เมื่อเราท่านทั้งหลายทำความเข้าใจในจริตทั้ง ๖ อย่างถ่องแท้แล้ว วันนี้เรามาทำความรู้จัก เข้าใจในข้อธรรมที่มนุษย์จำเป็นต้องรู้โดยที่มิอาจปฏิเสธได้
๓ ตอนแรกเราท่านทั้งหลายได้เรียนรู้ ศึกษา ปฏิบัติ เรื่องธรรมที่มนุษย์ควรต้องรู้ในเรื่องกรรม ๒ กรรม ๓ สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว หิริความละอายชั่ว โอตัปปะความเกรงกลัวบาป อโนตัปปะความประพฤติที่ไม่มีความละอายชั่วไม่เกรงกลัวผลของบาป
ตามด้วยข้อธรรมที่มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ คือ อนิจจังความไม่คงที่ ทุกขังความทนได้ยาก อนัตตาความไม่มีอยู่จริง
ข้อธรรมต่อไปที่มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ คือ อริยสัจ ๔ อันได้แก่ ทุกข์ความเสียดแทง ความทุรนทุราย ทรมานจนทนได้ยาก อันได้แก่ ชาติการเกิดเป็นทุกข์ ชราความแก่เป็นทุกข์ มรณะความตายก็เป็นทุกข์ แม้การพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็เป็นทุกข์
เหตุที่ทำให้ทุกข์เกิดอันได้แก่ อวิชชา ความโง่ ความไม่รู้จริง ตัณหา ความทะยานอยาก อุปาทานความยึดถือ
เหล่านี้เป็นมูลเหตุหลักๆ ที่ทำให้ทุกข์เกิด เรียกอีกอย่างคือ สมุทัย
อันมี ตัณหา ๓ เป็นมูลเหตุที่ซับซ้อน หลอกล่อให้ลุ่มหลงได้แก่
กามตัณหา - ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์ อันมีในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส แม้อารมณ์ที่เกิดกับจิตใจก็จัดอยู่ในกามตัณหา
ภวตัณหา - ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่
วิภวตัณหา - ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่
นิโรธ คือ ความดับทุกข์ อันได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง 3 ได้อย่างสิ้นเชิงและดับอุปาทานความยึดถือในขันธ์ทั้งปวงอย่างหมดสิ้น
มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับทุกข์ มีองค์ประกอบอยู่แปดประการ คือ
1. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ 2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ 3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ 4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ 5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ 6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ 7. สัมมาสติ ระลึกชอบ และ 8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือ ทางสายกลาง
มรรคมีองค์แปดนี้สรุปลงในไตรสิกขา ได้ดังนี้
1. สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ จัดเป็น อธิสีลสิกขา
2. สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ จัดเป็น อธิจิตสิกขา
3. สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ จัดเป็น อธิปัญญาสิกขา
อริยสัจทั้ง ๔ นี้เป็นธรรมที่สำคัญยิ่งของมนุษย์ที่ต้องรู้ให้จริง รู้ให้จำ รู้ให้แจ้ง รู้ให้กระจ่างชัด จะได้ไม่ต้องมานั่งเศร้า เคล้าสุข บ่นทุกข์กันอยู่อย่างทุกวันนี้
วันหน้าจักนำธรรมข้อต่อไปที่มนุษย์ควรรู้มาเสนอให้ศึกษาต่อไป
พุทธะอิสระ