"พระอชิตะ" คือ พระราชโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรู ประสูติแต่พระนางกาญจนาเทวีพระมารดา เป็นผู้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้พาบริวาร ๑,๐๐๐ คน ออกบวชเป็นภิกษุ คราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์ครั้งที่สอง
 
พระอชิตะเมื่อบวชใหม่ ๆ ได้เป็นผู้รับผ้าสาฎก 2 ผืนของพระนางมหาปชาบดีโคตมี โดยมีเหตุมาจาก
สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์เป็นครั้งที่ 2 ทรงประทับอยู่ที่นิโครธารามมหาวิหาร ในครั้งนั้นพระนางมหาชาบดีโคตมี มีพระราชศรัทธาจะถวายผ้าสาฎก 2 ผืนแก่พระพุทธเจ้า ซึ่งผ้านั้นทรงจัดการให้ทอขึ้นเป็นพิเศษด้วยพระองค์เอง เป็นผ้าเนื้อดีมีราคาแพง แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับผ้านั้น ทรงแนะนำให้ถวายแก่พระสงฆ์ พระนางทรงอ้อนวอนถวายถึง 2 ครั้ง 3 ครั้ง พระพุทธเจ้าก็มิทรงรับ
ทั้งนี้ ทรงมีพระประสงค์จะอนุเคราะห์พระมาตุจฉาให้ได้รับอานิสงส์มากโดยจะให้ถวายเป็นสังฆทาน ทั้งทรงพระประสงค์จะให้หมู่สงฆ์ได้รับความเคารพสักการะจากมหาชน เพื่อเป็นกำลังในการสืบต่อพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้ พระนางทรงเสียพระทัยเป็นอันมาก
จึงเข้าไปหาพระอานนท์ขอให้ทูลถามถึงเหตุแห่งการไม่ทรงรับผ้าสาฎก 2 ผืนนี้
กาลต่อมา พระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า มีสาเหตุใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่รับทรงรับผ้าสาฎก 2 ผืนนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงปาฏิบุคลิกทักษิณาทานโดยพิสดาร แล้วตรัสเทศนาทักษิณาวิภังคสูตร จำแนกประเภทแห่งปาฏิบุคลิกทาน แลสังฆทาน โดยพิสดาร แก่พระอานนท์ความว่า
ดูก่อนอานนท์
ปาฏิปุคคลิกทานมี ๑๔ ประการ (ทานเจาะจงผู้รับ) คือ
ให้ทานในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธมีผลเป็นอันดับ ๑
ให้ทานในพระปัจเจกสัมพุทธมีผลเป็นอันดับ ๒
ให้ทานในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์มีผลเป็นอันดับ ๓
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้งมีผลเป็นอันดับ ๔
ให้ทานแก่พระอนาคามีมีผลเป็นอันดับ ๕
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้งมีผลเป็นอันดับ ๖
ให้ทานแก่พระสกทาคามีมีผลเป็นอันดับ ๗
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้งมีผลเป็นอันดับ ๘
ให้ทานในพระโสดาบันมีผลเป็นอันดับ ๙
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้งมีผลเป็นอันดับ ๑๐
ให้ทานในบุคคลภายนอกพุทธศาสนาผู้ปราศจากความกำหนัดในกามมีผลเป็นอันดับ ๑๑
ให้ทานในบุคคลผู้มีศีลมีผลเป็นอันดับ ๑๒
ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีลมีผลเป็นอันดับ ๑๓
ให้ทานในสัตว์เดียรัจฉานมีผลเป็นอันดับ ๑๔
ในทาน ๑๔ ประการนั้น
บุคคลให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า
ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า
ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า
ให้ทานในบุคคลภายนอกพุทธศาสนาผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้จนประมาณไม่ได้
จะป่วยกล่าวไปไยในพระโสดาบัน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ในพระปัจเจกสัมพุทธ และในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ
ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์มี ๗ อย่าง (สังฆทาน) คือ
ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๑
ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่ายในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ๒
ให้ทานในภิกษุสงฆ์ ๓
ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ ๔
เผดียงสงฆ์ (วิธีแจ้งแก่พระสงฆ์) ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า เพื่อให้ทาน ๕
เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า เพื่อให้ทาน ๖
เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า เพื่อให้ทาน ๗
ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ อย่าง ที่ให้ผลต่างกันคือ
ทักษิณาบริสุทธิ์ฝ่ายทายก (ผู้ให้) ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ) คือ ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก
ทักษิณาบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ) ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก (ผู้ให้) คือ ทายกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม
ทักษิณาไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก (ผู้ให้) และฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ) คือ ทายกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก
ทักษิณาบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก (ผู้ให้) และฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ) คือ ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม (มีผลอันเลิศที่สุด)
แล้วทรงตรัสคาถาประพันธ์ว่า
ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล ทักษิณาของผู้นั้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก
ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก
ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล ทานนั้นไม่มีผลไพบูลย์
ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล ทานนั้นมีผลไพบูลย์
ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย
 
เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมีได้ทรงทราบในเทศนาทักษิณาวิภังคสูตรในภายหลังแล้ว จึงทรงถือซึ่งภูษาทั้งคู่เข้าไปถวายพระสารีบุตรท่านก็ไม่ได้รับ เข้าไปถวายพระมหาโมคคัลลานะท่านก็ไม่ได้รับ แม้ในที่สุดแห่งพระอสีติมหาสาวกก็ไม่ ไม่มีพระรูปใดรับผ้านั้นไว้เลย
จนกระทั่งองค์สุดท้ายซึ่งเป็นพระนวกะชื่อพระอชิตะท่านจึงรับไว้.
ในเวลานั้นพระนางปชาบดีโคตมีก็ทรงน้อยพระทัยว่า พระนางตั้งใจในการทำผ้าทั้งคู่นี้โดยหวังว่า จะถวายแด่พระผู้มีพระภาคแต่ก็ไม่ทรงรับ แม้นพระอสีติมหาสาวกรูปใดรูปหนึ่งก็ไม่ทรงรับแต่มาบัดนี้ พระภิกษุหนุ่มซึ่งเป็นพระนวกะกลับมารับซึ่งผ้าของพระนาง
พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นพระนางเสียพระทัย จึงทรงพระดำริว่า จะทำให้พระนางบังเกิดโสมนัสในวัตถุทานในครั้งนี้ จึงมีพระพุทธดำรัสเรียกพระอานนท์ว่า
ท่านจงไปนำบาตรของตถาคตมา แล้วทรงพุทธาธิษฐานว่าพระอัครสาวกและสาวกทั้งปวงอย่าได้ถือบาตรนี้ได้เลย นอกจากภิกษุผู้ปรารถนาโพธิญาณเท่านั้น
แล้วทรงโยนบาตรนั้นขึ้นไปบนอากาศ แลบาตรนั้นก็ลอยขึ้นไปในกลีบเมฆอันตธานไปมิได้ปรากฏ
ในลำดับนั้น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ และพระอสีติสาวกทั้งหลาย ก็อาสานำบาตรนั้นกลับคืนมาโดยเหาะขึ้นไปบนอากาศ แต่ก็หาไม่พบ เมื่อพระอรหันต์ทุกพระองค์ได้เหาะขึ้นไปบนอากาศค้นหาบาตรขององค์พระบรมศาสดา แต่ก็มิมีผู้ใดหาพบ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสั่งพระอชิตะภิกษุว่า ท่านจงไปนำบาตรของตถาคตมา
ในลำดับนั้น พระอชิตะได้มีดำริว่า ควรจะเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก พระอสีติมหาสาวกนี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์มีฤทธาอานุภาพมาก แต่มิอาจนำบาตรมาถวายแด่พระพุทธองค์ได้ แลอาตมะนี้ไซร้มีจิตอันกิเลสครอบงำอยู่ แลเหตุไฉนพระบรมครูจึงตรัสสั่งอาตมาให้แสวงหาซึ่งบาตรนั้น จะต้องมีเหตุอันใดอันหนึ่งเป็นมั่นคง จึงรับอาสาที่จะนำบาตรนั้นคืนมาพระอชิตะได้ไปยืนในที่สุดบริษัท มองขึ้นไปบนอากาศแล้วกระทำสัตยาธิษฐานว่า
“อาตมาบรรพชาในพระพุทธศาสนา ไม่ได้หวังซึ่งลาภยศทั้งหลาย แต่อาตมาบวชประพฤติพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์ที่จะตรัสรู้ซึ่งธรรมทั้งปวงในอนาคตกาล อันอาจสามารถรื้อสัตวโลกให้พ้นจากสงสารทั้งสิ้น หากว่าศีลของอาตมามิขาดทำลายและด่างพร้อยบริสุทธิ์อยู่เป็นอันดี ขอให้บาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าจงมาสถิตในมือของอาตมาด้วยเทอญ”
พระอชิตะทรงตั้งสัตยาธิษฐานแล้ว จึงเหยียดมือออกไปขณะนั้น บาตรก็ปรากฏตกลงจากอากาศ ประดิษฐานอยู่ที่มือของพระอชิตะ พระอัครมหาสาวกและพระอสีติมหาสาวก ได้มีดำริว่า
บาตรนี้ควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ควรแก่มหาสาวกทั้งหลายแลภิกษุรูปนี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลเป็นแน่.
พระนางประชาบดีโคตมีได้ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็มีความปิติโสมนัสเป็นกำลังด้วยวัตถุทานที่ถวายให้แก่พระอชิตะแล้วกราบทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จคืนพระราชนิเวศน์สถาน
ต่อมาเมื่อพระอชิตะได้รับผ้าคู่นั้นมาแล้ว เห็นว่า ไม่ควรแก่ท่านจึงนำผ้าผืนหนึ่งไปปูบนเพดานบนพระคันธกุฎี แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า อีกผืนหนึ่งแบ่งเป็น ๔ ท่อน ผูกเป็นม่านห้อยลงในที่สี่มุมแห่งเพดานนั้น แล้วอธิษฐานว่า ด้วยอานิสงส์นี้ขอให้ข้าได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต.
พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า ท่านอชิตภิกษุรูปนี้เป็นพระโพธิสัตว์ จะได้ตรัสรู้เป็นพระเมตไตรยพุทธเจ้าในอนาคต
แม้การสั่งสมอบรมบ่มเพาะกาย วาจา ใจ ให้ตั้งมั่นอยู่ในวิธีแห่งโพธิธรรม จังยังมีอีกยาวไกล
แต่ด้วยพระมหาปณิธานอันแน่วแน่ มั่นคง ดังภูเขาและหินผา จึงไม่มีสิ่งใดมาทำให้วิถีแห่งพระโพธิญาณแปลเปลี่ยนไป
สาธุ วันทา มหาโพธิสัตว์โต สาธุ สาธุ สาธุ
 
พุทธะอิสระ