Print
Hits: 991

 

ก่อนที่พระบรมศาสดา อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จักทรงปรินิพพานทรงฝากฝังพระธรรมวินัยนี้ให้อยู่ในความคุ้มครอง ดูแล รักษา และปฏิบัติตามไว้ให้แก่ภิกษุบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

จะเห็นว่าพระบรมศาสดา มิได้ต้องการให้พระธรรมวินัยนี้ ถูกผูกขาดโดยพระภิกษุสงฆ์แต่ฝ่ายเดียว อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

ไม่เข้าใจว่าทำไมสมัยนี้ ต้องมีการตีความพระพุทธธรรม จึงจักรู้ว่าถูกหรือผิด ทั้งที่ว่าโดยหลักที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ให้นั้นไม่ได้ยาก ซึ่งก็ไม่ต้องคิดมาก ไม่มีอะไรซับซ้อนใดๆ เลยหากได้ศึกษาอย่างจริงจังแล้วบุคคลทั่วไปก็สามารถเข้าใจได้

เช่นหลักตัดสินว่า อะไรเป็นธรรม อะไรไม่เป็นธรรม

อะไรเป็นพระวินัยอะไรไม่ใช่พระวินัย

อีกทั้งผู้ศึกษาควรจักตระหนักรู้ว่า จุดมุ่งหมายของพระธรรมวินัยนี้เป็นไปเพื่ออะไร

ซึ่งหลักที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวางเอาไว้นั้นมีอยู่ด้วยกันถึง ๘ ประการ คือ

๑. วิราคะ คือ ความคลายกำหนัด, ความไม่ติดพัน เป็นอิสระ (detachment; dispassionateness)

๒. วิสังโยค คือ ความหมดเครื่องผูกรัด, ความไม่ประกอบทุกข์ (release from bondage)

๓. อปจยะ คือ ความไม่พอกพูนกิเลส (dispersion of defilements)

๔. อัปปิจฉตา คือ ความอยากอันน้อย, ความมักน้อย (wanting little) มิใช่เพื่อความอยากอันใหญ่, ความมักใหญ่ หรือมักมากอยากใหญ่

๕. สันตุฏฐี คือ ความสันโดษ (contentment) มิใช่เพื่อความไม่สันโดษ

๖. ปวิเวก คือ ความสงัด (seclusion; solitude) มิใช่เพื่อความคลุกคลีอยู่ในหมู่

๗. วิริยารัมภะ คือ การประกอบความเพียร (energy; exertion) มิใช่เพื่อความเกียจคร้าน

๘. สุภรตา คือ ความเลี้ยงง่าย (being easy to support) มิใช่เพื่อความเลี้ยงยาก

ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า ด้วยหลักตัดสินพระธรรมวินัยทั้ง ๘ ประการนี้ เมื่อนำมาพิจารณาต่อพฤติกรรมของภิกษุบริษัททั้ง ๔ ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันก็จักรู้ได้ว่า สิ่งที่ภิกษุบริษัททั้ง ๔ ประพฤติปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้อะไรเป็นธรรม อะไรมิใช่ธรรม อะไรเป็นวินัย อะไรมิใช่วินัย

อีกทั้งยังทรงประทานวิชาอันเป็นวิถีแห่งความหลุดพ้นเอาไว้ที่เรียกว่า สมถะและวิปัสสนา

ทั้งยังทรงชี้ว่าวิชาสมถะ จักสามารถหลุดพ้นจากเครื่องจองจำร้อยรัดได้แค่ชั่วขณะ ด้วยอำนาจขององค์ฌาน ที่เรียกว่า ข่มเอาไว้ด้วยกำลังสมาบัติ วิธีนี้เรียกว่า วิขัมภนวิมุตติ(หรือเรียกว่า วิกขัมภนวิมุตติ) ซึ่งก็มีสอนกันเกลื่อนอยู่ในทุกศาสนาอยู่แล้ว

ส่วนวิชาวิปัสสนานั้นเป็นวิชาสุดยอด ที่ไม่มีศาสนาไหนสอน
เป็นวิชาที่ทำให้เกิดปัญญา รู้แจ้งชัดตามความเป็นจริง

เป็นวิชาที่ทำให้เข้าใจซาบซึ้งถึงรากเหง้า แห่งการเกิดและการดับ

เป็นวิชาที่ทำให้ผู้ศึกษารู้เท่าทัน สังขารการปรุงแต่งทั้งปวง

เป็นวิชาที่ทำให้ผู้ศึกษาปฏิบัติสามารถถอนออกเสียได้ซึ่ง

ความไม่รู้ที่เรียกว่า อวิชชา

ความทะยานอยากที่เรียกว่า ตัณหา

ความยึดถือที่เรียกว่า อุปาทาน

เป็นวิชาที่ทำให้ผู้ศึกษาปฏิบัติสามารถดับเสียซึ่งเหตุแห่งการเกิด ได้อย่างไม่เหลือเชื้อ

นอกจากนั้นวิปัสสนา ยังเป็นวิชาแห่งความสิ้นหวัง สิ้นอนาคตโดยแท้

วิปัสสนาจึงเป็นวิถีกำจัดทุกข์ ชาติ ชรา มรณะ พยาธิ และวัฏฏะได้อย่างสิ้นเชิง

องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ยังทรงเตือนให้ผู้ปฎิบัติวิปัสสนา พึงสังวรระวังว่าจะบังเกิด วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ คือ

๑. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วปรากฏเป็นนิมิตแสงสว่าง นั้นเรียกว่ากิเลสในวิปัสสนา

๒. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วบังเกิดปิติความอิ่มใจ นั้นจัดเป็นความหลงทางเป็นอันตรายต่อวิปัสสนา

๓. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วบังเกิดความรู้สารพัดเรื่อง นั้นก็จัดว่าเป็นความหลงผิด

๔. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วบังเกิดความสงบระงับกายใจ นั้นเรียกว่าความมัวเมา จักทำให้ไม่พัฒนา

๕. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วบังเกิดความสุขกายสุขใจ นั้นแสดงว่าเรากำลังเสพอารมณ์ที่เป็นศัตรูแก่ปัญญารู้แจ้ง

๖. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วบังเกิดความเสื่อมใส ศรัทธา น้อมใจเชื่อ นั้นแสดงว่าเรากำลังหมดปัญญา

๗. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วคิดเห็นว่า สิ่งที่ทำที่รู้อยู่นี้น่าจะเพียงพอแล้ว นั้นแสดงว่ากำลังเกียจคร้านเช่นนี้จักไม่อาจลุถึงความรู้แจ้งเห็นแจ้งได้เลย

๘. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วเอาแต่ยึดถืออยู่ในสติแจ่มชัด โดยขาดสัมปชัญญะคือปัญญาใคร่ครวญนั้น เท่ากับจมอยู่ในปลักเลน

๙. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วจิตยังวางเฉย มีแต่อุเบกขารมณ์ โดยไม่ใช้ปัญญา ไม่พัฒนาไม่มีปัญญาพิจารณาอริยสัจ และไตรลักษณ์นั่นเท่ากับนอนอยู่เฉยๆ

๑๐. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วยังมีความพึงพอใจ นั้นแสดงว่ากำลังเป็นวิปัสสนึกแล้วแหละ

หากภิกษุบริษัททั้ง ๔ หรือผู้ศึกษาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ก็จักกลายเป็นวิปัสสนาวิปลาสไปในทันที

อารมณ์ของวิปลาส มี ๔ อย่างคือ

๑. อัตตวิปลาส สำคัญว่า นามรูปนี้เป็น ตัวตน

๒. สุขวิปลาส สำคัญว่า นามรูปนี้เป็น สุข

๓. สุภวิปลาส สำคัญว่า นามรูปนี้ สวยงาม

๔. นิจจวิปลาส สำคัญว่า นามรูปนี้ เที่ยง

และด้วยหลักคิด หลักปฏิบัติของพระธรรมวินัยดังกล่าวนี้ พระองค์ยังทรงแสดงความจริงแท้เอาไว้อีกว่า

สัพเพ สังขารา อนิจจา

สังขารทั้งหลาย ทั้งปวง ไม่เที่ยง

สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ

ธรรมทั้งหลาย ทั้งปวง ไม่ใช่ตัวตน

เมื่อพระพุทธองค์ทรงสอนเช่นนี้ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จักปรากฏว่าจิตของพระอรหันต์ หรือดวงจิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้บรรลุอนุปาทิเสสนิพพาน ( การดับกิเลสพร้อมทั้งเบญจขันธ์) จะมาบอกมาสอนวิชาให้ใครต่อใคร

ฉะนั้นพวกที่ชอบอวดอ้างตัวว่าได้ปฏิบัติวิปัสสนาจนบรรลุแล้วสามารถติดต่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้นดูท่าจะเป็น วิปัสสนูปกิเลส เสียมากกว่า

พุทธะอิสระ