ธรรมต้นเดือน
4พฤษภาคม 2551
อบรมเรื่องปฎิจจสมุปบาทครั้งที่ 3

 

ปกิณกะธรรม
เจริญธรรมเจริญสุขท่านสาธุชนคนดีที่รักทุกท่าน วันนี้เป็นการศึกษาในวิถีจิตคือวิถีแห่งปัญญา คำว่าวิถีจิตนี้ต้องทำความเข้าใจเบื้องต้น เรื่องของวิถีจิตก็คือเรื่องของตัวรู้ ท่านผู้รู้ รับรู้ ตัวรู้ ท่านผู้รู้ และรับรู้ มันมีสิ่งที่รู้แล้วไม่รู้ก็มี รู้แล้วไม่รู้ หรือรับแล้วไม่รู้ก็มี รู้แล้วไม่รู้ก็มี เช่นเรารู้ว่านั่นคือต้นไม้ แต่เราไม่รู้ว่ามันชื่ออะไร อย่างนี้เรียกว่ารู้แล้วไม่รู้ รู้ว่ามีชื่อนี้ แต่ไม่รู้ว่าคุณสมบัติมันเป็นอย่างไร อย่างนี้เรียกว่ารู้แล้วไม่รู้ รู้คุณสมบัติของมันแต่ไม่รู้จักวิธีใช้คุณสมบัติของมันให้เป็นประโยชน์ อย่างนี้ก็เรียกว่ารู้แล้วไม่รู้ รู้วิธีใช้คุณสมบัติให้มันเป็นประโยชน์ แต่ไม่รู้วิธีที่จะผสม สกัด และรู้วิธีที่มันจะให้ฤทธิ์ให้ผลในเวลาจังหวะ อย่างนี้ก็เรียกรู้แล้วไม่รู้ แค่ต้นไม้ต้นเดียวเรารู้แล้วไม่รู้เยอะมาก หญ้าต้นหนึ่งเรารู้ว่านี่คือหญ้าแต่ไม่รู้ว่าชื่อว่าอะไร เราเหยียบมันทุกวันแล้วไม่รู้ว่ามันเป็นประโยชน์อะไรกับเรากับโลกกับสังคม อย่างนี้เรียกว่ารู้แล้วไม่รู้ ชีวิตเรามีตัวรู้แล้วไม่รู้ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้าเยอะมาก เพราะอย่างนี้จึงให้เข้ามาศึกษาวิถีจิต มาศึกษาปฎิจจสมุปปันธรรม ให้เข้าไปสู่องค์คุณของผู้รู้ตื่นและเบิกบาน รู้แล้วไม่รู้ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องว่า ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ถ้าถึงคำว่าไม่รู้ไม่เข้าใจก็คือต้องเป็นผู้หูหนวก ตาบอด แต่บางทีบางครั้งคนหูหนวกตาบอดยังรู้ยังเข้าใจเพราะใช้การชิม การสัมผัส การดม การคลำ ก็ยังมีความเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ความรู้ที่เราต้องการไม่ใช่แค่รู้แล้วไม่รู้ รู้แล้วต้องเข้าใจ ความรู้ที่เราต้องการ รู้แล้วต้องแจ่มแจ้ง รู้แล้วต้องให้ถึงแก่นแห่งความรู้นั้นเพราะฉะนั้นถ้ารู้แล้วไม่ถึงแก่นมันก็จะไม่ใช่วิถีจิต สิ่งที่อยากจะพูดคืออะไร วันนี้เมื่อครู่ก่อนจะมาได้ยินเสียงพิธีกรบอกว่าจะมีการเรียนบทใหม่บทต่อไป หลวงปู่ฟังอยู่ก็หัวเราะ มึงรู้แล้วเหรอว่าต้นไม้ต้นนี้เขาชื่อว่าอะไร รู้แล้วหรือว่าต้นไม้ต้นนี้มันมีประโยชน์มีคุณอย่างไรมีโทษแบบไหน แล้วรู้แล้วหรือว่าวิธีดึงเอาคุณเอาประโยชน์ของมันมาใช้ มาใช้ในเวลาใดจึงจะเหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุด รู้แล้วหรือว่าสิ่งที่เป็นโทษที่แฝงอยู่ในคุณเราจะกำจัดมันให้ออกไปอย่างไร แม้ที่สุดรู้แล้วหรือว่าถ้าต้นไม้ต้นนี้มันมีทั้งคุณทั้งโทษแล้ว วิธีจะใช้ให้มันสมดุลได้ประโยชน์ในคุณในโทษต้องทำอย่างไร แค่ต้นไม้ต้นเดียวก็ยังไม่สามารถจะเรียนรู้ผ่าน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพูดถึงเรื่องเข้าไป เข้าใกล้ เข้าถึง และทำความเข้าใจ และพูดถึงปฎิจจสมุปบาทที่จะต้องเรียน ที่เริ่มต้นจากความโง่ที่เรียกว่าอวิชชา เพราะอวิชชาทำให้เกิดสังขารการปรุงแต่ง สังขารทำให้เกิดวิญญาณการรับรู้ เพราะวิญญาณการรับรู้ทำให้เกิดนาม-รูป เพราะนาม-รูป ก็ทำให้เกิดสฬายตนะที่เรียกว่าแดนต่ออารมณ์ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะมีแดนต่ออารมณ์ที่เรียกว่าสฬายตนะทำให้เกิดผัสสะ มีสัมผัสหรือผัสสะทำให้เกิดเวทนา สุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ พอมีเวทนาแล้วมันก็ทำให้เกิดตัณหาความทะยานอยาก อยากดี อยากมี อยากได้ อยากเป็น ไม่อยากมี ไม่อยากดี ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น แม้ที่สุดไม่อยากอยากทั้งมีทั้งได้ทั้งไม่ได้ก็ถือว่าเป็นตัณหาอย่างหนึ่งเหมือนกัน ที่เรียกว่าวิภวตัณหา พอมีความอยากก็มีความยึดถือ ที่ทะเลาะกัน ต่อยตีกัน เถียงกันไป ก็เพราะมีอุปาทานยึดถือในตัวกู ของกู ตัวกูใหญ่ ตัวกูดี ตัวกูเยอะ ตัวกูเก่ง ตัวกูวิเศษ พอมีอุปาทานความยึดถือก็จะทำให้เกิด ภพแดนเกิดชาติ ชรา มรณะและพยาธิ ทั้งหมดนี่มันจบลงตรงคำว่ารู้แล้วไม่รู้ รู้แล้วไม่รู้ หลายคนอาจจะคิดว่าเรารู้แล้ว เรารู้หมด เราเข้าใจ แต่เราไม่รู้วิธีการอย่างนี้เป็นต้น
เดี๋ยวเรามาทำความเข้าใจ คำว่า เข้าไป เข้าใกล้ เข้าถึง เข้าใจ ที่จริงหลวงปู่ไม่อยากจะสอนพวกมึงหลอก ปฎิจจสมุปบาท มันเป็นเรื่องพื้นๆ แต่ก็มานึกว่าไอ้คำว่าอวิชชา ความไม่รู้นี่ เรายังเรียนไม่ผ่านเลย ถามว่าเพราะอะไรก็เพราะว่าเรารู้จักคน แต่เราไม่รู้ในคุณสมบัติของคน เรารู้จักหน้าตาคน แต่เราไม่รู้นิสัยใจคอคน เรารู้บ้านช่อง ถิ่นฐานอาชีพของคน แต่เราไม่รู้สึกถึงความนึกคิดของคน แม้ที่สุดเรารู้จักตัวเราแต่เราไม่รู้ว่าที่มาของเรา ที่อยู่ของเรา และที่ไปของเรา แล้วจะไปผ่านคำว่าอวิชชาในปฎิจจสมุปบันธรรมได้อย่างไร เรารู้จักว่าตาเห็นรูป แต่เราไม่ว่าที่สุดของรูปนั้นคืออะไร เรารู้จักว่าหูฟังเสียง แต่เราไม่รู้ว่าที่สุดของเสียง และองค์ประกอบแห่งสียงเป็นอย่างไร เรารู้จักดมกลิ่นแต่เราไม่รู้ว่าแดนแห่งการเกิดกลิ่นมีองค์ประกอบเช่นไร เรารู้ว่ากายสัมผัส นุ่มนิ่ม พอใจ แข็งกระด้าง แต่องค์ประกอบของความพึงพอใจ นุ่มนิ่ม แข็งกระด้างมีอะไรเป็นองค์ประกอบแห่งจิต ในขณะที่สัมผัส เรารู้ว่าศาลานี้สูงใหญ่โอ่โถง แต่เราไม่รู้ว่าองค์ประกอบของการเกิดศาลาใหญ่โอ่โถงมันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เหล่านี้คืออวิชชาทั้งนั้นแหละลูก ชาตินี้ทั้งชาติมึงจะผ่านอวิชชาหรือเปล่า อย่ามาบอกว่าจะต้องขยับไปเรียนรู้ข้ออื่นๆ ถ้าเราเรียนรู้คำว่าปฎิจจสมุปปันธรรมไม่ใช่แค่เรียนจำ ถามว่ารู้ปฎิจจสมุปบาทไหม..รู้ แต่มันมีคำว่ารู้แล้วไม่รู้หรือเปล่า เช่นเราไม่รู้ว่ารูปเกิดขึ้นได้อย่างไร สังขารปรุงแต่งแบบไหน สฬายตนะมีผัสสะเป็นตัวกำหนดรับรู้ในแดนต่ออารมณ์นั้นอย่างไร เวทนาเกิดขึ้นหลังผัสสะมีอะไรมากระทบ อะไรจึงปรากฏขึ้นอย่างนี้เป็นต้น ทั้งปฏิจจสมุปบาท มันมีทั้งในกาย และนอกกายเรา ฉะนั้นอย่าเพิ่งตาลีตาเหลือก ตะกูมตะกามตะกระเพื่อจะเรียนให้ได้มากๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นหลวงปู่ก็เป็นครูที่ไม่ใช่ครู เพราะสอนแล้วทำไม่ได้ นั่นไม่ใช่นิสัยหลวงปู่ ถ้าสอนแล้วต้องให้ทำได้ ไม่ใช่จำได้เฉยๆ วันนี้เราจะไม่ขึ้นบทเรียนใหม่ เราจะเข้าไป เข้าใกล้ เข้าถึง และทำความเข้าใจ ในหัวข้อคำว่าความไม่รู้และอวิชชา ความไม่รู้และอวิชชา ก็อย่างที่สอน เราทั้งหลายทั้งปวงที่นั่งอยู่ในนี้ เราไม่มีอะไรรู้เลย คำว่าไม่มีอะไรรู้เลยถ้าไปพูดถึงนิกายเซ็นหรือนิกายลามะ เมื่อไม่มีอะไรรู้เลย ท่านผู้รู้ก็หามีไม่ ก็จะมีคำตอบนี้ออกมา ผู้ที่ตอบประโยคนี้ได้นี้ได้ก็ถือว่าท่านผู้นั้นเป็นพระพุทธะองค์หนึ่งแล้ว. เพราะสรรพสิ่งมันว่างเปล่ามองทะลุทะลวงเป็นสุญญตะหมดแล้ว มันไม่มีอะไรเป็นองค์ประกอบให้ยึด จับฉวย แตะต้อง เฝ้ามอง สังเกต ปรุงแต่ง มันว่างเปล่าไปหมด นั่นคือที่มาของคำที่ว่าเราไม่มีอะไรจะรู้เลย หรือเราไม่มีอะไรที่รู้เลย ในมุมกลับกันมันก็แสดงออกถึงคนที่ไม่รู้จริงๆเหมือนกัน เช่นวัว ควาย คนโง่ หรือคนไม่มีสติปัญญา ถามว่ารู้อะไรไหม....ไม่รู้เลย อย่างนี้ก็มองได้เหมือนกัน ฉะนั้นคำว่าไม่รู้เลยมันจึงมีทั้งควาย กับมีทั้งพระอริยะเจ้า มันเป็นคุณสมบัติของควายก็ได้ หรือ เป็นคุณสมบัติของพระอริยะเจ้าก็ได้ ควายรู้อะไรไหม......ไม่รู้เลย ไปถามพระอริยะเจ้ารู้อะไรไหม....ก็ไม่มีอะไรจะให้รู้เลย ไม่มีอะไรให้ยึดถือเป็นแก่นสาร มีหลักธรรมอธิบายของพระอริยะเจ้า แต่ถ้าควายบอกว่าไม่รู้เลย ก็คือมันไม่รู้อะไรจริงๆ อย่างนี้เป็นคำอธิบายของควาย แต่ถ้าพระอริยะเจ้าต้องมีคำอธิบายใหม่ว่า มันไม่มีอะไรให้จำเป็นต้องรู้ เพราะทุกเรื่องมันมีที่สุดคือความไม่มีอะไร นั่นเป็นคำอธิของคำว่าไม่มีอะไรจะรู้เลย หรือไม่รู้เลยของพระอริยะเจ้า ซึ่งจะแตกต่างจากควาย ที่มันอธิบายไม่ได้ มันจะบอกว่าก็ไม่มีอะไรจะรู้หรือไม่รู้อะไรจริงๆ ฉะนั้นในที่นี้ต้องไม่อธิบายแบบควาย ต้องอธิบายแบบลูกหลานพระอริยะเจ้า คือต้องรู้มันจนถึงที่สุดแห่งความรู้นั้นๆ หลายวันมานี่หลวงปู่ เข้าครัว หุงข้าวทำกับข้าว ถามว่าทำไมต้องทำกับข้าว ...........ขายข้าวแกงไง ลูกหลานมันไม่เลี้ยงอยู่ลำบาก อยู่อดๆ อยากๆอยู่ลำบาก เลยต้องขายข้าวแกงกิน(ทำเสียงน่าสงสาร คนในศาลา หัวเราะ) แล้วก็โวยวายใส่แม่ครัว ตัวอย่างเมื่อวานเราไปสั่งงานในวัดด้วย นอกวัดด้วย สั่งโรงเจด้วย หัวใจมันเลยประท้วงว่าเฮ้ยกูไมไหวแล้ว กูจะนอน เมื่อวานนี้กำลังทำยาต้มยา มันมีคนเข้ามาหามันเป็นชันตุที่จะพัฒนาไปเป็นโรคขี้เรื้อน ก็เลยต้องไปต้มให้เขา ที่นี้ก่อนจะไปต้มยาก็สั่งให้ต้มไข่เพราะจะไปทำพะโล้ตอนเช้า ให้มันต้มไข่ 3 แผงน้ำเกือบเต็มกระทะ คิดดูซิว่ากระทะใบใหญ่ต้องใส่น้ำไปเท่าไหร่กว่าน้ำจะเต็มกระทะ หลวงปู่ถามใส่เกลือไปยัง แม่ครัวตอบใส่แล้ว น้ำเต็มกระทะอย่างนั้นจะใส่เกลือให้เค็มคิดดูจะหมดเกลือไปกี่ถุง แล้วกว่าจะต้มน้ำกระทะนั้นเดือดจะต้องใช้ฟืนใช้ไฟไปเท่าไหร่ แค่ต้มไข่ให้สุกก็เสียน้ำไปตั้งเท่าไหร่ เกลืออีกเท่าไหร่ ฟืนและไฟและเวลาอีกเท่าไหร่ เห็นไหมว่าการทำอะไรที่ไม่รู้จริง มันทำลายอะไรบ้างในโลก ทุกวันนี้เรามีชีวิตอยู่อย่างเป็นผู้รู้ไหม.....ไม่รู้ ไม่รู้ มันก็เลยปรุงไปหมดทุกอย่างหลวงปู่จึงพูดชัดยืนยันแน่นอนว่าปฏิจจสมุปบาปแค่คำว่าอวิชชาคือไม่รู้ มันทำลายสรรพชีวิต สรรพธาตุ สรรพธรรมชาติ สรรพวัตถุ สรรพสิ่งหลากหลายจนล่มสลาย พระพุทธเจ้าสอนปฏิจจสมุปบาทไม่ใช่ให้มานั่งหลับตา ทำสมาธิ แล้วเจริญสติ หรือเพียงแค่เอาตัวรอดไปวันๆ แต่คนอื่นไม่รอดช่างมัน นั่นไม่ใช่ปฏิจจสมุปบาท ปกติหลวงปู่จะทำอาหารในกระทะเพราะว่าเราใช้ฟืน จะหุงต้มผัดแกงอยู่ในกระทะพร้อม เราก็ต้องคิดก่อนว่าเราจะทำอะไร มีอาหาร 7 อย่างเราจะทำอะไรก่อน โดยที่ไม่ต้องล้างกระทะเลย ถ้าเป็นมึงๆจะทำอะไรก่อน (ถาม ลูก หลาน สาธุชน ที่มาปฏิบัติธรรม ) ระหว่างทอดไข่ ไข่พะโล้ แกงเขียวหวาน ต้มจืด ผัดพริกขิง พะแนงเนื้อ ผัดผัก พวกมึงจะทำอะไรก่อน (เสียงตอบแตกต่างกันไป) ใครบอกผัดผัก ยกมือขึ้น ใครบอก พะโล้ ใครบอกทอดไข่ ถามว่าอะไรเป็นข้อถูกของเรื่องการทำอาหาร 7 อย่าง ทอดไข่เสียก่อนเพราะน้ำมันที่เปื้อนกระทะมันไม่ต้องไปล้างลูก ทอดไข่แล้ว ต้องผัดผักต่อเพราะยังมีน้ำมันอยู่ในกระทะ แล้วกระทะก็ยังร้อน ในขณะเดียวกันก็จะใช้เวลาในการผัดผักน้อย ผักจะกรอบ เพราะกระทะทอดไข่มันยังใช้ความร้อนไม่หมด ความร้อนที่อยู่ในกระทะมันก็จะไปกระตุ้นทำให้ผักสีเขียวข้างนอกสุก ข้างในกรอบ รักษาความหวานของผักเอาไว้ ไม่ใช่แค่คิดอย่างเดียว ต้องอธิบายได้ด้วยว่าเหตุผลอะไรจึงต้องผัดผัก ต้องอธิบายให้ได้ ปฏิจจสมุปบาทไม่ใช่แค่อยากเรียนให้มันจบๆ 13คอร์ด 12 ขั้น แล้วก็เลิก พอจบแล้ว แล้วก็ไม่รู้อะไร ไม่ใช่ ผัดผักเสร็จแล้วต้องทำอะไรต่อ ต้องแกงจืด แต่ก็ต้องดูด้วยว่าแกงจืดนั้นแกงจืดอะไรน้ำข้นหรือน้ำใส ถ้าแกงจืดน้ำใสก็ทำต่อไปได้เลย แต่ถ้าเป็นแกงจืดน้ำข้นที่ต้องอาศัยความหวาน มีสี มีกลิ่นของเครื่องเทศ ก็ต้องต้มไข่พะโล้เสียก่อน เพราะเมื่อทำไข่พะโล้แล้วมันก็จะมีความหวานมีกลิ่นของเครื่องเทศติดอยู่ในกระทะ ทำไมมีข้อจำกัดว่าไม่ต้องล้างกระทะ ทำไม.......ก็เพราะว่าประหยัด เพราะกว่าจะล้างกระทะใบบัวแต่ละใบ ต้องใช้คน 2 คนยก ใช้เวลากว่าจะล้างกระทะเสร็จ แล้ว ก็ต้องมาเผาไฟให้ร้อน แล้วจึงจะเอาความร้อนจากกระทะมาเติมน้ำมัน มาต้ม มาแกง แล้วล้างกระทะแต่ละครั้งต้องใช้แฟ้บใช้ฟืนอีกเท่าไหร่ ใช้น้ำอีกกี่ตุ่ม เห็นไหม นี่มันคือปฏิจจสมุปบาทลูก รู้จนไม่มีอะไรให้รู้ ปฏิจสมุปบาทไม่ใช่ตำราแค่มานั่งคุยกัน หลับตา แล้วก็พิจารณากรรมฐานอสุภภะ มนสิการ ระลึกถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้อย่างเดียวที่ไหน ปฏิจจสมุปบาทมันเป็นขบวนการที่จะใช้ชีวิตปัจจุบัน ให้มันตรงกับปฏิจจสมุปปันธรรม รู้จนไม่มีอะไรให้รู้ก่อนเบื้องต้น คือการบริหารจัดการ หลวงปู่เวลาทำกับข้าวในครัว หลวงปู่จะทำกับข้าวอย่างมีปฏิจจสมุปปันธรรม เพราะฉะนั้นจึงอยากบอกลูกหลานว่านี่คือปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธอิสระหรือของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ไม่ได้สอนให้เราไปทำกับข้าว แต่พระองค์สอนให้เราทำกับข้าวอย่างมีปฏิจจสมุปบาท พระองค์ไม่ได้สอนให้เอาปฏิจจสมุปปันธรรมมาหาอยู่หากิน แต่ให้หากินหาอยู่อย่างเป็นผู้รู้ผู้เข้าใจในปฏิจจสมุปบาท เหมือนๆที่หลวงปู่บอกว่าเรารู้ว่าต้นไม้ต้นนี้เป็นต้นไม้ หลายคนรู้ว่าจะ ต้องต้มไข่ แต่ไม่เข้าใจว่าเราจะใส่น้ำเท่าไหร่จึงจะพอดี ใส่เกลือเท่าไหร่ ต้มไข่อย่างไรจึงจะปอกเปลือกง่าย อย่างเมื่อวานนี้เห็นกล้วยมันสุกเยอะๆ หลวงปู่เข้าครัวก็เลยไปโวยวาย ว่าไอ้ที่อยู่นี่มันผู้หญิงหรือเปล่า เราเป็นผู้ชายแท้ๆทำไมยังรู้สึกได้ว่าเหล่านี้มันไม่ถูกต้องของพวกนี้มันไม่ควรจะกองให้เน่าเหม็น ถ้าเป็นผู้หญิงต้องมีคุณสมบัติต้องระลึกสำนึกรู้รับผิดชอบความสะอาด สุขอานามัย ความปลอดภัย แล้วก็มีจิตใจเผื่อแผ่เอื้อเฟื้อแก่คนที่เขาไป เขามา ผู้หญิงมันต้องมีความละเอียดประณีต ในการทำพูดคิดแล้วรู้จักวิเคราะห์ใคร่ควร ให้ทำขนมกล้วย ขายไม่ได้ก็แจกทำให้เขากินได้บุญดีกว่าปล่อยให้มันเน่า เพราะของกว่าจะได้มาแต่ละอย่าง ชาวบ้านเขาขนมาถวาย มันเน่าก็ปล่อยให้มันเน่าอยู่ได้ยังไง เสร็จแล้วหลวงปู่ก็เดินกลับ เขาก็จัดการหามะพร้าวทึมทึกมาขูด ทำขนมกล้วยต้องขูดมะพร้าวอย่างไรจึงจะเอามาทำขนมกล้วยได้ ใครบอกว่าขูดเหมือนมะพร้าวแกงยกมือ ใครบอกว่าใส่น้ำกะทิยกมือ (หลวงปู่ถามคนในศาลา) ขนมกล้วยบอกให้ขูดมะพร้าว แม่ครัวจัดแจงยกกระต่ายมาวาง แล้วเอามะพร้าวมาขูด อย่างนี้ถูกหรือผิด (ตอบผิด) ที่ถูกต้องขูดอย่างไร (ตอบขูดเป็นเส้น) แสดงว่าแม่ครัวมันไม่เคยกินขนมกล้วย เราก็เลยด่ามัน มึงจะมานั่งเสียเวลาขูดกระต่ายทำไมเครื่องก็มี ถ้าต้องการให้ขูดแบบนี้ จะต้องมาใช้ให้มึงขูดเสียเวลาทำไม ไม่เคยกินขนมกล้วยหรือไง อย่างนี้เรียกว่ารู้หรือไม่รู้ ยังมีอีกเยอะมากในชีวิตของพวกมึงยังไม่รู้อะไร นี่คือเรื่องของพวกมึงทั้งนั้นแหละ แล้วอย่าไปถามหาธรรมมะที่สูงส่งกว่านี้เลย อย่าไปพัฒนาหาครูบาอาจารย์ที่วิเศษกว่านี้ ถ้าเรื่องในชีวิตของพวกเรายังไม่สามารถรู้แจ้งแทงตลอดได้ อย่าไปสรรหา เพราะสิ่งที่สรรหามาได้จะกลายเป็นการเพิ่มขยะให้ตัวเอง มันจะมีประโยชน์อะไรเมื่อได้มาแล้วตัวเองไม่พัฒนาขึ้น วิถีคิด ทำ พูด ชีวิตไม่ได้ดีขึ้น ก็ยังเหมือนเดิม เลอะเทอะเหมือนเดิม ซ๊กม๊ก เหมือนเดิม โสโคกเหมือนเดิม ทุกข์เหมือนเดิม สกปรกเหมือนเดิม ไร้ระเบียบเหมือนเดิม ฟุ่มเฟือยเหมือนเดิม ทิ้งขว้างเหมือนเดิม แล้วไม่รู้จักคุณค่าของสรรพสิ่งเหมือนเดิม จะมีประโยชน์อะไรถึงจะไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์พระอรหันต์ก็ไม่มีประโยชน์ พระอรหันต์ท่านไม่ได้ช่วยเราได้เลย ถ้าตราบใดที่เรายัง ซ๊กม๊กเหมือนเดิม เลอะเทอะเหมือนเดิม โสโครกเหมือนเดิม สกปรกเหมือนเดิม ไร้ระเบียบวินัยเหมือนเดิม และไม่รู้จักคุณค่าของสรรพสิ่งเหมือนเดิม ปฏิจจสมุปบาทของที่นี่คือ ปฏิจจสมุปบาทของชีวิต มีชีวิตอยู่กับปฏิจจสมุปปันธรรม ให้ทำความเข้าใจเสียใหม่ มีชีวิตอยู่กับปฏิจจสมุปปันธรรม ฉะนั้นปฏิจสุปปันธรรมไม่ต้องทั้ง 12ข้อ 13 มวล เอาแค่ข้อเดียว ข้อแรกก่อน อวิชชา คือความไม่รู้ ทำให้รู้ในตาเห็นรูป วันนี้เราไม่รู้ในรูปที่เห็น เราไม่รู้ในหูที่ฟัง เราไม่รู้ในจมูกที่ดมกลิ่น เราไม่รู้ในกายที่สัมผัส เราไม่รู้ในรสที่ลิ้ม เวลาหลวงปู่ทำกับข้าวหลวงปู่ไม่ค่อยชิม เพราะว่าชิมไม่ได้ในเวลาที่ไม่ใช่เวลาควรชิม ก็จะใช้ดม ใช้สัมผัส ใช้สังเกต ถามว่าเพื่ออะไร เพื่อจะบอกให้ลูกหลานได้รู้ว่า ถ้าผู้ที่มีความรู้ในปฏิจจสมุปปันธรรม รสไม่จำเป็นต้องรับด้วยลิ้น แม้จมูกและกายก็สามารถสัมผัสถึงรสชาตินั้นได้ ผิวหนังก็สามารถรับสัมผัสถึงรสชาตินั้นได้ ถ้าอยากจะรู้รสเค็มก็ลองเอาเนื้อไปแช่ในเค็มดูจะรู้สึกเค็มเป็นอย่างไร ถ้าอยากจะรู้ว่าเผ็ดไหม ไม่ต้องอะไร บอกให้แม่ครัวตำน้ำพริกแกงส้ม มันก็ตำอย่างขะมักเขม้น ตำน้ำพริกอยู่ตรงนี้ ปอกหัวหอม แต่เปิดพัดลมเป่าใส่หน้า ลมก็เป่าเอาน้ำพริก หัวหอมใส่ตา น้ำหูน้ำตาไหล มันก็ตำไป หันหน้าหนีไป ( ทำท่าให้ดู ฮากันทั้งศาลา) หลวงปู่ก็ยืนมองดูมัน บอกอีห่าเอ้ยทำไมมึงถึงโง่อย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่ามันรู้ไหม แค่นี้ก็ไม่รอดแล้ว เพราะฉะนั้นต้องมีปฏิจจสมุปปันธรรม ต้องรู้ให้จริง รู้ให้ลึก รู้ให้ชัด รู้จนไม่มีอะไรให้รู้แล้ว ไม่มีอะไรให้ต้องรับรู้ต่อไปแล้วนั่นแหละ ทีนี้เราก็จะเข้าใจถึงสังขารการปรุงอย่างไร วิญญาณเกิดขึ้นจากการปรุงแต่งแบบไหน ปรุงอย่างไรจึงเรียกว่ามีวิญญาณ ปรุงอย่างไรที่ไม่เกิดวิญญาณ แม้เกิดวิญญาณการรับรู้ ก็ไม่เกิดนามรูป แม้มีนามรูปปรากฏ มีสฬายตะนะ ก็สามารถกำกับผัสสะได้ว่า สิ่งนี้ควรสัมผัส สิ่งนี้ไม่ควรสัมผัส สิ่งนั้นควรดู สิ่งนี้ไม่ควรดู สิ่งนี้ควรฟัง สิ่งนั้นไม่ควรฟัง สิ่งนี้ควรดม สิ่งนั้นไม่ควรดม เลือกดมแต่สิ่งที่เป็นกุศลเรียกว่าควบคุมผัสสะ ทีนี้เวทนาเมื่อมันเกิดขึ้นในความสามรถที่จะควบคุมได้ มันก็จะมีแต่สุขเวทนา มันก็ไม่มีทุกขเวทนา แล้วชีวิตอยู่ได้ไหม พอเรารู้ปฏิจจสมุปบาท ก็มีชีวิตเหมือนเดิม แต่ชีวิตของคนที่มีปฏิจจสมุปบาทคือชีวิตของคนที่มีสุขเวทนา ส่วนทุกขเวทนามันมีอยู่เพราะเป็นสมบัติเจ้าเรือนแต่ไม่มีทุกข์จากข้างนอกเพราะเราสามารถควบคุมผัสสะไว้ได้ ควบคุมผัสสะได้ก็คือควบคุมเวทนาได้ คุมเวทนาได้ก็คุม ความอยากได้คุมตัณหาได้ คุมตัณหาได้ ถึงเวลาที่มันจะต้องวาง อุปาทานมันก็คุมได้ดี หลวงปู่จึงเขียนไว้เมื่อ 30ปีที่แล้วว่า รู้จักสมมุติ ใช้สมมุติ ให้ประโยชน์กับสมมุติ ได้ประโยชน์จากสมมุติ ท้ายที่สุดอย่ายึดติดในสิ่งสมมุติเพราะเราคุมมันได้ เราคุมผัสสะได้ คุมเวทนาได้ คุมความอยากได้ มันก็จะไปจบลงตรงคำว่า อุปาทานความยึดถือก็จะไม่มีอำนาจเหนือเรา พออุปาทานความยึดถือไม่มีอำนาจเหนือเรา ภพ ชรา มรณะ พยาธิ เราก็สามารถกำหนดรับรู้ได้ เมื่อ 3 วันที่ผ่านมาหัวใจมันเกิดผิดปกติ นอนไปแล้วมันจะเกิดสภาวะหัวใจจะหยุดเต้น รู้สึกตัวก็ลุกขึ้นมานั่ง แล้วก็เดินลมปราณโอสถ ในขณะที่จะนั่ง กำลังจะนอนกึ่งนั่ง ก็มีเสียงตะโกนมาว่า หมดอายุไขแล้ว ตายแล้ว ไปได้แล้ว แล้วก็ได้ยินเสียงพวกมึงกับ พวกกรรมการมูลนิธิ ยายสุนันทา บอกต่ออายุให้ท่าน ต่ออายุให้ท่าน เราก็นั่งดูมันวิ่งไปวิ่งมา เราก็นึกในใจพวกมึงจะมีปัญญาต่ออายุให้กูด้วยเหรอ อายุพวกมึงยังไม่รู้จะรอดผีรอดคน แล้วยังจะมีปัญญาต่ออายุให้กูหรือ ยังนึกในใจก็ไม่ได้สนใจอะไร พักหลังๆนี่มันจะฝันอย่างนี้ถี่ๆ แต่ก็ไม่ต้องกังวลอะไรยังรบกับพวกมึงอีกหลายหนับ กำลังรองยาโรคหัวใจ ฉันยา ฉันแล้วรู้สึกดีขึ้น นี่ไม่ได้มาอวดยาตัวเองเน้อ ฉันแล้วหัวใจก็กลับมาปกติ
การปฏิบัติธรรม
4พฤษภาคม 2551ภาคเช้า
คำสั่ง ลุกขึ้นยืน อย่างผ่อนคลาย ทำชีวิตร่างกายให้ผ่อนคลาย ปัญหาของพวกเราอยากจะบอกตรงๆชัดๆด้วยหัวใจของความเป็นครู และสงสาร คนที่เข้าไป เข้าใกล้ เข้าถึง และเข้าใจ มันจะต้องมีความพร้อมนะลูก แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ทุกวันนี้ลูกหลานแต่ละคนหรือบางคนไม่พร้อม แม้เราจะเดินทางมาตั้งไกล ถามว่าพร้อมไหม ก็ยังไม่พร้อม ถามว่าไม่พร้อมเพราะอะไร ไม่พร้อมเพราะสภาวธรรม บางทีมาก็มานั่งสัปหงก บางทีก็นั่งหลับ บางทีก็เคลิ้ม บางที่ก็หงุดหงิดรำคาญ บางทีก็ยังมีโทสะทิ้งร้างนานไม่เลิก อย่างนี้เรียกว่ายังไม่พร้อม ไม่ใช่ไม่พร้อมที่จะเข้าใกล้ ไม่พร้อมที่จะเข้าถึง เข้าถึงใคร ไม่ใช่เข้าถึงคนเป็นครู แต่เข้าถึงวิชชาความรู้ เลยต้องมานั่งเสียเวลากับความไม่พร้อมของพวกเรา เราจะสังเกตหลวงปู่จะบอกให้เปลี่ยนอิริยาบถ ขยับขยาย โยกย้ายเหล่านี้เป็นการกระตุ้นให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมมีสติ ถ้าทุกคนพร้อมโดยที่ไม่ต้องมานั่งกระตุกกระตุ้นเตือนกันอยู่อย่างนี้ ความก้าวหน้าในสรรพวิทยามันก็จะขยับไปได้เรื่อย นิสัยหลวงปู่ไม่ชอบสอนคนนอนหลับ ไม่ชอบสอนคนตาย บอกแล้วว่าหลวงปู่ไม่สอนคนสองประเภทคือคนหลับกับคนตาย ฉะนั้นต้องหาวิธีทำตัวเองให้ พร้อม พร้อมที่จะยอมรับสรรพวิทยาทั้งปวง แล้วถ้าจะบอกว่าอุตส่าห์มาตั้งไกลแล้วยังบอกไม่พร้อมอีกหรือก็พร้อมแต่ซาก แต่ไม่พร้อมทั้งกายและใจ พูดแบบนี้ก็คงจะเข้าใจ หลายคนคงจะรู้ดี จริงเราต้องยอมรับสภาวธรรมในขณะหนึ่งๆนี่เราเผลอ เราฟุ้ง เราขาดสติ เราวูบ เราหลับ เราลืม ฉะนั้นก็ต้องมาปรับตัวเองให้พร้อม ในเวลาที่จะรับ เหมือนเรารู้ว่าฝนจะตกและตกน้อยมาก ตกเฉพาะวันนี้ ภาชนะที่จะรองน้ำฝนก็ต้องมีพร้อม เมื่อรู้ว่ามันตกก็เปิดฝารับทันที นี่ก็รู้ว่ามันตก แล้วก็ตกไม่มาก แต่ยังวิ่งหาภาชนะอยู่เลย หรือหามาแล้วภาชนะกลับรั่วเสียอีก เสียเวลา บางคนก็เป็นภาชนะรั่ว บางคนก็ยังไม่มีภาชนะ บางคนมีภาชนะแต่ปิดฝา ก็ต้องทำให้อาตมา เปิดภาชนะ หาภาชนะ แล้วก็อุดภาชนะ มันทำให้เสียเวลาเกินกาล ลูกหลานต้องปรับตัวเองให้พร้อม ต้องทำตัวเองให้พร้อม ครูที่ดีไม่ต้องการศิษย์ มีแต่ศิษย์ที่ดีเท่านั้นที่ต้องการครู ศิษย์ที่เมื่อเจอครูต้องแสดงให้ครูได้รู้ว่า เราพร้อมที่จะรับการฝึกอบรมของครู แม้กระทั่งต้องป่นกระดูกให้เป็นแป้งก็ต้องทำเพื่อจะได้เข้าถึงวิญญาณครู รับความรู้ที่ครูมีให้เรา ฉะนั้นพวกเราต้องทำ ต้องฝึกตัวเองทำให้พรั่งพร้อมและพร้อมมูล
คำสั่ง ยืนด้วยปลายเท้า หายใจเข้ายก 2 แขนชี้ตรงมาข้างหน้าเหนือศีรษะ แขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น
หายใจออก ลดลง
(ทำท่านี้ 5 ครั้ง ) ทุกครั้งต้องแขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น จะได้ไม่เป็นโรคไส้เลื่อน ไส้ไหล ปัสสาวะกะปริบกระปอยจะได้หาย ทำให้กล้ามเนื้อในช่องท้องทุกส่วนแข็งแรง
ต่อไปเป็นบททดสอบเพื่อให้รู้สึกตัวเองว่าเราพร้อมไหม

คำสั่งที่ 1 หายใจเข้ายืนด้วยปลายเท้าขวา ยกส้นเท้าขวา
หายใจออกลดลง

คำสั่งที่2 หายใจเข้าพลิกฝ่าเท้าขวา ถ่ายน้ำหนักไปที่สีข้างเท้าขวากดกับพื้น
หายใจออกกลับมาตรง

คำสั่งที่3 หายใจเข้ายืนด้วยปลายเท้าซ้าย ยกส้นเท้าซ้าย
หายใจออกกลับมาตรง

คำสั่งที่3 หายใจเข้า พลิก 2 ฝ่าเท้า
หายใจออกลดลง

คำสั่งที่4 หายใจเข้ายืนด้วยปลายเท้า ยกส้นเท้า แขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น
หายใจออกกลับมาตรง

คำสั่งที่5 หายใจเข้ายืนด้วยปลายเท้า 2 ข้าง ยกแขนขวา ชี้ตรงมาข้างหน้าเสมอไหล่
หายใจออกลดลง

คำสั่งที่6 หายใจเข้ายืนด้วยปลายเท้า 2 ข้าง ยกแขนซ้าย ชี้ตรงมาข้างหน้าเสมอไหล่
หายใจออกลดลง

คำสั่งที่7 หายใจเข้ายืนด้วยปลายเท้า 2 ข้าง ยก 2 แขน ชี้ตรงมาข้างหน้าเสมอไหล่
หายใจออกลดลง

คำสั่งที่8 หายใจเข้ายืนด้วยปลายเท้า 2 ข้าง ยกแขนขวา ชี้ตรงมาข้างหน้าเหนือศีรษะ
หายใจออกลดลง

คำสั่งที่9 หายใจเข้ายก ส้นเท้า ยก2 แขนชี้ตรงมาข้างหน้าเสมอไหล่
หายใจออกลดลง

คำสั่งที่10 หายใจเข้ายก ส้นเท้า ยืนด้วยปลายเท้า ยก2 แขนชี้ตรงมาข้างหน้าเหนือศีรษะ
หายใจออกลด 2 ส้นเท้าลง

คำสั่งที่11 หายใจเข้า หายใจออกลด ปีกขวาลงข้างลำตัว
หายใจเข้า หายใจออกลดปีกซ้ายลงข้างลำตัว

คำสั่งที่12 หายใจเข้ายืนด้วยปลายเท้า 2 ยกปีกขวาเหนือศีรษะ
หายใจออกลด 2 ส้นเท้าลง ลดปีกขวามาด้านหน้าเสมอไหล่ลดลงข้างลำตัว
ที่ให้ฝึกให้ฝึกอย่างนี้เพื่อสร้างตัวรู้ให้เกิดขึ้น ตราบใดที่ไม่มีตัวรู้ ตัวรู้ยังไม่เกิดจะเรียนรู้อะไร

คำสั่งที่13 สูดลมหายใจเข้ายืนด้วยปลายเท้า ยก 2 แขนชี้ตรงมาข้างหน้าเสมอไหล่
หายใจออกลด 2 เท้าลง วาด 2 แขนไปเป็น 2 ปีก

คำสั่งที่14 หายใจเข้ายืนด้วยปลายเท้า ยก2 ปีกเหนือศีรษะหลังมือชนกันแขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น
หายใจออกลด 2 เท้าลง วาด2 ปีกชี้ตรงมาข้างหน้า ลดลงข้างหน้าหลังมือชนกัน

คำสั่งที่15 สูดลมหายใจเข้า หายใจออกวาด 2 แขน เป็น 2 ปีก ยืนด้วยปลายเท้า
หายใจเข้า ลด 2 ปีกลง
หายใจออกลด 2 เท้าลง

คำสั่งที่16 หายใจเข้า ยก 2 แขน ชี้ตรงมาข้างหน้าเสมอไหล่
หายใจออกลดแขนขวาลงข้างลำตัว

คำสั่งที่17 หายใจเข้า วาดแขนซ้ายไปเป็นปีกซ้าย
หายใจออกยกปีกซ้ายขึ้นเหนือศีรษะแขนแนบหู
สูดลมหายใจเข้า ยกปีกขวาเสมอไหล่ ลดปกซ้ายข้างลำตัว
หายใจออก

คำสั่งที่18 สูดลมหายใจเข้า ยก 2 เท้า ยืนด้วยปลายเท้า
หายใจออกลดปีกขวาลงข้างลำตัว

คำสั่งที่19 หายใจเข้า ยก 2 ปีกเหนือศีรษะ ประนมมือ ลดส้นเท้าลง
หายใจออก พลิกฝ่าเท้าก้มตัวลงข้างหน้า ฝ่ามือแนบพื้น เข่าตึง

คำสั่งที่20 หายใจเข้ากลับมาตรง 2มือยังประนมเหนือศีรษะ
หายใจออกบิดลำตัวไปข้างขวา
หายใจเข้า หายใจออกก้มตัวลงด้านขวาฝ่ามือแนบพื้น
หายใจเข้ากลับตรงด้านขวา
หายใจออกกลับมาตรงด้านหน้า

คำสั่งที่21 สูดลมหายใจเข้า ปิดลำตัวไปทางซ้าย
หายใจออกก้มตัวลงด้านหน้าซ้าย ฝ่ามือแนบพื้นขาตึง
หายใจเข้ากลับมาตรงด้านซ้าย
หายใจออกกลับมาตรงด้านหน้า
หายใจเข้า หายใจออกก้มตัวลง พลิกฝ่าเท้า 2 ข้าง ฝ่ามือแนบพื้น เข่าตึง
หายใจเข้ากลับมาตรง ยก 2 แขนเหนือศีรษะประนมมือ

คำสั่งที่22 หายใจออกเอียงตัวไปทางขวา พลิกฝ่าเท้าขวา
หายใจเข้ากลับมาตรง
หายใจออกพลิกฝ่าเท้าซ้าย เอียงลำตัวด้านซ้าย
หายใจเข้ากลับมาตรง
หายใจออกเอนตัวไปข้างหลัง อ้าปากออกเสียง.....อ้า
หายใจเข้ากลับมาตรง
หายใจออกก้มตัวลง พลิกฝ่าเท้า 2 ข้าง ฝ่ามือแนบพื้น เข่าตึง
หายใจเข้ากลับมาตรง ทิ้ง 2 แขนข้างลำตัว พักผ่อนคลาย หาน้ำดื่ม

คำสั่งที่23 นั่งลงเตรียมกระดาษดินสอ
เขียนในช่องที่1 อวิชชา ไม่รู้
ไม่รู้ในรูป
ไม่รู้ในรส
ไม่รู้ในกลิ่น
ไม่รู้ในเสียง
ไม่รู้ในสัมผัส
เขียนในช่องช่องที่2 รู้วิชชา
รู้ในรูป
รู้ในรส
รู้ในกลิ่น
รู้ในเสียง
รู้ในสัมผัส
เขียนในช่องที่3 ไม่ผัสสะ
ไม่ผัสสะก็คือ เราไม่ดู แม้ดูก็ไม่ปรุง ไม่เอาเป็นอารมณ์ ดูแล้ววางเฉย ไม่เกิดเวทนา
เฉยรูป
เฉยในรส
เฉยในกลิ่น
เฉยในเสียง
เฉยในสัมผัส
วิธีต้องทำความเข้าใจก่อนเช่น เห็นผู้หญิง รู้ว่าผู้หญิง แต่ไม่รู้ว่ามีนิสัยอย่างไร ไม่รู้ความประพฤติ ปฏิบัติ ไม่รู้ในสิ่งที่เขาทำพูดคิดอย่างนี้ถือว่าไม่รู้
(สรุปว่าเราไม่รู้ในรูปผู้หญิงผู้นี้ คือเรารู้ว่าผู้หญิง แต่ไม่รู้ว่าองค์ประกอบว่าเป็นอย่างไร ก็คือรู้แต่ไม่รู้) ขีดในช่อง ไม่รู้ในรูป
(เห็นลูกศิษย์ทำหน้างงๆเปลี่ยนให้ทำง่ายๆก่อน)
เปลี่ยนวิธีใหม่ให้ทำง่ายๆก่อน เช่นถ้ารู้จักคนก็รู้ว่า คนนี้เป็นคน คนผู้หญิงหรือผู้ชาย แล้วรู้ให้ขีดลงในชองนั้นๆว่ารู้ รู้ทางไหนให้เขียนด้วย เช่นรู้ว่าคนนี้เป็นผู้หญิง ให้ ขีดในช่องรู้ในรูปเขียนกำกับว่า (ตา) รู้ทางเสียง (หู) รู้ทางกลิ่น (จมูก) รู้ทางรส (ลิ้น)รู้ทางสัมผัส (กาย)เอาง่ายๆอย่างนี้ก่อนแล้วค่อยขยับเข้าไปให้ลึกกว่านี้คือให้รู้ว่าคน แล้วคนๆนี้คิดอย่างไร คนๆนี้มีพฤติกรรมแบบไหน คนผู้นี้ทำพูดคิดนึกอย่างไร ลักษณะองค์ประกอบ แล้วเป็นใหญ่ในอารมณ์อะไรนั่นว่าไปอีกเรื่องหนึ่ง ขั้นต่อไปก็คือต้องรู้ว่าเป็นใหญ่ในอารมณ์อะไร โกรธเป็นใหญ่ โลภเป็นใหญ่ หลงเป็นใหญ่ โง่เป็นใหญ่ ฉลาดเป็นใหญ่ อย่างนี้เป็นต้น แต่ตอนเอาเพียงแค่ว่า คนนี้เป็นคน คนผู้หญิงหรือผู้ชาย
( กูก็ว่ามึงยังงงอยู่อีก สอนคนไม่รู้ สอนให้มันรู้มันยาก)
เอาอีกที ตามองอะไรแล้วรู้ไหม ที่สุดที่มองมันเป็นอะไรแล้วรู้ไหม ถ้ารู้ ขีดในช่องรู้รูป เขียนกำกับไว้ว่า รู้ทางตา เช่นถ้าตามองต้นไม้ ดูรู้ว่าต้นไม้ต้นนี้ชื่ออะไร ถ้ารู้ให้ขีดในช่อง รู้ ถ้าไม่รู้จักชื่อก็ ขีดในช่องไม่รู้ ตามองคน แต่ไม่รู้จักคนนี้ชื่ออะไร ต้องเขียนในช่องไม่รู้ กำกับว่าไม่รู้จักชื่อคนๆนี้ มองพระพุทธรูป รู้จักพระพุทธรูป แต่ไม่รู้องค์ประกอบของพระพุทธรูป ว่ารูปนี้เป็นปางอะไร มีพระนามว่าอะไรก็เขียนในช่องว่าไม่รู้ แต่ถ้ารู้ว่าปางอะไรก็เขียนในช่องรู้ มีพระนามว่าอะไรก็เขียน ในช่องรู้ องค์ประกอบทำด้วยอะไร ทำด้วยทองเหลือง ทองแดง โลหะผสมสำริด รู้ ก็ขีด ในช่องรู้ ฝึกอย่างนี้ก็ให้มีพิจารณาญาณวิเคราะห์ให้ละเอียดอ่อน ไม่ใช่เป็นคนนิสัยหยาบ มองแล้วผ่านเฉย ละเลย หาคำตอบให้ได้ นี่แหละเขาเรียกว่าฝึกตัวรู้ในวิถีจิตเบื้องต้นก่อน อย่าพึ่งไปถึงคำว่าสังขารการปรุง วิญญาณการรับรู้มันจะลึกไปใหญ่ ที่ให้เขียนไว้เมื่อครู่เพื่อจะให้ฝึกตัววิญญาณการรับรู้ เพราะเมื่อคราวที่แล้วฝึก 3 ตัวไปใช่ไหม อวิชชา สังขาร และวิญญาณ แต่พอลองให้ทำดูแล้วดูงง ก็เอาตัวให้รู้ชัดๆตัวเดียวก่อน เอาเป็นว่า รู้ ก็ขีดในช่องรู้ ไม่รู้ ก็ขีดในช่อง ไม่รู้ ก็แล้วกัน

คำสั่งพร้อม เริ่มมันมีกระบวนการที่ไม่รับรู้เลยได้ไหม คือไม่จำเป็นต้องรู้ อย่างนั้นต้องมีตัวรู้อยู่ภายใน ถ้าไม่อยากรับรู้อะไรก็ให้มีตัวรู้ รู้อยู่ภายใน แต่เมื่อใดที่ออกไปรู้ต้องวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งที่รู้คืออะไร และเมื่อรู้อย่างชัดแจ้งก็ให้เขียนในช่องว่ารู้ แต่ถ้าวิเคราะห์ไม่ได้ก็ให้เขียนในช่องว่าไม่รู้ แต่ถ้าไม่อยากจะรู้ เพราะ รู้ว่าไปรับมาแล้วมันเหนื่อย รับมันแล้วมันเหนื่อย ก็หยุดที่จะรับรู้ข้างนอกแต่มารู้อยู่แต่ภายใน ให้เขียนในช่องว่ารู้อยู่เฉยๆ แต่ถ้าออกไปรู้ทางตา รู้ทางหู รู้ทางกลิ่น ก็ต้องตามไปว่าสิ่งที่รับรู้มานั้นที่สุดของมันคืออะไร เขามีคำกล่าวในวิปัสสนาญาณว่าที่สุดของสรรพสิ่งคือไม่มีสักสรรพสิ่ง นั่นคือมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป แต่มันรวบรัดเกินไปสำหรับคนฝึกใหม่ มันจะไม่ทำให้ปัญญาแหลมคม ก็ต้องตามไปวิเคราะห์ว่ามันเกิดอย่างไรทุกสิ่งที่เกิดขึ้น มันตั้งอยู่แบบไหน แล้วมันมีเหตุปัจจัยอะไรทำไมถึงดับ อย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนาญาณ แต่อยู่ดีๆบอกว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วมันก็ดับไม่ต้องไปสนใจ อย่างนี้เขาเรียกว่ารู้แล้วไม่รู้ ไม่ใช่วิปัสสนาญาณแต่เป็นวิปัสนึก ถ้าวิปัสสนาญาณต้องตามไปให้ได้ว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร มันตั้งอยู่แบบไหนแล้วเหตุปัจจัยอะไรจึงดับ อย่างนี้เรียกว่าเป็นวิปัสสนาญาณ ฉะนั้นคนที่ฝึกใหม่ๆหรือกำลังจะฝึกแล้วยังไม่ช่ำชองเชี่ยวชาญ ก็เอาเป็นว่าสิ่งใดที่เรารู้เราต้องตามไปดูที่สุดของมันคืออะไร แต่หาที่สุดไม่ได้ ถ้าไปรับรู้แล้วมันเหนื่อยอย่างนั้นก็กลับมารับรู้ภายใน ให้รู้อยู่ข้างในเรียกว่ารู้แล้วเฉย ขีดไปในช่องรู้เฉย รู้เฉย รู้เฉย แต่ถ้าเมื่อใดที่ออกไปข้างนอก ก็ต้องมีตัวรู้ติดไปเหมือนกับคนที่ออกไปนอกบ้านก็ต้องมีสตางค์ติดตัวไปด้วย เราจะได้เข้าใจในสิ่งที่ไปรู้นั้นมีอะไรบ้าง เป็นมิตร หรือเป็นศัตรู เป็นญาติหรือไม่ใช่ญาติ รู้จักหรือไม่รู้จัก คุ้นเคยหรือไม่คุณเคย ประโยชน์หรือไม่ใช่ประโยชน์นี่คือหลักในการวิเคราะห์ แม้ที่สุดรู้ว่ามันไม่เป็นประโยชน์ ก็กลับเข้ามาในบ้านมารู้อยู่ข้างใน ที่จริงชีวิตปฏิจจสมุปปันธรรมในขั้นนี้มันก็คือชีวิตจริงๆของพวกเรานั่นแหละ ขอเพียงมีปัญญาในการวิเคราะห์ คือพกสตางค์ออกจากบ้าน พกตัวรู้ออกจากบ้านเพื่อไปจับจ่ายซื้อของ แต่ที่สุดแล้วมันไม่มีประโยชน์ อย่างนั้นจะไปจับจ่ายทำไม อย่างนี้เป็นต้น ถ้ามีประโยชน์ก็พกต่อไป ถ้าซื้อแล้วมันไม่มีประโยชน์ก็ต้องหาที่สุด มันไร้สาระอย่างนั้นก็กลับมาบ้านเรา บ้านเราในที่นี้ก็คือกาย เข้ามาอยู่กับกายแล้ววางเฉย ตามองไป แล้วมันดูรูปนั้นรูปนี้เลอะเทอะเปราะไป ดูแล้วเฉยไหมดูแล้วเฉยก็ถือว่าเรารู้เฉย แต่ถ้าดูแล้วเอามาคิด คนนั้นดูหน้าตาดี คนนี้ดูหน้าตาดี ก็ตามต่อไปว่าดีน่ะดีตรงไหน มันดีเพราะหน้าหรือดีเพราะใจเรา ดีเพราะอารมณ์ของเรา พระรูปสวย สวยเพราะรูปพระหรือสวยเพราะว่าใจเราคิดว่ามันรูปสวย หรือว่าอารมณ์มันแต่งว่าสวย ฝึกให้ใช้วิถีจิต วิถีจิตเป็นวิถีแห่งปัญญาลูก มันฝึกไม่ใช่ง่าย ใหม่ๆจะเริ่มจากความโง่ แล้วก็งง แต่ต่อไปก็จะเข้าใจและรู้แจ้ง มันจะแตกต่างจากการฝึกในวิถีของสรรพสัตว์ ก็คือนิ่งแล้วสงบเข้าไว้ อย่าไปเห็นอะไรเลย อย่าไปมองอะไรทั้งนั้น ซึ่งจะแตกต่างจากวิถีของปัญญา ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้เบื้องต้นมันก็จะรู้ว่าไม่ได้ฝึกง่าย แต่ถ้าไม่ฝึกมันก็จะโง่ต่อไปไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ งั้นต้องพยายาม ถ้าดำรงตัวรู้แล้วเฉยอยู่ภายในก็อาจจะใช้หลักของคำว่าอินทรีย์สังวร คือสำรวมตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส และ ใจรับรู้อารมณ์ รับให้มันน้อยแต่รู้ให้มันมาก พูดง่ายๆ รับเข้ามาให้น้อย แต่มีตัวรู้ภายในอยู่มากๆ เหมือนกับจ่ายให้น้อยแต่มีเงินเก็บมาก ปฏิจจสมุปปันธรรมขั้นนี้เป็นปฏิจจสมุปปันธรรมขั้นปฏิบัติการซึ่งจะแตกต่างกับปฏิจจสมุปปันธรรมเดิมๆที่เราฝึกมา ก็คือเราจะฝึกแต่ตัวรู้ภายใน รู้ว่าเวลานี้เราคันอยู่ เราเกาก็ขีด รู้ว่าเวลานี้เราหายใจอยู่ก็ขีด รู้ว่าเวลานี้เราป่วย เราเจ็บ เราหัวเราะ เรามีอารมณ์ ก็ขีด แต่ปฏิจจสมุปปันธรรมขั้นนี้ คือออกไปรู้สิ่งรอบๆตัวเรา ศึกษาสิ่งรอบๆตัวเราเป็นขั้นที่นำมาใช้กับชีวิตเรียกว่าขั้นปฏิบัติการในเชิงรุก ซึ่งก็ต้องมีเงินมาก มีตัวรู้มากนั่นเอง เพราะเราจะออกไปจ่ายของแล้วไม่มีสตางค์ไปไดยังไง มันก็จะยากกว่าขั้นเดิมๆ เพราะต้องสังเกตทุกเรื่อง ต้องพินิจพิจารณาทุกเรื่อง ไปซื้อของแล้วไม่สังเกตแล้วจะซื้อมาทำไมเพราะมันไม่มีประโยชน์ เพราะคำตอบสูงสุดของเราก็คือได้ประโยชน์หรือเปล่า ถ้าไม่มีประโยชน์จะไปซื้อทำไม แล้วไปเสียสตางค์ทำไม ถ้าจะกลับมารู้ข้างในก็ต้องรู้ว่าอารมณ์อะไรกำลังเกิดขึ้น เคลิ้มอย่างนี้ เคลิ้มแล้วทำไมไม่ขีด อย่างนี้เรียกว่าไม่รู้ในตัวเอง เคลิ้มนี่ถือว่าไม่รู้ ทำไมไม่ขีด ฟุ้งทำไมไม่ขีด เพราะเราไม่รู้ว่ามันฟุ้ง แล้วไม่ยอมขีด มองแล้วคิดก็ต้องขีด คิดแล้วหาคำตอบไม่ได้ก็ต้องขีดในช่องไม่รู้ ถ้าคิดแล้วมีคำตอบก็ขีดในช่องรู้ (เสียงโยนของกระทบพื้น) รู้หรือเปล่า(หลวงปู่ถาม) รู้ว่าไม่รู้จึงสะดุ้งไง ถ้ารู้ว่ารู้มันไม่มีการสะดุ้ง เพราะมีตัวรู้พร้อมมูล สะดุ้งแล้วทำไมไม่ขีด รู้แค่สะดุ้งแต่ก่อนหน้ามันไม่มีตัวรู้ไง จึงถือว่าไม่รู้ วิถีจิตมันจะแยบยล ซับซ้อน ถ้าเราแก้ปมมันไม่ได้มันก็จะยุ่งไปทั้งชาติ กระบวนการนี้คือการแก้ปมของจิต หาเงื่อนงำมันให้ได้แล้วแก้มันให้หมด ไม่ต้องใช้สมองคิด ใช้แค่ตัวรู้ในจิตแล้วตามดูกระบวนการทั้งภายในและภายนอก อย่าไปใช้สมองคิดมันจะปวดหัวแล้วมันจะเครียด ไม่ได้ฝึกสมองแต่ฝึกจิต ออกไปมองข้างนอก มองแบบผู้รู้หรือมองแบบเลื่อนลอย แม้ที่สุดไม่ได้มองข้างนอก มองอยู่ข้างในมองจริงๆหรือว่าหลับ คนมองจริงๆ กับคนหลับแม้อยู่ข้างในก็จะเห็นชัดถ้ามองจริง เห็นชัดว่าเวลานี้เราจะมองอะไร ดูอะไร สัมพันธ์สัมผัสอะไร แล้วอะไรเหล่านั้นมันจะทำให้เป็นอารมณ์หรือไม่ หลวงปู่จึงเขียนบทโศลกไว้เมื่อ 30 ปีที่แล้วว่า อย่าทำอารมณ์ให้เป็นอะไร แล้วเราจะได้ไม่มีอาลัยในอารมณ์นั้นๆ มองอารมณ์ก็ต้องค้นหาว่าเหตุจากอารมณ์มันเกิดจากอะไร ที่หาวอ้าปากกว้างนั่นมันเป็นอารมณ์หรือเปล่า ไม่มองก็หาว แล้วมองเหตุปัจจัยแห่งการหาวว่ามันมีสติหรือไม่มีสติมีตัวรู้หรือไม่มีตัวรู้ แม้ไม่รู้ก็ขีด หาวมาได้อย่างไร ไม่รู้ก็ขีด เห็นไหมว่าวิถีจิตมันละเอียดมาก มันยังละเอียดมากกว่านี้อีกเป็น สิบ เป็นพันเท่า แวบเดียวแห่งความไม่รู้ก็สร้างชาติภพไปอีกนาน เช่นเดียวกันแวบเดียวแห่งความรู้แค่ช้างกระดิกหูงูแลบลิ้นก็ทำลายภพชาติและทำลายทุคติไปได้เนิ่นนาน เขาจึงมีคำกล่าวว่า แสงสว่างแม้เพียงแค่ปลายไม้ขีด ก็เป็นประโยชน์และอุปการคุณแก่คนและสัตว์ไปถึงเป็นสิบกิโล เช่นกันปัญญาแม้แค่แวบเดียวดั่งแค่งูแลบลิ้นและช้างกระดิกหู หรือฟ้าแลบเราก็สามารถสังเกตสิ่งรอบกายได้ตั้งไกลสามารถเอามาวิเคราะห์ได้ มาเป็นอุปการคุณแก่เราได้ ให้รู้เฉย รู้เฉย มันรู้ขี้เกียจหรือเปล่า สัปหงกทำไมไม่ขีด

คำสั่ง วางกระดาษปากกายืดอกขึ้น หลับตา ส่งความรับรู้เป็นไปภายในกาย สำรวจโครงสร้างในกายตน
สูดลมหายใจเข้า กว้าง ลึก เต็ม รู้ ให้ลมซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ลองดูซิว่าลมออกตามรูขุมขนเราได้ไหม
หายใจออกเบา ยาวผ่อนคลาย
ยืดอกขึ้น หายใจเข้า กว้าง ลึก เต็ม รู้ ค่อยๆไล่เดินลมลงไปให้ถึงปลายนิ้วมือนิ้วเท้า สังเกตดูว่ามีไอร้อนออกมาจากปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า ผิวหนังไหม
หายใจออกเบายาว หมด รู้
หายใจเข้า ค่อยๆเติมลมเข้าไป กว้าง ลึก เต็ม รู้
หายใจออก เบายาว หมด รู้
หายใจเข้าภาวนาว่าสัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข มีตัวรู้อยู่ภายใน
หายใจออกสัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์
สูดลมหายใจเข้าลึกๆ กว้าง ลึก เต็ม รู้
ยกมือไหว้พระกัมมัฏฐาน แล้วหายใจออกลืมตาผ่อนคลาย
การปฏิบัติธรรมภาคบ่าย
ไม่มีการปฏิบัติเนื่องจากมีการถ่านทำรายการออกทีวี
หลวงปู่ถาม เมื่อเช้าเรียนไปถึงไหนจบลงตรงไหน เมื่อเช้าจบลงตรงไหน
พิธีกรตอบ ให้ดูตัวรู้ กับตัวไม่รู้เจ้าคะ
หลวงปู่ถาม รู้ ไม่รู้อะไร
พิธีกรตอบ ไม่รู้ในอวิชชา เวลาที่เราเห็นอะไรแล้วเราปรุงก็แสดงว่าเราไม่รู้ ให้ขีดลงไปว่าไม่รู้
ถ้าเราเห็นแล้วรู้ ก็ให้ขีดในช่องรู้เจ้าค่ะ
หลวงปู่ อธิบายคำว่าปรุงให้ชัดว่า ปรุงตัวนี้ก็คือนำเอามาเก็บมาคิดมาวิเคราะห์มาใคร่ครวญ ปรุงแต่งในสังขาร ปรุงแต่งในนามรูป คือปรุงทั้งรูปและนาม แล้วบังเกิดเป็นเวทนา
หลวงปู่ถาม สูตรสำเร็จในรู้และไม่รู้มีตัวปรุงแต่งไหม
หลวงปู่ตอบ มีแต่ไม่ปรุงในนามรูป
หลวงปู่ถาม รู้แล้วรู้มีตัวปรุงแต่งไหม
หลวงปู่ตอบเอง มี แต่ปรุงทั้งนามทั้งรูป ถ้าไม่ปรุงก็คือไม่คิด ไม่คิดก็คือไม่วิเคราะห์ ไม่วิเคราะห์ก็ไม่ตามดู ไม่ตามดูก็ไม่ตรึกตรอง ไม่เฝ้ามองแล้วเราจะไปรู้ได้อย่างไร อย่าไปมองว่าตัวปรุงแต่งเป็นเรื่องไม่ดีทั้งหมด มันมีส่วนดีก็คือรู้ แล้วทำให้เรารู้ละ รู้แล้วละวาง แต่ถ้าเมื่อใดที่เราไม่รู้ หรือรู้แล้วไม่ปรุงแต่ง รู้ปรุงแต่งแล้วทำให้ไม่รู้ลึกไม่รู้ละก็ถือว่าไม่รู้ทั้งนามรูป รู้ได้แค่รูปหรือรู้ได้แค่นาม เรื่องรู้รูปนาม รู้ละ รู้แล้วละ รู้แล้วไม่รู้ รู้แล้วรู้ ต้องทำความเข้าใจในครั้งต่อไป วันนี้เอาแค่นี้เอาความงงกลับบ้านไปก่อน แต่ให้เข้าใจว่า ชีวิตของเราคือปฏิจจสมุปปันธรรม อย่างที่ยกตัวอย่างให้ฟัง ตักน้ำ หุงข้าว ซักผ้า ทุกเรื่องเป็นปฏิจจสมุปปันธรรม หลวงปู่สังเกต เวลาอบรมเณร มันซักสบงตัวเดียวใส่น้ำเต็มกระมัง เป็นปฏิจจสมุปปันธรรมไหม เป็น แล้วมันถูกต้องหลักปฏิจจสมุปบาทไหม มันทำลายกระบวนการปฏิจจสมุปบาท กว่าจะตักน้ำเต็มกระมังต้องใช้เวลาตักน้ำทีละขันไปเท่าไหร่ ตักน้ำเต็มกระมังแล้วใส่แฟ๊บอีกเท่าไหร่ถึงจะให้น้ำทั้งกระมังเป็นฟอง แล้วซักผ้าผืนเดียวใส่แฟ๊บเข้มข้น ต้องใช้น้ำดีล้าง จะต้องเสียน้ำดีไปอีกกี่กระมัง แล้วต้องเสียเวลาซักให้หมดแฟ๊บอีกนานเท่าไหร่ เห็นไหม ผู้ไม่รู้ปฏิจจสมุปปันธรรม ทุกเรื่องเป็นปฏิจจสมุปบาท แม้กระทั่งใส่รองเท้าเดิน เคยได้ยินหลวงปู่เดินเสียงดังแกก แกก ไหม แล้วไปดูรองเท้าหลวงปู่ซิสึกเสมอกันเพราะหลวงปู่ใส่ปฏิจจสมุปปันธรรม เพราะหลวงปู่รู้ว่าถ้าหลวงปู่เดินแบบที่ควายลากข้าว รองเท้ามันก็จะสึกเร็ว เมื่อรองเท้าสึกเร็วก็ต้องเสียตังซื้อ แม้ไม่ได้ซื้อเอง ชาวบ้านเขาซื้อ ก็ต้องเสียดายเงินเขาบ้าง กว่าเขาจะได้เงินมาเพื่อมาซื้อรองเท้าให้หลวงปู่ใส่ รู้จักคิด วิเคราะห์ให้ทุกเรื่องเป็นปฏิจจสมุปบาท อาหารทุกก้อน ข้าวทุกเม็ด น้ำทุกหยด สิ่งแวดล้อมรอบกายทั้งภายในและภายนอก ต้องวิเคราะห์ให้ชัด ทำปฏิจจสมุปปันธรรมให้กลายเป็นชีวิต ชีวิตปฏิจจสมุปปันธรรมเป็นหนึ่งเดียวกันเท่านี้เราจะเข้าใจถึงหลักการนามรูปเราจะเข้าใจถึงหลักการ รู้แล้วไม่รู้ รู้แล้วรู้ รู้แล้วรู้แล้วละ อย่างนี้เป็นต้น