เมื่อเราท่านทั้งหลายทำความเข้าใจในจริตทั้ง ๖ อย่างถ่องแท้แล้ว วันนี้เรามาทำความรู้จัก เข้าใจในข้อธรรมที่มนุษย์จำเป็นต้องรู้โดยที่มิอาจปฏิเสธได้
 
๒ ตอนที่แล้วได้นำเอากรรม ๒ กรรม ๓ และสติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว ซึ่งล้วนเป็นข้อธรรมที่มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ให้แจ่มชัด แม้บางคนจะอ้างว่าตนไม่มีศาสนาก็ตามที
แต่ข้อธรรมดังกล่าว เป็นสิ่งที่มีมาก่อนศาสนาเกิดเสียด้วยซ้ำ
อีกทั้งเป็นธรรมที่หมู่มนุษย์ในทุกยุค ทุกสมัยได้เล็งเห็นว่า หากไม่เรียนรู้ศึกษาข้อธรรมดังกล่าว ชีวิตก็จะยิ่งทุกข์ยากลำบากมากขึ้นเป็นสิบเท่าพันทวี
แต่หากได้ศึกษาปฏิบัติในข้อธรรมดังกล่าว ก็จะสามารถบรรเทาสารพัดทุกข์ให้ลดลงได้
 
วันนี้เราท่านทั้งหลายมาตามดูข้อธรรมที่หมู่มนุษย์ควรต้องรับรู้และปฏิบัติตามให้จริงๆ จังๆ ข้อธรรมนั้นคือ
หิริ ความละอายชั่ว ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
โอตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปและผลแห่งบาป
ธรรมทั้งสองอย่างนี้หากมนุษย์ทุกคนศึกษาปฏิบัติ จะช่วยให้สังคมมนุษย์สงบสุขร่มเย็น
ซึ่งพระสารีบุตร ท่านได้ยกข้อธรรมนี้ขึ้นมาสั่งสนทนากับพระมหากัสสปะเถระ ความว่า
 
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปะและท่านพระสารีบุตรอยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวันเขตกรุงพาราณสี ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันและกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า
“อาวุโสกัสสปะ ผมว่า ภิกษุผู้ไม่มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ไม่มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ไม่ควรตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพื่อบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม
ส่วนภิกษุผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ควรเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพื่อบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม”
ท่านพระมหากัสสปะถามว่า “ท่านผู้มีอายุ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ไม่มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อตรัสรู้ ไม่ควรเพื่อนิพพานไม่ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม ด้วยเหตุอะไร
และภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ควรเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพื่อบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม ด้วยเหตุอะไร”
พระสารีบุตร ตอบว่า ผู้มีอายุ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ไม่ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า
“บาปอกุศลธรรมใดที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแก่เรา พึงเป็นไปเพื่อความพินาศ”
ไม่ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า “บาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อเรายังละไม่ได้ พึงเป็นไปเพื่อความพินาศ”
ไม่ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า “กุศล-ธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่เกิดขึ้นแก่เรา พึงเป็นไปเพื่อความพินาศ”
ไม่ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า “กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เมื่อดับ พึงเป็นไปเพื่อความพินาศ”
ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีความเพียรเครื่องเผากิเลส เป็นอย่างนี้ (เรียกภิกษุเช่นนี้ว่า ไม่มีความละอายชั่ว)
 
ท่านอาวุโส ภิกษุชื่อว่าไม่มีความสะดุ้งกลัว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ไม่สะดุ้งกลัว โดยคิดว่า “บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อเกิดขึ้น พึงเป็นไปเพื่อความพินาศ”
ไม่สะดุ้งกลัว โดยคิดว่า “บาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เมื่อเรายังละไม่ได้ พึงเป็นไปเพื่อความพินาศ”
ไม่สะดุ้งกลัว โดยคิดว่า “กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อไม่เกิดขึ้น พึงเป็นไปเพื่อความพินาศ”
ไม่สะดุ้งกลัว โดยคิดว่า “กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อดับ พึงเป็นไปเพื่อความพินาศ”
ภิกษุชื่อว่าไม่มีความสะดุ้งกลัวต่อผลของบาปอกุศลเป็นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้ไม่มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ไม่มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อตรัสรู้ ไม่ควรเพื่อนิพพาน ไม่ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม เป็นอย่างนี้แล
 
อโนตตัปปะ คือ กิริยาที่ไม่เกรงกลัวต่อการประพฤติทุจริตอันเป็นสิ่งที่น่าเกรงกลัว กิริยาที่ไม่เกรงกลัวต่อการประกอบอกุศลบาปธรรมทั้งหลาย อันใด
สังคมในปัจจุบันเราท่านทั้งหลายจะได้พบเห็นผู้คนต่างพากันกระทำ พูด คิด ที่ผิดบาปทั้งต่อตนและต่อผู้อื่นอยู่เป็นนิจ
เราท่านทั้งหลายจึงได้รับรู้ถึงความลุ่มหลง เร้าร้อน ทุกข์ทรมาน ทุรนทุรายกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่างที่เห็น
 
พุทธะอิสระ