ในอัตชีวประวัติของท่านพระอุรุเวลกัสสปะผู้เป็นเลิศในทางมีบริวารมากกว่าภิกษุพุทธสาวกทั้งหลาย ในพระพุทธศาสนา
จวบจนเมื่อองค์พระบรมศาสดาทรงนำหมู่ภิกษุโดยมีท่านอุรุเวลกัสสปะตามเสด็จ
ขณะที่ทรงเสด็จประทับอยู่ ณ ลัฏฐิวันสวนตาลหนุ่ม แห่งกรุงราชคฤห์ ราชาพิมพิสารทรงทราบจึงเสด็จมาเฝ้าพร้อมบริวารและหมู่ชนเป็นอันมาก
ครั้งมหาชนมารวมตัวกันต่อหน้าพระพักตร์พระบรมศาสดา บางพวกก็ได้กระทำประทักษิณาเวียนขวา ถวายความเคารพ บางพวกก็ทำเพียงแค่ประนมมือก้มไหว้ บางพวกก็ยืนเฉยๆ บางพวกก็เอาแต่ประกาศชื่อและตระกูลตนเอง
เหตุเพราะมหาชนเหล่านั้น ที่มีกิริยากระด้างต่างกัน ด้วยเพราะต่างคิดสงสัยกันอยู่ในใจว่า ระหว่างสมณโคดม และอุรุเวลกัสสปะใครกันแน่ที่ได้เป็นอรหันต์
องค์สมเด็จพระชินศรีได้ทรงรู้วาระจิตของหมู่มหาชนนั้น จึงได้ทรงหันไปตรัสกับท่านพระอุรุเวลกัสสปะที่กำลังนั่งคอยถวายงานอยู่ด้วยกิริยาสงบความว่า
“กัสสปะ เธออยู่ในอุรุเวลาเสนานิคมมานาน เป็นอาจารย์สั่งสอนชฎิลให้บำเพ็ญพรต จนซูบผอม เธอเห็นโทษอะไรหรือ จึงเลิกละการบูชานั้นเสียเล่า”
ท่านพระอุรุเวลกัสสปะได้ทราบถึงพระดำริของพระศาสดาจึงได้กราบถวายบังคมทูล ถวายแด่พระบรมศาสดาความว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค การบูชายัญทั้งหลาย ล้วนแต่มีความมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งกามคุณ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นของร้อน บัดนี้ ข้าพระองค์ ได้รู้ชัดแล้วว่า ความรักใคร่ พอใจในกามคุณเหล่านั้น เป็นมลทิน เป็นเหตุให้ใจเศร้าหมอง ก่อให้เกิดกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง ข้าพระองค์จึงละทิ้งการบูชาไฟนั้นเสีย
บัดนี้ข้าพระองค์ได้เห็นธรรมอันสงบ ระงับจากเหตุแห่งมลทินทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
กล่าวดังนั้นแล้วพระอุรุเวลกัสสปะได้กราบพระบาทซบศีรษะลงแทบพระบาทของพระพุทธองค์แล้วประกาศว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เป็นศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวกของพระองค์”
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย การเซ่นสรวงบูชาล้วนปรารถนาให้เกิดผลต่อกามคุณ อันมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ และสิ่งที่มุ่งหวังปรารถนา
อธิบายว่า หากต้องการหลุดพ้นจากเบญจพิษ กามคุณทั้ง ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ หาได้หลุดพ้นด้วยการเซ่นสรวงบูชาไม่ แต่หลุดพ้นได้จากการมีสติปัญญา พิจารณาให้เห็นโทษเห็นภัยของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์
ในเวลาต่อมา เมื่อพระราชาพิมพิสารและมหาชนทั้งหลายมีจิตอันตั้งอยู่ในความเลื่อมใส ศรัทธาต่อองค์พระบรมศาสดาแล้วจึงทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจสี่
เนื้อหาสำคัญของธรรมที่ชื่อว่า อนุปุพพิกถา 5 คือ การแสดงธรรมไปตามลำดับไม่รวบรัด
1. ทานกถา คือ การให้ การเสียสละเผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือกัน
2. สีลกถา คือ ความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม
3. สัคคกถา คือ ความสุขความเจริญ และผลที่น่าปรารถนา เมื่อได้ประพฤติดีงามตามหลักธรรมสองข้อต้น แต่ก็ยังเป็นประโยชน์เฉพาะในกามคุณเท่านั้น
4. กามาทีนวกถา คือ ส่วนเสีย ข้อบกพร่องของกาม พร้อมทั้งผลร้ายที่ตามมาแต่กาม อันไม่ควรหลงใหลหมกมุ่นมัวเมา แล้วหาวิธีถอนตนออกจากกาม
5. เนกขัมมานิสังสกถา คือ ผลดีของการไม่หมกมุ่นเพลิดเพลินติดอยู่ในกาม และให้มีความพึงพอใจที่จะแสวงความดีงามและความสุขอันสงบที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่านั้น
เรื่องที่ต้องวินิจฉัยว่า ทำไมพระบรมศาสดาจึงไม่ทรงแสดงอริยสัจสี่ หรือ อนัตตลักขณสูตร หรือ อาทิตยปริสูตร
อธิบายว่า ก็เพราะผู้สดับรับฟังพระธรรมมีอุปนิสัยที่ยังหยาบกระด้าง ยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงอริยธรรมอันประเสริฐนั้นได้
จึงต้องใช้อนุปุพพิกถา ธรรมอันเป็นประดุจดังเครื่องซัก เครื่องฟอก เครื่องชำระล้างจิตใจที่ยังหมกมุ่น หมักหมม อยู่ในกาม เพื่อให้ค่อยๆ ถอยห่างจากกามอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนถึงละกามนั้นได้ในที่สุด
 
พุทธะอิสระ