ตอนที่แล้วจบลงตรงที่ นายกองเกวียนผู้มีสติปัญญากองที่สอง สามารถนำพากองเกวียนทั้ง ๕๐๐ หลุดพ้นจากมายาการของยักษ์ร้ายที่ออกอุบายจะจับกองเกวียนที่สองกิน
ดุจดังกองเกวียนที่หนึ่งที่ต้องตกเป็นเหยื่อแห่งมายาการของยักษ์ร้าย จนต้องตายกันทั้งกองเกวียน ด้วยความโง่เขลาของผู้นำ
แล้วพระกุมารกัสสปะจึงสรุปว่า
การแสวงหาเหตุแห่งการเกิดหลังความตาย และโลกหน้า ผลบุญ ผลบาปจากวิธีการแบบผิดๆ โง่เขลา ก็ไม่มีวันที่จะได้พบเจอโลกหลังความตาย และผลบุญผลบาปเป็นอันขาด แต่องค์ราชาปายาสิ ก็ยังมิทรงเชื่อ ยังดิ้นรนดันทุรังที่จะยึดมั่นถือมั่น ในความเชื่อเดิมๆ ของตนอยู่
พระกุมารกัสสปะจึงต้องยกอุปมาเปรียบพระองค์ดุจดังคนแบกขี้แห้งพาไป พอฝนตกลงมาขี้แห้งเหล่านั้นก็ไหลลงมาเปรอะตั้งแต่หัวจนปลายเท้า
พระกุมารกัสสปะจึงทูลว่า ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักยกอุปมาถวายบพิตรว่า บุรุษผู้ที่เป็นวิญญูชนในโลกนี้ ย่อมทราบเนื้อความด้วยสติปัญญาในอุปมานี้อย่างแจ่มชัดว่า
ดูกรบพิตร เรื่องเคยมีมาแล้ว
นักเลงสกาสองคนเล่นสกากัน คนหนึ่งกลืนกินเบี้ยแพ้ที่แล้วๆ มาเสีย นักเลงสกาคนที่สองได้เห็นนักเลงสกานั้นกลืนกินเบี้ยแพ้ที่แล้วๆ มาเพื่อปกปิดหลักฐานการพ่ายแพ้
เขาจึงได้พูดว่า ดูกรสหาย ท่านชนะข้างเดียว ชะรอยลูกสกานี้จักเป็นสิ่งวิเศษยิ่งนัก ท่านจงให้ลูกสกาแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักเซ่นบูชา
นักเลงสกาคนนั้นรับคำแล้ว จึงมอบลูกสกาให้นักเลงสกาคนที่สองนั้นไป
ลำดับนั้น นักเลงสกา [คนที่สอง] จึงทำทีนำลูกสกานั้นมาลูบคลำ เทิดทูนแล้วแอบเอายาพิษทาลูกสกาพร้อมกับพูดกะนักเลงสกา [คนที่หนึ่ง] ว่า มาเถิดสหาย เรามาเล่นสกากันต่อ ครั้งนี้เราจะต้องเอาชนะท่านให้ได้ นักเลงสกา [คนที่หนึ่ง] รับคำนักเลงสกา [คนที่สอง] แล้ว
นักเลงสกาทั้งสองจึงลงมือเล่นสกากันต่อไป
แม้ในครั้งที่สองนักเลงสกา [คนที่หนึ่ง] ก็ยังแอบกลืนกินเบี้ยสกาที่แพ้เช่นเคย แล้วๆ มาอีก นักเลงสกาคนที่สอง ได้เห็นนักเลงสกาคนกลืนกินเบี้ยแพ้ที่แล้วๆ มา จึงพูดขึ้นว่า
เจ้ากลืนกินลูกสกาที่อาบด้วยยาพิษ มีฤทธิ์กล้ายังหารู้สึกไม่ นักเลงชั่วเลวผู้น่าสงสารกลืนยาพิษเข้าไปแล้ว ความเร่าร้อนจักมีแก่เจ้า ดังนี้ ฯ
ดูกรบพิตร บพิตรก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน น่าจะมีลักษณะเหมือน นักเลงสกา ที่ตลอดเวลาล้วนมากไปด้วยมิจฉาทิฐิอันลามก ดุจดังการกลืนกินยาพิษเข้าไปทุกวัน แม้จะเร่าร้อนทุรนทุรายก็ยังไม่ระลึกรู้สึกตัว
ขอบพิตรจงทรงสละคืนทิฐิอันลามกนั้นเสียเถิด
ขอบพิตรจงทรงปล่อยวางทิฐิอันลามกนั้นเสียเถิด ทิฐิอันลามกนั้นอย่าได้มีแก่บพิตร ซึ่งมันมิใช่ประโยชน์เป็นไปเพื่อความทุกข์ สิ้นกาลนานเลย ฯ
ราชาปายาสิตรัสว่า ท่านกัสสปะกล่าวอย่างนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ข้าพเจ้าก็ยังหาอาจสละคืนทิฐิอันลามกนี้เสียได้ไม่ พระราชาปเสนทิโกศลก็ดี พระราชาภายนอกทั้งหลายก็ดี ทรงรู้จักข้าพเจ้าว่า พญาปายาสิ มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี
ท่านกัสสปะ ถ้าข้าพเจ้าจักสละคืนทิฐิอันลามกนี้ ก็จักมีผู้ว่าข้าพเจ้าได้ว่า พญาปายาสิ ช่างโง่เขลาเหลือเกิน ไม่เฉียบแหลม มีปกติถือสิ่งที่ผิด
ข้าพเจ้าก็จักยึดทิฐินั้นไว้ เพราะความโกรธบ้าง เพราะความลบหลู่บ้าง เพราะความตีเสมอบ้าง ฯ
พระกุมารกัสสปะตรัสว่า ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักยกอุปมาถวายบพิตรอีกสักเรื่อง ผู้เป็นวิญญูชนในโลกนี้เมื่อได้สดับแล้ว ใคร่ครวญด้วยสติปัญญาย่อมรับรู้ได้อย่างแจ่มชัด
ดูกรบพิตร เรื่องเคยมีมาแล้วว่า
มีชนบทแห่งหนึ่งตั้งขึ้นแล้ว ครั้งนั้น ชายผู้หนึ่ง เรียกสหายมาบอกว่า พวกเราไปกันเถิดเพื่อน เราจักเที่ยวเล่นเข้าไปยังชนบทข้างหน้า บางทีจะพึงได้ทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งในชนบทนั้นมาบ้าง สหายของเขาจึงรับคำแล้วพากันออกเดินทางไป
ครั้งถึงเขตชานเมืองยังถนนในบ้านแห่งหนึ่งแล้ว พวกเขาได้เห็นเปลือกป่านที่ชาวเมืองได้นำออกมาทิ้งไว้มากมายข้างทาง ชายผู้นั้นจึง ได้บอกสหายว่า
สหาย นี้เปลือกป่านเขาทิ้งไว้มากมาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงผูกเอาเปลือกป่านไปมัดหนึ่ง และฉันก็จักผูกเอาเปลือกป่านไปมัดหนึ่ง เราทั้งสองจักถือเอามัดเปลือกป่านไป เผื่อว่าทางข้างหน้าพวกเราอาจขายเปลือกป่านแก่ผู้ที่ต้องการมัน
บุรุษทั้งสองจึงได้ลงมือผูกเอาเปลือกป่านไปคนละมัดหนึ่ง สหายทั้งสองนั้นถือเอามัดเปลือกป่านเข้าไปยังถนนในบ้านเมืองอีกแห่งหนึ่ง ก็ได้เห็นด้ายป่านที่เขาทิ้งไว้มากมายตามริมทาง
สหายของบุรุษนั้นจึงพูดขึ้นว่า พวกเราสู้อุตส่าห์แบกเปลือกป่านนี้มา เพื่อหวังว่าจะขายได้ แต่บัดนี้พวกเรากลับได้มาเห็นกองเปลือกป่านมากมายที่ชาวบ้านเขานำมาทิ้งไว้ข้างทาง แล้วประโยชน์อันใดที่พวกเราจักเสียแรงแบกเปลือกป่านต่อไป มิสู้โยนทิ้งเอาไว้ในที่นี้
ชายผู้นั้นจึงไม่เห็นด้วย พร้อมกล่าวว่า สหายท่านอยากทิ้งก็จงทิ้ง ส่วนเรายังไม่อยากทิ้ง เราจักแบกเปลือกป่านนี้ไปต่อ ด้วยเพราะเราแบกมาไกลแล้ว ทั้งมัดไว้ดีแล้วด้วย
ลำดับนั้น สหายทั้งสองนั้นเข้าไปยังถนนในบ้านอีกแห่งหนึ่ง ได้เห็นผ้าป่านที่เขาทิ้งไว้มากมายที่ตำบลบ้านนั้น
สหายของชายผู้นั้นจึงพูดขึ้นว่า สหายเราจะปรารถนาเปลือกป่านหรือด้ายป่านเพื่อประโยชน์อันใด นี่คือผ้าป่าน ซึ่งเขาทิ้งไว้มากมาย
ถ้าเช่นนั้น ท่านจงทิ้งมัดเปลือกป่านที่แบกมาเสียเถิด เราทั้งสองจักได้ถือเอามัดผ้าป่านไปแทน
ชายคนนั้นจึงตอบว่า สหายมัดเปลือกป่านนี้เราแบกเอามาไกลแล้ว ทั้งมัดไว้ดีแล้วด้วย เราไม่เอาด้วยกับท่านดอก
ลำดับนั้น สหายของชายคนที่หนึ่งนั้น ก็ถือเอามัดผ้าป่านแบกเดินไป
สหายทั้งสองนั้นเข้าไปยังถนนในบ้านอีกแห่งหนึ่ง คนหนึ่งแบกเชือกป่าน อีกคนหนึ่งแบกผ้าป่านอันมีค่า ได้เห็นเปลือกไม้โขมะ ได้เห็นด้ายเปลือกไม้โขมะ ได้เห็นผ้าเปลือกไม้โขมะ ได้เห็นลูกฝ้าย ได้เห็นด้ายฝ้าย ได้เห็นผ้าฝ้าย ได้เห็นเหล็ก ได้เห็นโลหะ ได้เห็นดีบุก ได้เห็นสำริด ได้เห็นเงิน ได้เห็นทอง ที่เขาทิ้งไว้มากมายในถนนในบ้านนั้น
แต่ชายผู้นั้นก็ยังมิยอมละทิ้งเปลือกป่านที่เขามัดห่อมาแต่แรก แม้ระหว่างทางเขาจักพบเห็นสิ่งของมีค่ามากมาย แต่เขาก็ยังมิยอมละทิ้งเปลือกป่านที่เขาแบกมา
ครั้นแล้วสหายคนที่หนึ่งจึงบอกสหายคนที่สองว่า สหาย เราจะปรารถนาประโยชน์อันใดกับเปลือกป่านหรือด้ายป่าน ที่ท่านแบกมาดูซิมีสิ่งของมีค่ามากมาย กองทิ้งไว้อยู่ตรงหน้าเรา
ท่านจงทิ้งมัดเปลือกป่านเสียเถิด และฉันก็จักทิ้งห่อเงินเสีย เราทั้งสองจักถือเอาห่อทองไป
สหายคนที่สองตอบว่า สหาย มัดเปลือกป่านนี้เราเอามาไกลแล้ว ทั้งมัดไว้ดีแล้วด้วย เราไม่เอาด้วยกับท่านดอก เราเสียดายห่อเปลือกป่านนี้ สู้อุตส่าห์แบกมาตั้งไกล
ลำดับนั้น สหายนั้นถือเอาห่อทองไป สหายทั้งสองจึงเดินทางมาถึงยังบ้านของตน
ชายผู้ถือเอามัดเปลือกป่านมา มารดา บิดา บุตร ภริยา มิตร อำมาตย์ หาได้พากันยินดีไม่ ที่เห็นญาติตนแบกเอาแต่เปลือกป่านมา
ส่วนชายที่ถือเอาห่อทองมานั้น มารดา บิดา บุตร ภริยา มิตร อำมาตย์ พากันยินดี และเขายังได้รับความสุขโสมนัสซึ่งเกิดจากเหตุที่ถือเอาห่อทองนั้นมา ฯ
ดูกรบพิตร บพิตรก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกับบุรุษผู้ถือมัดเปลือกป่าน ขอบพิตรจงทรงสละคืนทิฐิอันลามกนั้นเสียเถิด ขอบพิตรจงทรงปล่อยวางทิฐิอันลามกนั้นเสียเถิด ทิฐิอันลามกนั้นอย่าได้มีแก่บพิตร เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ สิ้นกาลนานเลย ฯ
ราชาปายาสิตรัสว่า ด้วยข้อความอุปมาข้อก่อนๆ ของท่านกัสสปะ ข้าพเจ้าก็มีความพอใจยินดียิ่งแล้ว แต่ว่าข้าพเจ้าใคร่จะฟังปฏิภาณในการแก้ปัญหาที่วิจิตรเหล่านี้ จึงพยายามโต้แย้งคัดค้านท่านกัสสปะอย่างนั้น
ข้าแต่ท่านกัสสปะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้
ฉันใด ท่านกัสสปะประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่ท่านกัสสปะผู้เจริญ ข้าพเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคผู้เจริญ พระธรรมและพระสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอท่านกัสสปะจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป
(ยอมรับเพราะจำนนต่อสติปัญญาแต่ก็พยายามแสดงความเป็นตัวกูออกมาด้วยความเห็นที่ว่า)
ข้าแต่ท่านกัสสปะผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงชี้แจงวิธีบูชายัญ อันจะเป็นประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าตลอดกาลนาน ฯ
พระกุมารกัสสปะตรัสว่า ดูกรบพิตร ยัญที่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร หรือเหล่าสัตว์ต่างๆ ต้องได้รับความพินาศ และปฏิคาหก เป็นผู้มีความเห็นผิด ดำริผิด เจรจาผิด การงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึกผิด ตั้งใจมั่นผิด
เช่นนี้ ย่อมไม่มีผลใหญ่ ไม่มีอานิสงส์ใหญ่ ไม่มีความรุ่งเรืองใหญ่ ไม่แพร่หลายใหญ่ เปรียบเหมือนชาวนาถือเอาพืชและไถไปสู่ป่า เขาพึงหว่านพืชที่หัก ที่เสีย ถูกลมและแดดแผดเผาแล้ว อันไม่มีแก่น ยังไม่แห้งสนิท ลงในนาไร่อันเลว ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่ดี มิได้แผ้วถางตอและหนามให้หมด ทั้งฝนก็มิได้ตกชะเลย โดยชอบตามฤดูกาล พืชเหล่านั้นจะพึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์หรือหนอ ชาวนาจะพึงได้รับผลอันไพบูลย์หรือ ฯ
ราชาปายาสิตรัสว่า หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านกัสสปะ ฯ
พระกุมารกัสสปะตรัสว่า ฉันนั้นเหมือนกัน บพิตร ยัญที่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร หรือเหล่าสัตว์ต่างๆ ต้องถึงความพินาศ และปฏิคาหกก็เป็นผู้มีความเห็นผิด ดำริผิด เจรจาผิด การงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึกผิด ตั้งใจมั่นผิด เช่นนี้ ย่อมไม่มีผลใหญ่ ไม่มีอานิสงส์ใหญ่ ไม่มีความรุ่งเรืองใหญ่ ไม่แพร่หลายใหญ่ ฯ
ดูกรบพิตร ส่วนยัญที่มิต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร หรือเหล่าสัตว์ต่างๆ ไม่ต้องถึงความพินาศ และปฏิคาหกก็เป็นผู้มีความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบเช่นนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ มีความรุ่งเรืองใหญ่ แพร่หลายใหญ่
เปรียบเหมือนชาวนาถือเอาพืชและไถไปสู่ป่า เขาพึงหว่านพืชที่ไม่หัก ไม่เสีย ไม่ถูกลมแดดแผดเผา อันมีแก่น แห้งสนิท ลงในนาไร่อันดี เป็นพื้นที่ดี แผ้วถางตอและหนามหมดดีแล้ว ทั้งฝนก็ตกชะเลยโดยชอบตามฤดูกาล พืชเหล่านั้นจะพึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์หรือหนอ ชาวนาจะพึงได้รับผลอันไพบูลย์หรือ ฯ
ราชาปายาสิตรัสว่า เป็นอย่างนั้น ท่านกัสสปะ ฯ
พระกุมารกัสสปะตรัสว่า ฉันนั้นเหมือนกัน บพิตร ยัญที่มิต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร หรือเหล่าสัตว์ต่างๆ ไม่ต้องถึงความพินาศ และปฏิคาหกก็เป็นผู้มีความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบเช่นนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ มีความรุ่งเรืองใหญ่ แพร่หลายใหญ่ ฯ
เรื่องทิฐิของราชาปายาสิ แม้จะยอมจำนนต่อเหตุผล และสติปัญญาของพระกุมารกัสสปะ แต่ก็ยังไม่ละทิ้งอัสมิมานะ ความถือตัวถือตนอยู่เช่นเดิม
 
นี่คือตัวอย่างของผู้ที่มีตัวใหญ่ อีโก้สูง จึงปรับตัวให้เข้ากับหลักการ เหตุผล และสติปัญญา ของผู้อื่นได้ยากยิ่ง
 
พุทธะอิสระ