เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ นันทะมานพถือปฏิสนธิในครอบครัวที่อาศัยอยู่ ณ กรุงหงสวดี เจริญวัยแล้ว ได้ฟังธรรมในสำนักของพระบรมศาสดาทรงพระนามว่าปทุมุตตระ
นันทะมานพนั้นเห็นพระศาสดาทรง สถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้มีความสำรวม สังวร ระวังในอินทรีย์ทั้งหลาย นันทะมานพจึงตั้งจิตอธิษฐาน กระทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ด้วยปรารถนาตำแหน่งนั้น ท่านทำกุศลจนตลอดชีวิต ครั้งเมื่อตายลงได้เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์หลายภพหลายชาติ แล้วมาเกิดในพระครรภ์ของพระมหาปชาบดีโคตมี ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ครั้งนั้น ในวันตั้งพระนามท่านทำให้หมู่พระประยูรญาติให้ร่าเริงยินดี เพราะเหตุนั้น เหล่าพระประยูรญาติ จึงขนานพระนามของพระกุมารนั้นว่า นันทราชกุมาร
ครั้งเมื่อพระบรมศาสดาสมณโคดมทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้วทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐทรงอนุเคราะห์โลก เสด็จจากกรุงราชคฤห์ไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงทำพระพุทธบิดาให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
วันรุ่งขึ้น เสด็จไปพระราชนิเวศน์ของพระพุทธบิดาประทานธรรมโอวาทแก่ พระนางยโสธรา พระมารดาของพระราหุล พร้อมทั้งชนทั้งหลาย
ในเวลานั้น ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ได้มีงานวิวาหมงคลระหว่าง นันทราชบุตรกับพระนางชนบทกัลยาณี
ขณะนั้นนันทราชบุตรกำลังจะเข้าเรือนหออภิเษก พอเห็นพระบรมศาสดาเสด็จมายืนประทับอยู่หน้าเรือนหอ ด้วยความเคารพที่มีให้แก่พระบรมศาสดา ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา นันทราชบุตรจึงเสด็จออกไปรับพระบรมศาสดา พระพุทธองค์จึงทรงส่งบาตรให้นันทราชบุตรถือบาตรเสด็จบ่ายพระพักตร์ไปพระวิหาร ทั้งที่งานมงคลอภิเษกนันทราชบุตรยังไม่แล้วเสร็จ
นันทกุมารถือบาตรตามเสด็จด้วยความเคารพในองค์พระบรมศาสดา ในขณะนั้นพระนางชนบทกัลยาณีเจ้าสาวที่รอคอยนันทราชบุตรเจ้าบ่าวอยู่ในห้องพระบรรทม เมื่อทรงทราบว่า นันทราชบุตรได้ตามเสด็จพระบรมศาสดาไปพระนางชนบทกัลยาณีจึง เผยสีหบัญชร ร้องสั่งว่า
พระลูกเจ้าโปรดกลับมาเร็ว ๆ นันทราชบุตรนั้น ได้ยินเสียงพระนางชนบท ก็ได้แต่แลดูด้วยใจรัญจวนไม่อาจทำนิมิตหมายตอบใดๆ ได้ตามชอบใจ เพราะด้วยเคารพในพระศาสดาเป็นอย่างยิ่ง เหตุนั้นนันทราชบุตรนั้นจึงร้อนใจเป็นยิ่งนัก ขณะนั้น นันทราชบุตรก็คิดปลอบใจตนเองว่า ไม่เป็นไรน่า เดี๋ยวพระศาสดาจักอนุญาตให้เรากลับตรงนี้ พอถึงทางสามแพร่งนันทราชบุตรก็คิดอีกว่า เดี๋ยวพระบรมศาสดาคงจะอนุญาตให้เรากลับบ้าน
พระศาสดาก็ทรงนำนันทราชบุตรไปจนถึงพระวิหาร แล้วทรงมีพุทธบัญชาให้บรรพชา นันทราชบุตรด้วยความรักเคารพในพระเชษฐา ก็ขัดไม่ได้ได้แต่นิ่งเสีย นับแต่วันบรรพชาแล้ว ก็ยังคงระลึกถึงคำพูดของนางชนบทกัลยาณีอยู่นั่นเอง ขณะนั้น เหมือนกับนางชนบทกัลยาณีนั้นมายืนอยู่ไม่ไกล นันทกุมารนั้น ถูกความกระสัน อยากลาสิกขา บีบคั้นหนักๆ ขณะที่บังเกิดราคจริตอยู่นั้น พลันได้เห็นภาพนิมิตพระทศพลมาประทับยืนอยู่เบื้องหน้า ความกระสันที่เกิดขึ้นในเวลานั้น เป็นเหมือนขนไก่ที่ถูกโยนใส่กองไฟ จึงกลับเข้าไปที่อยู่ของตน
พระศาสดาทรงพระดำริว่า นันทะอยู่อย่างประมาทเหลือเกินไม่อาจระงับความกระสันสึกได้ จึงควรทำการดับราคะจิตของเธอเสีย ต่อมาจึงทรงตรัสกับท่านนันทะว่า มานี่นันทะ เราจักไปจาริกบนเทวโลกด้วยกัน พระนันทะทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์จักไปสถานที่อยู่ของเหล่าท่านผู้มีฤทธิ์ได้อย่างไร ทรงตรัสตอบว่า เธอจงทำจิตคิดว่าจะไปอย่างเดียว ไปแล้วก็จักเห็น ท่านพระนันทะนั้น ทำตามเสด็จจาริกไปเทวโลกกับพระตถาคต โดยอานุภาพของพระทศพล ทรงบันดาลให้พระนันทะแลดูเทวนิเวศน์ของท้าวสักกเทวราช เห็นเทพอัปสร ๕๐๐ นาง พระศาสดาทรงเห็นท่านพระนันทเถระแลดูโดยสุภนิมิต จึงตรัสถามว่า นันทะ เทพอัปสรเหล่านี้กับนางชนบทกัลยาณีใครเป็นที่น่าพอใจกว่ากัน
พระนันทะทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางชนบทกัลยาณี เทียบเทพอัปสรเหล่านี้ไม่ได้เลยพระเจ้าข้า นางชนบทกัลยาณีเหมือนกับนางวานรที่หูจมูกแหว่ง นั่งจับเจ่าอยู่บนตอไม้พระเจ้าข้า
ทรงตรัสว่า นันทะ เทพอัปสรเหล่านี้ ได้มาไม่ยากเลยสำหรับผู้ทำสมณธรรม ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับประกันแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ก็จักทำสมณธรรมให้เจริญ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นันทะเธอจงวางใจได้ เธอจงทำ สมณธรรมไปเถิด ถ้าเธอจักทำกาละ (ตาย) อย่างสัตว์มีปฏิสนธิ เราก็รับประกันว่าจะได้นางเทพอัปสรเหล่านั้น
ดังนั้น พระศาสดาทรงพาพระนันทะ เสด็จจาริกไปเทวโลก ตามพุทธอัธยาศัยแล้วจึงเสด็จกลับมาพระเชตวันอย่างเดิม ตั้งแต่นั้นมา ท่านพระนันทเถระก็กระทำ สมณธรรมทั้งกลางคืนทั้งกลางวัน เพราะเหตุอยากได้นางเทพอัปสร
พระศาสดาทรงสั่งภิกษุทั้งหลายว่า ในสถานที่อยู่ของนันทะพวกเธอจงเที่ยวพูดในที่นั้นๆ ว่ามีภิกษุรูปหนึ่ง ให้พระทศพลรับประกันแล้วจึงทำสมณธรรมเพราะเหตุอยากได้นางเทพอัปสรทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธดำรัสแล้ว ก็เที่ยวพูดกับคนทั้งหลายว่า ท่านนันทะเป็นลูกจ้าง ท่านนันทะถูกซื้อมา จึงประพฤติพรหมจรรย์ เพราะเหตุอยากได้นางเทพอัปสรทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับประกันท่านนันทะนั้น ที่จะได้นางเทพอัปสร ๕๐๐ นาง ซึ่งมีเท้าเหมือนไก่ ภิกษุเหล่านั้น ต่างซุบซิบสนทนากันปากต่อปากจนรู้ถึงหูของ ท่านพระนันทเถระจึงคิดว่า ภิกษุพวกนี้ พูดปรารภถึงเรา การกระทำของเราไม่ถูกแน่แล้ว คิดทบทวนแล้วเจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหันต์ขณะที่ท่านบรรลุพระอรหันต์นั้นแลเทวดาองค์หนึ่งก็ทูลเรื่องนั้นแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งอันที่จริงแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงทราบเรื่องด้วยพระองค์เองก่อนหน้านี้แล้ว
วันรุ่งขึ้น ท่านพระนันทเถระเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับประกันข้าพระองค์ เพื่อจะได้นางเทพอัปสร ๕๐๐ นาง ซึ่งมีเท้าเหมือนไก่อันใด ข้าพระองค์ขอปฏิเสธในคำปฏิญาณนั้นพระพุทธเจ้าข้า
กาลต่อมาพระศาสดาทรงสถาปนาพระนันทเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอด ของพุทธสาวกที่มีความสำรวม สังวร ระวังในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งปวง
***************************************
นี่คือต้นแบบของผู้ที่เคยตกเป็นทาสของราคจริต แล้วสามารถหลุดพ้นด้วยการหมั่นเพียรภาวนา
สาธุ สาธุ สาธุ
พุทธะอิสระ