มีผู้สงสัยประวัติของท่านพระโมฆราช ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรถึงได้รับฟังธรรมจากพระบรมศาสดา
วันนี้จึงขอนำประวัติท่านพระโมฆราชมาแสดง
พระโมฆราช เกิดในตระกูลพราหรมณ์ ชาวเมืองสาวัตถี เมื่อมีอายุพอสมควรแก่การศึกษาศิลปะวิทยาตามประเพณีพราหมณ์ จึงได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตที่ปรึกษาของพระเจ้าปเสนทิโกศล
ต่อมา พราหมณ์พาวรี เบื่อหน่ายชีวิตการครองเรือน จึงได้กราบทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศล ออกบวชเป็นชฎิล บำเพ็ญพรตตามประเพณีพราหมณ์ ตั้งสำนักอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ระหว่างเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะ ตัวเองเป็นเจ้าสำนักและเป็นอาจารย์ใหญ่ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนไตรเพทแก่ศิษย์ทั่วไป
โมฆราชมาณพ พร้อมกับเพื่อศิษย์อีกหลายคนได้ออกบวชติดตามด้วยพราหมณ์พาวรี แม้จะบวชเป็นฤๅษีชฎิลเช่นเดียวกับตระกูลกัสสปะ ๓ พี่น้อง แต่คนทั่วไปก็นิยมเรียก “พราหมณ์พาวรี” อยู่เช่นเดิม ไม่นิยมเรียกว่า “ชฎิล” เหมือนตระกูลกัสสปะ
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนศากยราชา ผู้ครองนคร กบิลพัสดุ์ เสด็จออกบรรพชาได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วเที่ยวสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ติดตามพระองค์เป็นอันมาก
พราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวเป็นลำดับ แต่ก็ยังเคลือบแคลงใจในการตรัสรู้ขององค์พระสัพพัญญโคดมเจ้า จึงตั้ง ปัญหาขึ้น ๑๖ หมวด แล้วมอบให้ศิษย์ ๑๖ คน นำไปกราบทูลถามพระบรมศาสดา ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ และโมฆราชมาณพก็เป็นหนึ่งในจำนวนศิษย์เหล่านั้น
อชิตมาณพ ผู้เป็นหัวหน้าได้พาคณะศิษย์อีก ๑๕ คน คือ ติสสเมตเตยยะ, ปุณณกะ, เมตตคู โธตกะ, อุปสีวะ, นันทกะ, เหมกะ , โตเทยยะ , กัปปะ , ชตุกัณณี , ภัทราวุธะ ,อุทยะ , โปสาละ , ปิงคิยะ , โมฆราช รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๖ คน พากันไปเข้าเฝ้า พระบรมศาสดาเพื่อทูลถามปัญหา ณ ปาสาณเจดีย์สถานที่ที่ทรงประทับ
ในบรรดาศิษย์ทั้ง ๑๖ คนนั้น โมฆราชมาณพ นับว่าเป็นผู้มีปัญญาดีกว่าศิษย์ทั้งหมดของพราหมณ์พาวรี จึงคิดที่จะทูลถามปัญหาเป็นคนแรก แต่เห็นว่าอชิตมาณพอยู่ในฐานะเป็นหัวหน้าผู้นำมา จึงเปิดโอกาสให้ถามเป็นคนแรก เมื่ออชิตะ ทูลถามจบแล้ว โมฆราชมาณพ ปรารถนาจะถาม เป็นคนที่ ๒ แต่พระพุทธองค์ตรัสห้ามว่า
“ดูก่อนโมฆราช ท่านจงรอให้มาณพคนอื่น ๆ ถามก่อนเถิด”
เมื่อมาณพคนอื่น ๆ ถามไปโดยลำดับถึงคนที่ ๘ โมฆราชมาณพ ก็แสดงความประสงค์ จะทูลถามเป็นคนที่ ๙ พระพุทธองค์ก็ตรัสห้ามไว้อีกครั้ง จนถึงลำดับคนที่ ๑๔ ผ่านไปแล้ว
โมฆราชมาณพ จึงได้มีโอกาสทูลถามเป็นคนที่ ๑๕ โดยกราบทูลถามว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลกกับทั้งเทวโลกก็ดี ย่อมไม่ ทราบความเห็นของพระองค์ เหตุดังนั้น จึงมีปัญหามาถึงพระองค์ ผู้มีปรีชาญาณเห็นล่วงสามัญชนทั้งปวงอย่างนี้ ข้าพระพุทธเจ้า จะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชคือความตายจึงจะไม่แลเห็น คือ จักไม่ตามทัน พระเจ้าข้า”
พระบรมศาสดา ตรัสพยากรณ์ว่า “ดูก่อนโมฆราช เธอจงมีสติพิจารณาดูโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด เธอจะข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ด้วยอุบายนี้ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล้ว มัจจุราชคือความตายจักแลไม่เห็นเธอ”
เมื่อพระบรมศาสดา ตรัสพยากรณ์ปัญหาของโมฆราชมาณพ จบลงแล้วโมฆราชมาณพ พร้อมด้วยชฎิลทั้งหมด ได้บรรลุพระอรหัตผลสิ้นอาสวกิเลสทุกคนเว้นแต่ปิงคิยมาณพผู้เดียวเพราะมัวแต่คิดถึงอาจารย์พราหมณ์พาวรีผู้เป็นลุง จึงได้พลาดจากญาณรู้เห็นในธรรมเหล่านั้น
มาณพทั้ง ๑๖ คน กราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ประทานด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ได้เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พร้อมบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยบุญฤทธิ์
ส่วนพระปิงคิยเถระกราบทูลลากลับไปแจ้งข่าวแก่พราหมณ์พาวรี แสดงธรรมตามที่พระพุทธ องค์ทรงแก้ปัญหาทั้ง ๑๖ ข้อ ให้ฟังแล้วยังพราหมณ์พาวรี ให้บรรลุธรรมาพิสมัยชั้นเสขภูมิ
พระโมฆราชนั้น เมื่ออุปสมบทแล้วปรากฏว่าท่านเป็นผู้มักน้อยสันโดษยินดีเฉพาะการ ใช้สอยจีวรที่เศร้าหมอง ๓ ประการ คือ ๑. ผ้าเศร้าหมอง ๒. ด้ายเย็บผ้าเศร้าหมอง ๓. น้ำย้อมผ้า เศร้าหมองด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุ ทั้งหลายในทาง ผู้ยินดีในจีวรเศร้าหมอง
 
เหตุที่ต้องนำประวัติพระโมฆราชมานำเสนอก็เพราะท่านได้รับคำสอนพิเศษในเรื่องความว่าง จากพระบรมศาสดา
วันหน้าจักนำเอาอัตชีวประวัติของพระอรหันต์อสีติมหาสาวก ผู้เป็นเอตทัคคะเป็นเลิศทางในด้านต่างๆ มาเล่าสู่กันฟังต่อไปนะจ๊ะ
 
พุทธะอิสระ