Print
Hits: 1344

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (๑๒ มิ.ย.) หลังจากรักษาไข้ให้คนป่วยที่เข้ามาขอรับการตรวจ จากอโรคยาคลินิกแพทย์ทางเลือกในช่วงเช้าแล้ว

ตอนบ่าย ได้ลงศาลา ตอบปัญหาในรายการ ปุจฉา – วิสัชนา ที่ออกอากาศทางช่อง ๒๐ ไบรท์ทีวี ในเวลาตีห้าครึ่งถึง ๖ โมงเช้า

บ่ายแก่ๆ จึงได้สอนกรรมฐาน ในหมวด วิปัสสนากรรมฐาน เรื่องดูอาการของจิต 

ฉันสอนให้ผู้ศึกษา หรือที่โบราณท่านเรียก พระโยคาวจร คือ ผู้หยั่งลงสู่ความเพียร ผู้มีความเพียร (มักใช้เรียกพระภิกษุผู้เรียนสมถะ และผู้เจริญวิปัสสนา) ได้เข้าใจถึงหน้าที่ของจิตว่า

จิตนี้มีหน้าที่ รับอารมณ์
จำ หรือ เก็บอารมณ์
คิดในอารมณ์
รู้ในอารมณ์

ผู้เจริญวิปัสสนาปัญญา จะต้องมีปกติรู้ และคิดก่อน จึงจะรับ

ส่วนเรื่อง “จำ” ก็ต้องพิจารณาด้วยปัญญาก่อนว่า อารมณ์นั้นๆ เป็นคุณ หรือเป็นโทษ

เช่นนี้ สำหรับผู้เจริญวิปัสสนาปัญญา จักต้องพิจารณารู้ให้ชัดในทุกอารมณ์ ว่าเกิดมาจากเหตุปัจจัยอะไร ดังพระพุทธธรรมที่ทรงกล่าวว่า 
“เย ธมฺมา เหตุ ปัพฺพวา
เตสํเหตุงฺตถาคโต
เตสญฺจะ โย นิโรโธ จะ
เอวํ วาที มหาสมฺโณ

"ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปกติ ทรงสั่งสอนอย่างนี้"

ผู้เจริญวิปัสสนา จักต้องใช้จิตนี้ให้เต็มศักยภาพ นั่นก็คือ

รู้ในอารมณ์ที่จักเข้ามาและออกไป คิดพิจารณาในอารมณ์ที่จักเข้ามาและออกไป ว่าเกิดจากเหตุปัจจัยอะไร

เมื่อเห็นว่า อารมณ์นั้นๆ ไม่มีโทษ มีแต่คุณ จึงจักรับและเก็บ ที่เรียกว่า จำ เอาไว้

อธิบายอารมณ์สองชนิด คือ อารมณ์ที่เป็นคุณ และอารมณ์ที่เป็นโทษ

ซึ่งแท้จริงแล้วสำหรับผู้เจริญวิปัสสนาที่มุ่งหวังความพ้นทุกข์ เขาจะไม่เสพ ไม่เก็บในอารมณ์ใดๆ เลย ดังบทโศลกที่ฉันเขียนเอาไว้ว่า

“อย่าทำอารมณ์ให้เป็นอะไร แล้วเราจักได้ไม่มีอาลัยในอารมณ์นั้น”

อารมณ์ที่เป็นคุณ ได้แก่ กุศลอารมณ์ คือตัวกำหนด สุคติภพ

อารมณ์ที่เป็นโทษ ได้แก่ อกุศลอารมณ์ คือตัวกำหนด ทุคติภพ

หมายความว่า สุคติภพ และทุคติภพ จักเกิดและดับ อยู่กับเราทุกเวลาที่เข้าไปเสพอารมณ์นั้นๆ ไม่จำเป็นจะต้องรอตายก่อนแล้วจึงจักมีทุคติภพ หรือสุขคติภพ

ฉะนั้น ผู้เจริญวิปัสสนา จักต้องไม่เสพอารมณ์ทั้งสอง

หรือแม้แต่อารมณ์เฉยๆ ที่เรียกว่า อัพยากฤติอารมณ์

ทำได้แค่เพียงพิจารณาด้วยปัญญาให้ถ่องแท้ว่า อารมณ์นี้เป็นคุณ คือ สุคติภพ เกิดจากเหตุปัจจัยอะไร

อารมณ์ที่เป็นโทษอันได้แก่ อกุศลอารมณ์ มีผลเป็นทุคติภพ เกิดมาจากเหตุปัจจัยอะไร

และเกิดทางช่องทางไหน เช่น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ

เมื่อพิจารณารู้ช่องที่เกิดอารมณ์แล้ว

ก็ต้องพิจารณาให้เห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดของอารมณ์นั้นๆ ว่า ตัวอย่างเช่น

เมื่อตาเห็นรูป ทำไมต้องเกิดอารมณ์ ชอบ หรือไม่ชอบ หรือเฉยๆ
เมื่อหูฟังเสียง ทำไมต้องเกิดอารมณ์ ชอบ ไม่ชอบ เฉยๆ
จมูกดมกลิ่น ทำไมต้องเกิดอารมณ์ ชอบ ไม่ชอบ เฉยๆ

ผู้เจริญวิปัสสนาต้องรู้จักตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่เข้ามาและออกไปอยู่ทุกขณะจิต
เมื่อมีอารมณ์ คือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ก็ต้องพิจารณาว่าอารมณ์เหล่านี้เกิดมาจากเหตุปัจจัยอะไร จัดเป็นอาการของจิตประเภทไหน เช่น

จิตนี้กำลังรับเอาอารมณ์เครื่องเหนี่ยวรั้งจิตเข้ามา หรือจิตนี้คิดอยู่ หรือจิตนี้กำลังรู้ในอารมณ์นั้นอยู่ หรือจิตนี้จดจำอารมณ์เหล่านั้นไว้

การพิจารณาอารมณ์ที่เกิดกับจิตจะต้องพิจารณาให้อยู่ในขอบข่ายของอาการจิต ๔ อย่างเท้านั้น คือ รับ จำ คิด รู้

เข้าใจง่ายๆ ว่า ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้น เป็นอารมณ์เครื่องเหนี่ยวรั้งจิตที่เป็นคุณ หรืออารมณ์เครื่องเหนี่ยวรั้งจิตที่เป็นโทษ หรืออารมณ์เครื่องเหนี่ยวรั้งจิตให้เฉยๆ

ผู้ศึกษาจักต้องนำมาเทียบกับอาการของจิตทั้ง ๔ อย่างว่า ขณะที่เกิดอารมณ์เครื่องเหนี่ยวรั้งจิตอยู่นั้น เพราะจิตนี้รับเข้ามา หรือจิตนี้จำอยู่เก่า และจิตนี้รู้หรือไม่ หรือจิตนี้กำลังคิดถึงอารมณ์นั้นๆ อยู่หรือเปล่า

สรุปความว่า พระโยคาวจรผู้ศึกษาวิปัสสนาปัญญา จะต้องไม่เสพอารมณ์ใดๆ เลย แต่จะต้องรู้ให้เท่าทันในอารมณ์นั้นๆ อย่างแจ่มชัดตามอาการจิตทั้ง ๔ ว่าจิตนี้กำลังรับอยู่หรือจำอยู่ จิตนี้รู้อยู่หรือคิดอยู่ รวมเรียกว่า
“หยิบแล้ววาง วางแล้วว่าง ดับแล้วเย็น”

ซึ่งจะแตกต่างจากผู้เจริญสมถะ ผู้มีวิถีแห่งการเสพอารมณ์ ทรงอารมณ์ รักษาอารมณ์ เป็นพื้นฐานในการฝึก

จึงจักสำเร็จประโยชน์ของวิถีสมถะ คือ องค์ฌานสมาบัติ

แต่ทั้งสมถะหรือวิปัสสนา ล้วนแต่เป็นกรรมฐานขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ทรงสั่งสอนเพื่อความสงบระงับกิเลสและเพื่อการสำรอกกิเลส

สุดแต่จริตของแต่ละท่านว่าชื่นชอบที่จะทำให้กิเลสสงบระงับชั่วขณะหนึ่ง ขณะหนึ่ง ก็ฝึกศึกษาสมถะ คือการเข้าไปเสพอารมณ์ให้ตั้งมั่นจนกิเลสชำแรกไม่ได้ขณะนั้น นี่เรียกว่า วิกขัมภนปหาน (ระงับกิเลสได้ด้วยข่มไว้ด้วยฌาน)

แต่ถ้ามีจริตชื่นชอบในการสำรอกกิเลส ชำระล้างกิเลสให้ขาดสิ้น ก็ต้องเจริญวิปัสสนาปัญญา พิจารณาสรรพสิ่ง สรรพสัตว์ และอารมณ์ทั้งปวงทั้งภายในและภายนอก ว่ามีอะไรเป็นเหตุปัจจัยในเกิด ตั้งอยู่ด้วยเหตุปัจจัยอะไร และดับไปเพราะเหตุปัจจัยอะไร

เช่นนี้จึงจะสามารถเข้าใจต้นกำเนิดของการเกิดดับแห่งชาติ ชรา มรณะ พยาธิ ได้ถูกต้องแจ่มชัด

เมื่อรู้จักเข้าใจก็จะไม่สร้างเหตุปัจจัยนั้นๆ ให้เกิดขึ้นมาอีก นี่จึงเรียกว่าดับขาดจากอุปกิเลสและอาสวะทั้งปวง ไม่มีเหตุปัจจัยใดๆ ให้ไปสร้างชาติภพต่อไปอีกแล้ว จึงจะเรียกว่า สมุจเฉทปหานะ (การละกิเลสได้โดยเด็ดขาดด้วยมรรคาปฏิปทา)

พุทธะอิสระ