ตอบคำถามเรื่องมหาประเทศ ๔
ได้อธิบายไปแล้วตั้งแต่ตอนแรกว่า เป็นขบวนการเทียบเคียงกับหลักพระธรรมวินัยว่า สิ่งนั้นสอดคล้อง เข้ากับหลักพระธรรมวินัยได้หรือไม่
ตอนที่แล้วได้ยกข้อเทียบเคียงกับหลักพระธรรมไปแล้ว โดยเทียบเคียงกับคำสอนที่มีอยู่ในพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก คราวนี้เรามาตามดูขบวนการเทียบเคียงกับหลักพระวินัย หรือมิใช่วินัย เช่น
๑. สิ่งใดที่มิได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร และเข้ากันได้กับสิ่งที่มันไม่ควร แต่ขัดแย้งกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นต้องถือว่า ไม่เหมาะ ไม่ควร
๒. สิ่งใดที่มิได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันได้กับสิ่งที่เหมาะที่ควร ก็ให้ถือว่าสิ่งนั้นเหมาะสมควร
๓. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ และเข้ากันได้กับสิ่งที่ไม่ควร แต่มันขัดกับสิ่งที่เหมาะที่ควร ต้องถือว่านั้นคือสิ่งที่ไม่สมควร
๔. สิ่งใดไม่ได้ทรงแสดงไว้ว่าควร แต่เข้ากับสิ่งที่ควร และขัดกับสิ่งที่ไม่สมควร สิ่งนั้นถือว่าสมควร
เราท่านทั้งหลายจะสังเกตเห็นว่า มหาประเทศฝ่ายพระวินัยที่ทรงวางไว้กว้างๆ ครอบคลุมพระวินัย ในเฉพาะตั้งแต่ อนิยตและสังฆาทิเสสลงมา ส่วนที่เป็นอาบัติโทษหนักสุด เช่น ปาราชิก หลักมหาประเทศไม่สามารถเอามาตีความได้
สิ่งใดที่สมควร เหมาะสม สอดคล้องกับหลักพระวินัย เรียกว่า กัปปิยะ
สิ่งใดที่ไม่สมควร ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับหลักพระวินัย เรียกว่า อกัปปิยะ
หลักมหาประเทศทั้ง ๔ จึงเป็นหลักที่นักวินัยธรรม มักจะยกขึ้นมาพิสูจน์ เทียบเคียงว่าสิ่งใดเป็นธรรม สิ่งใดเป็นวินัย และไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย
 
พุทธะอิสระ