เรื่อง พละ ๕

..... เรื่องของ "สติ" ท่านทั้งหลายอย่าเข้าใจว่าเป็นความสงบ ถ้าพูดถึงสติ กับ คำว่าสงบ เป็นการพูดคนละเรื่องกัน สงบ คือ สมาธิ แต่สติ คือ ตัวรู้ ถ้าพูดถึงสติ ก็คือ พูดถึงตัวรู้ รู้อะไร ก็คือรู้ตามความเป็นจริงในสิ่งที่เป็นปัจจุบันธรรม มีธรรมะประโยคหนึ่งเรียกว่าอินทรีย์ ๕ หรือ พละ ๕ ในอินทรี ๕ หรือพละ ๕

..... ในอันดับแรกคือต้องมี ศรัทธา คนปฏิบัติมหาสติปัฏฐาน หรือ ทำอะไรก็แล้วแต่ถ้าไม่มีศรัทธาก็ลำบากที่จะทำ ศรัทธาตัวนี้หมายถึงความรักก็ได้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันกับฉันทะคือความพอใจ เป็นกลุ่มก้อนเดียวกับความเชื่อ และความเชื่อความศรัทธาก็คือความรักความพอใจ

..... และศรัทธาตัวนี้ถ้ามีกับใครมากเกินไป ก็จะทำให้คนนั้นกลายเป็นคนโง่ คนหลงงมงายและเชื่ออะไรง่าย ศรัทธาตัวเดียวไม่ได้ทำให้เราเข้าถึงความหมายแห่งความเป็นจริง เพราะฉะนั้นศรัทธาต้องประกอบไปด้วยปัญญา ในหลักของอินทรีย์ ๕ หรือ

............... พละ ๕ มีข้อปฏิบัติธรรม ๕ อย่างคือ
.......... (๑) ต้องมีศรัทธา
.......... (๒) ต้องมีความเพียร คือวิริยะ
.......... (๓) ต้องมีสติ
.......... (๔) ต้องมีสมาธิ
.......... (๕) ต้องมีปัญญา

..... โดยปกติเราเข้าใจกันว่าการปฏิบัติธรรมนั้นต้องเป็นไปตามขั้นบันได คือ ทำข้อ ๑, ๒, ๓, ๔, และ ๕ เป็นไปตามขั้นตอน แต่ข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่ ในหลักของอินทรีย์ ๕ หรือพละ ๕ ต้องปฏิบัติธรรมข้อ ๑ แล้วข้ามไปรวมกับข้อ ๕ คือปัญญา เราต้องเอาปัญญามารวมอยู่กับศรัทธา จึงจะเป็นพละ หรือกำลัง พละ คือ กำลังของบุคคลผู้กระทำ ทำอะไร พูดอะไร คิดอะไรให้ได้ประสบความสำเร็จ เพราะฉะ นั้นการเจริญสติปัฏฐานท่านต้องมีกำลัง กำลังแรกคือศรัทธา ศรัทธาในการปฏิบัติ เมื่อศรัทธาก็ต้องดิ้นรนขวนขวายให้ได้มาซึ่งศรัทธาอันสมบูรณ์บริสุทธิ์ สมัยก่อนหลวงปู่มีแต่ศรัทธาแต่ขาดปัญญา พอเริ่มสาธยายมนต์ต่างๆในพระสูตร โดยเฉพาะมหาสติปัฏฐานสูตรก็เริ่มทำให้มีปัญญาขึ้นมาบ้าง ปัญญามันเกิดขึ้นเองไม่ใช่จากการศึกษา แต่เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นเองไม่ใช่เกิดจากการศึกษา ปัญญาที่เกิดขึ้นเองนี้เรียกว่าสหชาติกปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาที่ติดตามตัวมาแต่อดีต เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องขวนขวายในปัจจุบัน หน้าที่ของเราคือต้องพัฒนาปัญญาที่มีนี้ให้กลายเป็นปัญญาอันสูงสุดเป็นปัญญาเพื่อความหลุดพ้น

ในหลักพละ ๕ อย่างต้องมีศรัทธาเป็นตัวนำและตามไปด้วยปัญญา แต่คนมีปัญญามาก ถามว่าทำอะไรสำเร็จไหม คนมีปัญญามากๆ มักจะทำอะไรไม่ค่อยสำเร็จ ถามว่าเพราะอะไร เพราะมีแต่ปัญญาอย่างเดียว และเป็นปัญญาที่ตามมาแต่อดีต พวกนี้ปกติจะเป็นคนสำรวย รักสวยรักงาม เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ หาความสำเร็จเป็นสูตรในชีวิตด้วยการคิดอย่างเดียว พวกนี้จะเป็นคนที่รู้หมดทุกเรื่อง ดีก็รู้ ชั่วก็รู้ แต่ถามว่าทำได้ไหม พวกนี้จะทำไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะพวกนี้จะขาดความอดทน พวกมีปัญญาจะไม่ค่อยมีความอดทน พวกที่รุ่งเรืองปัญญาพวกนี้เขาเรียกว่าพุทธิจริต พวกนี้จะไม่ค่อยมีความอดทนอะไร

..... เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงบอกว่าปัญญาจะต้องอยู่กับความเชื่อ ความศรัทธามันจึงจะเป็นกำลังของกันและกัน นอกจากมีปัญญา มีความเชื่อแล้วต้องมีวิริยะในข้อ ๒ คือความเพียร คนมีความเพียรอย่างเดียวก็ไม่ได้เพราะจะกลายเป็นคนโง่ เช่นเดียวกับควาย ที่ถูกคนใช้งานใช้ให้ทำอะไรมันก็จะทำไปเรื่อย ไม่รู้ว่าที่ทำไปนั้นถูกหรือผิด อย่างนี้เรียกว่ามีความเพียรอย่างเดียว ซึ่งมีความเพียรอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องมีศรัทธา มีปัญญาและมีความเพียร แต่ความเพียรต้องใช้กับสมาธิ ซึ่งอยู่ในข้อ ๔ ฉะนั้นข้อ ๒จะต้องใช้ควบคู่ไปกับข้อ ๔ คือความเพียรประกอบไปด้วยสมาธิ เพราะคนมีความเพียรจะหยุดนิ่งไม่ได้ต้องกระตือรือล้น ตะเกียกตะกายไปข้างหน้า ชีวิตจะต้องไม่ยืนอยู่กับที่คนพวกนี้จะคิดอย่างนั้น

..... พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้จะทำให้พวกนี้ไม่มีความสุข ถ้าอยากมีความสุข เมื่อมีความเพียรต้องมีความสงบด้วย ต้องรู้จักว่าเวลาใดควรสงบ และเวลาใดควรเคลื่อนไหว เมื่อรู้จักทำอย่างนี้ชีวิตจึงจะมีความสุข ฉะนั้นความเพียรจะใช้ตัวเดียวโดดๆไม่ได้ต้องมีองค์ประกอบของความเพียรเป็นเครื่องหยุดยั้งไม่ให้ความเพียรโลดแล่นเหมือนม้า หรือโคถึกที่วิ่งโลดแล่นออกนอกถนน ผลที่สุดโดนรถชนตาย เปรียบเหมือนคนขับรถที่ไม่มีเบรค เพราะฉะนั้นสมาธิคือตัวเบรค เบรคความเพียรเอาไว้บ้างเพื่อความปลอดภัย เมื่อไดปัญญาคู่กับศรัทธา ความเพียรคู่กับสมาธิแล้ว เหลือตัวกลางคือสติ สติมีไว้ทำอะไร คำตอบก็คือสติมีเอาไว้ทำหน้าที่ควบคุมศรัทธากับปัญญา และ ความเพียรกับสมาธิ ให้ได้สมดุลกัน

..... เพราะฉะนั้นสติจึงอยู่ตรงกลางรักษาดุลถ่วง ๒ข้างไว้ให้สมดุลกัน สติจึงไม่ใช่ตัวสงบ สติคือตัวรู้ ตัวที่สงบคือสมาธิ ถ้าสติไม่รู้จะทำหน้าที่คุมปัญญาและศรัทธาไม่ได้ และถ้าสติไม่รู้ จะทำหน้าที่ควบคุมความเพียร และความสงบคือสมาธิก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสติคือตัวรู้คอยทำหน้าที่ควบคุมเป็นตัวรักษาดุลถ่วงของโลกและสังคม รักษาดุลถ่วงของสภาวะธรรม สภาวะจิต สภาวะกาย และสภาวะใจ

..... ฉะนั้น สติ คือ ตัวรู้ สติ คือ ผู้รู้ รู้อะไร รู้ว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่กำลังนั่งอยู่ รู้ว่ากำลังนั่งพับเพียบหรือกำลังนั่งขัดสมาธิ รู้ว่าลำตัวตั้งตรงหรือว่าลำตัวกำลังงอ รู้ว่าลำตัวเอียงไปทางซ้ายหรือเอียงไปทางขวา หรือรู้ว่าลำตัวเป็นแนวดิ่งกับพื้นคือลำตัวตั้งตรง รู้ว่าแขนวางอยู่ข้างหน้าหรือวางอยู่ข้างๆ รู้ว่าคอตั้งตรง หรือเอียงไปทางซ้าย หรือเอียงมาทางขวา รู้ว่ากำลังก้มหน้าหรือกำลังเงยหน้า รู้ว่ากำลังหลับตาหรือกำลังลืมตา และรู้ว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก รู้ว่าอาการใดๆเกิดขึ้นกับกายนี้ เช่น ความปวดเมื่อย สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ แต่เฉยๆ รู้ว่าเรากำลังมีเครื่องปรุงจิต คือมีความโกรธแล้วจึงหายใจ หรือรู้ว่าไม่มีเครื่องปรุงจิตคือไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง จิตว่างๆ เรียกว่าเป็น "ปิติจิต" อาการรู้สภาวะตามความเป็นจริงอย่างนี้เรียกว่ามีสติพิจารณากายในกาย รู้ว่าเราสุข รู้ว่าเรากำลังทุกข์ รู้ว่าปวด รู้ว่าเมื่อย หรือไม่ปวดไม่เมื่อย เฉยๆ เรียกว่ามีสติพิจารณาเวทนาในเวทนา รู้ว่าจิตปรากฏความโกรธหรือไม่ปรากฏความโกรธ หลง หรือไม่หลง รักหรือไม่รัก ชอบหรือชัง ยอมรับหรือปฏิเสธ เรียกว่าจิตตานุปัสนา รู้จิตในจิต รู้ว่ากำลังฟังเสียงอยู่ เป็นเสียงแห่งการบอกกล่าวเล่าขานถึงประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรม รู้และเข้าใจในเสียงนั้น ฟังเสียงนั้นแล้วชุ่มฉ่ำใจ เป็นธรรมานุปัสนา รู้ธรรมในธรรม ครบองค์ประกอบมหาสติปัฏฐานสูตร คือมีสติรู้ตามความเป็นจริง การรู้อย่างนี้ได้ประโยชน์อะไร เมื่อเรารู้แล้วว่าอะไรควรต่อจิตรับ อะไรไม่ควรที่จิตนี้จะรับ เราก็จะกำจัดมลภาวะหรือศรัทตรูแห่งจิต เมื่อศรัทตรูและมลภาวะแห่งจิตนี้หายไป จิตก็จะบริสุทธิ์ผ่องใสเรียกว่าประภัสสร จิตนี้จะปล่อยวางจากเครื่องปรุงและเครื่องร้อยรัดทั้งปวง จิตนี้จะไม่มีเครื่องปรุงแต่งใดๆทำให้กระเพื่อมทั้งภายในและภายนอก จิตนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปโดยสันติ จิตดวงใหม่เกิดขึ้นก็มีสติกำหราบ คอยบังคับควบคุมการรู้ของจิต อาการรู้ของจิตและกำจัดสภาวะหรือมลภาวะใดๆได้ นั่นคือที่มาของสมาธิ คือความสงบ

..... ทุกคนได้รู้จักสติแล้ว สำคัญอยู่ที่วิธีใช้ ใช้อย่างไร ใช้ทุกโอกาสที่มีลมหายใจเข้าออก ถ้าเรามีสติ ใครจะด่าเรา เราจะไม่รู้สึกเจ็บ ใครจะชมเรา เราจะไม่รู้สึกลำพอง ผยองตัว ไม่ว่าคำด่าหรือคำชม หลวงปู่เคยเขียนบทโศลกสอนลูกหลานไว้ว่า

..... ลูกรัก…คนจริงเขาไม่ไหวติงกับคำชม ไม่เยินยอ นิยมต่อคำนินทา คนจริงคือคนที่มีสติ เค้าจะไม่ทำให้สิ่งเหล่านี้มาทำร้ายทำลายจนกลายเป็นทาสที่กระดกบนฟองน้ำลายบนปลายลิ้นชาวบ้าน เพราะการมีชีวิตอยู่บนฟองน้ำลายบนปลายลิ้นของชาวบ้าน มันเป็นชีวิตที่ไม่น่าจะเป็นชีวิต มันเป็นชีวิตที่น่าจะสิ้นชีวิต หรือไม่ใช่เจ้าของชีวิต เพราะคน หรือมนุษย์ต้องมีชีวิตเป็นของตนเอง คำว่าชีวิตเป็นของตนเองก็คือ ถึงแม้ชีวิตจะเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไม่มีตัวตน แต่เวลานี้เรากำลังใช้มัน เพราะมันเป็นสมมุติก็ตามที่ เราก็จงใช้สมมุติ ยอมรับในสมมุติ ให้เกียรติในสมมุติ ให้ประโยชน์กับสมมุติ ได้ประโยชน์จากสมมุติ ท้ายที่สุดอย่ายึดติดในสิ่งที่เป็นสมมุติ

..... เพราะฉะนั้นเมื่อรู้จักว่าทุกอย่างเป็น "สมมุติ" ชีวิตเราก็จะกลายเป็นคนที่เป็นเจ้าของชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ เราจะตั้งมั่นได้อย่างมีเสรีภาพ ไม่ตกเป็นทาส เราคือผู้มีสตินั่นเอง คนมีสติจะหาคำตอบให้กับตนเองได้ทุกครั้งที่มีปัญหา คนมีสติจะมีชัยชนะในทุกเรื่องที่คนอื่นสิ้นเปลืองทรัพยากรในการแก้ปัญหา และพ่ายแพ้ แต่เราจะใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดมีประโยชน์ และมีชัยชนะทุกขณะที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ชีวิตเราจะตั้งมั่น องอาจสง่างามและเป็นผู้ฉลาดในการดำรงอยู่