หลังจากพระบรมศาสดาทรงเสด็จปลงพระชนมายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี ว่านับแต่นี้ไปอีก ๓ เดือน จะทรงเสด็จดับขันปรินิพพาน ที่ศาลาป่าสาละวัน ของมัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา
วันเวลาผ่านไป จนใกล้ถึงกำหนดซึ่งพระพุทธเจ้าจะทรงปรินิพพานพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมากเสด็จพระพุทธดำเนินถึงเมืองปาวานคร ทรงประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร ผู้เป็นบุตรของนายช่างทอง
ฝ่ายนายจุนทได้ยินข่าวพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองปาวาแล้ว และบัดนี้ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของตน จึงไปยังที่เฝ้า พระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมให้นายจุนทเห็นในการนำกรรมและวิบากของกรรม
ทรงแนะนำให้เลือกทำแต่กุศลกรรมจักได้กล้าหาญรื่นเริงในธรรมจริยาสัมมาปฏิบัติ จากนั้นนายจุนทได้กราบทูลว่า เช้าวันพรุ่งนี้ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนาองค์พระผู้มีพระภาคเจ้า และภิกษุสงฆ์มารับภัตตาหารที่เรือนของข้าพระองค์
เช้าวันรุ่งขึ้น พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังบ้านของนายจุนท และทรงประทับบนอาสนะที่ได้จัดถวาย
เมื่อจุนทกัมมารบุตรประเคนภัตตาหารและของขบเคี้ยวแก่พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ โดยพระพุทธเจ้าตรัสเรียกจุนทะแล้วกล่าวว่า
"จุนทะ ท่านจงประเคนเราด้วยสูกรมัททวะ (เห็ด) ที่ท่านเตรียมไว้แต่เพียงผู้เดียว ส่วนของภิกษุทั้งหลาย ท่านจงประเคนด้วยอาหารอื่นๆ ที่ท่านเตรียมไว้"
หลังเสวยภัตตาหารไปแล้ว ทรงตรัสกับจุนทะอีกว่า
"จุนทะ ท่านจงฝังสูกรมัททวะที่เหลือในหลุม เรายังไม่เห็นใครในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะบริโภคสูกรมัททวะนั้นแล้วพึงถึงการย่อยไปด้วยดี ยกเว้นตถาคต"
จุนทะจึงนำสูกรมัททวะที่เหลือทิ้งลงหลุมสนองพระดำรัส และหลังพระพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารจากนายจุนทกัมมารบุตรแล้วทรงอนุโมทนา ทรงสรรเสริญในทานจองนายจุนทว่า เป็นทานอันเลิศ มีผลอันประเสริฐ เมื่อเสด็จกลับที่ประทับแล้วทรงพระประชวรอย่างรุนแรง มีพระบังคนหนักเป็นพระโลหิต ทรงทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัสจวนจะปรินิพพาน
หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ระหว่างทางทรงพักริมแม่น้ำกุกุฏาเพื่อบรรทมพักเหนื่อย ระหว่างนั้นพระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระอานนท์มาตรัสถึงเรื่องของจุนทกัมมารบุตรไว้ว่า
"อานนท์ หากจะมีใครมากล่าวให้นายจุนทกัมมารบุตรเดือดร้อนใจว่า ท่านจุนทะ การที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้ายแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน ไม่ใช่ลาภของท่าน ท่านได้กระทำกรรมชั่วแล้ว อานนท์ เธอพึงระงับความเดือดร้อนใจของนายจุนทกัมมารบุตรอย่างนี้ว่า
ท่านจุนทะ การที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้าย แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ท่านจุนทะ ความข้อนี้ อาตมภาพได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคว่า
บิณฑบาต 2 คราว มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอื่นอย่างมาก บิณฑบาต 2 คราว อะไรบ้าง คือ
1. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม
2. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
บิณฑบาต 2 คราวนี้ มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอื่นอย่างมาก นายจุนทกัมมารบุตรได้สั่งสมกุศลกรรมที่เป็นเหตุให้มีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุข เกิดในสวรรค์ เจริญด้วยลาภยศ เป็นใหญ่ยิ่งแล้ว อานนท์ เธอพึงระงับความเดือดร้อนใจของนายจุนทกัมมารบุตรอย่างนี้"
จากนั้นจึงตรัสให้พระอานนท์นำน้ำมาให้ดื่ม
แต่พระอานนท์กราบทูลว่าแม่น้ำตื้นเขิน เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่มของพวกพ่อค้าเกวียนเพิ่งข้ามแม่น้ำผ่านไปเมื่อสักครู่นี้ เท้าโคล้อเกวียนบดย่ำทำให้น้ำในแม่น้ำขุ่น แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า
"อีกไม่ไกลแต่นี้มีแม่น้ำสายหนึ่งชื่อกุกกุฏนที มีน้ำใส จืดสนิท เย็น มีท่าน้ำสำหรับลงเป็นที่รื่นรมย์ ขอเชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปที่แม่น้ำนั้นเถิด พระเจ้าข้า"
พระพุทธเจ้าตรัสปฏิเสธคำทูลทัดทานของพระอานนท์ถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์จึงอุ้มบาตรเดินลงไปตักน้ำในแม่น้ำ ครั้นเห็นน้ำ พระอานนท์ก็อัศจรรย์ใจนักหนา พลางรำพึงว่า
"ความที่พระตถาคตพุทธเจ้ามีฤทธิ์และอานุภาพใหญ่หลวงเช่นนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์มาก แม่น้ำนี้ขุ่นนัก เมื่อเราเข้าไปใกล้เพื่อจะตัก น้ำกลับใสไม่ขุ่นมัว"
ครั้นแล้วพระอานนท์ก็นำบาตรตักน้ำนั้นไปถวายพระพุทธเจ้า
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำหิรัญวดี เข้าสู่ป่าสาละวัน ของมัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา จึงได้รับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดอาสนะลง ณ ที่นั้นระหว่างต้นไม้สาละคู่หนึ่ง ให้หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ แล้วประทับสีหไสยา (เปรีบเทียบว่านอนเหมือนราชสีห์) โดยตะแคงไปทางด้านขวา แล้วทรงแสดงธรรมแนะนำวิธีปฏิบัติต่าง ๆ แก่พระภิกษุสงฆ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งพระโอวาทบทหนึ่งที่ทรงแสดงคือ
“ธรรมก็ดีวินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”
นอกจากนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติกับพระสรีระของพระองค์ภายหลังจากปรินิพพานว่า ให้ปฏิบัติเหมือนที่เขาปฏิบัติในพระสรีระของพระมหากษัตริย์ จากนั้นจึงเชิญลงในรางเหล็กที่เต็มไปด้วยน้ำมัน แล้วครอบด้วยรางเหล็กอื่น ส่วนเชิงตะกอนที่เผาพระศพให้ทำด้วยไม้หอม จากนั้นจึงถวายพระเพลิงพระสรีระของพระองค์ หลังจากนั้นให้สร้างพระสถูปไว้ในทางใหญ่ ๔ แพร่ง เพื่อให้คนทั่วไปได้บูชา เพราะการปฏิบัติเช่นนี้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนเหล่านั้นตลอดกาลนาน
ในคืนวันที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพานนั้น มีปริพาชก (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) ผู้หนึ่งชื่อ “สุภัททะ” มาขอเข้าเฝ้า แต่พระอานนท์เห็นพระพุทธองค์ทรงอาพาธหนัก จึงได้ห้ามไว้ว่า
“...อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาคทรงลำบากแล้ว แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม...”
แต่สุภัททะก็อ้อนวอนจะขอเข้าเฝ้าให้ได้ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงประทานโอกาสให้สุภัททะเข้าเฝ้าถามปัญหาต่าง ๆ พระผู้มีพระภาคทรงได้ยินถ้อยคำท่านพระอานนท์เจรจากับสุภัททปริพาชก
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า อย่าเลยอานนท์ เธออย่าห้ามสุภัททะ สุภัททะจงได้เฝ้าตถาคต สุภัททะจักถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งกะเราจักมุ่งเพื่อความรู้ มิใช่มุ่งความเบียดเบียนอนึ่ง เราอันสุภัททะถามแล้วจักพยากรณ์ข้อความอันใดแก่สุภัททะนั้น สุภัททะจักรู้ทั่วถึงข้อความนั้นโดยฉับพลันทีเดียว ฯ
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้บอกสุภัททปริพาชกว่า
ไปเถิดสุภัททะ พระผู้มีพระภาคทรงทำโอกาสแก่ท่าน สุภัททปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์เหล่านี้ใดเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมาก สมมติว่าเป็นคนดีคือ บูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครณฐนาฏบุตร สมณพราหมณ์ เหล่านั้นทั้งหมด ได้ตรัสรู้ตามปฏิญญาของตนๆ หรือว่าทั้งหมดไม่ได้ตรัสรู้หรือว่าบางพวกไม่ได้ตรัสรู้ ฯ
(ข้อสงสัยของสุภัททคือ จะเชื่อได้อย่างไรว่า สมณพราหมณ์ลัทธิต่างๆ ได้ตรัสรู้ตามที่อ้างๆ กันหรือว่ายังไม่ได้ตรัสรู้)
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อย่าเลย สุภัททะ ที่ข้อถามนั้นงดเสียเถิด
ดูกรสุภัททะเราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดีเราจักกล่าว
สุภัททปริพาชก ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้นไม่มีสมณะ ที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔
ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔
ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
ดูกรสุภัททะ เราโดยวัยได้ ๒๙ ปี บวชแล้วตามแสวงหาว่าอะไร เป็นกุศล ตั้งแต่เราบวชแล้วนับได้ ๕๑ ปี แม้สมณะผู้เป็นไปในประเทศแห่งธรรม เป็นเครื่องนำออก ไม่มีในภายนอกแต่ธรรมวินัยนี้ ฯ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ก็มิได้มีลัทธิอื่นว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึงก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุภัททปริพาชก ได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดบอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป
ดังนี้ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสุภัททะ ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์หวังบรรพชา หวังอุปสมบท ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นต้องอยู่ปริวาสสี่เดือน เมื่อล่วงสี่เดือน ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้วจึงให้บรรพชาให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุ ก็แต่ว่าเรารู้ความต่างแห่งบุคคลในข้อนี้ ฯ
สุภัททปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากผู้ที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์หวังบรรพชา หวังอุปสมบท ในพระธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาสสี่เดือน เมื่อล่วงสี่เดือน ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้วจึงให้บรรพชา ให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุไซร้ ข้าพระองค์จักอยู่ปริวาสสี่ปี เมื่อล่วงสี่ปีภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้ว จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบทเถิด ฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้นเธอจงให้สุภัททปริพาชกบวชเถิด ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว สุภัททปริพาชกได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า
ดูกรท่านอานนท์ ผู้มีอายุเป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ที่พระศาสดาทรงอภิเษกด้วยอันเตวาสิกาภิเษก ในที่เฉพาะพระพักตร์ในพระศาสนานี้ สุภัททปริพาชก ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค
ต่อจากนั้นพระบรมศาสดาได้ประทานปัจฉิมโอวาทว่า “หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” ซึ่งปัจฉิมโอวาทนี้เป็นการสรุปพระโอวาททั้งปวงที่ประทานมาตลอด ๔๕ พรรษา ว่าคือ “ความไม่ประมาท” อย่างเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นพระพุทธองค์ก็ ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน
****************************************************
อโหพุทธโธ อโหธรรมโม อโหสังโฆ
สาธุวันทา คุณบิดามารดา สาธุวันทา คุณครูบาอาจารย์
สาธุ สาธุ สาธุ ข้าพระองค์จักมุ่งมั่น หมั่นเพียรปฏิบัติบำเพ็ญในพระโพธิธรรม ตามรอยพระยุคลบาทตราบเท่าจักลุถึงมหาโพธิญาณในอนาคตกาลด้วยเทอญ
 
พุทธะอิสระ