หลายเพลาที่มิได้หยิบยกเอาประวัติพระกุมารกัสสปะมาเล่า
ด้วยเห็นว่าพักนี้พวกท่านทั้งหลายกำลังจะเครียดต่อการเลือกตั้ง เลยขอนำประวัติท่านกุมารกัสสปะมาเล่าต่อจากตอนที่แล้วจบลงตรงที่
นายกองเกวียนคนแรกบรรทุกหญ้า ฟืน และน้ำเป็นอันมากแล้วขับหมู่เกวียนไปก่อน
เมื่อขับไปได้สองสามวัน หมู่เกวียนนั้นได้เห็นบุรุษผิวดำ นัยน์ตาแดง ผูกสอดแล่งธนู ทัดดอกกุมุท มีผ้าเปียก ผมเปียก แล่นรถอันงดงามมีล้อเปื้อนตมสวนทางมา ครั้นแล้วจึงได้ถามขึ้นว่า
ดูกรท่าน ท่านมาจากไหน ฯ
ข้าพเจ้ามาจากชนบทโน้น ฯ
ท่านจะไปไหน ฯ
ไปยังชนบทโน้น ฯ
ในหนทางกันดารข้างหน้า ฝนตกมากหรือ ฯ
อย่างนั้นท่าน ในหนทางกันดารข้างหน้าฝนตกมาก หนทางมีน้ำบริบูรณ์ หญ้า ฟืน และน้ำมีมาก พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน น้ำของเก่าเสียเถิด เกวียนจะได้เบาจากของหนักจะไปได้รวดเร็วขึ้น วัวเทียมเกวียนก็ไม่ลำบาก
ลำดับนั้น นายกองเกวียนเรียกพวกเกวียนมาบอกว่า บุรุษผู้นี้พูดว่า ในหนทางกันดารข้างหน้า ฝนตกมาก หนทางมีน้ำบริบูรณ์ หญ้า ฟืน และน้ำมีมาก พวกท่านจงทิ้ง หญ้า ฟืน และน้ำของเก่าเสียเถิด เกวียนจะได้เบาจากของหนักจักได้เดินทางรวดเร็วขึ้น วัวเทียมเกวียนก็ไม่ลำบากด้วย
ดังนี้ พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน น้ำของเก่าเสียเถิด จงขับหมู่เกวียนไปด้วยเกวียนเบาเถิด
พวกคนขับเกวียนรับคำของนายกองเกวียนแล้ว ทิ้งหญ้า ฟืน น้ำของเก่า มีเกวียนเบาจากของหนัก ขับหมู่เกวียนไปแล้ว พวกเกวียนเหล่านั้น มิได้เห็น หญ้า ฟืน หรือน้ำ ในที่พักหมู่เกวียนตำบลแรก แม้ในที่พักหมู่เกวียนตำบลที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ที่หก แม้ในที่พักหมู่เกวียนตำบลที่เจ็ดก็มิได้เห็น หญ้า ฟืน หรือน้ำ จนคนและโคพากันอดข้าวอดน้ำ ถึงความวอดวายด้วยกันทั้งหมด มนุษย์หรือปศุสัตว์ที่อยู่ในหมู่เกวียนนั้นจึงถูกอมนุษย์ คือยักษ์จับกินได้อย่างง่ายดายเสียทั้งหมด เหลือแต่กระดูกเท่านั้น กองสุมกันอยู่มากมาย
เมื่อนายกองเกวียนกลุ่มที่สองรู้สึกว่า บัดนี้ หมู่เกวียนกลุ่มแรกนั้นออกไปนานแล้ว ได้เวลาที่กองเกวียนของเราควรต้องออกเดินทางตามไปเสียที นายกองเกวียนผู้นั้นจึงร้องสั่งให้บริวารนำหญ้า ฟืน และน้ำไปเป็นอันมาก หมู่เกวียนกลุ่มที่สองแล้วขับหมู่เกวียนไป
เมื่อขับไปได้สองสามวัน พวกเกวียนนั้นเห็นบุรุษผิวดำ นัยน์ตาแดง ผูกสอดแล่งธนู ทัดดอกกุมุท มีผ้าเปียก ผมเปียก แล่นรถอันงดงามมีล้อเปื้อนตมสวนทางมา ครั้นแล้ว จึงได้ถามขึ้นว่า ดูกรท่าน ท่านมาจากไหน ฯ
ข้าพเจ้ามาจากชนบทโน้น ฯ
ท่านจะไปไหน ฯ
ไปยังชนบทโน้น ฯ
ในหนทางกันดารข้างหน้า ฝนตกมากหรือ ฯ
เป็นอย่างนั้นท่าน ในหนทางกันดารข้างหน้าฝนตกมาก หนทางมีน้ำบริบูรณ์ หญ้า ฟืน และน้ำมีมาก พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน น้ำของเก่าเสียเถิด เกวียนเบาจากของหนักจักไปได้รวดเร็ว วัวเทียมเกวียนก็ไม่ลำบาก
ลำดับนั้น นายกองเกวียนเรียกพวกเกวียนมาบอกว่าบุรุษผู้นี้พูดว่า ในหนทางกันดารข้างหน้าฝนตกมาก หนทางมีน้ำบริบูรณ์ทั้งหญ้า ฟืน และน้ำมีมาก พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน น้ำของเก่าเสียเถิด เกวียนเบาจากของหนักจักไปได้รวดเร็ว วัวเทียมเกวียนก็ไม่ลำบาก
นายกองเกวียนผู้มีปัญญา จึงกล่าวขึ้นว่า
ดูกรท่านทั้งหลาย บุรุษผู้นี้มิใช่มิตร มิใช่ญาติสาโลหิตของพวกเรา พวกเราจักเชื่อบุรุษนี้ได้อย่างไร ท่านทั้งหลายอย่าได้หลงเชื่อ แล้วทิ้งหญ้า ฟืน น้ำ ของเราไปเสีย จงขับเกวียนไปพร้อมทั้งสิ่งของตามที่เรานำมาแล้วเถิด พวกเราจักไม่ทิ้งของเก่าของพวกเราแม้แต่อย่างเดียว
พวกเกวียนรับคำนายกองเกวียนนั้นแล้ว ขับเกวียนไปพร้อมทั้งสิ่งของตามที่ได้นำมา พวกเกวียนเหล่านั้นมิได้เห็นหญ้า ฟืน หรือน้ำในที่พักเกวียนตำบลแรก แม้ในที่พักเกวียนที่ตำบลที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ที่หก ที่เจ็ด ก็มิได้เห็นหญ้า ฟืนหรือน้ำ ได้เห็นแต่หมู่เกวียนที่ได้ถึงความวอดวายเท่านั้น ได้เห็นแต่กระดูกของมนุษย์และปศุสัตว์ที่อยู่ในหมู่เกวียนนั้นเท่านั้น พวกนั้นถูกอมนุษย์คือยักษ์กินแล้ว
ลำดับนั้น นายกองเกวียนเรียกพวกชาวเกวียนมาบอกว่า นี้คือหมู่เกวียนนั้นได้ถึงแก่ความวอดวายแล้ว ทั้งนี้ เพราะนายกองเกวียนนั้นเป็นคนโง่เขลา
ถ้าอย่างนั้นในหมู่เกวียนของพวกเรา สิ่งของชนิดใดมีสาระน้อยจงทิ้งเสีย ในหมู่เกวียนที่เจ้าของตายแล้ว หมู่นี้หากมีสิ่งของชนิดใดมีสาระมาก จงพากันขนเอาไปเถิด
พวกชาวเกวียนพวกนั้นรับคำนายกองเกวียนนั้นแล้ว จึงทิ้งสิ่งของชนิดมีสาระน้อยในเกวียนของตนๆ ขนเอาไปแต่สิ่งของมีสาระมากในเกวียนหมู่นั้น ข้ามทางกันดารนั้นไปได้โดยสวัสดี
ดูกรบพิตร บพิตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังทรงเขลา ไม่เฉียบแหลม ทรงแสวงหาปรโลกโดยไม่ถูกทาง จักถึงความวอดวาย เหมือนบุรุษนายกองเกวียนคนแรกฉะนั้น ชนเหล่าใดหากสำคัญทิฐิของบพิตรว่า เป็นสิ่งที่ควรฟัง ควรเชื่อถือ แม้ชนเหล่านั้น ก็จักถึงความวอดวาย เหมือนพ่อค้าเกวียนพวกนั้น ฉะนั้น
ขอบพิตรจงทรงละทิ้งทิฐิอันลามกนั้นเสียเถิด
ขอบพิตรจงปล่อยวางทิฐิอันลามกนั้นเสียเถิด ทิฐิอันลามกนั้นอย่าได้มีแก่บพิตร ทิฐิเช่นนี้มิใช่ประโยชน์ เป็นไปเพื่อความทุกข์ สิ้นกาลนาน
ราชาปายาสิตรัสว่า ท่านกัสสปะกล่าวอย่างนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ข้าพเจ้าก็ยังหาอาจสละคืนทิฐิอันลามกนี้เสียได้ไม่ พระราชาปเสนทิโกศลก็ดี พระราชาภายนอกทั้งหลายก็ดี ทรงรู้จักข้าพเจ้าว่า พญาปายาสิ มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี
ท่านกัสสปะ ถ้าข้าพเจ้าจะสละคืนทิฐิอันลามกนี้ ก็จักมีผู้คนทั้งหลายมาว่าข้าพเจ้าได้ว่า พญาปายาสิ ช่างโง่เขลาเหลือเกิน ไม่เฉียบแหลม มีปรกติถือสิ่งที่ผิด
ข้าพเจ้าจึงต้องยึดทิฐินั้นไว้ ด้วยความโกรธบ้าง ด้วยความลบหลู่บ้าง ด้วยความตีเสมอบ้าง ฯ
(นี่คือตัวอย่างของผู้ที่ยึดมั่น ถือมั่นในมิจฉาทิฐิ ผู้ยึดติดอยู่ในอุปาทานขันธ์ทั้งปวง แม้จะรู้ว่ามันเป็นความผิด ความชั่ว แต่ด้วยมิจฉาทิฐิ ถือตัวถือตนจึงทำให้ราชาปายาสิ ไม่ยอมทิ้งความเห็นผิดเช่นนั้น แต่พระกุมารกัสสปะ ก็ยังไม่ละทิ้งความพยายามจึงได้กล่าวว่า
ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักยกอุปมาถวายบพิตร บุรุษผู้มีสติปัญญาในโลกนี้ ย่อมทราบเนื้อความของอาตมาภาพเป็นอย่างดี
ดูกรบพิตร เรื่องเคยมีมาแล้ว บุรุษผู้เลี้ยงสุกรคนหนึ่งได้ออกจากบ้านของตนไปยังบ้านอื่น ได้เห็นคูถแห้งเป็นอันมากซึ่งเขาทิ้งไว้ในบ้านนั้น
ครั้นแล้วเขาได้มีความคิดขึ้นว่าคูถแห้งเป็นอันมากซึ่งเขาทิ้งไว้นี้ เป็นอาหารสุกรของเรา ถ้ากระไร เราควรขนคูถแห้งไปจากที่นี้
เขาปูผ้าห่มลงแล้ว โกยเอาคูถแห้งเป็นอันมาก แล้วผูกให้เป็นห่อทูนศีรษะเดินไป ในระหว่างทาง เขาถูกฝนใหญ่ที่ตกลงมาจนคูถแห้งนั้นละลาย แล้วตัวเขาเปรอะเปื้อนไปด้วยคูถตลอดถึงปลายเล็บ เขาก็ยังนำพาเอาห่อคูถซึ่งล้นไหลเปรอะไปทั่วกาย เดินไปอย่างไม่สะทกสะท้าน
พวกมนุษย์ทั้งหลายเห็นเขาแล้วจึงได้พูดว่า
พนาย ท่านเป็นบ้าหรือเปล่า ท่านเสียจริตหรือหนอ เหตุไหนท่านจึงเปรอะเปื้อนไปด้วยคูถจนถึงปลายเล็บ จักนำเอาห่อคูถซึ่งล้นไหลอยู่นี้ไปทำไม
บุรุษนั้นตอบว่า พนาย ในข้อนี้ พวกท่านนั่นแหละเป็นบ้า พวกท่านเสียจริต ความจริง สิ่งนี้เป็นอาหารสุกรของเรา
ดูกรบพิตร บพิตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทิฐิของบพิตรดุจดังห่อคูถที่เปียกน้ำแล้วไหลเปรอะไปทั่วตัว น่าจะปรากฏเหมือนบุรุษผู้ทูนห่อคูถไว้บนหัว
ขอบพิตรจงละทิ้งทิฐิอันลามกนั้นเสียเถิด
ขอบพิตรจงปล่อยวางทิฐิอันลามกนั้นเสียเถิด ทิฐิอันลามกนั้นอย่าได้มีแก่บพิตร หาได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ไม่ มีแต่จะเป็นไปเพื่อความทุกข์ สิ้นกาลนาน
พุทธะอิสระ