิษฐานว่า จะเจริญสัมมาสติ มีสติ มีจิต อยู่ในกายคือ จิตตั้งมั่นที่กาย ระลึกอยู่พร้อมเฉพาะภายในกาย สติ ตั้งมั่นอยู่ในเวทนา คือความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นเช่น เย็น ร้อน สุข ทุกข์ เฉยๆ เป็นต้น มีสติอยู่ในจิต ตั้งมั่นอยู่ในจิต ระลึกรู้ได้พร้อมเฉพาะภายในจิต ส่วนการพิจารณาธรรมต้องใช้ปัญญาล่ะ ต้องใช้กำลังสติมาก ใช้ปัญญามาก เรียกว่า มีสติสัมปชัญญะพร้อมสมบูรณ์ เมื่อมีสัมมาสติในกาย เวทนา จิต ธรรม ก็จะแยกจิต-แยกกาย แยกจิต-แยกเวทนา แยกจิต-แยกธรรม แล้วจะเห็นสภาพชัดตามความเป็นจริงของจิต สามัญจิต ต้องอาศัยอารมณ์เป็นเครื่องอยู่ วิเสสจิต ก็มีปัญญา มีตัวรู้ เป็นเครื่องอยู่แห่งจิต เป็นผู้เข้าถึงธรรม ไม่สร้างภพ ชาติ จิตที่มีปัญญา รู้แจ่มชัด เป็น ‘มโนวิญญาณธาตุ’ คือ รู้ทั้งธาตุ รู้ทั้งวิญญาณ รู้ทั้งสภาวธรรม การศึกษาปรมัตถธรรม คือ เรียนรู้เรื่อง จิต เจตสิก รูปและนิพพาน ปรมัตถธรรมก็พัฒนาจากสมมติบัญญัติ ธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมของผู้สิ้นหวัง ธรรมของพระโพธิสัตว์เจ้า เป็นธรรมของผู้มุ่งหวัง หินยาน คำสอนสูงสุดคือ ปัญญา แต่ถ้ามหายาน คำสอนสูงสุดคือ ปรารถนา ปรารถนาให้ได้ไปพบพระอมิตาภะ พบพระพุทธเจ้า ไปสู่แดนสุขาวดี มหายานสอนอย่างนี้ แต่หินยาน ไม่มีคำว่าปรารถนา มีแต่ปัญญารู้ชัด แล้วตัดๆ ตัดๆ ตัดๆ จนวัฏฏะไม่เหลือ ไม่มีชาติ ชรา มรณะ พยาธิ ไม่มีภพ
เนื้อหา
สำรวมจิต ผ่อนคลายลูก
มีสติในกาย สติที่เป็นสัมมาสติ คือสติที่ตั้งเอาไว้ในกาย พระพุทธเจ้ารับรองว่า :-
สัมมาสติ คือ สติในกาย
สัมมาสติ คือ สติในเวทนา
สัมมาสติ คือ สติในจิต
สัมมาสติ คือ สติในธรรม
มีสติในกาย มีสติในเวทนา มีสติในจิต และก็มีสติในธรรม ทำให้กาย เวทนา จิต และธรรม ตั้งมั่นอยู่กับจิต อยู่กับสติ
สติตั้งมั่นอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรม เหล่านี้เรียกว่าหรือชื่อว่า สัมมาสติ นอกนั้นมิใช่สัมมาสติ
วันทั้งวันเราอาจจะเลือกเวลาที่จะเกิดสัมมาสติ ฝึกสัมมาสติ สร้างสัมมาสติ ตั้งสัมมาสติ หรือจะทำได้ทั้งวันก็ยิ่งดี
-เวลานี้เราจะทำสัมมาสติให้เกิด โดยมีสติตั้งอยู่ในกาย
-เวลานี้เราจะทำสัมมาสติให้เกิด โดยมีสติตั้งอยู่ในเวทนา คืออารมณ์ที่ครอบงำจิต พิจารณาว่า จิตนี้ ประกอบไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ โลภะ หรือสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ หรือเฉยๆ
พิจารณาใคร่ครวญทั้งเวทนาทั้งจิต เรียกว่าสัมมาสติในเวทนา สัมมาสติในจิต
-หรือจะพิจารณาสภาวธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในสังขารของตน สังขารผู้อื่น ในธรรมทั้งปวง
-แม้กระทั่งบทสาธยาย กายคตานุสสติกัมมฐาน ก็จัดว่าเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นสัมมาสติ
พยายามฝึกที่จะเจริญ สัมมาสติ อยู่เนืองๆ
ผู้เจริญสัมมาสติ อย่างตั้งมั่นพร้อมมูลแล้วเท่านั้น จึงจะเป็นผู้เข้าถึง ‘ทาง’
เข้าถึงทาง เข้าถึงธรรม เข้าถึงวิถีแห่งความรู้ตื่น เบิกบาน
.............
วิธีการฝึก :
สำหรับผู้มาใหม่ หรือผู้ฝึกใหม่ๆ ทำไม่ยากหรอกลูก เริ่มต้นจากตั้งอธิษฐานจิตว่า “เราจะเจริญสัมมาสติ”
เราจะมีสติ มีจิต อยู่ในกาย จิตตั้งมั่นที่กาย ระลึกอยู่พร้อมเฉพาะภายในกาย ไม่ให้ออกจากกาย เท่านี้
หรือมีสติ ตั้งมั่นอยู่ในเวทนา คือความรู้สึก หนาวร้อน อ่อนแข็ง สุขทุกข์ หรือไม่หนาว ไม่ร้อน ไม่อ่อน ไม่แข็ง ไม่สุขไม่ทุกข์ เฉยๆ
หรือจะมีสติอยู่ในจิต ตั้งมั่นอยู่ในจิต ระลึกรู้ได้พร้อมเฉพาะภายในจิตว่า จิตนี้มีราคะหรือไม่มีราคะ จิตนี้มีโทสะหรือไม่มีโทสะ จิตนี้มีโมหะหรือไม่มีโมหะ จิตนี้เป็นบุญหรือจิตนี้เป็นบาป หรือจิตนี้ไม่มีบุญไม่มีบาป จิตวางเฉย อย่างนี้ก็เป็นสัมมาสติ เป็นสติที่ตั้งมั่นอยู่ในจิต
ถ้าจะพิจารณาธรรมก็จะกว้างมากไป ผู้ฝึกใหม่ๆ อินทรีย์ยังไม่แก่กล้าก็จะยาก จะคุมได้ยาก จะฟุ้งไปเรื่อย เพราะผู้พิจารณาธรรมต้องใช้ปัญญาล่ะ ต้องใช้กำลังสติมาก ใช้ปัญญามาก เรียกว่า มีสติ สัมปชัญญะพร้อมสมบูรณ์ จึงจะพิจารณาธรรมได้ตลอดสาย ไม่ขาดตอน
พอมีสติตั้งอยู่กาย มีสติตั้งอยู่ในเวทนา มีสติตั้งอยู่ในจิต มีสติตั้งอยู่ในธรรม เราท่านทั้งหลาย ก็จะแยกจิต-แยกกาย แยกจิต-แยกเวทนา แยกจิต-แยกธรรม แล้วจะเห็นสภาพชัดตามความเป็นจริงของจิตนี้ว่า จิตนี้ยากนักกับการที่จะไม่มีอารมณ์เสพ อารมณ์เป็นเครื่องอยู่แห่งจิต นั่นคือ สามัญจิต ต้องอาศัยอารมณ์เป็นเครื่องอยู่ แต่ถ้าเป็น วิเสสจิต ก็มีปัญญา มีตัวรู้ เป็นเครื่องอยู่แห่งจิต จิตที่มีปัญญาเป็นเครื่องอาศัย จิตที่มีตัวรู้เป็นเครื่องอยู่ เป็นจิตที่ปราศจากอารมณ์
เพราะเมื่อใดที่มีปัญญา มีตัวรู้ ก็จะเห็นทุกสิ่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ชัดเจน อย่างนี้เรียกว่า เป็นผู้เข้าถึงธรรม เข้าถึงจิตตานุภาพ เข้าถึงอานุภาพแห่งจิต
แต่ถ้ายังมีอารมณ์ สุข-ทุกข์ ปีติ อิ่มเอิบ สงบ แม้กระทั่งคำว่า ‘สงบ’ สงบหรือปีติ-ความอิ่มอกอิ่มใจ ความสุขปลาบปลื้ม บุญหรือบาป ก็แสดงว่า จิตยังต้องอาศัยอารมณ์
พอจิตอาศัยอารมณ์ ก็จะสร้างภพ-แดนเกิด สร้างชาติ-การเกิด สุข-ทุกข์ สุคติภพ ทุคติภพ ก็จะตามมา เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญา มีสัมมาสติ อันพร้อมมูล เขาจะเลือกอยู่กับปัญญา จะเลือกอยู่กับ ท่านผู้รู้ในจิต เรียกว่า ‘จิตรู้’
อยู่กับปัญญานี่ หลายคนจะสงสัยว่า ต้องคิดมั้ย
มันผ่านกระบวนการคิดมาหมดแล้ว เหมือนกับตาเอ๊กซเรย์ที่มีแสงทะลุทะลวง มองอะไรเห็นตามความเป็นจริงไปหมดโดยไม่ต้องคิดแล้ว เรียกว่า ถึงคำว่า ท่านผู้รู้ แล้ว รู้ชัดแล้ว ตื่นแล้ว เบิกบานแล้ว เข้าใจล่ะ ไม่ต้องคิดแล้ว เรียกว่า มีตา คือปัญญาแจ่มชัด เรียกว่า “ธรรมจักษุ” เกิดขึ้นแล้ว เห็นชัดตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ต้องผ่านกระบวนการคิดแล้ว นั่นคือ เครื่องอยู่แห่งจิตของท่านผู้รู้ เป็นวิเสสจิต
ถ้าจะเทียบกับอาการของจิต ๑๐ อย่าง
จิตที่มีปัญญา รู้แจ่มชัด เป็น ‘มโนวิญญาณธาตุ’ คือ รู้ทั้งธาตุ รู้ทั้งวิญญาณ รู้ทั้งสภาวธรรม รู้ทั้งสิ่งที่ประกอบขึ้น ตั้งอยู่ และก็แปรปรวน แตกสลาย เรียกจิตนั้นว่า “ มโนวิญญาณธาตุ” เรียกว่า ‘รู้ทุกเรื่อง’ เป็นจิตของท่านผู้รู้พร้อมมูลโดยไม่มีอารมณ์เป็นเครื่องอยู่
ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า จิตเราจะต้องอาศัยอารมณ์เป็นเครื่องอยู่ตลอด แล้วอารมณ์ที่เราอยู่อาศัย ก็ไม่ปลอดภัย ไม่แน่นอน ไม่มั่นคง มันสร้างให้เกิดสุข-ทุกข์ ไม่สูขไม่ทุกข์ เฉยๆ หรือไม่ก็ ทุรนทุราย บีบคั้น เดือดร้อน อึดอัด ขัดเคือง ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ ง่วงเหงาหาวนอน เหล่านี้เขาเรียก สามัญจิต ยังเป็นจิตที่ไม่พ้นจากวัฏฏะ เป็นจิตที่ถูกครอบ ถูกงำ ถูกอำพราง ทำให้เกิดความหวาดระแวงสงสัย ไม่รู้แจ้งชัดตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ต้องแยกจิตออกจากอารมณ์ สัมมาสติ เมื่อเกิดมันจะทำให้เห็นจิตชัด เห็นกายชัด เห็นเวทนาชัด และเห็นธรรมชัด
ฝึก.. มันจะชัดได้ก็ต่อเมื่อ ต้องทำบ่อยๆ ทำจนเป็นนิสัย เป็นสันดาน เป็นอาจิณ เป็นวสี ท่านว่าไว้ว่า เป็นวสี
ที่นี้ เรามาอยู่กับลมหายใจซิ ..หายใจเข้าอยู่ หรือ หายใจออกอยู่
-หายใจเข้า ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข
-หายใจออก ภาวาว่า สัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์
ยกมือไหว้พระกรรมฐาน กราบพระ
-พระพุทธเจ้าทรงพระคุณอันประเสริฐ เป็นที่พึ่งอันเลิศของข้าพเจ้า (กราบ)
-พระธรรมทรงพระคุณอันประเสริญ เป็นที่พึ่งอันเลิศของข้าพเจ้า (กราบ)
-พระโพธิสัตว์เจ้าทรงพระคุณอันประเสริญ เป็นที่พึ่งอันเลิศของข้าพเจ้า (กราบ)
-พระสงฆเจ้าทรงพระคุณอันประเสริญ เป็นที่พึ่งอันเลิศของข้าพเจ้า (กราบ)
-ที่พึ่งอื่นใดในโลก ข้าพเจ้าไม่มี ด้วยเดชแห่ง พระพุทธ พระธรรม พระโพธิสัตว์เจ้า และพระสงฆ์ทั้งปวง ข้าพเจ้าผูกความรักษา ขอความผาสุกสวัสดี จงมีแด่ข้าพเจ้า (กราบ)
-สาธุ วันทาคุณบิดา มารดา (กราบ)
-สาธุวันทา คุณครูบาอาจารย์ (กราบ)
-----------
หลวงปู่อธิบายเพิ่มเติม :
จิตนี้โดยปกติ ต้องอาศัยอารมณ์เป็นเครื่องอยู่ อารมณ์ก็แยกออกเป็น อารมณ์ในฝ่ายกุศล อารมณ์ในฝ่ายอกุศล และก็อัพยากตอารมณ์
อัพยากต นี่ก็ประกอบไปด้วยทั้งฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศลด้วย
-ฝ่ายกุศลก็คือ วางเฉยต่อสังขารทั้งปวง ก็เป็นอัพยากตอารมณ์
-ฝ่ายอกุศล ขี้เกียจสันหลังยาว ก็เป็นอัพยากตอารมณ์ นี่เป็นฝ่ายอกุศล เบื่อหน่ายแล้ว ไม่อยากทำอะไรแล้ว อย่างนี้เป็นอารมณ์มั้ย (เป็น) เขาเรียกอารมณ์สันหลังยาว อารมณ์สันหลังยาวก็จัดว่าเป็นอารมณ์เฉยๆ เป็นอัพยากตอารมณ์เหมือนกัน แต่มันเป็นฝ่ายอกุศล
อารมณ์ที่เป็นอัพยากตในส่วนที่เป็นกุศล ก็เห็นสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง แล้วก็เกิดนิพพิทาญาณ คือความเบื่อหน่าย วางอุเบกขารมณ์อย่างนี้
ส่วนอารมณ์ที่เป็นฝ่ายอกุศล ก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะเข้าใจกันอยู่แล้วเป็นปกติ อารมณ์ในฝ่ายอกุศลก็เสพอยู่เนืองนิตย์ ๒๔ ชั่วโมงจิตนี้อาศัยกุศลอยู่ หรืออกุศลอยู่ ส่วนใหญ่เป็นอกุศล ส่วนใหญ่อาศัยอกุศลอยู่
ที่จริงเรื่องจะให้มันมีกุศลหรือมีอกุศล ไม่ยากหรอกลูก ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้า ก็แค่ทำให้เกิดสัมมาสติ มีสติในกาย มีสติในเวทนา มีสติในจิต มีสติในธรรม ก็เป็นสัมมาสติ ก็เป็นอารมณ์ฝ่ายกุศลล่ะ
ผู้มีธรรมเป็นเครื่องอาศัย ไม่อาศัยอารมณ์เป็นเครื่องอาศัย
มีสติในกาย ก็ยังเป็นอารมณ์อยู่ มีสติในกาย เป็นอารมณ์มั้ย? ยังเป็นอารมณ์อยู่
แต่ถ้าไม่ใช่กาย ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่จิต ไม่ใช่ธรรม แต่เป็นปัญญา ถ้าเป็นปัญญา แล้วมีแต่ ตัวรู้ เป็นอารมณ์มั้ย? ไม่เป็น เขาถึงเรียกว่า วิเสสจิต เรียกจิตชนิดนี้ว่า มโนวิญญาณธาตุ เป็นอาการที่ ๑๐ แห่งจิต ๑๐ อย่าง มีแต่สภาวะที่เห็นตามความเป็นจริง ไม่มีอารมณ์ มี ตัวรู้ กับ ปัญญา เฉยๆ เหมือนกับแสงเอกซเรย์ มองทุกอย่างกระจ่างชัดไปหมด ไม่ติดเนื้อ ไม่ติดหนัง ไม่ติดสมมติ แต่เป็นปรมัตถ์ทุกเรื่อง อย่างนี้คือ ผู้ลุถึงปัญญา คือ สภาวะจิตแบบนี้ เป็นสภาวะจิตที่ไม่ต้องอาศัยอารมณ์ ไม่ต้องการอารมณ์ ไม่ต้องมีอารมณ์ จึงจะเรียกว่าเป็น ผู้อยู่โดยมีธรรมเป็นเครื่องอาศัย ไม่ใช่อาศัยอารมณ์เป็นเครื่องอาศัย เป็นเครื่องอยู่ มีธรรมเป็นเครื่องอาศัย และธรรมนั้น ก็คือ ธรรมแห่งความเป็นจริง..อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เห็นทุกอย่างเป็นสภาวธรรมไปหมด ถ้าอย่างนี้ ความทุกข์เข้าใกล้ได้มั้ย ทุกข์ไม่มี ความทุกข์ก็ไม่เกิด ความหวาดระแวง คลางแคลง สงสัย อึดอัด ขัดเคือง ว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญใดๆ ก็ไม่เกิด เพราะเห็นตามความจริงไปหมด
เมื่อเห็นตามความเป็นจริง ผู้มีทุกข์ไม่มีอยู่จริง ผู้รับทุกข์ไม่มีอยู่จริง แม้นความทุกข์มีอยู่ประจำโลก แต่ผู้รับทุกข์ไม่มีอยู่จริง ก็จบ ไม่ต้องไปคิดอะไรเยอะ ไม่ซับซ้อน
แต่ทีนี้ จะถึงตรงนี้ได้ ก็อย่างที่บอกว่า เราจะต้องทำให้เกิด สัมมาสติ อยู่ต่อเนื่อง เนืองๆ นานๆ ยาวนาน
สัมมาสติ คือ มีสติในกาย มีสติในเวทนา มีสติในจิต และก็ มีสติในธรรม ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า
มีสติในกาย กายนี้ไม่ลำบาก...มีสติในวาจา วาจานี้ไม่ลำบาก...
มีสติในใจ ใจนี้ก็ไม่ลำบากเลย
มันจะไม่ลำบากก็ต่อเมื่อ เราต้องรู้เห็นตามความเป็นจริงแจ่มชัด มองทะลุทะลวงเหมือนกับแสงเอ๊กซเรย์ที่มองอะไรไม่ติดเนื้อ ติดหนัง ไม่ติดอยู่ในโลกแห่งสมมติ เป็นความเป็นจริง ก็คือ เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด
ฉะนั้น การจะทำให้ได้อย่างนี้ ไม่ได้ทำยาก ลูก ว่ากันจริงๆ แล้วไม่ได้ทำยาก ถ้าฝึกบ่อยๆ ศึกษาบ่อยๆ สั่งสมอบรมบ่อยๆ พูดง่ายๆ อยู่กับตัวเองบ่อยๆ อยู่กับตัวเองอย่างคุ้นเคย ช่ำชอง เชี่ยวชาญ ชำนาญ อย่าไปอยู่กับอารมณ์ อย่าไปอยู่กับอารมณ์ที่ออกนอกตัวเอง
ที่จริง ตัวเอง ก็เป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง นะลูก อยู่กับตัวเอง อยู่ในกาย อยู่ในเวทนา อยู่ในจิต อยู่ในธรรม ก็ยังเป็นอารมณ์อยู่ดี แต่เป็นอารมณ์ที่เราควบคุมได้ บังคับบัญชาได้ เป็นอารมณ์ที่เราเลือกที่จะอยู่ ไม่ใช่ถูกบังคับให้อยู่ หรืออยู่แบบไม่รู้สึก ไม่รู้เนื้อรู้ตัว อยู่แบบชนิดที่เรา เพลี่ยงพล้ำ เผลอไผล อยู่แบบโดนครอบ โดนฉุดกระชากลากไป ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ได้ แสดงว่า เราตกเป็นทาสแห่งอารมณ์
การงานภายนอก การงานภายใน
ดังนั้นถ้าคิดจะอยู่ ก็อยู่แบบชนิดที่เลือกที่จะอยู่ เหมือนอย่างที่บอกว่า ถ้ารู้ว่าจิตนี้สัดส่ายเยอะแยะวุ่นวาย ฟุ้งซ่านนัก ก็หางานให้มันทำ เหมือนกับเมื่อเช้าไอ้เฉาก๊วยเขามาเยี่ยม เขาก็บอก หลวงปู่อายุเยอะแล้วทำไมทำงานมากเหลือเกิน เขาถามว่า เมื่อคืนตื่นกี่โมง ทำไมดู รู้สึกเนือยๆ ความดันฯ ไม่ค่อยดี..บอกเมื่อคืนตื่นตี ๒... ตี ๒ ทำอะไร ตื่นมาทำไม...ก็ทำงานสิ กูไม่เคยมีตกงาน บอกกับมันอย่างนั้นว่า หลวงปู่เป็นคนไม่เคยตกงาน ไม่ทำงานภายนอก ก็ต้องทำงานภายใน ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วไม่มีงาน ถ้าไม่มีงาน เฉยๆ ก็คือ ไม่หายใจ
เพราะฉะนั้น ชีวิตต้องมีงาน ไม่ทำงานภายนอก ก็ต้องทำงานภายใน
งานภายนอก คืออะไร ก็งานทุกเรื่องที่เป็นเรื่องราวของร่างกายที่ทำได้
ส่วนงานภายใน ก็เป็นทุกเรื่องที่จิตเราจะรับรู้ได้ แล้วก็เฝ้าระวังรักษา มีสติในกาย มีสติในเวทนา มีสติในจิต มีสติในธรรม และก็อยู่กับปัญญา ต้องเป็นขั้นเป็นตอน นะลูก ไม่ใช่อยู่ดีๆ กระโดดข้ามไปอยู่กับปัญญา..ไม่ใช่
ไปอยู่กับปัญญา ไปอยู่กับกับตัวรู้ โดยไร้อารมณ์ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เป็นได้นะ ..ต้องผ่านกระบวนการฝึกปรือ แล้วก็รู้จักอิ่ม เขาพูดถึงอาจารย์เขาว่า อาจารย์เขาไม่เห็นเหมือนหลวงปู่เลย ไม่ต้องบอกว่า อาจารย์เขาคือใคร
หลวงปู่นี่ตื่นดึก ทำงานมาก ฉันน้อย..ก็มันอิ่มไง อายุมากเข้า กินก็รู้ว่าอิ่มแค่ไหน..นอนก็รู้ว่าอิ่มแค่ไหน ที่เหลือนอกนั้นก็อย่าผลาญมันทิ้งในเวลาที่ไม่เป็นสาระ..ใช้เวลาให้เป็นสาระ เป็นประโยชน์สูงสุด ก็ทำทั้งการงานภายนอก และการงานภายใน
เขาก็ถาม แล้วทำงานภายในเสร็จ แล้วเวลายังเหลือ ทำอะไร ก็ออกมาทำงานภายนอก ทำอะไรดึกๆ ดื่นๆ กูก็เขียนแบงค์ จารพระ อะไรของกูเรื่อยเปื่อยไป เขียนหนังสือ อย่าให้มันว่าง
ถามว่า อาจารย์คนอื่นๆ เขามีแต่สอนให้ว่าง แล้วหลวงปู่ไม่ว่าง ไอ้ที่ต้องสอนให้ว่าง เพราะพวกนั้นหนักเลยจะต้องหาความว่าง แต่หลวงปู่ไม่ได้เป็นคนทำงานด้วยความหนัก มันทำงานด้วยความเบา ก็เลยไม่จำเป็นต้องว่าง เพราะถ้าทำงานด้วยความเบาสบาย กลายเป็นงานไม่ใช่ภาระ
พูดเข้าใจมั้ย ทำงานโดยไม่ใช่ภาระ ถ้าเมื่อใดที่เราทำงานเป็นภาระ จะหนักมั้ย..หนักมาก
ทำงานโดยไม่ใช่ภาระ
หลวงปู่ไม่เคยคิดว่า การงานเป็นภาระทำงานภายนอกก็ไม่เป็นภาระ ทำงานภายในก็ไม่เป็นภาระ เพราะฉะนั้น จึงทำได้ทุกเรื่อง ทำได้หลายๆ เรื่อง เพราะว่า เราไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เพราะเมื่อ มีชีวิต มีลมหายใจ ได้พลัง ก็สร้างสรรค์สาระหรือการงาน หมดชีวิต สิ้นลมหายใจ ไร้พลัง ก็ยังมีสาระ มีผลงาน อันนั้นต่างหากเล่า คือ แก่นแท้ของการมีชีวิต
ถ้าทำความเข้าใจในบทบาท ภาระหน้าที่ของการมีชีวิต ก็จะรู้ว่า แค่ไหน เราควรจะต้องทำอะไรในเวลาใด อย่าเผาเวลา เผาชีวิตให้หมดไปกับกิน กาม เกียรติ โกรธ แสวงหาของที่โปรด แล้วสุดท้าย ตัวเอง ถึงเวลาใกล้ตาย..ไอ้นู่นก็ยังไม่ทำ ไอ้นี่ก็ยังไมทำ ไอ้นู่นก็ยังไม่เสร็จ ไอ้นี่ก็ยังคั่งค้าง ไอ้นู่นก็คารังคาซัง..ตายล่ะกู..กังวล วิตก ทุรนทุราย ทุกข์ทรมาน กลัดกลุ้ม ร้อนรุ่ม ว้าวุ่น อึดอัด ขัดเคือง ทุคติภพถามหา เรียกว่า เป็นผู้มีกายอันไม่ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อกายไม่ศักดิ์สิทธิ์ กายนี้ไม่สำเร็จประโยชน์ได้ เกิดมาได้กาย ไม่ใช้อัตภาพกายให้สมบูรณ์ พูดง่ายๆ ก็เรียกว่า กายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ก็คือ ไม่ให้ประโยชน์
เมื่อกายไม่ศักดิ์สิทธิ์ จิตจะศักดิ์สิทธิ์ก็คงไม่ได้ จิตไม่ศักดิ์สิทธิ์ พอถึงเวลา จิตสุดท้าย ก็เลยเป็นจิตวิปลาศ วิปริต เพราะจิตไม่ได้ให้ประโยชน์ จิตไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะไม่ได้เสพธรรมะอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้ศึกษา สั่งสม อบรมธรรมะอันศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า ไม่เห็นสาระของการมีชีวิต
ฉะนั้น ชีวิตหลวงปู่ไม่เคยนิ่ง ถามพวกเณร พวกใครก็ได้ หลวงปู่เป็นคนไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่เคยนิ่ง เพราะไม่ได้เสพติด “ความนิ่ง” เป็นอารมณ์ เสพติด “การงาน” เป็นอารมณ์
ชีวิตคือการงาน การงานคือ เครื่องเสริมสร้างบุคลิกภาพและความสำเร็จ เขียนเอาไว้เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว เรื่อง ชีวิตและการงานเพื่อความเบิกบาน เคยฟังมั้ย นั่นแหละคือ ชีวิตหลวงปู่แหละ ชีวิตและการงานเพื่อความเบิกบาน รู้จักที่จะศึกษา สั่งสม อบรม และทำความเข้าใจกับชีวิต แล้วเราจะรู้ว่าชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าในทุกหยาดหยดทุกลมหายใจ ทำให้มันมีคุณค่า ทำคุณประโยชน์จากจิตที่มีคุณธรรม ชีวิตก็จะกลายเป็นสิ่งที่มีคุณภาพ...สังคม สิ่งแวดล้อม ก็มีคุณภาพ
อย่าไปมองว่า ธรรมะ คือเรื่องที่ต้องหลุดโลก และไม่ต้องยุ่งกับโลกเลย
อย่ามองอย่างนั้น ถ้าเมื่อใดที่เรามองอย่างนั้น พระพุทธเจ้าคงไม่ต้องมาสอนธรรมะ พระองค์ทรงสอนธรรมะในโลกนี้ และก็ทรงสอนให้คนอยู่ในโลกนี้อย่างเป็นผู้เข้าใจรู้จักตามความเป็นจริงอย่าไปมองว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่หลุดโลก และก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับโลก นั่นไม่ใช่ล่ะ ไม่ใช่วิธีคิดที่พระพุทธเจ้าทรงคิดในการเผยแพร่พุทธธรรม ไม่อย่างนั้นพระองค์คงจะไม่สั่งพระสาวกที่บรรลุธรรมใหม่ๆ ๖๐ กว่ารูปว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงไปสู่คามนิคมชนบท ...” ไม่ได้บอกว่าไปสู่เรือนว่าง ไม่ได้บอกไปสู่ป่าสู่รก
เธอจงไปสู่คามนิคมชนบท ก็คือไปสู่ในเมือง ไปสู่ในบ้าน ไปสู่ในเรือน ไปบอกกล่าวสิ่งที่เป็นมงคลแก่เขา ไปสอนให้เขามีชีวิตอย่างเป็นผู้รู้ เข้าใจ เรียกว่า เผยแพร่พุทธธรรม
เขาจะได้พัฒนาชีวิตตัวเองจากที่ ไม่มีก็ให้กลายเป็นมี ไม่รู้ก็ให้กลายเป็นรู้ ไม่ถูกก็ให้กลายเป็นถูก จากผิดมาเป็นถูก แล้วถูกมาก ก็พัฒนาจนกระทั่งไม่ติดในความถูกนั้นอย่างนี้เป็นต้น
นี่คือ กระบวนการที่พระพุทธเจ้าทรงอบรมสั่งสอนพระสาวกให้เผยแพร่พุทธธรรม
การศึกษาปรมัตถธรรม ก็ไม่ต่างอะไรกับดอกบัวที่เกิดจากโคลนตม
อย่าไปมองว่าผู้ศึกษาธรรมะแม้แต่พวกเราซึ่งเรียนรู้ขั้นปรมัตถ์ วิถีจิตนี่เป็นปรมัตถ์ เพราะว่า พระพุทธเจ้าบอกว่า ปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน
เราเรียนรู้ศึกษาเรื่อง จิต
เรื่องเจตสิก คือเครื่องปรุงจิต คืออารมณ์ที่ปรุงจิต
รูป ก็คือ สภาวะที่ปรุงแต่งขึ้นจากธาตุทั้ง ๔ เรียกว่า มหาภูตรูป ก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างนี้ ลักษณะแบบนี้ ที่นั่งอย่างนี้ เรียกว่า รูป อันประกอบไปด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ
นิพพาน คือ สภาวะที่ว่าง ดับ เย็น
เมื่อศึกษาสิ่งเหล่านี้ ก็จัดว่าเป็น ปรมัตถธรรม แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า การศึกษาปรมัตถธรรม ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับดอกบัวที่เกิดจากโคลนตม ถ้าปฏิเสธซึ่งโคลนตมเสียแล้ว จะมีดอกบัวขึ้นได้มั้ย
ดอกบัวเคยขึ้นกับปูนซีเมนต์กับก้อนหินมั้ย มันขึ้นไม่ได้
ดังนั้น มันต้องพัฒนามาจากโคลนตมฉันใด ปรมัตถธรรมก็ได้มาจากสมมติบัญญัติฉันนั้น
ฉะนั้น ต้องทำสมมติ ไล่พัฒนาจากสมมติ จนเข้าไปสู่คำว่า ปรมัตถ์สัจจะ
ฉะนั้น มีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันก็สามารถจะเรียนรู้ศึกษาปรมัตถ์ได้ ทำชีวิตให้เป็นปรมัตถ์ได้ เข้าใจรู้จักตามความเป็นจริงได้ เราทำทุกอย่างแหละแต่เราไม่ได้เป็นเจ้าของสักอย่าง อย่างนั้น เขาเรียกว่า ผู้รู้จักปรมัตถ์ แต่ถ้าทำทุกอย่างแล้วของกูหมด ใช่ปรมัตถ์มั้ย..โดนจับมัดน่ะสิ ..มันโดนจับมัด
เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะให้เข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอน พระองค์ทรงสอนอะไร แล้วทรงต้องการให้ประชาชน หรือผู้คน เวไนยนิกรของพระองค์ หรือผู้ศึกษาพระธรรมของพระองค์ได้เข้าถึงอะไร ได้นำเอาธรรมะมาบริหารจัดการการชีวิตได้แบบไหนอย่างไร
พวกเราชอบเรียนรู้ ศึกษาพระธรรมแบบเข้าใจว่า คนเรียนรู้ศึกษาพระธรรมนั้น เหมือนกับที่เราเคยเข้าใจกันว่า มาวัดสิ่งที่ได้ต้องสงบสบายใจ สงบแล้วก็สบายใจ
ถามว่าผิดมั้ย? ไม่ได้ผิดหรอกลูก
ความสงบความสบายใจไม่ใช่เรื่องผิด แต่พัฒนามั้ยล่ะ
ไปวัดแล้วสบายใจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องมีสติปัญญา-รู้แจ้งชัดตามความเป็นจริง
หลวงปู่ได้ยินมาตั้งแต่ครั้งย่าทวด แล้วก็ยายย่า แล้วก็มาถึงพ่อแม่ ก็ได้ยินคำว่าไปวัดทำไม? โอ๊ย ไปวัดนี้แล้วสบายใจ ไปวัดนี้แล้วก็สงบใจ วัดสงบเงียบ สบายอก-สบายใจ ก็ได้แค่นั้น แต่ไม่พัฒนาขึ้น ไม่มีปัญญา ไม่มีเอกลักษณ์ สัญลักษณ์ ความหมายของคำว่า พุทธบริษัท ไม่รู้อยู่ตรงไหน รู้แต่ว่า ความสงบและสบายใจ
ไปวัด ก็คือไปเสพอารมณ์สงบและสบายใจ ให้ได้อารมณ์สงบและสบายใจ กลับมา เท่านั้นพอแล้วเราก็เป็นอย่างนี้กันมาเป็นร้อยๆ ปี
ดังนั้น ผู้ที่จะหลุดพ้นจากคำว่า “อารมณ์สงบและสบายใจ” มาถึงคำว่า “ปัญญา รู้แจ้งชัดตามความเป็นจริง” จึงเหมือนกับคำที่เขาบอกว่า หนวดเต่า เขากระต่าย หนวดเต่า มีมั้ย (ไม่มี) เขากระต่าย มีมั้ย (ไม่มี) หายากมาก หาได้ยากเหมือนกับเขาโคกับขนโค ถ้าจะมีก็มีน้อยมาก วัวตัวหนึ่งมีแค่ ๒ เขา หรือไม่ก็เขาเดียว แต่ที่เหลือนอกนั้นมีแต่ขนกับหนังเยอะมาก
เพราะฉะนั้น เราไปวัดเราต้องการเขาโคหรือขนโค? (เขาโค)
เราต้องการ ปัญญา รู้ชัดตามความเป็นจริง ดังนั้นปัญญา จึงเป็นสิ่งจำเป็น
เพราะมีปัญญา จึงเห็นทุกข์
เพราะมีปัญญา จึงเห็นเหตุเกิดทุกข์
เพราะมีปัญญา จึงรู้ว่า ทางดับทุกข์นั้นมีอยู่
และเพราะมีปัญญา จึงรู้และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติแห่งทุกข์ดับนั้นได้จริง
ฉะนั้นพุทธศาสนา พุทธบริษัท ต้องปัญญาอย่างเดียว
ไม่ใช่ความสงบกับความสบายใจ นั่นคือ เสพอารมณ์
-พอจิตนี้มีอารมณ์เป็นเครื่องอยู่ คือ ความสงบ ความสบายใจ มีภพเกิดขึ้นมั้ย (มี)
-เป็นสุคติหรือทุคติ (สุคติ) สุคติภพ เราก็จะสุคติภพอยู่ตลอด ก็ดี มันก็ดี ทำให้ได้ไปช่วยกันเก็บดาวบนสวรรค์ แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกนี้เวลาจะเสพสุคติภพอยู่เนืองๆ มันจะเสพขณะหนึ่งๆ แต่จิตที่เสพขณะหนึ่งๆ มันไม่ได้ต่อเนื่องจีรังยั่งยืน ด้วยเหตุผลว่าอารมณ์ที่เป็นกุศล เรามีเฉพาะแค่เข้าวัด แล้วตอนออกจากวัดล่ะ ก็เป็นอกุศลไปเสียแล้ว
ทั้งอารมณ์กุศลก็ตาม ทั้งอกุศลก็ตาม ถ้าอยู่ในมรรคาปฏิปทาข้อว่า “สัมมาสติ” มีมั้ย มีสัมมาสติมั้ย ไม่มีเลยนะ
ไปวัดสบายใจ-สงบใจ สบายและก็สงบใจ ถ้าเสพอารมณ์นั้นอยู่ ก็ตกเป็นทาสของอารมณ์แต่ไม่มีสติ ถามว่าเพราะอะไร ก็เพราะเมื่อสติเกิดขึ้น มันจะหักห้ามอารมณ์ แสดงว่า เราไปเสพอารมณ์ แต่ไม่ได้เสพสติ
ผู้ที่มีสติ จะไม่เสพอารมณ์ แม้อารมณ์กุศลก็ไม่ใช่สัมมาสติ
แม้อารมณ์กุศลก็ไม่ใช่สัมมาสติอยู่ดีแหละ แม้จะบอกว่าเป็นอารมณ์กุศลนะ จะไม่เรียกว่า สัมมาสติหรือ?
พิจารณา : มีสติในกาย มีสติในเวทนา มีสติในจิต และมีสติในธรรม
-คำว่า “มีสติในกาย” มันมีคำว่า อารมณ์ กับ บาป บุญมั้ย (ไม่มี)
-สติในเวทนา เวทนาเป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง สุข-ทุกข์ ไม่สุข-ไม่ทุกข์ ทีนี้เมื่อเสพอารมณ์สุขเข้าไปแล้วสติจะเกิดมั้ย เสพอารมณ์สุขแล้วมีสติมั้ย มีอยู่ลูก แต่มีน้อยมาก สุขวางอยู่ข้างหน้า หยิบใส่ปากดู..จับมันเสพดูแล้วก็จะรู้ว่าขณะที่เสพ มันมีสติเกิดตรงไหนล่ะ เพราะจิตเราจะรับอารมณ์ได้อย่างเดียว ขณะที่จิตหนึ่งเสพอารมณ์ สติก็ตายแล้ว
-จิต มีเจตสิกคือเครื่องปรุง ได้แค่หนึ่งๆ เท่านั้น..หนึ่งจิตก็คือหนึ่งขณะ..หนึ่งจิตก็คือหนึ่งเจตสิก ขณะที่(จิต) เสพอารมณ์ สติเกิดได้มั้ย ...ไม่ได้ เพราะมัน(จิต)ไปเสพอารมณ์แล้วไง
เพราะฉะนั้น คำว่า “สัมมาสติ” ของพระพุทธเจ้า ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง รู้ว่าเวทนาก็ “สักแต่ว่า เวทนา” ไม่ใช่เสพ แต่เราบอกว่า เราไปวัดแล้วสบายใจ เสพหรือยัง ? เราสงบจิตสงบใจ เสพหรือยัง? ....เสพไปแล้ว แล้วสติ มันจะมาจากไหน
เข้าใจคำว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเสียใหม่ ก็คือ มีสติรู้เวทนา ไม่ใช่ มีสติเสพเวทนาเวทนา ก็สักแต่ว่าเวทนา เพราะเป็นสภาวะที่เกิดแล้ว ตั้งอยู่ ดับไป อย่างนี้เขาเรียกว่า เป็นผู้มีสัมมาสติ มีสติในเวทนา
-มีสติในจิต ก็รู้ว่าจิตนี้มีราคะ มีโทสะ มีโมหะ รู้อยู่ก็สักแต่ว่ารู้ ไม่ได้เอามาเสพเป็นอารมณ์ ว่าต้องมีราคะตาม มีโทสะตาม มีโมหะตาม พอสติมันรู้ โมหะจะเกิดต่อไปได้มั้ย ไม่เกิด
ถามว่า ทำไมไม่เกิด เพราะว่าเมื่อสติครองอยู่กับจิต จิตอยู่กับสติ เจตสิกอื่นจะไม่เกิด
เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ในขณะที่เราเสพอารมณ์สุข สติก็ไม่เกิดเหมือนกัน ในขณะที่เรามีสติ โทสะ โลภะ โมหะ ก็ไม่เกิดเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ไปวัดแล้วบอกสบายใจ เอาสติที่ไหนมา ? สัมมาสติอยู่ตรงไหน ? มันก็ไม่มี เพราะมันมีอารมณ์เสพเสียแล้ว ก็คือความสบายใจ กลับมาก็อิ่มเอิบแช่มชื่นใจ ร้อยปีไปก็ได้อิ่มเอิบ แช่มชื่นใจ อีกชาติหนึ่งไปก็ได้อิ่มเอิบแช่มชื่นใจ
แล้วปัญญา-รู้ชัดตามความเป็นจริง รู้แจ้งเห็นจริงตามสภาพธรรมที่ปรากฏ เรียกว่า ปัญญา หรือว่า ตาเห็นธรรมอยู่ไหน?
ไปวัดต้องได้ตาเห็นธรรม
ไม่ใช่ไปวัดได้ความสบายใจ ให้เข้าใจ ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจอย่างนี้ คำว่าพุทธบริษัท
ถ้าไปวัดต้องได้ตาเห็นธรรม ได้ปัญญาใช้คำว่าแสงเอกซเรย์ กลับมาต้องรู้ชัดตามความเป็นจริง
ถ้าไปวัด แล้วได้แค่ความสบายใจ ไม่มีปัญญาเกิดขึ้นเลย ได้อิ่มใจ ได้สงบใจ เฉยๆ เอ้า ไม่ใช่แล้วล่ะ ก็ได้ยินตั้งแต่ย่าทวดไปวัดสบายใจ ไปวัดสบายใจ กลับมาเหมือนเดิมอีก เหมือนเดิมมั้ยเหมือนเดิม..โง่เหมือนเดิม ไม่มีพัฒนาการ ต้องแยกให้ชัด ลูก
คำว่า สัมมาสติ สัมมาสติไม่มีเสพอารมณ์ รู้อารมณ์ แต่ไม่เสพอารมณ์
เมื่อใดที่เราไปเสพอารมณ์ แม้กระทั่งคำว่า ปีติ สุข ปัสสัทธิ-ความสงบระงับ พระพุทธเจ้ายังบอกว่า นั่นเป็นอุปกิเลส แล้วมีข้อหนึ่งในวิปัสสนูปกิเลส ก็คือ นิกันติ การเสพติดในอารมณ์ เป็นข้อที่ร้ายที่สุด..เสพติดอารมณ์สุข..เสพติดอารมณ์สงบ..เสพติดอารมณ์ปีติ เป็นวิปัสสนูปกิเลส เรียกว่า เป็นเครื่องกั้นปัญญา ไม่มีพัฒนาการใดๆ
ฉะนั้นไปวัดต้องฉลาดอย่างเดียว ต้องไม่โง่ ต้องฉลาด ต้องรู้ชัดตามความเป็นจริงอย่างเดียวปฏิบัติธรรม ก็ต้องฉลาดอย่างเดียว ต้องรู้ชัดตามความเป็นจริงอย่างเดียว ศึกษาพระธรรม ก็ต้องฉลาดอย่างเดียว ต้องรู้ชัดตามความเป็นจริงอย่างเดียว
เว้นเสียแต่ว่า เออ วันนี้ เรารู้สึกเหนื่อยๆ เนือยๆ เอาสงบเสียหน่อยวะ เสพติดอารมณ์สงบสักนิดหนึ่ง อารมณ์สงบ มันก็เป็นสภาวะที่ปรุงแต่งจิตไม่ให้เป็นโรคร้ายมากไปกว่าเดิม แต่การเสพติดอารมณ์สงบ ก็เป็นโรคอย่างหนึ่งเหมือนกันนะ แต่เป็นการเสพติดอารมณ์ที่สามารถเยียวยา รักษาได้
ซึ่งต่างจากการเสพติดอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง ที่มันทุรนทุราย แสดงอาการทำให้ร่างกายเรา พิกลพิการ วิปริต วิปลาส ความดันขึ้น ความร้อนมาก สีหน้า แววตา วิตก กังวล อาการทุรนทุราย พฤติกรรม อากัปกิริยา ร่างกายไม่ปรกติ มันแสดงอาการออกทางกายให้เห็น ซึ่งจะแตกต่างจากการเสพติดอารมณ์สงบ มันทำให้ผ่อนคลายโปร่งเบาสบาย คนจึงชอบไง สำนักสมถะทั้งหลาย ที่สอนแต่สมาธิคนจึงชอบเข้าไป เพราะว่ามันเสพติดอารมณ์ให้สงบไง พอสงบแล้วสบาย เพราะทั้งวันทั้งปีมันวุ่นวายมาตลอด เอาวะ..เข้าวัด สงบซะที สงบจิตสงบใจ ..ใช้คำว่าเข้าวัดสงบจิตสงบใจ
สงบจิตสงบใจ เสพติดอารมณ์มั้ย (เสพติด) มีภพมั้ย (มี) มีชาติมั้ย (มี) มีภพชาติ เป็นผู้สร้างภพ สร้างชาติ เพิ่มขึ้น
พระพุทธเจ้า ทรงสอนให้ปฏิบัติธรรม เพื่อไม่ต้องการให้เกิดวัฏฏะ
ตัดวงจรของวัฏฏะ ไม่ต้องการให้เกิดภพ เกิดชาติ..ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องการให้เกิดภพ เกิดชาติ เพราะฉะนั้น ไอ้ที่บอกว่า เจ้าประคูณ ขอให้เกิดชาติหน้าฉันใด เป็นนู่นนี่นั่น มีภพ มีชาติมั้ย (มี) เป็นมิจฉาทิฐิ หรือ สัมมาทิฐิ (มิจฉาทิฐิ)
นี่เราพูดถึงปรมัตถธรรม พูดถึงธรรมแท้ๆ นะ ไม่ใช่ธรรมตอแหลนะ ขออภัย ..อ้าว จริงๆ ปรมัตถธรรม หรือ ธรรมแท้ๆ ไม่ใช่ธรรมตอแหลที่ไม่ต้องอะไรเยอะแยะ ไม่มีอะไรเลย
ธรรมพระพุทธเจ้า ไม่ได้มีอะไรเลย คือ ไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร ไม่เหลืออะไร
นั่นคือ ธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมของผู้สิ้นหวัง ไม่ใช่ธรรมของผู้ที่มีความมุ่งหวังไม่ได้มุ่งหวังว่า ภพชาติต่อๆ ไป กูจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ธรรมของพระพุทธเจ้า
ถ้าหากว่า เป็นธรรมของพระโพธิสัตว์เจ้า อันนั้น เป็นธรรมของผู้มุ่งหวัง หวังว่า ชาติต่อไป เราจะเกิดมา เราจะต้องสั่งสมอบรมบารมีธรรม เพื่อให้แก่กล้า มีปัญญา มีสติ มีสมาธิ รุ่งเรือง เป็นที่พึ่งพาอาศัยของสรรพสัตว์ ไอ้นั่นก็ว่ากัน เพราะเป็นผู้ที่ไม่ต้องการที่จะพ้นจากวัฏฏะในปัจจุบัน ทีนี้ถ้าเราจะบอกว่าเอาแบบคำสอนของหินยาน หินยานที่ประเทศไทยกำลังรับกันอยู่ และรับกันมาเนิ่นนานเป็นร้อยๆ ปี ไม่มีอะไรเยอะ ไม่มีอะไรมาก ก็นี่แหละเขาต้องสอนแบบนี้แหละ คือ สอนให้มีปัญญา แต่ถ้าสอนแบบมหายาน อันนั้นคือต้อง “มุ่งหวัง” ต้อง “ต้องการ”
เพราะฉะนั้น เรานี่หัวมงกุฎท้ายมังกรมาตลอดเวลา..บัดเดี๋ยวก็เป็นหินยาน บัดเดี๋ยวก็เป็นมหายาน วันที่ ๑๖ เป็นมหายานขึ้นมาทันทีเลย เจ้าประคูณ ขอให้งวดนี้โดนสักทีเถอะน่ะ เห็นมั้ย นี่คือประเทศไทย นี่คือพุทธบริษัทไทยจ๋าไง บัดเดี๋ยวใจก็เป็นหินยาน โอ้..อยากจะมีธรรมอันรุ่งเรือง เจริญ ธรรมล้วนๆ ไม่เอาอะไรเลย แต่ก็ไม่วายที่จะไปเสพติดอารมณ์สงบ เข้าสมาธิ ไปป่า ไปหาครูบาอาจารย์สายป่า นั่งสงบเสพติดอารมณ์ วันนี้เป็นสุข สรุปแล้วเป็นหินยาน หรือมหายาน ก็เสพติดอารมณ์เข้าไปแล้ว ก็เป็นมหายานไปแล้ว มุ่งหวังความสุข สงบไง แล้วตรงไหนล่ะ คือหินยาน เพราะหินยาน นี่ปัญญาล้วนๆ นะ
หินยาน คือ ความพ้นจากวัฏฏะ มหายาน คือ ปรารถนา
มันตัดวงจรของวัฏฏะตลอดเวลา ตัดชาติ ตัดภพ ตัดชรา ตัดมรณะ ตัดพยาธิ ตลอดนะ แต่บัดเดี๋ยว เอาล่ะใจก็เสพติดอารมณ์ แหม ไปวัดนู้นครูบาอาจารย์เคร่งครัด ไปวัดนี้ท่านสอนเคร่งครัด แต่สุดท้ายก็บัดเดี๋ยวใจก็เป็นมหายานขึ้นมาอีกแล้ว โอ มีความสุข ปีติ อิ่มอกอิ่มใจ เสพติดอารมณ์เข้าไปอีกแล้ว รวมความแล้วจะเอาอะไรกันแน่ล่ะประเทศไทย เดี๋ยวก็หินยาน เดี๋ยวก็มหายาน งงไปหมด สอนไม่ถูกเลย สอนไม่ถูก
ทำตัวเหมือนกับหินยานแต่คำสอนเหมือนกับมหายาน ทำตัวเป็นมหายานแต่สอนเป็นหินยานอะไรก็ไม่รู้ มั่วไปหมด
ถ้าอย่างนั้น หินยานคืออะไร ? หินยานคือ “ปัญญา” มหายานคือ “หวังว่า” ชัดๆ แค่นี้ “หวังว่า” นั่นคือ มหายาน
หินยาน คำสอนสูงสุด คือ “ปัญญา”
-ปัญญาที่จะมาตัดทอน ชาติ ชรา มรณะ พยาธิ แม้แต่คำว่า อารมณ์ ก็เสพไม่ได้ นั่นคือ หินยาน อารมณ์ก็ไม่ได้ เพราะเสพติดอารมณ์
-เมื่อมีจิตอันพร่องอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ถ้าเป็นอารมณ์สุข ก็เป็น สุคติภพ ถ้าเป็นอารมณ์ทุกข์ ก็เป็นทุคติภพ
-เมื่อมีภพ จิตนั้นเสพติดอารมณ์ เมื่อเสพอารมณ์ มันก็สร้างภพ-แดนเกิด ชาติ-การเกิด ก็ปรากฏโดยไม่ต้องเกิดตายก่อน ก็มีภพแล้วนั่นก็คือเป็นมหายานแล้ว เป็นความมุ่งหวังแล้ว
แล้วเวลาทำบุญสุนทาน อธิษฐานจัง เจ้าประคูณ ขอให้... สรุปแล้วเอาหินยาน หรือเอามหายาน คือหลวงปู่พยายามมองทำความเข้าใจในบริบทของสังคม ในเจตนาของแต่ละคน แล้วเราก็มานั่งวิเคราะห์ใคร่ครวญว่า โอ๊ย..กูสอนมนุษย์วิปลาสอยู่รึนี่ มันเอาทุกอย่าง เอาทุกอย่าง
พอถึงเวลาบอกทุกข์ ทุกข์แต่ไม่เคยปล่อยอะไรเลยสักอย่าง ก็กำเอาไว้หมด ทุกข์ ทุกข์แต่กำไว้หมด กอดด้วย กำ-กอด กำ-กอดแต่ทุกข์ ทุกข์อะไร
จำไว้ว่า ถ้าหินยาน คำสอนสูงสุดคือ ปัญญา แต่ถ้ามหายาน คำสอนสูงสุดคือ ปรารถนา
ปรารถนาให้ได้เป็นนู่น เป็นนี่ เป็นนั่น.. ปรารถนาให้ได้ไปพบพระอมิตาภะ พบพระพุทธเจ้า ไปสู่แดนสุขาวดี มหายานสอนอย่างนี้ แต่หินยาน ไม่มีคำว่าปรารถนา มีแต่ปัญญารู้ชัด แล้วตัดๆ ตัดๆ ตัดๆ จนวัฏฏะไม่เหลือ ไม่มีชาติ ชรา มรณะ พยาธิ ไม่มีภพ มีแต่คำว่า ดับแล้วเย็น ไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร ไม่เหลืออะไร กูตายแน่ หรือ หยิบแล้ววาง วางแล้วว่าง ดับแล้วเย็น นั่นแหละคือ หินยานล้วนๆ
ฉะนั้น ทุกวันนี้เราคนสอนก็มึน
ก่อนจะกลับไปห่มผ้าเหลือง หลวงปู่ยังมานั่งนึกว่า ถ้าทำให้คนไทยมีวิธีมองพระพุทธศาสนา แบบถูกต้องไม่ได้ มันน่าเสียดายผ้าเหลือง
เราไม่ได้เข้าใจบริบทแห่งพระธรรมเลย เราไม่ได้เข้าใจ ไม่เข้าใจพระพุทธเจ้า ไม่เข้าใจพระธรรม ไม่เข้าใจพระสงฆ์ แต่เราอยากเข้าใกล้ แล้วเราก็เข้าใกล้ตลอดเวลา เราบอกว่า เราเข้าใกล้ แต่จริงๆ แล้ว เราไม่ได้เข้าใกล้เลย ยิ่งไกลไปเรื่อยเลย ไปเรื่อยๆ
เอ้า ให้ถามปัญหา พูดมาทั้งหมดนี่เข้าใจมั้ย เห็นภาพมั้ย เดี๋ยวทำบุญนะอุทิศส่วนกุศล
__________________________________________
แหล่งข้อมูล
หลวงปู่พุทธะอิสระ, ๒๕๖๐. สติที่เป็นสัมมาสติ จึงจะเป็นผู้เข้าถึงธรรม ใน วิถีจิต วิถีปัญญา, (น. ๒๒๕
– ๒๔๘) . นครปฐม: มูลนิธิธรรมอิสระ.
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม อบรมวิถีจิต ณ ศาลาปฎิบัติธรรม วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๒,
สืบค้นวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๘ จาก https://www.youtube.com/watch?v=av4L4LX2_QA