พระปิณโฑลภารทวาชเถระ ท่านเกิดในครอบครัวพราหมณ์ในพระนครโกสัมพี แคว้นวังสะ บิดาของท่านเป็นพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าอุเทน นามว่า ภารทวาชโคตร
ท่านมีชื่อตามโคตรของท่านว่า ภารทวาชมาณพ เมื่อเจริญวัยได้ศึกษาเล่าเรียนจนจบไตรเภทแล้ว ได้ตั้งตนเป็นอาจารย์บอกศิลปวิทยาแก่มาณพทั้ง 500 คน
ภารทวาชมาณพมีนิสัยโลภในอาหารเป็นเนืองนิตย์ ตะกละกินจุ เที่ยวแสวงหาของกินกับบรรดาศิษย์ของตนไม่เลือกที่ ทำให้เหล่าบรรดาลูกศิษย์เกิดความเบื่อหน่ายในพฤติกรรมนิสัยความตะกละของอาจารย์ที่ทำให้พวกตนได้กินอาหารน้อยลง จึงพากันละทิ้งสำนักของภารทวาชอาจารย์
ทำให้ภารทวาชอาจารย์กลายเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอก อยู่อย่างอดอยากแร้นแค้นไม่รู้จะไปขออาหารจากที่ไหน จึงออกเดินทางไปยังกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อแสวงหาลาภสักการะ
เมื่อไปถึงเมืองนั้นแล้ว ได้พบเห็นว่าพระพุทธเจ้าและภิกษุสาวก ได้ลาภสักการะเป็นอันมาก ภัตตาหารก็อุดมสมบูรณ์ จึงได้เข้าไปขอบวชในพระศาสนาด้วยความประสงค์จะได้ที่อยู่และอาหาร แต่ก็ยังเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในการบริโภคอยู่ดี
เมื่อท่านบวชแล้ว ท่านเลือกที่จะใช้บาตรขนาดใหญ่กว่าหมู่ภิกษุทั้งหลาย เที่ยวบิณฑบาตไป ในการรับภัต ท่านก็รับภัตเอาจนเต็มบาตร แม้แต่ข้าวยาคูก็รับเอาจนเต็มภาชนะ และท่านก็สามารถดื่มจนหมดไม่ว่าจะเป็นน้ำปานะชนิดใด แม้จะเต็มบาตร ท่านก็สามารถฉันได้หมด
ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้นจึงกราบทูลความที่ท่านไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ฉันอาหารมากเกินพอดีต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า จนพระพุทธองค์ทรงไม่ให้ภิกษุปิณโฑลภารทวาชะใช้ถลกบาตร เพื่อมิให้ท่านสามารถรับภัตได้ครั้งละมาก ๆ
ด้วยหากไม่มีถุงผ้าและสายสะพายบาตร การอุ้มบาตรที่มีอาหาร ที่เป็นดินเผาหรือน้ำปานะเต็มบาตร จะทำให้เกิดความยากลำบากในการอุ้มบาตร
เมื่อท่านฉันภัตเสร็จ ล้างบาตรแล้ว ท่านก็คว่ำบาตรวางลงกับพื้นแล้วดันครูดส่ง ๆ ไปไว้ใต้เตียง ในตอนที่จะใช้บาตรนั้น ก็จะใช้วิธีเดียวกับการดันบาตรให้ครูดไปกับพื้น
ท่านภารทวาชะ ทำอยู่เช่นนี้ทุกๆ วัน เมื่อเวลานานเข้า ขอบปากบาตรก็กร่อนไปเรื่อย ๆ ด้วยการถูกครูด จนกระทั่งเหลือเป็นเหมือนแผ่นกระเบื้อง รับภัตได้เพียงข้าวสุกทัพพีเดียวเท่านั้น
ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้นจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เปลี่ยนบาตรใหม่และใช้ถลกบาตรแก่ท่านอีก
ดังนั้นท่านจึงได้ชื่อ ปิณโฑละ เพราะบวชเพื่อต้องการภัต แต่โดยโคตร ชื่อว่า ภารทวาชะ เหตุนั้น รวมชื่อทั้งสองเข้าด้วยกันจึงเรียกว่า ปิณโฑลภารทวาชะดังนี้
ต่อมาท่านได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ทรงอบรมท่านให้ตั้งอยู่ในความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคด้วยอุบายวิธี โดยให้พิจารณาปัจจะยะ ปัจจะเวก ขณะเช่น
เราย่อมพิจารณาโดยแยบคาย แล้วฉันบิณฑบาต
ไม่ให้เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลิน สนุกสนาน
ไม่ให้เป็นไปเพื่อความเมามัน เกิดกำลังพลังทางกาย
ไม่ให้เป็นไปเพื่อประดับ
ไม่ให้เป็นไปเพื่อตกแต่ง
แต่ให้เป็นไปเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้
เพื่อความเป็นไปได้แห่งอัตภาพ
เพื่อความสิ้นไปแห่งความลำบากทางกาย
เพื่ออนุเคราะห์แห่งการประพฤติพรหมจรรย์
ด้วยการทำอย่างนี้ เราย่อมระงับเสียได้ซึ่งทุกขเวทนาเก่า คือความหิว
และไม่ทำทุกขเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น
อนึ่ง ความเป็นไปโดยสะดวกแห่งอัตภาพนี้ด้วย ความเป็นผู้หาโทษมิได้ด้วย และความเป็นอยู่โดยผาสุกด้วยจักมีแก่เรา ดังนี้
แต่นั้นท่านจึงเริ่มบำเพ็ญความเพียร ตั้งอารมณ์ไว้ในวิปัสสนา ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหันต์พร้อมอภิญญา ๖
ในวันบรรลุพระอรหันต์ ท่านถือเอาผ้ารองนั่งออกจากวิหารนี้ไปวิหารโน้น ออกจากบริเวณ นี้ไปบริเวณโน้น เที่ยวบันลือสีหนาทว่า ท่านผู้ใด มีความสงสัย ในมรรคหรือผล ท่านจงถามเรา เรารู้อย่างแจ่มแจ้งกับการบรรลุในมรรคและผล
หลังจากที่ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ บรรลุพระอรหัตแล้ว ท่านก็ได้สมาทานธุดงค์ เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัดไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร ผู้สำรวมวาจา หมั่นประกอบในอธิจิต พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านพระปิณโฑลภารัทวาชะ ได้ถือปฏิบัติเช่นนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า
การไม่ว่าร้ายกัน ๑
การไม่เบียดเบียนกัน ๑
การสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค ๑
การนอน การนั่งในที่อันสงัด ๑
การประกอบความเพียรในการทำอธิจิต ๑
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ
 
พุทธะอิสระ