พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสเตือนหมู่ภิกษุทั้งหลายเอาไว้ว่า
 
พหุมฺปิ เจ สํหิต ภาสมาโน น ตกฺกโร โหติ นโร ปมตฺโต โคโปว คาโว คณยํ ปเรสํ น ภาควา สามญฺญฺสฺส โหติ
(พะ หุม ปิ เจ สัง หิ ตัง ภา สะ มา โน นะ ตัก กะ โร โห ติ นะ โร ปะ มัต โต โค โป วะ คา โว คะ นะ ยัง ปะ เร สัง นะ ภา คะ วา สา มัน ยัด สะ โห ติ)
แม้จะพูดถึง อ้างถึง พระพุทธพจน์ได้มากปานใด
แต่เป็นผู้ประมาท ไม่ทำตามพระพุทธพจน์นั้นๆ ก็หาได้เข้าถึงซึ่งสามัญญผลไม่
เหมือนคนเลี้ยงโค ที่เอาแต่คอยนับโค ให้แก่ผู้อื่นฉะนั้น
อธิบายคำว่า สามัญญผล หมายถึง ผลแห่งความเป็นสมณะ หรือประโยชน์ที่พึงได้จากการเป็นสมณะ มีผลเป็นไปตามลำดับขั้นตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด
ซึ่งมีที่มาจาก สามัญญผลสูตร
 
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับ ณ ป่ามะม่วงของหมอชีวก ใกล้กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่คืนวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันอุโบสถ เดือน ๑๒ พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปเฝ้า ทูลถามถึงผลของดีของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน และตรัสเล่าว่า เคยไปถามครู . ทั้งหกมาแล้ว แต่ตอบไม่ตรงคำถาม เปรียบเหมือนถามถึงเรื่องมะม่วง แต่ไปตอบเรื่องขนุน . จึงต้องกลับ . พระผู้มีพระภาคทรงตรัสตอบเป็นข้อ ๆ ดังนี้ –
๑. ผู้เคยเป็นทาสหรือกรรมกรของพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อออกบวชประพฤติตนดีงามแล้ว จะทรงเรียกร้องให้กลับไปเป็นทาสหรือกรรมกรตามเดิมหรือไม่. พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสตอบว่า ไม่เรียกกลับ แต่จะแสดงความเคารพถวายปัจจัย ๔ และถวายความคุ้มครองอันเป็นธรรม. ตรัสสรุปว่า นี่เป็นผลของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน.
๒. คนทำนาของพระเจ้าอชาตศัตรุ เมื่อออกบวชประพฤติตนดีงามแล้ว จะทรงเรียกร้องให้กลับไปทำนาให้ตามเดิมหรือไม่ ตรัสตอบเหมือนข้อแรก จึงนับเป็นผลของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน.
๓. คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ฟังธรรมเลื่อมใสแล้วออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ สมบรูณ์ด้วยศีล ( พรรณนาศีลอย่างเล็กน้อย อย่างกลาง อย่างใหญ่ เหมือนในพรหมชาลสูตร), สำรวมอินทรีย์ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้บาปอกุศลเกิดขึ้นท่วมทับจิต, มีสติสัมปชัญญะ, มีความสันโดษ ยินดีด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้, ออกป่าบำเพ็ญสมาธิ ละกิเลสที่เรียกว่านีวรณ์ ๕ เสียได้ จึงได้บรรลุฌานที่ ๑ นี้ก็เป็นผลของความเป็นสมณที่เห็นได้ในปัจจุบัน.
๔. ได้บรรลุฌานที่ ๒
๕. ได้บรรลุฌานที่ ๓
๖. ได้บรรลุฌานที่ ๔
๗. น้อมจิตไปเพื่อเกิดความรู้เห็นด้วยปัญญา ( ญาณทัสสนะ) ว่า กายมีความแตกทำลายไปเป็นธรรมดา วิญญาณก็อาศัยและเนื่องในกายนี้ ( วิปัสสนาญาณ ญาณอันทำให้เห็นแจ้ง).
๘. นิรมิตร่างกายอื่นจากกายนี้ได้ ( มโนมยิทธิ คือฤทธิ์ทางใจ).
๙. แสดงฤทธิ์ได้ เช่น น้อยคนทำให้เป็นมากคน มากคนทำให้เป็นน้อยคน เดินน้ำ ดำดิน เป็นต้น ( อิทธิวิธิ)
๑๐. มีหูทิพย์ ได้ยินเสียงใกล้ไกล ที่เกินวิสัยของมุนษย์ธรรมดา (ทิพย์โสต).
๑๑. กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ ( เจโตปริยญาณ).
๑๒. ระลึกชาติในอดีตได้ ( ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ).
๑๓. เห็นสัตว์อื่นตายเกิดด้วยตาทิพย์ ( เรียกว่าทิพย์จักษุ หรือจุตูปปาตญาณ คือญาณรู้ความตาย และความเกิดของสัตว์).
๑๔. รู้จักทำอาสวะ คือกิเลสที่หมักหมม หรือหมักดองในสันดานให้สิ้นไป ( อาสวักขยญาณ). ลำดับ
( เมื่อจะย่อผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบันทั้งสิบสี่ข้อนี้เป็นหมวด ๆ ก็อาจย่อได้ ๓ หมวด คือ
หมวดที่ ๑ ทำให้พ้นจากฐานะเดิม คือพ้นจากความเป็นทาส เป็นกรรมกร พ้นจากความเป็นชาวนา ได้รับการปฏิบัติด้วยดี แม้จากพระมหากษัตริย์ คือผลข้อ ๑ กับข้อ ๒.
หมวดที่ ๒ เมื่ออบรมจิตใจจนเป็นสมาธิ ก็เป็นเหตุให้ได้ฌาน ที่ ๑ ถึง ๔ อันทำให้ละกิเลสอย่างกลางได้ คือผลข้อ ๓, ๔, ๕, และ ๖.
หมวดที่ ๓ ทำให้ได้วิชชา ๘ อันเริ่มแต่ข้อ ๗ ได้วิปัสสนาญาณ จนถึงข้อ ๑๔ ได้อาสวักขยญาณ).
พระเจ้าอชาตศัตรุทรงเลื่อมใส ปฏิญญาพระองค์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต แล้วกราบทูลขอขมาในการที่ปลงพระชนม์พระราชบิดา ( คือพระเจ้าพิมพิสาร) ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสรับขมา.
เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรุเสด็จกลับแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ถ้าพระเจ้าอชาตศัตรุไม่ปลงพระชนม์พระราชบิดา ก็จะได้ดวงตาเห็นธรรม ( เป็นพระโสดาบัน).
 
เหตุที่ยกมาอธิบายเสียยืดยาวก็เพื่อให้ท่านทั้งหลาย ทำความเข้าใจในการเข้าถึงซึ่งพระพุทธธรรมคำสอน ด้วยกิริยาที่ค่อยๆ ซึมซับ รับรู้ อย่างละเอียด รอบคอบ ประณีต
ทุเรียนที่อร่อยหากไม่มีเปลือก ก็ไม่ต่างอะไรจากก้อนอาจม
ไม้แก่นหากไม่มีกระพี้ เปลือกไม้ เยื่อไม้ แล้วแก่นจะมาจากไหน
ฉะนั้น พวกที่คลั่งไคล้ลัทธิพุทธวจนควรต้องสำเหนียกในข้อนี้ด้วย
พระธรรมวินัย พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี และภาษาไทยเขามีใช้กันมาเป็นร้อยๆ ปี อยู่ๆ ก็มีคนห่มเหลืองที่เกิดมาไม่กี่ฤดูฝนมาอวดรู้ชี้ว่า พระธรรมวินัยบกพร่อง พระไตรปิฎกไม่ดี
พระพุทธเจ้าสอนว่า จะดูว่าอะไรดีหรือไม่ดี ให้ดูที่เขาปฏิบัติ และผลของการปฏิบัติ
ไม่ทำตัวเป็นศาสดาสู่รู้ ทั้งที่มีข่าวว่ายังแอบโชว์ของลับให้สาวดูอยู่เลย
ตนเองยังตั้งอยู่บนความมัวเมาประมาทในรูป ในเสียง ในธรรม แล้วยังจะมีหน้ามาว่าพระธรรมวินัยบกพร่อง
นี่มันนักบวชเผ่าพันธุ์กบิลภิกขุชัดๆ
 
พุทธะอิสระ