ปุจฉา : ด้วยเหตุใด บุคคลจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม และมีปัญญาในการกำจัดกิเลส
      
       วิสัชนา : ผู้ทรงธรรม ก็คือผู้ประพฤติธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมผู้เรียนรู้ธรรม ผู้แสดงธรรม ผู้กระจายอธิบายและพูดโดยธรรม และผู้ประพฤติธรรมให้เจริญในหลักแห่งธรรมนั้นๆ เหล่านี้เรียกว่าผู้ทรงธรรม เมื่อเรามีพระธรรมอยู่ในใจ มีพระธรรมอยู่กับตัวมีพระธรรมอยู่กับชีวิต จิตวิญญาณของเรามันก็จะรอบรู้สิ่งต่างๆ ที่เข้ามารอบกาย หรือภายในกายว่าถูกหรือผิดดีหรือชั่ว เลวหรือหยาบ เมื่อนั้นเราก็จะสามารถกำจัดสิ่งที่เป็นศัตรู และยอมรับสิ่งที่เป็นมิตรได้ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้มีพระธรรม
      
       เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะเป็นผู้มีพระธรรม ก็คือเมื่อใดที่เราเผชิญกับปัญหาที่จะทำให้เราเศร้าโศกเสียใจ และเราตั้งมั่นได้ไม่เสียศูนย์ ไม่เสียสมดุล ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจกับการที่เราต้องทะยานอยาก ร้องห่ม ร้องไห้ ฟูมฟายเศร้าโศกเสียใจไปกับเขาด้วย เราสามารถยืนหยัดได้ โดยไม่เสียอะไรออกไปไม่แสดงสิ่งเหล่านี้ออกไป ไม่ทำสิ่งเหล่านี้ให้ใครรับรู้ ถือว่านั้นคือเรามีธรรม อย่างน้อยก็ความอดทน อดกลั้น ที่เรียกว่า ขันติโสรัจจะ ขันติคือความอดทนโสรัจจะคือความสงบเสงี่ยม เหล่านี้เรียกว่าผู้ทรงธรรม แต่ถ้าเมื่อใดที่มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้เราเศร้าโศกเสียใจแล้วร้องไห้ เราก็พากันตีโพยตีพาย ร้องไห้ฟูมฟาย เสียน้ำตาเป็นตุ่มๆ อย่างนี้ แล้วเราก็บอกคนอื่นว่าเราเป็นผู้ทรงธรรม เป็นผู้รักษาธรรม นั่นไม่ใช่
      
       จำไว้อย่างคือ พระธรรมคือเครื่องกำจัดความเดือดร้อน พระธรรมเป็นเครื่องกำจัดความฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ พระธรรมเป็นเครื่องกำจัดความทุกข์ยาก ลำบาก และสับสน พระธรรมเป็นเครื่องกำจัดความกลัดกลุ้มหมกมุ่น และมึนงง พระธรรมเป็นเครื่องทำลายความมืดบอดและความดำสนิทพระธรรมเป็นเครื่องยังให้ เกิดแสงสว่าง และปัญญาญาณหยั่งรู้ พระธรรมทำให้เราชาญฉลาด และอาจหาญ ทั้งสามารถที่จะดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายและสาระอย่างสมบูรณ์แบบ พระธรรมเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เรา ร้องไห้ โกรธ อาฆาตพยาบาท พระธรรมป้องกันไม่ให้เราผิดพลาดและเสียหาย ในขณะที่มีชีวิตหรือจบชีวิตแล้วนั่นคือความหมายของคำว่าพระธรรม
      
       ปุจฉา : วิญญาณของคนนั้น คงจะมีดวงเดียวเท่านั้น แต่มีหลายคนที่วิญญาณออกจากร่างแล้ว วิญญาณดวงที่หนึ่งจะไปเกิดทันที ส่วนวิญญาณดวงที่สองประจำกายทิพย์ จะไปกับกายทิพย์ ข้อนี้ความจริงเป็นอย่างไร
      
       วิสัชนา : จริงๆ แล้ว เราต้องเข้าใจความหมายของวิญญาณโดยสถานะสองสถานะก่อนว่า วิญญาณโดยอรรถและพยัญชนะในศัพท์ของพระธรรมแปลว่าการรับรู้นั่นคือวิญญาณ แต่วิญญาณโดยอรรถและพยัญชนะของชาวบ้าน แปลว่า สิ่งที่เป็นพลังงานจับต้องไม่ได้แต่แสดงกลุ่มก้อนของพลังงานได้ ที่พวกเราเรียกว่ากายทิพย์ หรือปรมันต์ ในภาษาบาลีสันสกฤต เรียกปรมันต์
      
       เมื่อวิญญาณมีโดยสองสถานะอย่างนี้ คำถามที่ถามว่า วิญญาณจริงไปเกิดทันที แต่วิญญาณประจำกายทิพย์ไปกับกายทิพย์หรือไม่ มีคำถามที่แฝงอยู่ในคำถามสองประโยคนี้ก็คือ คำถามว่าวิญญาณมีดวงเดียวหรือไม่ จริงๆ แล้ววิญญาณไม่ได้มีดวงเดียววิญญาณนี้จะเกิดดับตามสภาวะธรรมที่ปรากฎ เช่นตาเห็นรูปเกิดความรู้สึก เขาเรียกว่าวิญญาณสัมผัส วิญญาณผัสสะ ตาเห็นรูปเกิดผัสสะ เป็นวิญญาณคือการปรุงแต่ง มีความรู้สึกรับรู้เรียกว่า โสตะวิญญาณ จักษุวิญญาณ ฆานะวิญญาณ ชิวหาวิญญาณคือ วิญญาณที่เกิดจาก ตา หู จมูกลิ้น เพราะฉะนั้นสภาวะของวิญญาณตามอรรถและพยัญชนะแห่งหลักอภิธรรมนั้น ก็คือวิญญาณที่เป็นความรู้สึกที่รับรู้จากตาเห็นรูป หูฟังเสียงจมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายจับต้องสัมผัสมันก็จะเกิดเป็นหลายๆร้อยดวง ในขณะที่ตาเห็นรูปตรงนี้ หันไปอีกที่ก็เห็นรูปตรงนั้นวิญญาณตรงนั้นมันดับไปแล้ว เช่น ขณะนี้หลวงปู่มองเห็นองค์กฐิน และหันไปอีกที่ก็เห็นต้นกล้วยองค์กฐินดับแล้ววิญญาณแห่งการรับรู้องค์กฐิน มันดับแล้วเกิดวิญญาณชนิดใหม่ คือ วิญญาณที่เห็นต้นกล้วย และขณะนั้นที่มองเห็นต้นกล้วยอยู่นั้น หูเกิดได้ยินเสียงมีคนพูดให้ฟังหรือเสียงเด็กร้อง วิญญาณทางหูเกิดขึ้นอีกแล้ว วิญญาณที่เห็นต้นกล้วยก็ดับอีกแล้ว เพราะฉะนั้นกระบวนการเกิดดับของวิญญาณเป็นปรมาณูเป็นปรมันต์ เป็นสภาวะที่ยากต่อการจับต้อง เป็นหลักวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้จากกระบวนการความรู้สึกความนึกคิดของตัว เอง
      
       ทีนี้ในส่วนวิญญาณที่เป็นกายทิพย์ที่พวกเรา เรียกว่า วิญญาณเกิดจากตรงนี้ แล้วไปจุติตรงนั้นเนี่ยเป็นวิญญาณที่เป็นมวลสาร วิญญาณที่เป็นกลุ่มก้อนของพลังงานในความเข้าใจของเรา ต้องใช้คำว่า จิตวิญญาณเข้าไปด้วยเรียกวิญญาณเฉยๆ ไม่ถูกต้อง เรียกจิตบวกควบกล้ำกับคำว่าวิญญาณเข้าไปด้วยแล้วจะเข้าใจความหมายของมัน อย่างถ่องแท้ว่า มันถือกระบวนการของรูปหญิง รูปชาย เมื่อตายไปแล้วมันจะมีพลังงานชนิดหนึ่งที่หลุดลอยออกไปจากร่างคนทั้งหลาย ชาวบ้านทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลาย เรียกพลังงานชนิดนี้ว่าจิตวิญญาณถามว่าจิตวิญญาณตรงนี้มันมีดวงเดียวไหม ในกลุ่มกันของพลังงานนั้นมันแปรสภาพได้ทุกเวลา มีดวงเดียวไหม มีดวงเดียว แต่องค์ประกอบของมันนั้นมากมายมหาศาล เหมือนกับพลังงานดึงดูดของโลก ซึ่งบรรจุองค์ประกอบจุลภาพของสสาร เข้าไปอยู่ในกระบวนการของจิตวิญญาณ เพราะฉะนั้น พลังงานของจิตวิญญาณมันแปรสภาพได้เสมอ มันเปลี่ยนแปลงได้เสมอตามกระบวนการเหตุปัจจัยอันพร้อมมูล กระบวนการเหตุปัจจัยอันพร้อมมูลก็คือ กรรม การกระทำของเรานี่แหละเป็นตัวแปลงสภาพพลังงาน วิญญาณอันนั้นว่าจะให้เป็นเพศหญิงหรือชายเป็นสุนัข ไก่ วัว ควาย เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย กรรมตรงนี้มีอำนาจเหนือพลังงานอีก พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราฝึกจิต เพื่อจะพัฒนาและผลักดันกรรมตรงนั้นออกไปและมีอำนาจครอบงำ กรรมให้ได้ คือ ทำให้พลังงานเป็นพลังงานจริงๆ ทำให้กระบวนการแห่งจิตมีอำนาจจริงๆ ที่สามารถควบคุมจุลภาคของสสารได้ ควบคุมอณูแห่งบรรยากาศได้ ควบคุมอณูแห่งสสารทั้งมวลได้เมื่อเราสามารถควบคุมมันได้ก็ถือว่า เรามีอำนาจเหนือกรรม กรรมก็ไม่มีอำนาจที่จะผลักดันให้เราไปเป็นหมู หมา กา ไก่ วัว ควาย แต่เราจะเป็นผู้บ่งบอกเองว่าเราจะไปไหน ตรงนี้คือการพัฒนาจิต วิญญาณ
      
       ปุจฉา : ไสยศาสตร์ยังมีการกระทำอยู่ในปัจจุบัน เราจะมีวิธีป้องกันตัวไม่ให้ถูกคุณไสยได้อย่างไร
      
       วิสัชนา : ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า "ไสยาสน์" ก่อนไสยาสน์ แปลว่านอน "ศาสตร์" แปลว่าความรู้ ความรู้ที่ทำให้เรานอน หรือการนอนเรียน เพราะฉะนั้นความหมายของคนที่นอนเรียน จะไปได้แค่ไหน ตื่นขึ้นมาแล้วมันก็หายไปหมดไปเป็นความฝัน ความรู้ที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการของความฝันที่เหมือนลอยอยู่กลางอากาศ มันเกิดขึ้นเป็นช่วงๆขณะที่เหตุปัจจัยพร้อมมูลเท่านั้น มันไม่ใช่เสมอไปทุกขั้นทุกตอน นั่นคือความหมายของคำว่า ไสยศาสตร์
      
       ส่วนคำว่า "วิทยาศาสตร์" นั้น "วิทยา" คือความรู้"ศาสตร์" ก็คือความรู้ ความรู้ที่บวกความรู้ และก็สามารถค้นหาได้ในความรู้นั้นๆ และทดสอบพิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้นไสยศาสตร์ พระพุทธเจ้าเรียกว่า เดรัจฉานวิชา เดรัจฉานวิชาคือ ผู้ขวางไป สัตว์เดรัจฉานจะไม่เดินตรง มันจะเดินขวางๆ คือเอาตัวขวางกับแผ่นดิน ไม่ใช่เดินรีๆ ขวางๆ คือทำตัวให้ขวางกับแผ่นดินไม่ได้ทำตัวตั้งดิ่งกับแผ่นดินไม่ได้เป็นฉากกับ แผ่นดินเพราะฉะนั้น ไสยศาสตร์เป็นเดรัจฉานวิชา เป็นวิชาของผู้ขวางไปในแผ่นดิน เวลาเดินแข่งกันผู้ขวางจะเดินช้ากว่าคือ จะไปได้ลำบากกว่า ไปได้ทุกข์ยากกว่า เพราะต้องหน้าเลียบแผ่นดินไป ไม่ได้มองตรวจการณ์อะไรได้ไกลเท่าไหร่ เมื่อเป็นอย่างนี้ความเจริญคงไม่ดีเท่าที่ควรนัก พระพุทธเจ้าจึงไม่ส่งเสริม ไม่สนับสนุนให้เราเรียนรู้
      
       แต่ถ้าถามหลวงปู่ว่า ปัจจุบันนี้จะป้องกันอย่างไร ก็คือทำตัวเองให้เป็นวิทยาศาสตร์ ทำตัวเองให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ คือ รู้จักเหตุและผลรู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักเวลา รู้จักสถานที่ รู้จักบุคคล รู้จักตนคือรู้จักว่าตนเองจะต้องมีชีวิตอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ รู้จักประมาณ คือรู้จักสถานะ สภาพของตัวเองว่าเวลาอย่างนี้ อย่าตะกรุมตะกราม ตะกละ ทะยานอยากเกินไปนัก รู้จักกาล คือ รู้จักว่าสถานการณ์อย่างนี้ เขาไม่ควรต้องพูดเสียงดัง เราก็อย่าไปพูดมาก แต่ต้องใจฟัง เพื่อให้เกิดปัญญาญาณหยั่งรู้ในการที่ได้จากการฟัง เมื่อรู้จักเวลาในการที่แสดงออกต่อสถานะต่อบุคคล ต่อสถานที่ เราก็จะมีชีวิตอยู่อย่างเป็นนักวิทยาศาสตร์ มีชีวิตอยู่อย่างเป็นผู้ทดสอบ พิสูจน์ทราบได้ทุกขั้นตอนทุกสถานการณ์ ไม่ว่ต่อหน้าหรือลับหลัง
      
       เพราะฉะนั้น กระบวนการของวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องราวที่พิสูจน์ได้ วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา หลวงปู่ก็ยังบอกว่า วิทยาศาสตร์ยังตามหลังพุทธศาสตร์อยู่ เหตุผลก็คือ หลักการของนิวเคลียร์และอะตอมน่ะ สองพันกว่าปีก่อนพระพุทธเจ้าสอนเอาไว้แล้ว สอนมาก่อนที่ฝรั่งจะค้นหาได้ เมื่อสองร้อยสามร้อยปีนี้ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น มีคนเขียนบทโศลกและเขียนปฏิกิริยาของกาย ในคัมภีร์ไตรเพท รู้สึกว่าใครจะเป็นคนเขียนประสบการณ์ของวิญญาณในเทปแล้วหลวงปู่ได้อ่านเจอ คือตรวจต้นฉบับ ก็ได้เขียนความเห็นของหลวงปู่ลงไปว่า
      
       ร่างกายเราเปรียบได้คือ อวัยวะและเชลล์ในร่างกาย เปรียบได้กับดวงดาวในจักรวาล ในกาแล็กซีหลวงปู่ได้เขียนข้อวิจารณ์ลงไปว่า หลวงปู่มีความเห็นว่าดวงดาวในกาแล็กซีในจักรวาลนั้น มิใช่มีเฉพาะที่เรารับทราบได้ในร่างกาย มันยังมีประกอบในอนันตจักรวาล ในอนันตกาแล็กซีอีกเยอะแยะไม่ใช่มีเฉพาะที่เราเห็นในกาแล็กซีที่ปัจจุบันเรา อยู่เท่านั้น ฉะนั้นการที่บอกว่าร่างกายของเราคือ อวัยวะในร่างกายเซลล์ต่างๆ ในร่างกายที่เท่ากับดวงดาวในกาแล็กซีนั้นไม่ใช่ มันใช่เฉพาะปัจจุบัน กาแล็กซีแต่ละกาแล็กซีจักรวาลแต่ละจักรวาล มีอายุขัยด้วยการเกิด และในอายุขัยของกาแล็กซีนั้นๆก็มีการสะสมดวงดาวของแต่ละกาแล็กซีนั้นๆ เทียบเท่านับไม่ได้ เพราะฉะนั้นถือว่าปัจจุบันเราอยู่ในกาแล็กซีหนึ่ง ในอนันตจักรวาลการแล็กซีเท่านั้น ไม่ใช่อยู่ทั้งหมดของกาแล็กซี
      
       ฉะนั้น ข้อนี้อยากจะยกให้ฟังว่า การมีชีวิตอยู่อย่างไสยศาสตร์ มันเป็นชีวิตแค่หลับแล้วตื่น เป็นชีวิตที่ชั่วเผลอ เพราะเราละทิ้ง ละเลยวิทยาศาสตร์พุทธศาสตร์ มันก็เลยเกิดกระบวนการไสยศาสตร์ตามมา แต่ถ้าเราไม่ละทิ้งละเลยวิทยาศาสตร์ เรียนรู้ให้ถ่องแท้ในพุทธศาสตร์ ไสยศาสตร์ไม่มีอำนาจเหนือเรา
      
       ปุจฉา : ตัวตายคืออะไร ตัวจริงคืออะไร ตัวแฝงคืออะไร และสมควรที่จะเอาตัวไหนมาใช้ถึงจะดีที่สุด
      
       วิสัชนา : อึม ! จริงๆ แล้วมันเป็นกลบทปริศนาธรรมะ ถ้าจะบอกกันแล้วก็คือปัญหาที่ลองภูมิ เชาวน์ปัญญา แต่ไม่เป็นไร ก็คือว่า มนุษย์จริงๆ แล้วมันเป็นความคิดของตน แล้วแต่ที่บัญญัติขึ้น ความหมายของมันไม่ได้มากมายอะไรกับการเกิดขึ้นแล้วดับไป ทีนี้ถ้าเราเข้าใจกฎกติกาในไตลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไปเป็นอย่างไร เราก็จะเข้าใจได้ว่าตัวที่ตายได้นั้นก็คือรูปร่างขันธ์ทั้งหลายที่นั่งอยู่ นี่ตาย ส่วนที่เป็นเรื่องจริงก็คือส่วนที่อยู่ในตัวตนของร่างกายที่เค้าเรียกว่า จิตวิญญาณ ส่วนที่เป็นตัวแฝงก็คือ กาม กิเลส ทั้งปวงที่เข้าครอบงำจิตวิญญาณเหล่านี้ และมีอำนาจเหนือวิญญาณเหล่านี้ ฉุดกระชากลากถูให้เราไปทำชั่วตีหัวชาวบ้าน ข่มขืนชาวบ้าน ขโมยของเขา หรือว่าทำเรื่องเลวร้ายหรือเรื่องดีงามทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าตัวแฝง เพราะฉะนั้น ตัวตายก็คือร่างกายมนุษย์ ตัวจริงก็คือจิตวิญญาณ ตัวแฝงก็คือกรรมการกระทำนั่นเอง
      
       ปุจฉา : ทำอย่างไรถึงจะเข้าถึงวิธีการละตัวตนได้
      
       วิสัชนา : ก็ใครบอกให้ไม่ละล่ะ ก็คือเมื่อเรารู้ว่ามีตัวตน และรู้สึกอึดอัดกับมัน ก็ไม่เห็นต้องมีคำถามว่าทำอย่างไร ต้องละ เพราะว่าเมื่อเรารู้ว่ามันมีตัวตน และรู้สึกอึดอัดกับมัน ก็แค่สลัดมันหลุดก็จบแล้ว ไม่ยึดถือกับมัน ไม่ให้ความสำคัญกับมัน ไม่ปล่อยให้มันมาเป็นนายเรา ไม่ยกย่องมันจนตกเป็นทาสแค่นี้ก็น่าจะจบ ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า อุปาทาน คือความยึดถือที่มีถ้าตัดความยึดถือได้ ทุกอย่างไม่มีอะไร ไม่มีปัญหา แต่ทีนี้เราค่อนข้างจะไม่เข้าใจว่า ความยึดถือหน้าตาเป็นอย่างไร ตรงนี้ต่างหาก ความยึดถือมันเป็นสิ่งที่แฝงมากับสิ่งที่ชอบก็มี สิ่งที่ชังก็มาก ความยึดถือทั้งสิ่งที่ชอบและปฏิเสธสิ่งที่ชังทั้งสองอย่างนี้เรียกว่า อุปาทาน ถ้าเราตัดอุปาทานได้ คือปฏิเสธอุปาทาน สนใจอุปาทาน ไม่ปล่อยให้อุปาทานเป็นนาย และมีอำนาจเหนือเรา เราก็จะสลัดหลุดชาติชรา มรณะ และสมาธิได้ วิธีการที่จะสลัดหลุดจากอุปาทานได้ ละอุปาทานได้ ไม่ให้ความสนใจอุปาทานและไม่ปล่อยให้อุปาทานเป็นนายเราก็คือฝึกสติพระพุทธ เจ้าสนอให้เราฝึกสติ มีสมาธิกำกับอิริยาบถ การยืน เดิน นั่ง นอน เหล่านี้เป็นกระบวนการการเข้าไปหาตัวตัดอุปาทานทั้งนั้น
      
       ปุจฉา : อยากนั่งหลับตาทำสมาธิแต่กลัวผี จะทำอย่างไร และวิธีการนั่งสมาธิสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติต้องทำอย่างไร
      
       วิสัชนา : อยากถามกลับไปว่า ผีมันมาตอนหลับตาเหรอ ผีที่มันมาตอนหลับตา มันยังไม่น่ากลัวเท่าผีที่มันมาตอนลืมตานะลูก เพราะผีที่ลืมตาแล้วหลอกเราได้เนี่ย มันเสียหายแม้แต่ชีวิตนะลูก เสียพรหมจรรย์เสียตัว เสียความรู้สึกนึกคิด เสียจิตวิญญาณ เสียสมดุล เสียการดำรงชีวิตอย่างเป็นเอกภาพ สุดท้ายก็ต้องตกเป็นทาศ สุดท้ายก็ตกเป็นหนี้ ตกเป็นเรื่องเป็นราว มีปัญหามากมาย ผีตัวนี้น่ากลัวกว่า เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าการนั่งหลับตาเป็นคนดี ถ้าการนั่งหลับตาเป็นคนดี และทำให้ตนเป็นคนดีได้ อย่างที่หลวงปู่เคยเขียนบทโศลก สอนลูกหลานไว้ว่า
      
       ลูกรัก...ถ้าเจ้าคิดว่า การหลับตาจะทำให้เจ้าได้ดี พ่อว่าเด็กที่อยู่ในท้องแม่ดีกว่าเจ้า เพราะว่ามันยิ่งกว่าหลับตาอีก มันไม่เห็นภาพอะไรเลย อยู่แต่ในท้องแม่ ซึ่งก็ไม่เห็นมันเป็นอรหันต์ เพราะฉะนั้นการหลับตาไม่ใช่การทำให้เป็นคนดี คนจะดีหรือไม่ดี มันอยู่ที่ขณะที่มีชีวิตอยู่แล้วทำอะไร ตรงนั้นต่างหากคือคนดี ถ้าทำเรื่องอัปรีย์เป็นคนไม่ดี กลายเป็นคนอัปรีย์ไป แต่ทำเรื่องดี เช่น สร้างสิ่งที่เป็นกุศลเป็นสาระให้แก่ชีวิต ก็เป็นคนดีในสายตามชาวบ้าน เพราะฉะนั้น อย่าไปทุ่มเทให้กับการนั่งหลับตา จนกลายเป็นว่าเราจะลืมสถานภาพของการดำรงชีวิตให้เข้าสู่เป้าหมายของสาระธรรม ดำรง เที่ยงแท้ แน่นอน และก็ด้วยตัวของตัวเองได้อยากจะบอกในที่นี้ว่า อย่าเข้าใจว่าการนั่งหลับตา แล้วมันจะทำให้ฝีหลอกเราได้ ลืมตาก็หลอกได้เหมือนกัน และก็คนที่น่ากลัวที่สุดคือตัวเราเองที่ไม่เข้าใจตัวเราเอง ผีที่น่ากลัวที่สุดคือตัวเราเองที่ไม่ยอมรับตัวเราเอง และผีที่เลวร้ายที่สุดคือสิ่งที่แฝงอยู่ในกมลสันดานและจิตวิญญาณของตัวเรา เอง โดยไม่ใส่ใจว่าตัวเองจะทำถูกหรือผิดทำดีหรือชั่ว นั่นแหละคือผีที่น่ากลัว
      
       ปุจฉา : ในการทำบุญทุกครั้ง ตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอให้สิ้นต่อกิเลสในชาตินี้ด้วยเทอญ จะถือว่าคำขอเช่นนี้เป็นตัณหาชนิดหนึ่งหรือไม่
      
       วิสัชนา : ทุกอย่างก็เป็นตัณหาทั้งนั้นแหละลูก การที่เรามีโอกาสได้มานั่งอยู่ตรงนี้ก็เป็นตัณหา การที่เรามีโอกาสต้องการทำบุญก็เป็นตัณหาตัณหาคือความอยาก แต่มันเป็นส่วนอยากที่เป็นกุศล หรืออกุศลล่ะ สำคัญมันอยู่ตรงนั้น กุศลคือความฉลาด อกุศาลคือความโง่ ที่จะทำตัวให้โง่ เรียกว่า อกุศล ความอยากที่จะทำตัวให้ฉลาดขึ้นสว่าง กระจ่างขึ้น เรียกว่า กุศล
      
       เพราะฉะนั้น การทำบุญแล้วปรารถนานิพพาน บุญไม่ใช่เครื่องยังให้สำเร็จถึงนิพพาน นิพพานมันเป็นวิธีการลงไม้ลงมือที่จะกระทำต่อมัน เป็นการฝึกหัดดัดกาย วาจา ใจ เพื่อเข้าไปสู่ความหมายของคำว่านิพพาน แต่ไม่ใช่ทำบุญแล้วได้นิพพาน นิพพานไม่มีบุญ ไม่มีบาป ไม่มีกุศล และอกุศล นิพพานไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตนแต่นิพพานคือความว่าง นอกเหนือไร้ขีดจำกัด เป็นความสะอาดเหนือขีดจำกัด เป็นความสว่างและความสงบเหนือการคาดเดา เพราะฉะนั้นความหมายของนิพพานมันไม่ใช่ได้มาจากการขอหรือทำบุญ แต่มันได้มาจากการทดสอบ พิสูจน์ทราบ ค้นหา และค้นคว้า ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน และลงไม้ลงมือกระทำตามที่ค้นคว้าได้แล้วนั้น อย่างจริงจังและจริงใจ นั่งแหละคือนิพพาน เป็นการสลัดตัดให้หลุดจากสิ่งที่ฉุดให้เราหลงใหลและได้ปลื้มไปด้วย คือความหมายของนิพพาน สรุปก็คือนิพพานได้มาจากการลงไม้ลงมือกระทำ ไม่ใช่ได้มาจากการสวดมนต์ อ้อนวอน หรือขอพร
      
       ปุจฉา : ด้วยเหตุใดบุคคลจึงได้ชื่อว่า สดับและเป็นพหูสูต
      
       วิสัชนา : ก็เรียนมาก ทรงจำได้มาก สำหรับที่สุดคือกระทำให้ได้มากด้วย เรียนมาในที่นี้ความหมายก็คือ การที่เอาตัวเองเข้าไปสัมผัสกับปัญหาต่อโจทย์ ต่อบทเรียนนั้นๆ อย่างชนิดที่ต้องการจะเรียนรู้ หลวงปู่พูดว่าเรียนมากในที่นี้ หมายถึงการที่เอาตัวเองเข้าไปหาโจทย์เข้าไปหาตัวปัญหา เพื่อจะทำหน้าที่แก้ไขปัญหาจากตัวเอง อย่างชนิดที่ต้องการจะเรียนรู้ นั่นคือ ความหมายของคำว่าเรียนมาก เมื่อเรียนมาก ความทรงจำมันจะไม่ดีเอาเลย ถ้าลูกไม่ใช้ความเข้าใจมันซะก่อน ถ้าขาดความเข้าใจแล้ว ถึงจะทรงจำมันอย่างไร ก็คงไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรที่ควรนักเพราะฉะนั้น ในที่นี้จึงใช้คำว่าควรจะทำให้เกิดความเข้าใจ ทำแล้วก่อให้เกิดความเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วทีนี้ไม่ต้องจำ มันจะสิงเข้าไปอยู่ในกระดูก เลือด ในชีวิตของเราเอง
      
       เหมือนอย่างที่หลวงปู่พูดให้พวกเราฟัง ถ้าหลวงปู่ใช้ความจำต้องมีเวลาเตรียมการ แล้วนึกสำหรับการที่จะนำมาพูด แล้วตอบปัญหาแต่นี่ไม่ใช่ หลวงปู่ใช้ปัญญาที่ได้จากการลงไม้ลงมือกระทำ เมื่อเราได้การกระทำจากความสว่าง กระจ่างชัด เปิดของที่ปิด หงายของที่คว่ำแล้วทำให้ที่มืดกลายเป็นความสว่างได้ด้วยตัวเราเอง และรู้แจ้งแทงตลอด กระจ่างชัดด้วยตัวเราเองแล้ว หนึ่งร้อยปี ล้านปี หมื่นปี ก็สามารถจะอยู่กับเราได้โดยไม่ต้องจดจำ มันจะเป็นความเข้าใจ เป็นความสว่าง กระจ่างชัด และต้องการใช้เมื่อไหร่ก็ได้ทุกเวลา สรุปความหมายก็คือ หัวใจสำคัญของพหูสูตที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอาไว้มี สุ จิ ปุ ลิ อยากบอกว่าใช้ได้ แต่สำหรับหลวงปู่แล้ว แค่คิดแค่ฟัง แค่ถาม ถ้าไม่ทำใช้ไม่ได้ ต้องลงไม้ลงมือกระทำด้วยถึงจะใช้ได้
      
       ปุจฉา : การเข้าญานสมาบัติ ทำจิตอย่างไร ใช้เวลานานเท่าไรและผู้ที่ตักบาตรกับพระที่ออกจากญานสมาบัติจะได้อานิสงส์อย่างไร?
      
       วิสัชนา : เราจะต้องเข้าใจความหมายของคำว่า "ฌาน" ก่อนฌานตัวนี้ไม่ใช่นอกชาน ไม่ใช่ที่ไกล แต่มันเป็นเรื่องใกล้ๆ อยู่ในตัวเราฌานตัวนี้แปลว่าตัวปัญญา หยั่งรู้ เพราะฉะนั้น พระที่เข้าฌานสมาบัติคือ พระที่มีปัญญาหยั่งรู้ อารมณ์จิตอย่างไร ก็อารมณ์จิตแห่งฌานปัญญาหยั่งรู้สภาวะธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ เรียกว่า พระผู้เข้าฌาน ผู้ที่ทำบุญกับผู้ที่มีความรู้สภาวะธรรมในขณะนั้นๆ ถือว่าจะได้รับอานิสงส์ปัญญาหยั่งรู้ไปด้วย ถือว่าจะได้รับอานิสงส์แห่งผลแห่งความดี ที่พระผู้เข้าฌานนั้นกำลังประพฤติปฏิบัติด้วย ถือว่าเป็นผลบุญอันใหญ่
      
       ปุจฉา : คำว่านิพพาน ผู้ที่พบจะเป็นผู้ที่ตายแล้วหรือมีชีวิตอยู่ก็พบได้
      
       วิสัชนา : ไม่ใช่ลูก นิพพานแปลโดยสภาวะธรรม แปลว่าดับและเย็นนิพพานไม่ใช่เป็นคุณสมบัติของคนตาย ไม่ใช่คุณสมบัติของคนเป็น นิพพานเป็นคุณสมบัติของผู้ที่หลุดพ้น เป็นผู้บรรลุ เป็นผู้สลัดหลุดจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง นิพพานเป็นคุณสมบัติของผู้ที่มีญาณ ปัญญาอันวิเศษ หยั่งรู้สรรพสัตว์ สรรพสิ่ง สรรพชีวิต สรรพวัตถุ ของการเกิดแล้วดับไปในสรรพวัตถุ สรรพชีวิต สรรพสิ่ง เหล่านี้ นิพพานเป็นสภาวะ เป็นคุณสมบัติสูงสุดของผู้สลัดหลุด และไม่โดนอะไรมัน ฉุดให้อยู่ นิพพานเป็นภาวะของพระพุทธผู้มีอิสระและเสรีภาพสูงสุดยอด
      
       เพราะฉะนั้น สภาวะของนิพพานไม่มีองค์ประกอง รูปลักษณ์ที่จะอธิบาย แต่ความหมายของมันคือการดับแล้วเย็น คล้ายกับเราหิวข้าวจนกระทั่งใกล้จะเป็นลม แล้วเราก็ได้กินข้าว ได้ดื่มน้ำ ความหิวอันนั้นก็หายไป ความทุกข์ทรมานจากความหิวก็ลดน้อยถดถอยลงไป จะไม่มีอย่างนั้น เขาเรียกว่า ความหิวนิพพาน แปลว่าดับแล้วเย็น แต่มันชั่วครู่เท่านั้น สำหรับความหมายนิพพานของผู้บรรลุก็คือ การดับแล้วเย็นตลอดกาล ไม่ต้องกลับไปหิวอีก ไม่ต้องกลับไปเกิด แก่ เจ็บ ตายอีก นั้นคือความหมายของนิพพานสูงสุดในศาสนานี้
      
       พูดอย่างนี้ก็เพื่อให้รู้ว่า คราใดที่เราระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า พระศาสดา คราใดที่เรานึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นภิกษุ สมณะ พระในพระพุทธศาสนา คราใดที่เราระลึกรู้ถึงคำสอนของนักบวชในวัดข้างๆ บ้าน แล้วนำมาประพฤติ ปฏิบัติขจัดดัดกาย วาจา ใจ ของตนให้เป็นผู้ตรง ควรต่อการงานทั้งกาย การกระทำ คำที่พูด และสูตรที่คิด คนนั้นก็ถือว่า ได้ทำการบูชาอันใหญ่ต่อคนแก่คนหนึ่ง ซึ่งอายุ ๘๐ ปี เมื่อสองพันกว่าปีก่อนได้ทำงานอันยิ่งใหญ่ให้แก่ประชาชาติและสัตว์โลก และเราก็ได้อาศัยใบบุญ ของท่านจนมาถึงวันนี้สองพันกว่าปีแล้ว
      
       สรุปก็คือ อยากให้รู้ว่าทุกครั้งที่นึกถึงความดีงามของครูอาจารย์ และหลวงปู่ ทุกครั้งที่นึกถึงความดีงามของอาวาส และพระในศาสนาทุกครั้งที่นึกถึงคุณูปการที่ได้รับการอนุเคราะห์เกื้อกูลจาก นักบวชในศาสนา ก็ต้องระลึกถึงคนแก่คนนั้น ไม่ใช่ระลึกถึงหลวงปู่ ไม่ใช่ระลึกถึงตัวครูบาอาจารย์ ไม่ใช่ระลึกถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งในวัดใดวัดหนึ่งนั่นเป็นเป้าหมายอันยิ่ง ใหญ่ที่หลวงปู่คิดอยู่เสมอ บทโศลกแต่ละบทสร้างสรรค์ด้วยจิตวิญญาณของพระพุทธะ สำหรับหลวงปู่แล้วเห็นว่ามันเป็นของมีค่า แม้แต่ประโยคนำหน้าด้วยคำว่า "ลูกรัก" หลวงปู่ไม่ได้เขียนมันด้วยความรู้สึกชุ่ยๆ พล่อยๆ หรือชนิดที่หลอกล่อหรือเป็นมารยาสาไถ แต่เขียนด้วยความรู้สึกเอื้ออาทรสุดชีวิตจิตใจว่า
      
       การที่เราจะลิขิตเขียนอักษรที่เราไม่รู้เรื่องกับเค้านั้น ในภาษาหนังสือด้วยความรู้สึกว่า อย่างน้อยเราก็ยังมุ่งหวังว่า อยากให้คนอื่นรู้ในสิ่งที่ตนรู้ สัมผัส สำเหนียก พิสูจน์ทราบ และ เข้าใจในสิ่งที่สัมผัสสำเหนียก พิสูจน์ทราบที่เราเป็นอยู่ มุ่งหวังแต่เพียงว่าได้สืบทอดอุดมการณ์ของคนแก่คนหนึ่งที่มีชีวิตเมื่อสอง พันกว่าปีก่อน ที่พระองค์ทรงเมตตาอนุเคราะห์ หลวงปู่เพียงแค่ทำหน้าที่ ถึงแม้จะไม่ได้ครึ่งหนึ่ง ไม่ได้เศษเสี้ยวหนึ่งของพระองค์ ก็เพียงแค่ได้ทำสักครึ่งหนึ่ง ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย
      
       ฉะนั้น คัมภีร์ ตำรา อักษร ภาษา และหนังสือบทโศลก ที่ออกมาจากอาวาสนี้ ก็คือออกมาจากวิญญาณของพระพุทธะ สำหรับหลวงปู่แล้ว มันมีค่าทุกตัวอักษร เพราะทุกตัวอักษรมันมาจากชีวิตและจิตวิญญาณที่ออกมาจากไขกระดูกดำของหลวงปู่ มันไม่ใช่ออกมาจากริมฝีปาก หรือฟองน้ำลายบนปลายลิ้น หรือจากมันสมองที่ใช้สัญญาณ ในการจดจำใครมา เพราะฉะนั้น เมื่อได้ไปแล้วตีราคามันไม่ได้หรอกหลวงปู่ไม่ชอบใจกับการที่ใครจะมาตีราคาบท โศลกหรือไขกระดูกของพระพุทธะ เพราะมีความคิดเสมอว่ามันกำลังจะดูถูก เหยียบย่ำ ทำลาย ตีราคาพระธรรมสูงสุด ให้กลายเป็นราคาของน้ำเงิน ซึ่งถือว่าเป็นวัตถุที่เลวร้าย ที่พระพุทธเจ้าเรียกมันว่างูพิษ แล้วถ้าเรายังยอมรับสิ่งที่เป็นรัตนะหนึ่งในรัตนะสาม มีค่าเท่างูพิษก็แสดงว่าเราไม่เห็นค่าของคนแก่ที่อายุ ๘๐ ปี เมื่อสองพันกว่าปี ทำงานเพื่อปลดปล่อยจิตวิญญาณของเราแล้วอย่างนี้จะถือว่า เราควรคู่กับการได้เรียนรู้สิ่งที่คนแก่คนนั้น ถ่ายทอดต่อๆ กันมาอย่างนั้นเหรอ
      
       เพราะฉะนั้น ใครผู้ใดก็ตามถ้าจะมาพูดถึงเรื่องราคาของจิตวิญญาณแห่งพระพุทธะ อ้ายอี พวกนั้นไม่ควรจะเรียนรู้อะไรของพระพุทธะ เพราะถือว่าเป้นการเหยียบย่ำทำลายล้าง ดูถูก และประณามวิญญาณของพระพุทธะอย่างเลวร้าย ชั่วชีวิตหลวงปู่ที่พกเงินไม่เกินสามบาท แล้วหลวงปู่สามารถทำสิ่งต่างๆ ให้แก่โลก สังคม จักรวาล สรรพสัตว์ สรรพสิ่ง สภาวะแวดล้อมได้ขนาดนี้ และก็จะยังทำให้ดูเป็นตัวอย่างเป็นเยี่ยงอย่าง ว่าไม่จำเป็นเสมอไปหรอกลูก ว่าทุกอย่างจะสำเร็จได้ด้วยวัตถุ ทุกสิ่งทุกอย่างมันสำเร็จได้ด้วยใจ ได้เหมือนกัน ถ้าเรามีใจ มีความจริงใจ ตั้งใจและเต็มใจ ไม่จำเป็นเสมอไปที่เราต้องบันดาลสรรพสิ่งให้เกิดผลสำเร็จ สัมฤทธิผล ด้วยน้ำเงินหรือราคาค่าของวัตถุเท่านั้น
      
       มีคนถามหลวงปู่ว่า สร้างวัดทำไมต้องให้ใหญ่โตมโหฆาร จะสอนให้ชาวบ้านยึดติดตรงนั้นหรือ ก็เพราะว่าหลวงปู่เป็นคนใช้กิเลส รอบรู้และเข้าใจความหมายของคน และเข้าใจลึกซึ้งถึงแก่นแท้กิเลสของคน สิ่งเหล่านี้มันเป็นเครื่องแสดงออกขององค์ประกอบ ในการบ่งบอกให้เราได้รู้ว่า เราเข้าใจตัวเราได้แค่ไหน ถ้าเราได้เข้ามาที่นี่สำหรับผู้ที่ติดยึดในวัตถุ ก็ยังมีความรู้สึกชื่นชม ยอมรับ จิตใจที่ยอมรับมันก็ครึ่งหนึ่งแล้วกับการที่เราชนะเขา ที่จะพิชิต ขจัด ขัดเกลา ดัดกาย วาจา ใจ และสิ่งที่เป็นขยะมูลฝอยในใจเค้าได้ การที่พวกเรายอมจะน้อมตัวเข้ามาที่นี่ ก็แสดงว่าพวกเราทิ้งขยะเก่าของเรามาครึ่งหนึ่ง แล้วเปิดถังขยะของเราเพื่อจะให้นายช่างผู้ใจดี หรือใครก็ตามที่จะเอามือล้วงขยะเก่า ที่ตกค้างนอนนิ่งอยู่ก้นถังในตัวเราให้ออกมา
      
       แต่เมื่อใดที่พวกเราไม่เข้ามาที่นี่ ไม่มีใครมีสิทธิ์จะไปไล่บอกให้เราเปิดฝาถังขยะออก แล้วเมื่อนั้นขยะมันไม่เต็มตัว ท่วมหัวใจพวกเราอย่างนั้นหรือ และที่พวกเราเข้ามาที่นี่ได้ลำดับแรกก็คือไปดูหน่อยสิเค้าว่าวัดสวยร่มรื่น สรุปก็คือมาได้ ก็เพราะกิเลส มาได้เพราะคนเค้าพูดถึงเรื่องกิเลส เราก็ตามกิเลสเขามา แต่ก็ยังดีกว่ากิเลสที่ ไปดูหน่อยซิเขาว่าอีนี่มันร้องเพลงเพราะ ไปดูหน่อยซิเขาว่าคอนเสิร์ตนี้แสดงดีหลวงปู่ว่านั่นมันเป็นกิเลสที่ทำให้เรา อัปรีย์ แต่กิเลสอย่างแรกเขาเรียกว่า กุศลกิเลส หรือกิเลสที่เป็นความฉลาดพื้นๆ
      
       เพราะฉะนั้น ทั้งหลายทั้งปวง มันเป็นความจำเป็นที่หลวงปู่ต้องรังสรรค์ สร้างสรรค์ ทำให้วัดนี้มันดูดีในสายตาของผู้มีกิเลสทั้งหลาย ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะต้องแสดงกิเลสของตน หรือไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะยึดถือเอาอาวาส เอาวัตถุธาตุ หิน อิฐ ปูน ทราย เหล็ก ทองเหลือง สิ่งทั้งหลายมาเป็นสรณะ ที่พึ่งที่ยึดถือแก่คนทั้งหลาย ไม่ได้มีความคิดอย่างนั้น คิดแต่เพียงว่า ทุกคนมีธรรม มีพระเจ้าสูงสุดอยู่ในจิตวิญญาณ ปลุกจิตวิญญาณของพระเจ้าให้ตื่นขึ้นมาเพื่อที่จะถ่ายทอดวิทยาการให้แก่เรา ให้ได้ และสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นองค์ประกอบพื้นๆ เท่านั้น มันไม่ใช่ใจความสำคัญ แต่มันก็เป็นความจำเป็นที่เราต้องบริหาร จำเป็นที่ต้องดูแลรักษาและพัฒนามันให้มันคงสภาพดี ดูดี สะอาด และมีระเบียบในสายตามชาวบ้าน เพื่อไม่ใช่ส่งให้ตนเป็นผู้สง่างาม แต่เพื่อจะเป็นเครื่องล่อให้ผู้มีธุลีและกิเลสอันเบาบางที่จะเข้ามายอมให้ เราเปิดฝาถังขยะของเขา ล้วงมือเข้าไปในตัวเขา เพื่อดึงเอาขยะในตัวเขาที่ฝังแน่นออกมาอีกให้ได้เท่านั้นเองแหละ การที่หลวงปู่สร้างวัดนี้ ไม่มีเจตนาอยากเป็นสมภาร เจ้าอาวาส หรือมานั่งเฝ้าสมบัติชาวบ้าน
      
       สิ่งที่หลวงปู่เกลียดที่สุดคือ ภาระของสมบัติ ภาระของการบริหารวัตถุ เกลียดที่สุด ไม่งั้นบทกวีเรื่อง "ราชาในกลดน้อย" คงไม่เขียนมาจากจิตวิญญาณหรอก เพราะฉะนั้น ความหมายของพระพุทธะที่อิสระสมบูรณ์แบบ อย่ามาตีราคาด้วยค่าเของเงิน อย่าเอาเครื่องล่อด้วยกามสูตร หรือไม่ก็โลกธรรมทั้ง ๘ ประการ มีสุข ทุกข์ นินทา สรรเสริญ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มันทำอะไรก็ไม่ได้หรอก ไม่ต้องห่วง
      
       จำได้ไหม เมื่อตอนกินข้าวแล้วเปิดเทป หลุมขี้ หนอนขี้ ให้ฟังน่ะ จะกระตุ้นว่าอย่ากินด้วยความเมา อย่างน้อยๆ คิดอะไรไม่ได้ ก็อย่าหือ ไอ้ห่า! เปิดอะไรไม่เปิด เสือกเปิดเรื่องขี้ในเวลากิน มันก็ยังดีกว่าที่ไม่ได้คิดอะไร แล้วกินด้วยความรู้สึกเมา แหมวันนี้มันกินข้าวด้วยความอร่อย เมาในการกินอีก กิเลสเพิ่มพูน โตขึ้นอีก เราตาย แต่กิเลสโต เพราะฉะนั้นต้องยกประโยชน์ให้ผู้มีใจอารี เปิดเทปเรื่องขี้เวลากินให้ฟัง ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นชีวิตของพระพุทธะ มันเป็นศิลปะของการจัดการของปัญหาชีวิต มันไม่ใช่เรื่องของตำรับ ตำรา คัมภีร์ อักษรภาษา หนังสือ หรือพระไตรปิฎกเล่มใดๆ แต่มันอยู่ในจิตวิญญาณและหัวใจของคนทุกคนที่เราไม่รู้ไม่เห็น ไม่เข้าใจมัน ก็เพราะเราไม่ยอม ไม่กล้า ไม่คิด แม้จะปลดปล่อยจิตวิญญาณชีวิตของตน ให้พ้นจากการร้อยรัดของความชอบ ความชัง การยอมรับ หรือการปฏิเสธ เพราะเค้าคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องของกู ตัวกู เราหวงแหนมัน เราไม่กล้า ไม่ปล่อยให้ใครมาแตะต้องมันเด็ดขาด ถ้าคิดแบบนี้เราก็จะต้องสับสนและจมปลักอยู่ในกองขี้ไม่เลิก เพราะฉะนั้น เปิดประตูจิตวิญญาณให้มันเปิดกว้างขึ้นอีกนิดหนึ่ง เพื่อจะได้รับฟังสรรพเสียง สรรพสำเนียงจากจิตวิญญาณแห่งวัตถุธาตุ จิตวิญญาณแห่งสรรพสัตว์ จิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ และจิตวิญญาณของเพื่อนผู้อยู่ร่วมโลก รวมทั้งจิตวิญญาณของเราว่ามันพูดภาษาอะไร และเราฟังแล้วเอามาใช้อะไรได้บ้างกับตัวเรา ทั้งหมดนี้ก็เพื่ออยากจะเตือนพวกเราว่าอย่ากักขังตัวเองไว้ในคุกแห่งอารมณ์ อารมณ์แห่งความเมา เมาในลาภ เมาในยศ เมาในวัย เมาในสุข เมาในทุกข์ หรือเมาในชื่อเสียง เกียรติภูมิ หรือทรัพย์สินสิ่งเหล่านี้เป็นคุกที่กักขังสรรพสัตว์ให้นอนนิ่ง และตายเรื่องมาตลอดกาล และตลอดสมัย เราจะตายติดต่อกันไม่รู้จักสิ้นสุด ถ้าเรามาหลงใหลอยู่ในคุกแบบนี้แล้วคุกนี้ใครเป็นผู้กักขัง เราเองเป็นผู้ขังตัวเราเอง และใครจะเป็นผู้ปลดปล่อยได้ เราเองเป็นผู้ที่จะไขกุญแจแล้วก็ก้าวเดินออกมาอย่างองอาจ สำคัญมันอยู่ที่ว่าเรากล้าหรือไม่ และอาจหาญได้อย่างไรขนาดไหน ที่จะลสัดให้หลุด ไม่ปล่อยให้เราอยู่กับที่
      
       เพราะฉะนั้น ข้อกล่าวหาทั้งหลายที่ประฌามหรือกล่าวหาใส่ตัวหลวงปู่ว่า เป็นคนโหดร้าย เป็นคนไม่เอื้ออาทร เป็นคนที่ไม่มีน้ำใจเป็นคนที่ใจดำ เป็นคนที่ไม่เห็นใจลูกศิษย์นั้น ไม่จริงหรอก ถ้าหลวงปู่เป็นคนอย่างที่เขากล่าวหามาละก็ พวกเราไม่ได้เห็นเงาของหลวงปู่หรอกอย่าว่าแต่เห็นตัวเลย แม้เงาก็ไม่ได้เห็น หลวงปู่อยู่ในถ้ำของตัวเองดีแล้ว สบายแล้วที่ออกจากถ้ำ ถือว่าหลวงปู่ไม่ได้เป็นคนโหดร้าย ไม่ได้เป็นคนที่ไม่มีน้ำใจ ไม่ได้เป็นคนที่ไม่มีความเอื้ออาทร ไม่ได้เป็นคนที่ใจดำ ทุกอย่างเป็นเรื่องที่เมคขึ้นมา ขอใช้ภาษาอังกฤษหน่อย ไม่รู้มันแปลว่าอะไร แต่รู้ว่ามันต้องใช้คำนี้ เท่านี้พอแล้ว หลวงปู่สบายใจที่รู้ว่าหลวงปู่จะใช้มันกับเรื่องอะไร
      
       หลวงปู่แสดงมายากับใครไม่เป็น ชั่วชีวิตนี้ไม่เคยมีคำว่าโกหก ตอแหล หลอกลวง ในจิตวิญญาณของหลวงปู่ ความหมายของพระพุทธะที่สูงสุดนั้น ไม่ใช่การแสดงมายาโฆษณาชวนเชื่อ ทำได้ผลจริง เราเข้าใจมันจริงๆ ก็ถ่ายทอดสิ่งที่เป็นเรื่องจริงให้คนฟังรับรู้ได้จริงเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นคำพูดมึง กู หยาบคาย ไอ้ควาย อีห่า อะไรก็แล้วแต่ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องมายากล มันเรื่องการแสดงออกซึ่งความกระตุ้นเตือน ด้วยวิถีทางแห่งครู อย่างสูงสุดยอด ถ้าพวกเรารู้ว่าหลวงปู่เป็นคนฉลาด เอาความดีของตัวเองไปแลกกับความโกรธเกลียดชาวบ้านเขา แต่เราก็ต้องนึกว่า เอ๊ะ! ท่านด่าเราเรื่องอะไร ถ้าท่านไม่โง่ ทำไมท่านจะทำเหตุให้เราเกลียดท่าน ต้องรู้จักคิดแบบนี้ให้เป็นปรับแนวความคิดของตนซะใหม่ หัดหาข้อสังเกต ชั่วชีวิตหลวงปู่ไม่มีครูสอนแบบนี้ ถ้ามีครูสอนแบบนี้ ดีกว่านี้เยอะแล้ว ทุกอย่างหลวงปู่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง มันก็เป็นไปอย่างลูกผี ลูกคน ลูกวัว ลูกควาย ที่พวกเราเห็นนั่นแหละ พิธีของหลวงปู่ก็เลยเถื่อนๆ ป่าๆ บ้าๆ บอๆแบบนี้แหละ แต่มันเป็นวิธีปลุกและกระตุ้นเตือนศิษย์ให้สะดุ้งอย่างฉับพลัน ปัจจุบันทันด่วน หลวงปู่ถือว่าก็พอใจแล้ว มันจะสะดุ้งจนกระทั่งมันตาย หัวใจวายไป หรือสะดุ้งจนกลับประสาทกินไปก็ช่วยไม่ได้ ถือว่ากรรมของสัตว์ แต่ถ้ามันสะดุ้งแล้วมันตื่นขึ้นมา มันฟื้นขึ้นมาทำแต่เรื่องดีๆ ละก็ คุ้มลูก คุ้ม..คนร้อยคนเกลียดหลวงปู่สักครึ่งหนึ่งในร้อยคนให้มันตื่นและฟื้นคืน ชีวิตขึ้นมาเพื่อจะหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะให้งอกงามไพบูลย์ต่อไปอีก หลวงปู่ว่าคุ้ม
      
       เรามีพ่อแม่เกิดเป็นอันเดียวกัน ก็คือคำว่าบุญและคุณธรรมที่เราเข้ามาร่วมกันอยู่ในนี้ ด้วยความหมายของคำว่าบุญเป็นบิดาและมารดาเกิดของเราและบัดนี้บิดาและมารดา เกิดของเราก็สิงสถิตอยู่ในจิตวิญญาณของคนทุกคน ทุกคนมีบุญ แปลว่า ความอิ่มและเต็มคุณธรรมแปลว่าประเสริฐเลิศ และก็งามพร้อม เมื่อทุกคนมีบุญ และก็นำมันออกมาใช้ทุกที่ ทุกถิ่น นี่แหละคือวิธีที่จะตอบสนองคุณพระศาสนา อย่าคิดว่าจะตอบแทนบุญคุณวัดนี้ด้วยการบริจาค เอาขยะมาเพิ่มพูดไม่ต้อง
      
       หลวงปู่บอกพระว่าที่ส่งท่านออกไปธุดงค์ มิใช่ให้ออกไปเที่ยวเล่นหรือพักผ่อน แต่ส่งให้ท่านออกไปหาประสบการณ์ทางวิญญาณ และก็เผยแผ่พระศาสนา ถ้าท่านไม่สามารถจะแสดงธรรมอันใดทั้งอรรถและพยัญชนะได้กระจ่างชัดและแจ่ม แจ้งก็ทำดั่งพระอัสสชิสงบเสงี่ยม และเจียมตัวเอง ผู้คนทั้งหลายเค้าเห็นท่านละเมียดละไม ละเอียดอ่อน กิริยาอาการดูแล้วสง่างาม เค้าก็จะพากันมาสะกิดสีข้างถามว่า ท่านเป็นศิษย์ใคร ท่านไม่ต้องเอาเกียรติคุณของอาจารย์ไปเล่า บันลือสีหนาทว่า ข้าพเจ้าเป็นศิษย์ของท่านผู้นั้น ท่านผู้นั้นสอนธรรมให้แก่ข้าพเจ้า แต่ขณะเดียวกันตัวเราเองกลับเป็นคนเลวที่สุดในสายตาของสังคมเท่ากับเราเอา อาจารย์ไปประจานและเหยียบย่ำ
      
       ฉะนั้น ถ้าจะคิดจะตอบแทนบุญคุณแห่งอารามธรรมอิสระพระพุทธอิสระ จงกลับไปทำเรื่องดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมชีวิตตนเอง ทำสิ่งที่เป็นเรื่องงามและปฏิเสธสิ่งที่เลวร้าย สนับสนุนและส่งเสริมให้โอกาสแก่คนทำดี ถ้าทำได้อย่างนี้ถือว่าเป็นการประกาศศาสนา ช่วยเหลือคนแก่คนหนึ่งที่อายุ ๘๐ ปี เดินวันละสิบโยชน์เพื่อประกาศศาสนา แล้วก็ช่วยเหลือพระพุทธอิสระ อาวาส อารามธรรมอิสระให้ได้ทำสิ่งดีๆ ถ่ายทอดจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์สืบเนื่องต่อๆ กันไป เท่านี้ก็ถือว่าเป็นการให้การตอบแทนอย่างสูงสุดแล้วละลูก
      
       ท้ายสุดนี้ ทุกคนมานั่งอยู่ในที่นี้ต้องเปรียบเหมือนสวนผลไม้ อาวาสนี้มันก็คือสวนผลไม้สวนใหญ่ ซึ่งมีทั้งทุเรียน เงาะละมุด พุทรา มะม่วง ขนุน มะนาว มะพร้าว ส้มโอ ฟักแฟง แตงโมไชโย โห่ฮิ้ว มันมีทั้งหลายทั้งปวง ทั้งหมด มีทั้งเปรี้ยว ทั้งเค็มทั้งเผ็ด ทั้งขม ทั้งสุก ทั้งไม่สุก ทั้งฝาด ทั้งไม่ฝาด ทั้งจืด ทั้งชนิดที่หมาไม่แดก และหมาแดกได้ ทีนี้มันอยู่กับพวกเราทั้งหลายแล้วละว่า สติปัญญาและดุลพินิจของตน จะเลือกเก็บลูกไหนที่เหมาะกับตน เลือกสิ่งที่เหมาะสมที่ตนคิดว่าทำได้ ทำถึง แล้วมีประโยชน์ เอามาใช้ ไม่ใช่รับมันไปทั้งลูก รับมันไปทั้งสวน แบกมันไปทั้งกระบุงกินไม่ได้ แล้วก็โยนทิ้ง แต่หลวงปู่เชื่อว่า พอพวกเราออกไปจากวัดมันก็ทิ้งอยู่แถวๆ นี้ เต็มไปหมด
      
       หลวงปู่หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สวนผลไม้สวนนี้มันคงให้อาหารทิพย์ในใจแก่เราได้บ้าง ไม่มากก็น้อยละลูกและก็นำเอามันไปใช้เป็นยารักษาโรก โรคสิ้นหวัง โรคไร้ความหวัง โรคท้อถอย โรคหมดกำลังใจ และก็โรคกลัดกลุ้ม ร้อนรุ่ม อึดอัดขัดเคือง สับสน และวุ่นวาย ผลไม้สวนนี้มันก็สามารถรักษาและแก้โรคเหล่านี้ได้ ขอให้มันใช้ได้ถูกวิธีเถิด แล้ววิถีทางแห่งพุทธะก็จะเกิดขึ้นในจิตวิญญาณของพวกเราทุกคนเอง
      
       ราชาในกลดน้อย
      
       กลดคันหนึ่งนี้หรือคือปรางค์มาศ มีมุ้งห้อยย้อยยานต่างม่านคลุม
       มีจีวรแทนเครื่องทรงอลงกต มีขันติเป็นพระขรรค์มั่นกับตัว
       มีปัญญาเป็นอำมาตย์อันปราดเปรื่อง อาณาเขตโดยรอบขอบหนึ่งวา
       สมาธิชิเป็นทรัพย์นับแสนโกฏิ อีกช้างม้าวัวควายทั้งนายกอง
       เสียงจิ้งหรีดคือดนตรีที่ขับกล่อม มีความว่าเป็นราชินีศรีราชา
       คงสุขจริงสิ่งใดไหนจะเปรียบ ความสุขอื่นหมื่นแสนไม่แม้เรา
       มีเสื่อขาดเปรียบที่นอนอันอ่อนนุ่ม มีบาตรอุ้มเฉกเช่นเป็นโรงครัว
       มีศีลพรตเป็นมงกุฏที่สวมหัว ความดีชั่วคือราชการงานนานา
       มีสติเป็นเครื่องที่ปรึกษา คือพาราของเราเฝ้าครอบครอง
       ความสันโดษเป็นเพชรนิลสิ้นทั้งผอง ก็คือของที่ใส่ในย่ามมา
       อยู่พรั่งพร้อมข้างที่พระเคหา อันว่าองค์กษัตราคือตัวเรา
       แม้จะเทียบกับใครไม่อายเขา คงเป็นเจ้าพาราครานี้เอย