Print
Hits: 9676
 การมีชีวิตที่จะเรียนรู้จัก
ธรรมชาติภายในและภายนอกกาย
มันก็คือการรักษาสมดุล
ของธรรมชาติแห่งธาตุทั้งสี่
 
 
       ชีวิตที่สมดุล
       
       โดยปกติแล้วธรรมชาติของมนุษย์ สัตว์ทุกประเภท วัตถุทุกอย่าง สรรพสิ่ง สรรพชีวิต และสรรพวัตถุทั้งหลายในโลกหล้า ในปฐพี และจักรวาล มีองค์ประกอบของธาตุสี่ทั้งนั้น อย่างเช่น เหล็กหนึ่งท่อนก็มีธาตุสี่ แต่ว่าธาตุอะไรมันนำหน้าธาตุอะไรเท่านั้นเอง ถ้าถามว่าเหล็กหนึ่งท่อนมีธาตุสี่ได้ยังไง ก็ลองเอาเหล็กไปวิเคราะห์แยกอณู แยกชั้นของก๊าซ ของความแข็ง ความหนา ของโมเลกุล ภายในเหล็ก เราจะเห็นว่าเนื้อเหล็กนั้นก็ยังมีความชื้น ยังมีความอบอุ่น ความร้อนอยู่ในตัว มีความแข็ง-กร้าวอยู่ในตัว เพราะฉะนั้นธาตุทั้งสี่มันมีอยู่ทุกที่ พื้นที่ที่เรานั่งก็มีธาตุสี่ เว้นแต่ธาตุใดมันจะปรากฏเฉพาะหน้า คือยิ่งใหญ่ มีอำนาจเหนือกว่าธาตุทั้งปวงในขณะนั้นเวลานั้น
       
       หรืออย่างแก้วน้ำจัดว่าเป็นธาตุดิน เพราะแข็ง แต่ว่าในแก้วน้ำมีธาตุน้ำไหม ก็ยังมีธาตุน้ำ แต่มีน้อยกว่าธาตุดิน มันจึงแข็งเราจึงจับต้องได้ น้ำเป็นสิ่งที่เอิบอาบ ลื่นไหล เราจะสัมผัสได้ด้วยความเย็น นุ่มนวล และก็ละเมียดละไม เพราะฉะนั้นกระบวนการของการมีธาตุสี่นี้มันมีไปทุกที่
       
       ในกระบวนการแห่งองค์ประกอบในธาตุสี่หรือธรรมชาติในธาตุทั้งสี่นี้ พระพุทธเจ้าเรียกว่า มหาภูตรูปสี่
       
       มหาภูตรูป คือ รูปอันยิ่งใหญ่ที่ครอบคลุมไปทุกอนันตจักรวาล มหาภูตรูปสี่มีอะไรบ้าง ก็คือมีดินเป็นรูป มีน้ำเป็นรูป มีลมเป็นรูป มีไฟเป็นรูป มันมีอยู่ทุกสรรพสิ่ง สรรพสัตว์ สรรพชนิด สรรพวัตถุ และสรรพ-ชีวิตอย่างชนิดปฏิเสธมันไม่ได้
       
       เรื่องการปรับสมดุลของธาตุสี่ทั้งภายในและภายนอก เราต้องเข้า-ใจอย่างหนึ่งว่า ถ้าเรารู้จักความหมายของคำว่า ธรรมชาติ หรือธรรมะแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น หลวงปู่เชื่อโดยความรู้สึกและสำนึกของความเป็นพุทธในพระองค์ว่า พระองค์ไม่ได้เอามาจากใคร แต่เอามาจากธรรมชาติ ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมชาติคือธรรมะ
       
       ธรรมะคือการทำหน้าที่ถูกต้อง ไม่บกพร่อง และธรรมชาติก็คือการรักษาสมดุลที่ถูกต้องไม่บกพร่อง รวมเรียกกันว่า คำสอนของพระพุทธะ แต่จริงๆแล้วมันมีอยู่ก่อนพระพุทธะ ไม่ใช่ว่าพระพุทธะเป็นคนที่สร้างมันขึ้นมา เพราะฉะนั้นพระพุทธะทุกพระองค์นำเอาของดีที่มีอยู่แล้วขึ้นมาเพื่ออบรม ถ่ายทอด และส่งมอบกันต่อๆมา เราก็มีหน้าที่ที่จะสืบทอด ทะนุบำรุง และก็ระวังรักษา และก็สร้าง ถ่ายทอดเจตนาและอุดมการณ์นั้นๆต่อๆไปในชั้นคนหลังๆ และลูกหลานต่อๆไป
       
       ดังนั้น กระบวนการของธรรมะทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น หลวงปู่เชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมทุกพระธรรมขันธ์ ด้วยความพึ่งพิงอิงแอบอาศัย ด้วยสำนึกและความรู้สึกที่อยากให้สรรพสัตว์และพลโลก ประชาชาติ และสัตว์โลก อยู่ด้วยตัวเองและอยู่ร่วมกันด้วยความพึ่งพิงอิงแอบอาศัย คือพึ่งพิงอิงแอบอาศัยตัวเอง และก็พึ่งพิงอิงแอบอาศัยสรรพสิ่ง สรรพวัตถุ สรรพธรรมชาติ และก็สรรพชีวิต ภายในและภายนอกกายตัวเอง
       
       เราอาศัยสรรพสิ่ง สรรพสิ่งอาศัยเรา เราอาศัยธรรมชาติ ธรรมชาติอาศัยเรา ธรรมชาติเป็นบิดามารดาเกิดแห่งเรา เราก็ทะนุบำรุงบิดามารดาเกิดเหล่านั้น มันต้องเต็มพร้อมและเต็มเปี่ยมไปด้วยความเอื้ออาทรและการุณย์ เหมือนดั่งสายลมและแสงแดด การุณย์ต่อเพื่อนมนุษย์ พืชพันธุ์ธัญชาติ และสรรพสิ่งทั้งปวง สร้างไออุ่น ให้การปรุงอาหาร ทำให้เกิดกระบวนการสันดาบในวิถีแห่งการเคลื่อนไหว พลังงานในกายและรอบกาย ทำให้มีชีวิต วิญญาณในความรื่นเริง สดชื่น บันเทิง ไปต่อกระบวนการต่างๆ ของการดำรงชีวิตนั้นๆ
       
       เมื่อสายลมแสงแดดเอื้ออาทรต่อสรรพสัตว์และธัญชาติ ธัญชาติก็เอื้ออาทรต่อสายลมและแสงแดด รับเอาสิ่งดีๆ จากสายลมแสงแดดนั้นมาปรับเปลี่ยน ประยุกต์ใช้กับตนเอง ทำให้มีชีวิต อินทรีย์ ที่เจริญรุ่งเรือง เติบโต งอกงาม ไพบูลย์ ผลิดอกออกใบ ให้หว่านพืชผลวงศ์วานให้เจริญรุ่งเรืองในแผ่นดิน ทำให้แผ่นดินชุ่มชื้น ทำให้เกิดกลิ่นอายของความสดชื่นแจ่มใส ทำให้เกิดกระบวนการเจริญงอกงาม ไพบูลย์ของสรรพสิ่ง สรรพวิญญาณ สรรพวัตถุรอบกายตน
       
       ชีวิตมนุษย์ สัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นมาได้ ก็เพราะขบวนการของกรรมนำเอาวิญญาณมาเกิด เมื่อมีการเกิดขึ้นก็มีลมหายใจ ลมหายใจเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะมีผู้ควบคุม ลมนี่ต้องถือว่ามีพลังชนิดหนึ่งที่เรียกว่าพลังจิต-วิญญาณเป็นผู้ควบคุมความ รู้สึกนึกคิด วิญญาณที่ภาษาธรรมะมันแยกออกเป็นความรู้สึก ความรู้ ความรับรู้อารมณ์ ความรู้สึกตัว เพราะฉะนั้นเมื่อความรู้สึกเราหมดไป ลมมันก็จะหาย
       
       ความรู้สึกหมดมีอยู่สองชนิดคือ หมดลึกๆกับหมดข้างนอก หมดลึกๆคือหมดแล้วตายเลย แต่หมดข้างนอกนี้หมดแบบโดนไม้หน้าสามแล้วสลบ หมดความรู้สึก หมดแบบนี้ไม่ถือว่าเป็นการควบคุมธาตุลม การหมดความรู้สึกลึกๆเรียกว่าตาย นั่นแหละธาตุลมมันจะหาย
       
       ปกติธาตุลมทำหน้าที่ควบคุมธาตุไฟ มีลมที่ไหน ไฟลุกที่นั่น มีลมที่ไหน ไฟก็ดับได้ที่นั่นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นลมเป็นเครื่องพยุงให้ไฟลุก เมื่อลมหายไฟก็ดับ ไฟควบคุมธาตุน้ำ น้ำซึ่งมีอยู่จำนวนมากในร่างกาย อย่างน้ำเหงื่อที่ไหลซึมออกมาตามร่างกายนี้ก็เป็นการแสดงออกของกิริยาของน้ำ อาการแห่งน้ำ และกระบวนการของน้ำที่แสดงออกมา น้ำดี น้ำ-เสลด น้ำลาย น้ำมูก น้ำปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำหนอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ว่ากันว่ามีมากถึงประมาณ ๗๐ % ภายในกาย
       
       น้ำในร่างกายทำหน้าที่อะไร เมื่อลมมีจิตวิญญาณควบคุม ลมคุมไฟ ไฟก็คุมน้ำ ไฟช่วยเผาผลาญทำให้น้ำออกไป กลายเป็นน้ำเหงื่อ น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำลาย ของเสีย ขับถ่ายทิ้งไป ส่วนใหญ่แล้วมันจะถูกควบคุมด้วยธาตุไฟภายในกายเรา เมื่อไฟควบคุมธาตุน้ำ น้ำก็ยังมีดินห่อหุ้มไว้อีก
       
       เพราะฉะนั้น คนที่ตายแล้ว สัตว์ที่ตายแล้ว เราจะเห็นว่าไม่มีลม-หายใจ ก็เพราะว่าเขาไม่มีจิตวิญญาณ เมื่อไม่มีจิตวิญญาณก็ไม่มีลมหาย-ใจ พอไม่มีลมหายใจ ไฟก็ดับ พอไฟดับ น้ำไม่มีผู้ควบคุม มันก็จะเบ่งบาน เพราะไม่มีตัวไปกดทับมันไว้ มันก็ทำการละลายดิน สัตว์ที่ตายแล้วจึงขึ้นอืด เขียว พอง น้ำเหลืองไหลออกมาตามผิวหนังที่บอบบาง น้ำเหลืองเหล่านี้ก็คือธาตุน้ำ ผิวหนังที่บอบบางก็คือธาตุดิน ดินในส่วนของร่างกายที่บางที่สุด เป็นทำนบกั้นที่บางที่สุด มันก็จะโดนน้ำทำลายออกมา
       
       องค์ประกอบของกายที่บอกว่ามีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ นั้น ในแต่ละดิน แต่ละน้ำ แต่ละลม แต่ละไฟ ก็ยังมีองค์ประกอบของเซลล์ต่างๆมากมายมหาศาล เป็นหมื่นเป็นล้านเป็นร้อยๆล้านชีวิต ที่มันเกาะกลุ่มและสะสมเป็นกระบวนการของชีวิต และรูปร่างที่เราสัมผัสจับต้องพิสูจน์ได้
       
       องค์ประกอบเหล่านี้มันก็มีเสียบ้าง ดีบ้าง พร่องบ้าง สมบูรณ์บ้าง สมดุลบ้าง ขาดสมดุลบ้าง หน้าที่ของการมีชีวิตของพวกเราก็คือรักษามันให้คงไว้ซึ่งความดีและสมดุล รักษาไว้ซึ่งความไม่พร่องและถูกต้อง ไม่บกพร่องในหน้าที่
       
       แล้วธาตุสี่นี้ล่ะตั้งอยู่ได้ด้วยอะไร ก็ด้วยอาหาร องค์ประกอบของธาตุสี่ ในอาหารเหล่านั้นก็มีองค์ประกอบของธาตุสี่เหมือนกัน มาสนับ-สนุนส่งเสริมทดแทนสิ่งที่เสีย ซ่อมแซมสิ่งที่บุบสลาย แล้วก็สร้างเสริมสิ่งที่กำลังจะเจริญเติบโต
       
       กระบวนการของธาตุสี่อย่างนี้เมื่อเราได้มันอย่างสมบูรณ์แล้วมันจะ เกิด หลวงปู่ไม่แน่ใจว่าภาษาอังกฤษเขาเรียกมันว่าอะไร แต่หลวงปู่เรียกว่า พลังงาน คือผลพลอยได้ คือการสันดาป เช่น เรากินอาหารเข้าไปอย่างถูกต้อง ดำรงไว้ซึ่งความสมดุลของธาตุทั้งสี่ มันจะเกิดกระบวนการพลังชนิดหนึ่งซึ่งคนจีนเขาเรียกว่าปราณ
       
       คำว่าปราณตัวนี้ มันเกิดได้ด้วยสองชนิด ชนิดแรกคือเกิดจากสมดุลแห่งธาตุทั้งสี่ ชนิดที่สองคือเกิดจากกระบวนการของสมดุลแห่งสภาวะจิตที่สงบ สมดุลแห่งจิตที่ไม่กระเพื่อม ทั้งสองชนิดนี้ถ้ามันปรากฎขึ้นมันจะเกิดพลังชนิดหนึ่งขึ้นมาที่เรียกว่าปราณ ปราณตัวนี้จะมีอำนาจและมีพลังที่ควบคุมและก็กำหนดการเกิด การตาย ของเซลล์ทั้งหลายภายในกายนี้ หลวงปู่ไม่แน่ใจว่ามันจะถูกผิดตามหลักของแพทย์หรือไม่ แต่นี่คือความรู้จากประสบการณ์ทางวิญญาณที่ตัวเองค้นคว้า ค้นพบ และพิสูจน์สัมผัสได้
       
       เมื่อปราณตัวนี้ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเซลล์ทั้งหลายภายในกายนี้ ซึ่งภาษาแพทย์อาจจะเรียกว่าสารหรือมวลสารแห่งอาหารที่ร่างกายดูดซึมแล้วก็ ได้ แต่หลวงปู่หรือว่านักจิตศาสตร์เขาเรียกมันว่าปราณ แต่มันก็ยังไม่ถึงคำว่าพลังแห่งจิต รวมแล้วสมดุลแห่งกายนี้จะรักษาได้ประเภทที่หนึ่งคือพลังปราณ ต้องมีปราณและปราณนั้นเกิดได้จากการรักษาสมดุล ประเภทที่สองจิตไม่กระเพื่อม สองชนิดนี้เท่านั้นที่จะรักษาสมดุลย์แห่งธาตุทั้งสี่ หรือธรรมชาติแห่งธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้คงไว้ซึ่งสมดุล
       
       สมมติว่าเซลล์ในกายเรา เช่น เซลล์ในเส้นผมมันมีชีวิตแค่ ๑ นาที แล้วเราไม่รักษาสมดุลของมัน ไฟมันมากไปมันก็เผาผลาญเซลล์ในเส้นผมหรือเส้นขนของเราให้มันมีชีวิตแค่ครึ่ง นาที ร่างกายนี้ก็จะต้องสร้างสิ่งที่มีชีวิตขึ้นมาเพื่อจะสร้างเซลล์ รักษาชีวิตเซลล์ขึ้นใหม่ เพื่อจะทดแทนสิ่งที่ตายไปเร็วขึ้น พลังงานของกายเราก็จะต้องใช้มากขึ้น แล้วเราก็จะต้องสูญเสียพลังชีวิตเยอะขึ้น ปราณก็จะหมดเร็วขึ้น อาหารก็ต้องทดแทน หาได้มากขึ้น เมื่อเราสูญเสียและเผาไหม้ไปกับกระบวนการที่ไร้สาระ กับการที่เราคอยระแวดระวังไม่ให้เซลล์เส้นผมหนึ่งเส้นมันตายก่อนจะถึงหนึ่ง นาที เราทำสมดุลของมันให้มีชีวิตยืนยาวจนครบหนึ่งนาที จนสิ้นอายุขัยมัน แล้วจึงจะเกิดเซลล์ใหม่
       
       ถ้าเราฝึกตัวเองจนสามารถควบคุมองค์คุณแห่งธาตุสี่ได้ ฝึกตัวเองจนสามารถควบคุมองค์ประกอบของสมดุลแห่งธาตุได้ และก็ฝึกตัวเองจนกำหนดอายุขัยแห่งเซลล์ภายในกายได้ คือควบคุมอายุขัยแห่งเซลล์ภายในกายได้ นั่นก็คือที่มาของสูตรสำเร็จของการได้มีชีวิตอย่างมีสาระ การสร้างชีวิตให้ได้สาระ หรือได้ชีวิตจากการสร้างสาระ และก็นำเอาชีวิตที่มีและดีอยู่นี้ ไปทำให้เกิดประโยชน์สุข นั่นคืออีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือธรรมชาตินอกกายและในกายที่จะสร้างสัมพันธภาพต่อกันในโอกาสต่อไป
       
       ธรรมชาติภายในกายกับธรรมชาตินอกกาย ต้องสมดุลกัน ต้องสื่อ-สัมพันธ์ ทำให้เกิดกระบวนการมีสัมพันธภาพอันดีต่อกัน ทีนี้เราก็จะรู้ได้ทันทีว่า ยาทุกชนิด น้ำทุกหยด ข้าวทุกเมล็ด อาหารทุกจาน เกลือทุกก้อน อากาศทุกครั้งที่เราสูดเข้าไป มันเหมาะสมพอดีกับเรามากน้อยอย่างไร แค่ไหน อย่างเช่น ถ้าหากว่าธรรมชาติภายในกายร้อน แล้วธรรมชาติภายนอกกายไม่ได้แก้ความร้อน สิ่งที่ต้องทำเวลานี้ก็คือโบกมือพัด แล้วธรรมชาตินอกกายคืออะไร ก็คือลมที่อยู่รอบกาย ส่วนธรรมชาติในกายคืออะไร ก็ไฟที่ทำให้ร้อน ดังนั้นจึงต้องเอาลมเข้าไปกำราบ ทำให้มันลดน้อยถดถอยลง นี่คือกระ-บวนการของการมีชีวิต
       
       มันก็เหมือนกับการที่เราบรรจงเลี้ยงลูกด้วยความรัก ด้วยความทะนุ-ถนอม เราก็จะคอยเฝ้าสังเกต ระวังรักษา กิริยาอาการของลูกเราว่าเขาร้อนไปไหม หนาวไปไหม หิวหรือไม่ แล้วเป็นสุขหรือเปล่า ถ้าร้อนไปก็ลดความร้อน เติมเย็น หนาวไปก็เติมความอุ่น หิวก็เติมอาหาร ถ้ายังเป็นทุกข์ก็หาวิธีผ่อนคลาย
       
       การสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน จึงเป็นที่มาของคำว่า หลวงปู่พูดเมื่อครู่นี้ว่า ผู้ที่สามารถจะเอาธาตุภายในกายไปควบคุมสัมพันธภาพต่อธาตุภายนอกน่ะ ตรงนี้สำคัญ ตรงนี้ค่อนข้างจะหาได้ยาก หาได้ลำบาก แต่ก็ไม่ใช่ไม่มี ที่มันยากลำบาก ก็เพราะไม่มีใครคิดจะทำมัน เพราะมันทำยาก ลำบาก แต่จริงๆแล้วมันไม่ยาก ไม่ลำบาก ถ้าเราเป็นคนจริง ทำมันจริงๆ ศึกษามันจริงๆ ค้นคว้ามันจริงๆ แจ่มแจ้งมันจริงๆ
       
       สมัยก่อนหลวงปู่อยู่ธิเบต เคยรู้จักพระลามะผู้เฒ่าหลายท่าน เขาฝึกโกลัมปะ คือสมาธิขั้นสูง ในถ้ำที่มีน้ำแข็ง วิธีของเขาคือ การเอาผ้าที่ทอด้วยขนจามรี ชุบน้ำให้เปียกแล้วใช้หุ้มห่อตัวแทนการใส่เสื้อผ้า เสร็จแล้วก็จุดธูปไว้ ๑ ก้าน ทำอย่างไรให้ภายใน ๑ ชั่วธูป ต้องทำให้ผ้านั้นแห้ง คนที่ทำได้ ก็ถือว่าสำเร็จวิชา
       
       นี่เรียกว่าธรรมชาติในกายคุมสัมพันธภาพต่อธรรมชาตินอกกาย ทำให้เกิดกระบวนการที่เขากับมันอยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุข นั่นคือกระบวนการความมีสัมพันธภาพระหว่างธรรมชาติของธาตุภายในและภายนอก
       
       อาหารที่เรากิน น้ำที่เราดื่ม ที่ที่เราอยู่ ยาที่เรากิน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่เราใช้ ที่นอนที่เรานอน สถานที่ที่เราไป บุคคลที่เราไปพบปะ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราจะรู้ว่าอะไรมันเหมาะกับเรา แล้วอะไรไม่เหมาะกับเรา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันจะบอกเรา และเราก็จะบอกมันได้ว่า มันควรจะอยู่กับเราหรือไม่ควรจะอยู่กับเรา มันควรจะเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูต่อเรา
       
       แม้แต่กระบวนการของอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง อยาก โง่ ขี้เกียจ ขยัน ฉลาด สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติภายในกาย ซึ่งเราต้องควบคุมและรักษาสมดุลของมันให้ได้ อย่าให้มันเป็นนายเรา แล้วเมื่อนั้นเราก็สามารถจะไปมีสัมพันธภาพหรือสร้างสัมพันธภาพกับธรรมชาติ รอบกายหรือภายนอกกายเราได้
       
       การมีชีวิตที่จะเรียนรู้จักธรรมชาติภายในและภายนอกกาย มันก็คือการรักษาสมดุลของธรรมชาติแห่งธาตุทั้งสี่ เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันต้องเป็นสมดุลอยู่ดี เพราะถ้าเรารู้จักว่า เออ..อันนี้น้ำน้อยไปนะ เติมน้ำให้เต็ม ไฟเยอะไปนะ หรี่ไฟลงหน่อย อันนี้ลมมากไปนะ ลดลมลงนิด อันนี้ดินหนาไป ทำให้บางลงหน่อย อะไรอย่างนี้ ชีวิตเราจะดูดี
       
       หลวงปู่พูดแค่ว่าดูดี เอาแค่ดูดีในสายตาของเราพอแล้ว อย่าไปทำดีเพื่อให้คนอื่นเขาดู แต่จงทำดีเพื่อให้ตัวเราดู และเราดูว่ามันดี เมื่อเราดูว่ามันดีแล้ว มันใช้ได้ต่อกระบวนการ คนอื่นเขาหัวเราะ เราหัวเราะด้วย คนอื่นร้องไห้ เรายิ้ม คนอื่นเศร้าโศกเสียใจ เรามีเสรีภาพอิสระ คนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน เรามีความสุขสมบูรณ์ คนอื่นขัดสนอดอยาก อนาถา เราพอดี พอมี พอกิน
       
       ธรรมชาติสองสิ่งนี้จึงถือว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพุทธ บริษัทหรือผู้คนทั้งหลายที่เกิดและอุบัติในโลกนี้ ที่ต้องรู้ ต้องเข้าใจ สิ่งเหล่านี้มันเป็นกระบวนการบริหารและการจัดการที่เราปฏิเสธมัน ไม่ใส่ใจมัน หนีห่างจากมัน แล้วเราก็ไปหาสิ่งอื่นๆ เรื่องอื่น และก็สรรพสิ่งอื่น สรรพวิญญาณอื่น สรรพวัตถุอื่นที่จะเรียนรู้มัน จะเข้าใจมัน แล้วก็ไปบริหารมัน แต่เราละทิ้งหลีกหนีการบริหารธรรมชาติทั้งในและก็นอกกายตน และคิดว่ามันไม่สำคัญ ดังนั้น ถ้าเราจะมานั่งรอคิดหาฤกษ์ยาม ที่จะมาจัดการกับธรรมชาติภายในกาย เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพกับธรรมชาตินอกกายอย่างนี้ละก็ หลวงปู่คิดว่าที่ผ่านมาชีวิตเราขาดทุน
       
       ฉะนั้นการมีชีวิตเพื่อมาบริหารธาตุสี่ของเราให้มีศักยภาพ ให้มีคุณ-ภาพ และรักษาประสิทธิภาพ ทำให้เกิดประสิทธิผลในการได้ใช้มัน ศักยภาพ คุณภาพ ประสิทธิภาพ และก็ประสิทธิผลเหล่านี้นั้น เกิดขึ้นได้ก็ต้องมีกระบวนการรู้จริง รู้แจ้ง ไม่ใช่รู้จำ รู้จริงรู้แจ้งคือต้องรู้จักตัวเราเอง ที่หลวงปู่บอกว่าขอเพียงเรารู้จักตัวเองแท้ๆเถอะ ครูผู้ใจอารีที่หลับนิ่ง นอนเนื่องอยู่ในกมลสัน-ดานและจิตวิญญาณ ก็จะตื่นขึ้นมาและถ่ายทอดสรรพวิทยาทั้งปวงให้แก่เราได้รับรู้ บอกให้เรารู้ว่าเวลานี้เป็นเวลากลางวัน ธาตุอะไรมันจะนำหน้า เราต้องใช้ธาตุอะไรดับธาตุนี้ เพื่อความอยู่สบาย เวลานี้เป็นเวลาเช้าธาตุอะไรจะนำหน้า เราจะไม่สบาย ก็ต้องใช้ธาตุนี้ดับธาตุนี้สำหรับความอยู่สบาย
       
       อย่างวิชาแพทย์แผนโบราณ เวลาเขาจะวางยา เขาจะต้องทำการตรวจสอบว่า ป่วยเป็นอะไร สมุฏฐานของโรคเกิดจากอะไร โดยเฉพาะแพย์จีนนี่ เขามีอยู่ ๔ ประการเท่านั้น มาวิเคราะห์ว่า ธาตุนี้มันหาย ธาตุนั้นมันบกพร่อง ธาตุนั้นมันหลุดไป ก็ต้องหาอาหาร หายา หรือหาเครื่องที่จะทำให้เกิดธาตุนี้ทดแทนขึ้นมา
       
       ดังนั้น กระบวนการรักษาและการให้ยาของหมอโบราณส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การเสริมสร้าง สมดุลของธาตุภายในกาย ยาทั้งหลายที่หมอโบราณคิดค้น หรือทดลอง ทดสอบ พิสูจน์ สัมผัสทราบ เพื่อนำมาใช้ ไม่ได้ถือว่าเป็นทฤษฎี เพราะบางครั้งยาชนิดนี้ใช้กับคนคนนี้หาย อีกคนหนึ่งเป็นโรคเดียวกันก็ใช้ยาชนิดนี้หาย แต่อีกคนหนึ่งก็เป็นโรคนี้เหมือนกันแต่ใช้ยาชนิดนี้ไม่ได้ หรืออีกคนหนึ่งใช้ยาชนิดนี้แล้วตายก็มี หตุผลก็เพราะว่า หมอที่วางยาไม่รู้จริง แล้วก็รู้ไม่แจ่มแจ้ง ไม่เข้าใจลึกซึ้งว่า กระบวนการปรับสมดุลของธาตุในแต่ละคนนั้นมันไม่เท่ากัน
       
       มีคนสงสัยว่า มหาประธานอิทธิบาทสี่ ยังให้มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายมีอายุยืนยาวอยู่ได้เป็นร้อยเป็นพันปีใช่ไหม ในมหาประธานอิทธิบาทสี่นั้นใจความสำคัญก็คือว่า มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา คือ พอใจ รักใคร่ เอาใจจดจ่อ ความขยันหมั่นเพียร และใช้ปัญญาใคร่ครวญในการที่จะรักษาสมดุลแห่งธาตุทั้งสี่นี้ให้คงรูป คงลักษณ์ อยู่ถาวร ถึงมันจะไม่ตลอดกาล ตลอดสมัย แต่ก็ให้มันใช้สมรรถนะ สมรรถภาพ ของมันจนครบอายุขัยแห่งเซลล์ทั้งหลายในกายนี้ ตามสภาพ สภาวะ ในภาษาธรรมะเรียกว่าสภาวะธรรม แค่นี้แหละ อายุขัยเราก็จะยืนยาวได้ ชีวิตเรา จิตวิญญาณเรา ร่างกายเรา ผิวหนังก็จะสด-ใส แช่มชื่นได้ สดชื่นได้
       
       จึงสรุปได้ว่า การที่ท่านทั้งหลายจะเพียรพยายามรักษาสมดุลของธาตุสี่ หรือรักษาสัมพันธภาพระหว่างธาตุภายในกายและภายนอกกายให้ได้นั้น ก็ต้องเริ่มต้นมาจากการเป็นคนรู้จริง ไม่ใช่รู้จำ และก็จริงจัง ตั้งใจ จดจ่อ และจับจ้องในการที่จะเรียนรู้ ทำความรู้จักตัวเอง ในขณะเดียวกันสิ่งที่เราทำ คำที่เราพูด สูตรที่เราคิด เรื่องทั้งหลายในชีวิตต้องผ่านการใคร่ครวญ กลั่นกรอง พินิจ พิจารณา ที่เราเรียกกันว่าต้องมีสติ
       
       เมื่อเรามีสติในการใคร่ครวญ พิจารณา กลั่นกรอง และวิเคราะห์ พินิจ พิจารณา เราก็จะรู้ได้ว่า เวลานี้ร่างกายเราขาดธาตุอะไร เราต้องการเสริมธาตุอะไร เพื่อให้ร่างกายต้องการครบสมบูรณ์องค์ประกอบ เวลานี้ร่างกายเรามากไปด้วยธาตุอะไร เกินไปด้วยธาตุอะไร เราต้องใช้ธาตุอะไรมาทำลายมัน เพื่อให้คงไว้ซึ่งสมดุลของมัน การมีชีวิตอย่างนี้หลวงปู่เรียกมันว่าศิลปะ ถือว่ามันเป็นศิลปะในการดำรงชีวิต
       
       มันไม่มีคัมภีร์เล่มใด ตำราเล่มใด หรือครูบาอาจารย์ เรื่องห้องเรียนห้องไหนเขาสอนกัน นอกจากการที่เราต้องไปสำเหนียก พิสูจน์ทราบ และสร้างสำนึกต่อความรับผิดชอบในการมีชีวิตของเราว่า เราเกิดมาแล้ว เราต้องรับผิดชอบมัน บริหารมัน จัดการมัน พัฒนามัน แล้วก็ให้ประโยชน์ต่อมัน ได้ประโยชน์กับมัน และท้ายที่สุด อย่ายึดติดในมัน
       
       ที่หลวงปู่เขียนบทโศลกสอนลูกหลานไว้ว่า
       
       "ลูกรัก...ใช้สมมติ ให้เกียรติในสมมติ ยอมรับสมมติ ได้ประโยชน์จากสมมติ ให้ประโยชน์กับสมมติ และสุดท้ายอย่ายึดติดในสิ่งที่เป็นสมมติ เพราะเราก็เป็นเพียงแค่ธาตุทั้งสี่ เมื่อเป็นอย่างนั้น ความเมาทั้งหลาย ความตะกละทั้งหลาย ความตะกรามทั้งหลาย ความขาดตกบกพร่อง ความตกหลุมตกร่อง ความไม่ถูกต้องทั้งปวง มันจะลดน้อย ถดถอย และหดหายลงไป
       
       กระบวนการทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ถ้าเราเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง เราจะรู้ซึ้งถึงการมีชีวิตว่า ชีวิตนี้ช่างเป็นทุกข์เดือดร้อน การบริหารกายนี้ช่างเป็นภาระอย่างยิ่ง การมีชีวิตอยู่ในกายนี้ช่างมีความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง แล้วเราก็จะไม่มัวเมา ไม่หลงใหล ไม่งมงาย ไม่ตกเป็นทาสของสรรพสิ่ง สรรพสัตว์ หรือสรรพ-วัตถุ สรรพรูป สรรพรส สรรพเสียง สรรพกลิ่นใดๆ ทุกอย่างมันก็จะกลายเป็นความพอดี ความสมดุล
       
       สิ่งที่พูดคุยให้ฟังนี้ มันเป็นการจัดการกับชีวิตที่ต้องมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดประสิทธิผล ชีวิตที่แท้จริงไม่ได้มาจากการขวนขวาย ไขว่คว้า ทะเยอทะยาน และต้องการตะกละแต่กับสิ่งนอกกาย ชีวิตที่แท้จริงมันก็คือการเรียนรู้ การศึกษา การสะสม การส่งเสริม และการสร้างสรรค์
       
       หลวงปู่อยากบอกไว้ท้ายนี้ว่า เมื่อสิ่งต่างๆ เอื้ออาทรและเกื้อกูลกันดั่งนี้ เราเป็นผู้อาศัยสิ่งต่างๆ แต่กลับมาจ้องทำร้าย ทำลายล้างสิ่งต่างๆ ด้วยความคิดด้วยความเข้าใจ ด้วยวิถีคิด วิถีเข้าใจ แบบวิถีซาตาน คือเข้าข้างตัวเอง แล้วปฏิเสธคนอื่น เข้าข้างสิ่งที่ถูกแล้วปฏิเสธสิ่งที่ผิด
       
       หลวงปู่เคยเขียนบทโศลกสอนลูกหลานไว้บทหนึ่งว่า
       
       ลูกรัก... สำหรับคนฉลาด และมีปัญญา น้ำครำหนึ่งแก้ว ก็เอามากลั่นเป็นน้ำดีได้ตั้งหลายหยด
       
       นั่นคือคนฉลาด คนมีปัญญา คนที่มีวิถีคิดอย่างนี้ คนที่มีวิถีชีวิตอย่างนี้ต่างหาก จึงควรจะเป็นคนที่เห็นวิถีนิพพาน วิถีนิพพาน คือความดับและเย็น คนดีก็ตาย คนชั่วก็ตาย ต่างคนต่างตาย และวิถีนิพพานมันเป็นเครื่องแสดงออก บอกให้เรารู้ว่า สัตว์โลกทั้งหลาย ไม่ว่าจะโง่ก็ตาม ฉลาดก็ตาม จะดีก็ตาม จะชั่วก็ตาม จะได้ก็ตาม จะเสียก็ตาม จะอยู่ก็ตาม จะตายก็ตาม ทุกอย่างเป็นไปตามกฎของกรรม กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ ดี ชั่ว เลว หยาบ เขาเข้าใจถูกก็ตาม เข้าใจผิดก็ตาม มันเป็นอำนาจแห่งกรรม
       
       วิถีของคนที่รู้เห็นพระนิพพาน เขาจะมองว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกรรม เขาจะบอกว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกระบวนการแห่งการกระทำ และพฤติกรรม ที่ตัวเองนำเสนอออกมา และก็จะมองสัตว์โลกด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัย ให้อภัย เห็นอกเห็นใจ ใครที่ทำผิดก็ให้อภัย เมตตา การุณย์ และช่วยเหลือเจือจุน ให้มีวิถีคิด วิถีชีวิต วิถีงาน วิถีจิต ที่เป็นวิถีของความแก้ไขได้ ก็คิดจะต้องช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ไข เหล่านี้ต่างหากคือคนที่เห็นหนทางแห่งพระนิพพาน เหล่านี้ต่างหากคือวิถีของคนที่เห็นนิพพาน
       
       หมายเหตุ*** ถอดความจากเทปชุด "การแต่งสมดุลธาตุ ๔ ในร่างกาย"