Print
Hits: 911


คราวที่แล้วได้พูดได้เขียนถึงสิกขา คือสิ่งที่ต้องศึกษา วิปัสสนา วิปัสสนายานิก วิปัสสนาญาณ ๙ วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ วิปัสสนาวิปลาสทั้ง ๔ ไปแล้ว

เราลองมาศึกษาวิถีแห่งสมถยานิก หรือสมาธิกันดูบ้าง

สมาธิเป็น ๑ ในสิกขา ๓ คือสิ่งที่จำเป็นต้องศึกษา เรียกว่าสมาธิสิกขา เมื่อศึกษาปฏิบัติในสมาธิแล้ว จักทำให้รักษาจิตมั่น สงบระงับไม่ฟุ้งซ่าน จิตที่ทรงสมาธิ คือจิตที่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว อันเป็นอารมณ์ส่วนที่เป็นกุศล จิตเช่นนี้เรียกว่า อธิจิตตสิกขา

สมาธิแบ่งได้ ๓ ระดับขั้นคือ

ขั้นที่ ๑ ขณิกสมาธิ ได้แก่สมาธิเล็กน้อย สมาธิชั่วขณะ หรือสมาธิขั้นต้น

(ถือว่าสมาธิขั้นที่ ๑ นี้เหมาะสำหรับปฏิบัติวิปัสสนา)

ขั้นที่ ๒ อุปจารสมาธิ ได้แก่ สมาธิที่เพิ่งจะเริ่มตั้งมั่นอยู่ในระดับกำกึ่งองค์ฌานแต่ยังไม่สงบระงับถึงที่สุด แต่ก็สามารถระงับนิวรณ์กิเลสทั้ง ๕ ได้ในระดับหนึ่งซึ่งนิวรณ์กิเลสทั้ง ๕ นั้นได้แก่

๑. กามฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในกาม

๒. พยาบาท ความคิดประทุษร้ายเขา

๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่ หงอยเหงา ซึมเซา

๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ

๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ไม่ยอมปลงไว้เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ

ขั้นที่ ๓ อัปปนาสมาธิ คือ จิตแนวแน่ แนบแน่ ตั้งมั่นจนลุถึงองค์ฌานอันสมบูรณ์

เมื่อพูดถึงฌาน จิตที่ตั้งมั่นอย่างแนบแน่มั่นคง จนปราณีตทั้งยังได้ละแล้วซึ่งกรรมฐานที่ภาวนาอยู่ จนจิตนี้บังเกิดอารมณ์ ๕ อย่าง คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา เรียกว่า ขั้นปฐมฌาน 
และเมื่อละวิตก วิจารเหลืออารมณ์อยู่แค่ ปีติ สุข เอกัคคตา เรียกว่า ทุติยฌาน

ต่อมาถ้าสามารถละปีติลงเสียได้เหลือแค่ สุข เอกัคคตา เรียกว่าได้ลุถึงญาณ ๓

และเมื่อสามารถละสุขลงได้มีแค่อุเบกขากับเอกัคคตา เรียกว่า ญาณ ๔ สำหรับกรรมฐานคือเครื่องมือที่ทำให้เกิดสมาธิและองค์ญาณมีทั้งหมด ๔๐ กองซึ่งก็แบ่งเป็นวิถีแห่งการเจริญวิปัสสนาปะปนอยู่ด้วยอัน แต่ถ้าเป็นการเจริญสมาธิล้วนๆ ได้แก่การฝึกกสิณทั้ง ๑๐ ได้แก่

1. ภูตกสิณ 4 (กสิณคือมหาภูตรูปทั้ง ๔) อันได้แก่ ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ

2. วรรณกสิณ 4 ได้แก่ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ

3. กสิณอื่นๆ ได้แก่ อาโลกกสิณ อากาสกสิณ

วิธีฝึกปฏิบัติในการเพ่งดูกสิณคือ ตาดูรูปกสิณ ปากภาวนาถึงรูปที่ตาเห็น ใจรู้ระลึกอยู่แต่เฉพาะรูปของกสิณที่ตาเห็นปากท่องป่นภาวนาถึงกสิณที่ตามอง เช่นนี้เรียกบริกรรมภาวนา จนกสิณนั้นรวมผนึกแนบแน่กับใจทั้งบริกรรมบังเกิดนิมิตในใจหลับตาเห็นภาพดุจดังลืมตา เรียกว่า อุคคหนิมิต

ต่อมาสามารถบังคับควบคุมนิมิตในใจนั้นได้ตามปรารถนาและชัดเจนแจ่มชัด เช่นนี้เรียกว่า ปฏิคาดนิมิต จนจิตรวมกับนิมิตที่ควบคุมนั้นเป็นหนึ่งเดียวกันนั้นแสดงว่าได้เข้าสู่องค์ฌานแล้วการเจริญกสิณทั้ง ๑๐ นี้จักมีผลทำให้เกิดอานุภาพแห่งจิตเรียกว่า จิตตานุภาพ สามารถแสดงอภินิหารต่างๆ ได้แต่ยังไม่สามารถมีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงในอริยสัจได้

วันนี้เขียนมาเล่าสู่กันแค่นี้ก่อนนะจ๊ะ

วันหน้าจะนำเอากรรมฐานทั้ง ๔๐ กองมาเล่าสู่กันฟังใหม่

พุทธะอิสระ