เมื่อเราท่านทั้งหลายทำความเข้าใจในจริตทั้ง ๖ อย่างถ่องแท้แล้ว วันนี้เรามาทำความรู้จัก เข้าใจในข้อธรรมที่มนุษย์จำเป็นต้องรู้โดยที่มิอาจปฏิเสธได้
แต่ถ้าจะมีคนเถียงว่า หากฉันจะปฏิเสธไม่รับรู้ล่ะ มันจะเกิดอะไรขึ้น
คงตอบเลยว่า เอาตามที่เธอสบายใจ
แล้วอย่ามาตีโพยตีพายว่า ชีวิตฉันทำไมมันตกต่ำ บัดซบได้ถึงขนาดนี้
อันนี้ไม่ได้แช่งนะจ๊ะ
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ปฏิเสธธรรม ย่อมได้รับผลกรรมในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับผู้รู้ธรรม เข้าถึงธรรมเสมอ
มัวอารัมภบทมาเสียนาน เราท่านมาทำความรู้จักธรรมที่มนุษย์จำเป็นต้องรู้กันเบื้องต้นก่อน
กรรม ๒ อย่าง
กุศลกรรม ได้แก่ กรรมที่ทำด้วยเจตนาดี กรรมที่ทำด้วยความชาญฉลาด อันประกอบด้วยเจตนาดีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจ
อกุศลกรรม ได้แก่ กรรมที่ทำด้วยเจตนาที่ไม่ดี กรรมที่กระทำด้วยความโง่ ไม่รู้เท่าทันถึงผลที่มันจะเกิดตามมาทั้งทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจ
กรรม ๓ อย่าง
กายกรรม กรรมที่กระทำทางกายได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
วจีกรรม ได้แก่ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ
มโนกรรม ได้แก่ โลภยากได้ของเขา พยาบาท ปองร้ายเขา และเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
กรรมทั้ง ๓ อย่างดังกล่าวจัดเป็นกรรมในฝ่ายอกุศลที่กระทำลงไปด้วยความไม่ฉลาด โง่เขลา รู้ไม่เท่าทันสถานการณ์แห่งความเป็นจริง และด้วยความลุ่มหลงทะยานอยาก
ส่วนกรรม ๓ อย่างที่เป็นฝ่ายกุศลนั้นต้องทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับฝ่ายอกุศล
กรรม ๒ และกรรม ๓ นี้ถือเป็นกรรมที่มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ ทำได้มีประโยชน์
หาไม่แล้วก็ไม่อยากคิดเลยว่า เขาผู้นั้นจะต้องได้รับผลกรรมอันเผ็ดร้อนขนาดไหน
 
พุทธะอิสระ