วันนี้เสนอคำว่า เหตุและผล

คำว่า เหตุ หมายถึง รากฐาน มูลฐาน ต้นกำเนิด สิ่งที่เกิดครั้งแรก

คำว่า ผล หมายถึง สิ่งที่เกิดมาจากรากฐาน สิ่งที่เกิดมาจากมูลฐาน สิ่งที่เกิดมาจากต้นกำเนิด และสิ่งที่เกิดมาจากครั้งแรก

ตัวอย่างเช่น

อวิชชาความไม่รู้ เป็นเหตุให้เกิดผล คือ สังขารการปรุงแต่ง

สังขารการปรุงแต่ง เป็นเหตุให้เกิดผล คือ วิญญาณการรับรู้

วิญญาณการรับรู้ เป็นเหตุให้เกิดผล คือ นาม (ใจ) รูป (กาย)

นามรูป (กายใจ) เป็นเหตุให้เกิดผล คือ สฬายตนัง แดนต่ออารมณ์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่เป็นช่องทางแห่งอารมณ์ที่เกิดจากตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส อารมณ์เกิดที่ใจ

สฬายตนัง เป็นเหตุให้เกิดผล คือ ผัสสะ สัมผัส

สัมผัส เป็นเหตุให้เกิดผล คือ เวทนา อารมณ์ สุข ทุกข์

เวทนา เป็นเหตุให้เกิดผล คือ ตัณหา ความทะยานอยาก

ตัณหา เป็นเหตุให้เกิดผล คือ อุปาทาน ความยึดถือ ผูกรั้ง

อุปาทาน เป็นเหตุให้เกิดผล คือ ภพ แดนเกิด

ภพ เป็นเหตุให้เกิดผล คือ ชาติ การเกิด

ชาติ เป็นเหตุให้เกิดผล คือ ชรา ความแก่ มรณะ ความตาย

ความโศก ความร่ำไรรำพัน ทุกข์โทมนัส เป็นเหตุให้เกิดผล คือ อวิชชา ความไม่รู้

เมื่อไม่รู้เหตุไม่รู้ผล ฟันเฟืองแห่งการเกิดก็จักหมุนวนเช่นนี้ไม่จบไม่สิ้น เหล่านี้จัดเป็นเหตุเป็นผลฝ่ายปรมัติ

ทีนี้เรามาดูเหตุผลของโลกบัญญัติหรือโลกสมมุติกันบ้าง

เหตุที่ทำให้โลกสมมุติดำเนินไปอย่างมีลีลา สีสัน ชีวิตชีวา ดีใจ เสียใจ หวาดผวา สะดุ้งกลัว สุข ทุกข์ คือ

ความโลภ

ความโกรธ

ความหลง

เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นเหตุให้เกิดผลไปทำกรรมทั้งดีและชั่ว องค์พระบรมศาสดาจึงทรงสอนให้มีสติอยู่ในกาย มีสติอยู่ในวาจา มีสติอยู่ในใจ เมื่อกาย วาจา ใจ มีสติคอยควบคุมกำกับถือเป็นเหตุ

ผลที่กาย วาจา ใจ นี้จักได้รับคือ กายไม่ลำบาก วาจาไม่ลำบาก ใจนี้ก็ไม่ลำบากเลย กรรมที่กระทำ ก็จักมีแต่ความถูกต้องชอบด้วยธรรมเป็นกุศลกรรม เหล่านี้เป็นผล

นอกจากนี้ผู้ที่รู้จักเหตุ รู้จักผล เหล่านี้เท่านั้นจึงจักสามารถแยกแยะดี ชั่ว ถูก ผิด บุญ บาป กุศล อกุศล ในโลกแห่งสมมุติได้ชัดเจน

พุทธะอิสระ