พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอาชีวกผู้หนึ่งให้เป็นเหตุ ทรงตรัสพระธรรมเทศนานี้ขึ้นในท่ามกลางหมู่ภิกษุพุทธบริษัท
ได้ยินว่า กุลบุตรชาวบ้านนอกผู้หนึ่ง ไปขอกุลธิดานางหนึ่ง ในกรุงสาวัตถี ให้แก่ลูกชายของตน นัดหมายวันกันว่า ในวันโน้น จักมารับเอาตัวไป
ครั้นถึงวันนัด จึงถามอาชีวก ผู้เข้าไปสู่ตระกูลของตนว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ วันนี้พวกผมจักทำมงคลอย่างหนึ่ง ฤกษ์ดีไหมครับ.
อาชีวกนั้นโกรธอยู่แล้วว่า คนผู้นี้ ครั้งแรกไม่ถามเราเลย บัดนี้ เลยวันไปแล้ว กลับมาถามเรา เอาเถิดเราจักต้องสั่งสอนเขาเสียบ้าง
จึงพูดว่า วันนี้ฤกษ์ไม่ดี พวกท่านอย่ากระทำการมงคลในวันนี้เลย ถ้าขืนทำจักพินาศใหญ่
พวกมนุษย์ในตระกูลพากันเชื่ออาชีวกนั้น ไม่ไปรับตัวเจ้าสาวในวันนั้น.
ฝ่ายพวกชาวเมืองจัดการมงคลไว้พร้อมแล้ว ไม่เห็นพวกเจ้าบ่าวมารับตัวเจ้าสาว จึงกล่าวว่า พวกนั้นกำหนดไว้วันนี้แล้วไม่มา แม้การงานของพวกเรา ก็ใกล้จะสำเร็จแล้ว เรื่องอะไรจักต้องไปคอยพวกนั้น เราจักยกธิดาของเราให้คนอื่นไป แล้วก็ยกธิดาให้แก่ตระกูลอื่นไป ด้วยพิธีมงคลที่เตรียมไว้ นั้นแหละ.
ครั้นวันรุ่งขึ้น พวกที่ขอไว้ก็พากันมาถึง แล้วกล่าวว่า พวกท่านจงส่งตัวเจ้าสาวให้เราเถิด.
ทันใดนั้น ชาวเมืองสาวัตถีก็พากันบริภาษพวกนั้นว่า พวกท่านสมกับที่ได้ชื่อว่า เป็นคนบ้านนอก ขาดความเป็นผู้ดี เป็นคนลามก กำหนดวันไว้แล้ว ดูหมิ่นเสีย ไม่มาตามกำหนด เชิญกลับไปตามทางที่มากัน นั่นแหละ. พวกเรายกเจ้าสาวให้คนอื่นแล้ว.
พวกชาวบ้านนอกก็พากันทะเลาะกับชาวเมือง ครั้นไม่ได้เจ้าสาว ก็ต้องพากันไปตามทางที่มา นั่นเอง.
เรื่องที่อาชีวกกระทำอันตรายต่องานมงคลของมนุษย์เหล่านั้น ปรากฏว่ารู้กันทั่วไปในระหว่างภิกษุทั้งหลาย. และภิกษุเหล่านั้นประชุมกันในธรรมสภา นั่งพูดกันว่า อาวุโสทั้งหลาย อาชีวกกระทำอันตรายต่องานมงคลของตระกูลที่อุปัฏฐากตนเสียแล้ว.
พระศาสดาเสด็จมา แล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอกำลังสนทนากันด้วยเรื่องอะไร?
ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว. ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่อาชีวกกระทำอันตรายต่องานมงคลของตระกูลนั้นเสีย แม้ในกาลก่อน ก็กระทำอันตรายต่องานมงคล เคยมีมาแล้วเหมือนกัน แล้วทรงนำเอา เรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี ชาวพระนครพากันไปสู่ขอธิดาของชาวชนบท กำหนดวันแล้ว ถามอาชีวกผู้คุ้นเคยกันว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ วันนี้ ผมจะกระทำงานมงคลสักอย่างหนึ่ง ฤกษ์ดีไหมขอรับ.
อาชีวกนั้นโกรธอยู่แล้วว่า คนพวกนี้กำหนดวันเอาตามพอใจตน บัดนี้ กลับถามเรา คิดต่อไปว่า ในวันนี้ เราจักทำการขัดขวางงานของคนเหล่านั้นให้พินาศเสีย แล้วกล่าวว่า วันนี้ฤกษ์ไม่ดี ถ้ากระทำการมงคลจักพากันถึงความพินาศใหญ่
คนเหล่านั้นพากันเชื่ออาชีวก จึงไม่ไปรับเจ้าสาว
ชาวชนบททราบว่า พวกนั้นไม่มา ก็พูดกันว่า พวกนั้นกำหนดวันไว้วันนี้ แล้วก็ไม่มา ธุระอะไรจักต้องคอยคนเหล่านั้น แล้วก็ยกธิดาให้แก่คนอื่นไป
รุ่งขึ้น ชาวเมืองพากันมาขอรับเจ้าสาว ชาวชนบทก็พากันกล่าวว่า พวกท่านขึ้นชื่อว่า เป็นชาวเมือง แต่ขาดความเป็นผู้ดี กำหนดวันไว้แล้ว แต่ไม่มารับเจ้าสาว เพราะพวกท่านไม่มา เราจึงยกให้คนอื่นไป.
ชาวเมืองกล่าวว่า พวกเราถามอาชีวกดู ได้ความว่า ฤกษ์ไม่ดีจึงไม่มา จงให้เจ้าสาวแก่พวกเราเถิด
ชาวชนบทแย้งว่า เพราะพวกท่านไม่มากัน พวกเราจึงยกเจ้าสาวให้คนอื่นไปแล้ว คราวนี้จักนำตัวเจ้าสาวที่ให้เขาไปแล้วมาอีกได้ อย่างไรเล่า?
เมื่อคนเหล่านั้นโต้เถียงกันไปโต้เถียงกันมา อยู่อย่างนี้
ก็พอดี มีบุรุษผู้เป็นบัณฑิตคนหนึ่งกำลังเดินทางผ่านมา ด้วยกิจการบางอย่าง ได้ยินชาวเมืองเหล่านั้นกล่าวว่า พวกเราถามอาชีวกแล้ว จึงไม่มาเพราะฤกษ์ไม่ดี
บุรุษผู้เป็นบัณฑิตนั้นจึงพูดว่า ฤกษ์จะมีประโยชน์อะไร ที่จะรอดูฤกษ์เพราะการได้เจ้าสาวก็เป็นฤกษ์ดีอยู่แล้ว มิใช่หรือ? แล้วกล่าวคาถาความว่า :-
“ ประโยชน์ใดๆ ไม่สามารถผ่านพ้นคนโง่ ผู้มัวคอยฤกษ์ยามอยู่
เมื่อใดที่ลงมือทำประโยชน์ ก็ถือว่าเป็นฤกษ์ดีแล้ว คราใดที่คิดทำคุณประโยชน์ ครานั้นเป็นมงคลต่อชีวิตแล้ว
ฤกษ์และดวงดาวทั้งหลาย จักทำอะไรได้ ” ดังนี้.
พวกชาวเมืองที่กำลังทะเลาะกันอยู่ พอได้ฟังดังนั้น ก็พากันหยุดทะเลาะแล้วแยกย้ายกันไป
ต่อมาพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในอดีตอาชีวกนั้นได้ทำการขัดขวางงานมงคลของตระกูลอุปัฏฐากของตนมาแล้วในกาลก่อน
ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาตรัสแล้ว ทรงประชุมชาดกว่าอาชีวกในครั้งนั้น ได้มาเป็นอาชีวกในครั้งนี้
แม้ทั้งสองตระกูลทั้งนั้นในครั้งนั้น ก็ได้มาเป็นสองตระกูลในครั้งนี้ แล้วมีวิวาทะต่อกัน
ส่วนบุรุษผู้เป็นบัณฑิต ผู้ยืนกล่าวคาถา ได้มาเป็น เราตถาคตในขณะนี้
***********************************************
ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า ผู้ที่ถูกอารมณ์วิตกกังวลเข้าครอบงำ หาได้มีแต่คนชาติเดียว แต่อารมณ์วิตกจริตก็ติดตามทำร้ายทำลายชีวิต ให้จมปลักอยู่กับความผิดพลาดไม่จบไม่สิ้น
หากบุคคลเหล่านั้นยังไม่สามารถกำราบอารมณ์วิตกจริตให้สงบราบคาบลงไปได้ ก็ต้องเวียนเกิดเวียนตายจมอยู่ในปลักของความวิตกกังวลเช่นนี้ไม่จบไม่สิ้น
 
พุทธะอิสระ