Print
Hits: 953

 

วันนี้เสนอคำว่า กุศลกรรม

คำว่า กุศล หมายถึง ความชาญฉลาด

คำว่า กรรม หมายถึง การกระทำ

เมื่อนำคำว่ากุศลมาบวกกับคำว่ากรรม จึงหมายความว่า กรรมที่กระทำด้วยความชาญฉลาด เมื่อฉลาดมีปัญญา จึงเลือกทำแต่กรรมดี

ผู้ที่ทำชั่วจึงชื่อว่า ทำชั่วเพราะความโง่ ความไม่รู้ ความไม่ฉลาด

ถามว่า แล้วเราจักทำกุศลกรรมได้อย่างไร

อธิบายว่า กุศลกรรมจักเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย กุศลมูล

คำว่ากุศลมูล หมายถึง รากเหง้าของกุศล คือ

ความไม่โลภ

ความไม่โกธร

ความไม่หลง

ถามว่า แล้วเราจักทำเช่นไร จึงจักไม่โลภ ไม่โกธร ไม่หลงได้เล่า

ตอบว่า หากจะฝึกฝนทำตนไม่ให้เป็นคนโลภก็ต้องมีจาคะ

คำว่า จาคะ หมายถึง การสละ การแบ่งปัน การเสียสละ รวมทั้งการสละกิเลสด้วย

ถ้าหากจะฝึกฝน ทำตนไม่ให้เป็นคนมักโกธร ก็ต้องมีเมตตา ไม่คิดประทุษร้ายเขา

คำว่า เมตตา หมายถึง ความรักความปรารถนาดี ความมีไมตรีปรารถนาให้เขามีความสุข

แล้วถ้าจะฝึกฝนทำตนให้เป็นคนไม่หลง ก็ต้องมีปัญญา

คำว่าปัญญา หมายถึง ความรู้พร้อม ความรู้จักเหตุรู้จักผล ความรู้จักแยกแยะถูกผิดดีชั่ว ความรู้จักว่าสิ่งใดมีประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ ความรอบรู้ตามเป็นจริงในกองแห่งสังขารทั้งปวง

หากจะถามว่า แล้วปัญญาจะเกิด จะมีได้อย่างไร

ตอบว่า

1. ต้องรู้จักหมั่นฟัง เรียกว่า สุตมัยยปัญญา

2. ฟังแล้วต้องนำมาคิด วิเคราะห์ใคร่ครวญดูว่าถูกหรือผิด เรียกว่า จินตมัยยปัญญา

3. อย่าเอาแต่นั่งคิด นอนคิดอยู่ ลงมือทดลองทำเสียที เรียกว่า ภาวนามัยยปัญญา

ท่านทั้งหลายจักเห็นได้ว่า กว่าจะได้มาซึ่งคำว่ากุศลกรรมอันบริสุทธิ์ บริบูรณ์นั้นมันไม่ง่ายเลยแต่ก็ต้องเพียรพยายามทำให้ได้ มิเช่นนั้นจะเสียที ที่เกิดมาเป็นมนุษย์

พุทธะอิสระ