ในกาลของพระผู้มีพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ
พระสีวลี ท่านเกิดเป็นกษัตริย์ในพระนครหงสวดี ได้ไปพระวิหารยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีลาภมาก ท่านจึงดำริตั้งความปรารถนาเป็นผู้เลิศในลาภกาลอนาคต
แล้วจึงนิมนต์พระปทุมุตตระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสาวกถวายมหาทาน ๗ วัน พร้อมทั้งตั้งความปรารถนาว่า ด้วยการกระทำกุศลครั้งนี้ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอย่างอื่น แต่ข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีลาภมากเหมือนอย่างภิกษุที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้มีลาภมากนั้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในอนาคตกาล.
พระปทุมุตตระบรมศาสดา จึงทรงพยากรณ์ว่าความปรารถนาของท่านนี้จะสำเร็จในแสนกัปต่อจากนี้
เมื่อถึงกาลกิริยา ท่านสีวลีก็ได้วนเวียนอยู่ในสุขคติภพอยู่หลายภพหลายชาติ และด้วยอำนาจเศษอกุศลกรรมที่เหลืออยู่จึงส่งผลให้ท่านมาเกิดในครอบครัวคนเข็นใจในยุคของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระวิปัสสีพุทธเจ้า ท่านได้ถือปฏิสนธิในหมู่บ้านแห่งหนึ่งไม่ไกลพระนครพันธุมดี
 
สมัยนั้น ชาวเมืองพันธุมดีสั่งสนทนากับพระราชา ว่าจะถวายทานแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสาวก
ฝ่ายพระราชาก็ตรัสขึ้นว่า ข้าก็จะถวายทานแด่พระวิปัสสีพระพุทธเจ้าเหมือนกัน
ทั้ง ๒ ฝ่าย คือพระราชา กับมหาชนจึงแข่งขันกันจัดอาหารอันปราณีตอันเลิศรสหลากหลายมาถวายทานแก่พระบรมศาสดาและหมู่ภิกษุสงฆ์สาวก
กาลต่อมา ชาวพระนครพันธุมดี ได้ร่วมกันตรวจสอบดูว่า ทานของพวกเขามากมายเห็นปานนี้ ยังขาดขาทนียโภชนียะอันใดอีกบ้างหนอ ชนทั้งหลายจึงได้รู้ว่า ทานของพวกตนยังขาดน้ำผึ้งแลเนยแข็ง
คนเหล่านั้นจึงใช้ให้บุรุษผู้มีกำลังไปดักรออยู่ ณ ประตูเมืองในทิศทั้ง ๔ แล้วสั่งกำชับว่า คราใดเมื่อเห็นพ่อค้าเร่นำเนยแข็ง น้ำผึ้งผ่านทางมา จงเข้าไปเจรจาขอซื้อเนยและน้ำผึ้งนั้น เพื่อนำมาร่วมถวายทานแก่พระบรมศาสดาและหมู่สาวก
 
ขณะนั้นสีวลีกุลบุตรผู้เข็นใจถือเอากระบอกเนยแข็งมาจากบ้านของตนออกเดินทาง เมื่อมาถึงพระนครก็มองหาที่ที่สบายด้วยตั้งใจว่าจะพักผ่อน พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นรวงผึ้งที่ไม่มีตัว ใหญ่โตเท่ากับงอนไถจึงคิดว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นด้วยบุญของเราเป็นแน่ จึงถือเอาแล้วเข้าไปสู่นคร.
บุรุษที่ชาวเมืองให้มาดักเฝ้ารอพอได้เห็นกุลบุตรถือเอารวงผึ้งและกระบอกเนยเดินมา จึงเข้าไปถามว่า พ่อมหาจำเริญ ท่านจะนำน้ำผึ้งมาให้ใคร.
เขาตอบว่า ไม่ได้นำมาให้ใครดอกนายท่าน.
ก็น้ำผึ้งที่ท่านนำมานี้ขายให้แก่เราเถอะ ท่านจงถือเอากหาปณะนี้ไปแล้วจงให้น้ำผึ้งและเนยแข็งนั้นแก่เราเถอะ.
สีวลีกุลบุตรนั้นจึงคิดว่า ของนี้ใช่ว่ามีราคามากและบุรุษพวกนี้จะให้ราคาขอซื้อน้ำผึ้งและเนยมากขนาดนี้น่าจะมีนัยยะสำคัญ.
สีวลีกุลบุตรจึงกล่าวว่า เราไม่ขายจะเอาไว้ใช้บริโภค
 
กลุ่มชายผู้ดักรอจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะเพิ่มเงินให้ท่านอีก ๒ กหาปณะแล้วจงให้น้ำผึ้ง เนยนั้นแก่เรา.
กุลบุตรนั้นตอบว่า ๒ กหาปณะก็ให้ไม่ได้
กลุ่มบุรุษนั้นจึงเพิ่มราคาให้เรื่อยๆ จนถึงพันกหาปณะ.
สีวลีกุลบุตรนั้นจึงคิดว่า เราไม่ควรจะโยกโย้เพื่อเพิ่มราคารวงน้ำผึ้งและเนยนี้ต่อไป แม้จะได้ราคาถึงพันกหาปณะแล้วก็ตาม เราน่าจะถามความจำเป็นของบุรุษพวกนี้ให้แน่ชัด
เขาจึงกล่าวกะบุรุษพวกนั้นว่า ของนี้ไม่มีค่ามาก แต่ท่านให้ราคามาก ท่านจะเอาสิ่งนี้ไปด้วยกิจอันใด
บุรุษนั้นกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ชาวเมืองในนครนี้กำลังแข่งขันกับพระราชาเพื่อจะร่วมกันถวายทานแด่พระวิปัสสีและหมู่สงฆ์ ขาทนียโภชนียะอันประณีตทั้งหลายล้วนพรั่งพร้อมมีอยู่มากมาย จะขาดก็แต่เนยก้อน รวงผึ้งนี้แหละ
 
พวกชาวพระนครจึงใช้ให้พวกเราออกมาพากันแสวงหา ถ้าไม่ได้สิ่งนี้ชาวเมืองก็จักพ่ายแพ้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงยอมให้ราคาพันกหาปณะยังไงเหล่า.
สีวลีกุลบุตรเมื่อได้ฟังจึงเกิดจิตศรัทธากล่าว่า เช่นนี้รวงผึ้งและเนยแข็งนี้เราไม่ขาย แต่เราจักขอนำไปร่วมถวายมหาทานครั้งนี้ด้วยมือของเราเอง
สีวลีกุลบุตรจึงถามบุรุษเหล่านั้นว่า พวกชาวเมืองเขาจะถวายทานแด่พระบรมศาสดาในเวลาใด
เหล่าบุรุษพวกนั้นจึงแจ้งแด่สีวลีกุลบุตรว่า วันรุ่งพรุ่งนี้เช้า
สีวลีกุลบุตรจึงกล่าวแก่หมู่บุรุษชาวเมืองเหล่านั้นไปว่า เช่นนั้นวันรุ่งพรุ่งนี้เช้า เราจะนำเนยแข็งและรวงผึ้งไปถวายเป็นมหาทานแด่พระบรมศาสดาด้วยมือของเราเอง พวกท่านจงกลับไปแจ้งแก่ชาวเมืองดังนี้
 
เวลาต่อมาสีวลีกุลบุตรจึงเอามาสกที่ตนเก็บไว้เพื่อใช้สอยที่บ้านไปซื้อของเผ็ดร้อน เช่น กานพูล พริกไท ดีปรี หอมแดง ขมิ้น มาบดเข้าด้วยกันจนละเอียด กรองคั้นเอาน้ำส้มจากนมส้ม แล้วคั้นรวงผึ้งลงในภาชนะอุ่นร้อน ปรุงกับผงเครื่องเผ็ดร้อน ๕ อย่างแล้วใส่ไว้ในกระบอกรองด้วยใบบัวแล้วถือมานั่ง ณ ที่ไม่ไกลจากพระวิปัสสีพระพุทธเจ้า ทรงประทับเพื่อหาโอกาสที่จะเข้าไปเฝ้าถวายเนยข้น น้ำผึ้งปรุงรส เมื่อสบโอกาสจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นี้เป็นทุคคตปัณณาการ (บรรณาการของคนยากจน) ของข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดกรุณารับของสิ่งนี้ของข้าพระองค์เถิด.
 
พุทธะอิสระ