ใครที่มีอารมณ์ทั้ง ๗ สิงสถิตอยู่ในจิตตลอดเวลา ก็ให้รู้ไว้เถิดว่า ท่านตกอยู่ในการครอบงำของโมหจริต
และวิธีพิชิตโมหจริตนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำวิธีกำหราบอารมณ์โมหะ ให้สงบราบคาบลงได้ด้วยการเจริญอานาปานสติ ซึ่งองค์พระบรมศาสดาทรงแนะนำไว้ถึง ๑๖ ขั้นตอนคือ
***************************************************************
๑. รู้อยู่ว่ากำลังหายใจออก รู้อยู่ว่ากำลังหายใจเข้า
๒. รู้อยู่ว่าหายใจออกสั้นหรือยาว รู้อยู่ว่าหายใจเข้าสั้นหรือยา
๓. รู้อยู่ว่าหายใจออกกระทบอวัยวะส่วนใดภายในและภายนอกกาย รู้อยู่ว่าหายใจเข้ากระทบอวัยวะส่วนใดภายในและภายนอกกาย
๔. รู้อยู่ว่าลมหายใจออกสงบอยู่หรือไม่ รู้อยู่ว่าลมหายใจเข้าสงบอยู่หรือไม่
การกำหนดรู้ในอานาปานสติ ตั้งแต่ข้อ ๑-๔ เป็นการกำหนดรู้ภายในกาย จัดเรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
๕. รู้อยู่ว่าจิตนี้มีปีติแล้วหายใจเข้า รู้อยู่ว่าจิตนี้มีปีติแล้วหายใจออก
๖. รู้อยู่ว่าจิตนี้มีสุขแล้วหายใจเข้า รู้อยู่ว่าจิตนี้มีสุขแล้วหายใจออก
๗. รู้อยู่ว่าจิตนี้มีการปรุงแต่งแล้วหายใจเข้า รู้อยู่ว่าจิตนี้มีการปรุงแต่งแล้วหายใจออก
๘. รู้อยู่ว่าระงับการปรุงแต่งแล้วหายใจเข้า รู้อยู่ว่าระงับการปรุงแต่งแล้วหายใจออก
ตั้งแต่ข้อ ๕-๘ สติเริ่มละเอียดสามารถจับความรู้สึกได้ชัดเจน เรียกว่า เวทนานุปัสสนา จนสามารถแยกรูปนามออกจากกันได้ชัดเจน เรียกว่า นามรูปปริทเฉทญาณ
๙. รู้อยู่ว่าขณะหายใจออกพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏกับจิต รู้อยู่ว่าขณะหายใจเข้าพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏแก่จิต
๑๐. รู้อยู่ว่าขณะหายใจออกจิตนี้ร่าเริงอยู่ รู้อยู่ว่าขณะหายใจเข้าจิตนี้ร่าเริงอยู่
๑๑. รู้อยู่ว่าขณะหายใจเข้าจิตนี้ตั้งมั่นอยู่ รู้อยู่ว่าขณะหายใจออกจิตนี้ตั้งมั่นอยู่
๑๒. รู้อยู่ว่าขณะหายใจเข้าจิตวางเฉย รู้อยู่ว่าขณะหายใจออกจิตวางเฉย
ตั้งแต่ข้อ ๙-๑๒ สติเริ่มละเอียดสามารถรู้จากสัมผัสของอายตนะได้ดี อันเป็นวิญญาณขันธ์ได้ชัดเจน เรียกว่า จิตตานุปัสสนา จนสามารถเท่าทันในเหตุปัจจัยของรูปนามได้ชัดเจน เรียก นามรูปปัจจยปริคคหญาณ
๑๓. รู้อยู่ขณะหายใจเข้าเห็นความไม่เที่ยง รู้อยู่ขณะหายใจออกเห็นความไม่เที่ยง
๑๔. รู้อยู่ขณะหายใจเข้าแล้วพิจารณาคลายความพอใจ รู้อยู่ขณะหายใจออกแล้วพิจารณาคลายความพอใจ
๑๕. รู้อยู่ขณะหายใจเข้าแล้วพิจารณาถึงความยึดมั่นในรูปนามอยู่หรือไม่ รู้อยู่ขณะหายใจออกแล้วพิจารณาถึงความยึดมั่นในรูปนามอยู่หรือไม่
๑๖. รู้อยู่ขณะหายใจเข้าแล้วพิจารณาระงับการปรุงแต่งในขันธ์ทั้ง ๕ รู้อยู่ขณะหายใจออกแล้วพิจารณาระงับการปรุงแต่งในขันธ์ทั้ง ๕
ตั้งแต่ข้อ ๑๓-๑๖ สติละเอียดมากขึ้น จนพิจารณาเห็นรูปนามปรากฏชัดอยู่ในธัมมารมณ์ จึงเรียกว่า ธัมมานุปัสสนา พิจารณาเห็นว่ารูปนามเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์
***************************************************************
นอกจากจะมุ่งมั่น หมั่นปฏิบัติภาวนาในอานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้นแล้วยังต้องต้องหมั่นคบหาสมาคมกับนักปราชญ์ บัณฑิต ผู้รู้ ผู้ที่สามารถชี้นำ แนะวิธีให้ตื่นรู้ สั่งสมอบรมสติ สมาธิ ปัญญา
อีกทั้งต้องอย่าทำตนเป็นคนที่น้ำชาล้นถ้วย เพราะมันไม่อวยให้เกิดสติปัญญา
เรื่องที่ควรทำคือ พยายามทำตนเป็นผู้ขยัน หมั่นเพียร ใฝ่เรียน ใฝ่รู้ แสวงหาครูบาอาจารย์ ผู้มีธรรมแล้วตั้งใจรับฟังคำสั่งสอนอย่างใฝ่รู้ ใคร่เรียนอย่างจดจ่อ จริงจัง ตั้งใจ จับจ้อง พร้อมทั้งต้องทดลองลงมือทำอย่างต่อเนื่อง
เช่นนี้จึงจะสามารถเอาชนะอารมณ์โง่ง มึน เหงา เศร้า ง่วง หลง ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
วันหน้าจะนำเอาตัวอย่างบุคคลที่มีโมหจริตมาให้ท่านเรียนรู้ เพื่อทำความเข้าใจถึงพิษภัยของโมหะ ให้แจ่มชัดต่อไป
 
พุทธะอิสระ