Print
Hits: 559

คงจักถึงเวลาได้แล้วกระมัง ที่คณะกรรมาธิการด้านศาสนาจักหันมาให้ความสำคัญต่อพระธรรมวินัย พิจารณาปรับแก้กฎหมายใด ที่ใช้บังคับแก่คณะสงฆ์ไทย ทั้งที่กฎหมายนั้นๆ ขัดแย้งต่อหลักพระธรรมวินัยและไม่เอื้อเฟื้อ ต่อสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอาไว้

ตัวอย่างกรณี
มีภิกษุต้องคดีของฝ่ายอาณาจักรทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของภิกษุนั้น กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับให้เปลื้องจีวร โดยที่เจ้าตัวมิได้กล่าวคำลาสิกขา
ซึ่งถ้าว่าโดยหลักพระธรรมวินัยแล้ว กว่าจักได้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ต้องผ่านกระบวนการคัดกรองจากหลักพระธรรมวินัยถึง ๓ ขั้นตอน คือ
.
ผู้ปวารณาจักบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ จักต้องปฏิบัติดังนี้คือ
.
๑. นำตัวเองเข้ามาสมัคร แสดงตนต่อหน้าพระอุปัชฌาย์ผู้นำเข้าหมู่สงฆ์
พระอุปัชฌาย์ จักต้องพิจารณา กาย วาจา ใจ และพฤติกรรมของผู้ขอบรรพชาอุปสมบทนั้นว่า เป็นผู้มีความศรัทธา ปสาทะ ต่อหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างถูกต้องจริงหรือไม่ เป็นบุคคลต้องห้าม ตามหลักพระธรรมวินัย หรือไม่
เมื่อพระอุปัชฌาย์เล็งเห็นว่า ผู้สมัครตนขอเข้าหมู่สงฆ์ผู้นั้น เป็นผู้มีกาย วาจา ใจ เป็นสัมมาปฏิบัติ หรือพร้อมที่จักปรับตัวให้เข้ากับการอบรมสั่งสอนของคณะสงฆ์ได้ และมิได้มีลักษณะต้องห้าม
พระอุปัชฌาย์ จึงอนุญาตให้ลองเข้ามาฝึกอบรมปฎิบัติ กาย วาจา ใจ ด้วยการถือศีล ๘ นุ่งขาวห่มขาว แล้วปฎิบัติให้อ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมแก่การรับการอบรมสั่งสอน
วิธีดังกล่าวมานี้ เรียกว่า บุพกิจเบื้องต้น ของการขอเข้าหมู่สงฆ์ โดยกระบวนการเหล่านี้ ต้องอยู่ในสายตาของคณะสงฆ์และพระอุปัชฌาย์
.
๒. เมื่อคณะสงฆ์ พระอุปัชฌาย์ เห็นว่าผู้ขอเข้าหมู่ผู้นั้นจักได้รับอนุญาตให้โกนผม โกนคิ้ว ขอบรรพชาเป็นสามเณร ด้วยการกล่าวคำขอบรรพชาที่เริ่มต้นจากการแสดงตนเป็นผู้ขอมีพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่ง ที่สักการะแล้วจึงขอศีล ๑๐ จากพระอุปัชฌาย์ วิธีนี้เรียกว่า การขอบรรพชาหรือบวชเณร
.
๓. เมื่อผ่านกระบวนการเป็นสามเณรในพระธรรมวินัยนี้สมบูรณ์ดีแล้ว พระอุปัชฌาย์และคณะสงฆ์ในหมู่นั้นๆ จึงอนุญาตให้เธออุปสมบทขอบวชเป็นพระภิกษุด้วยการกล่าวคำขอบวช ด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมวาจา ต่อหน้าหมู่สงฆ์ไม่ต่ำกว่า ๒๕ รูป
เมื่อผู้ขอบวชได้รับการสวดญัตติจากพระคู่สวดและถูกสอบถาม ถึงสิ่งที่จักเป็นอันตรายต่อพระธรรมวินัยและพรหมจรรย์ผ่านพ้นแล้ว พระอุปัชฌาย์จึงสอนถึงสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำพร้อมทั้งสอนพระกรรมฐานสืบไป
.
อธิบายถึงวิธีการว่ากว่าจะมาเป็นพระภิกษุได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง ให้ท่านทั้งหลายได้เห็นพอสังเขป เพื่อจักให้ท่านทั้งหลายได้รู้ว่า สมณภาวะ หรือภิกษุภาวะ มิใช้ได้มาจากความเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเป็นความเห็นชอบของหมู่คณะพระภิกษุสงฆ์ซึ่งต้องมีไม่ต่ำกว่า ๒๕ รูป
.
อีกทั้งพระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระบรมพุทธานุญาต เอาไว้ว่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จักพ้นจากความเป็นสมณภาวะหรือภิกษุภาวะได้นั้น จักมีมูลเหตุ ๓ กรณี คือ
๑. มรณภาพ (ตาย)
๒. ต้องอาบัติปาราชิก หรืออาบัติที่ต้องแล้วจักทำให้ภิกษุผู้ต้องผู้นั้น ขาดจากความเป็นภิกษุภาวะ ซึ่งมี ๔ มูลเหตุ คือ
- ๑. เสพเมถุน
- ๒. ฆ่ามนุษย์
- ๓. ลักทรัพย์เกินกว่า ๕ มาสก
- ๔. พูดอวดอุตริมนุสธรรม ที่ไม่มีในตนเอง
๓. กล่าวคำลาสิกขา ต่อหน้าพระภิกษุหรือหมู่สงฆ์
.
แต่กฎหมาย บางมาตรากลับขัดแย้งต่อหลักธรรมวินัยอย่างสิ้นเชิง เช่น มาตรา ๒๙ ความว่า
พระภิกษุใดถูกจับโดยต้องหาว่า กระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัด ไม่รับมอบตัวไว้ถามคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจักดำเนินการ ให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้
.
หากพิเคราะห์ดูอย่างละเอียดแล้ว ท่านทั้งหลายจักเห็นว่า มาตรา ๒๙ นี้ เมื่อภิกษุถูกกล่าวหา โดยยังมิได้ตรวจสอบ พิสูจน์ตนเองตามหลัก ป.วิ อาญาที่เชื่อไว้ก่อนว่า “ผู้ถูกกล่าวหา ยังเป็นผู้บริสุทธิ์” หากศาลยังมิได้พิพากษา
.
แม้ในหลักพระธรรมวินัย พระบรมศาสดาก็ทรงยังต้องให้ตรวจสอบ พิสูจน์ทราบเสียก่อนว่าภิกษุนั้นผิดจริง ดังที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ จึงจักลงโทษ วิธีนี้เรียกว่า การระงับอธิกรณ์ด้วยวิธี ๗ ประการ
.
ที่เขียนอธิบายมาเสียยืดยาวเช่นนี้ หาได้ต้องการเรียกร้องเพื่อประโยชน์ของพุทธะอิสระผู้ซึ่งกำลังต้องคดีไม่ เพราะยังไงๆ พุทธะอิสระ ก็ต้องรอให้คดีกบฏถึงที่สุดแล้วจึงกลับมาขอบวชใหม่อยู่แล้ว
.
แต่ต้องการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือกฎระเบียบใดที่ขัดแย้งต่อหลักธรรมวินัย เพื่อการแก้ไขปรับปรุง ให้ตรงต่อหลักธรรมวินัยเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่พระพุทธศาสนาและพุทธบริษัททั้ง ๔
.
พุทธะอิสระ