ถาม:
กรณีมติมหาเถรสมาคมมีมติสั่งปลด
๑.พระราชปริยัติสุนทร (อมรภิรักษ์ ปสนฺโน) ออกจากตำแหน่ง เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา
๒.ถอดถอนพระธรรมรัตนาภรณ์(สมศักดิ์ โชตินฺธโร)ออกจากตำแหน่ง เจ้าคณะ จ.ปทุมธานี
๓.ถอดถอน พระเทพสารเมธี (บัวศรี ชุตินฺธโร) ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะ จ.กาฬสินธุ์ (ธรรมยุต)
ทั้ง ๓ รูปโดยไม่แจ้งความผิดจนเกิดกระแสต้านมติจากกลุ่มลูกศิษย์ของแต่ละจังหวัดที่โดนปลด ท่านมีความเห็นอย่างไร อยากฟัง
อย่าตอบว่าไม่ใช่ธุระ ไม่อยากยุ่งนะ เพราะเห็นท่านมักจะมีความเห็นในประเด็นปัญหาคณะสงฆ์อยู่บ่อยๆ เรื่องนี้ท่านก็ควรที่จะแสดงความเห็นว่าอะไรถูกอะไรผิด
ตอบ:
คำถามภาคบังคับของคุณทำให้ฉันรู้สึกอึดอัด และฉันก็คิดว่าพุทธบริษัท ทุกคนก็คงจะอึดอัดต่อพฤติกรรม และความไม่ชัดเจนในทุกเรื่องของมหาเถรสมาคม ที่ไม่เคยเป็นแสงสว่างให้แก่คณะสงฆ์ และพุทธบริษัท ในทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในศาสนจักรใดๆ ได้เลย
กรณีมหาเถรมีมติสั่งปลดเจ้าคณะจังหวัด ๓ รูป ๓ จังหวัด นั้นก็เช่นกัน
ซึ่งหากจะว่ากันโดยหลักของพระธรรมวินัย และกฎหมายคณะสงฆ์แล้ว
การที่มหาเถรสมาคมจะใช้อำนาจทางการปกครองดำเนินการสั่งลงโทษแก่พระภิกษุรูปใด มหาเถรจะต้องมีการโจทด้วยอาบัติที่ภิกษุผู้ต้องโทษนั้น ว่าละเมิดอาบัติเรื่องอะไร สิกขาบทไหน
และถ้าเป็นความผิดในการปกครอง มหาเถรผู้สั่งลงโทษ ก็ต้องแจ้งความผิดนั้น ให้แก่ภิกษุผู้ถูกลงโทษได้ทราบว่า เขาได้ละเมิดกฎหมายคณะสงฆ์ในข้อใด
หรือถ้าเป็นเจ้าคณะพระสังฆาธิการ กระทำผิดจรรยาสังฆาธิการ มหาเถรก็ต้องแจ้งให้พระสังฆาธิการนั้นๆ ได้กระทำการชี้แจง หากไม่และพระสังฆาธิการได้ฝ่าฝืนจรรยาพระสังฆาธิการ เช่นนี้ มหาเถรก็มีอำนาจสั่งลงโทษได้ เช่นนี้เรียกว่า ผิดมารยาทในการปกครอง
แต่ไม่ว่าจะผิดธรรม ผิดวินัย ละเมิดอาบัติ หรือผิดกฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม
ทั้งสองกระบวนการนี้ ผู้ที่ถูกกล่าวหาก็ควรต้องมีโอกาสแก้ต่าง อธิบายความ แสดงความบริสุทธิ์ ซึ่งก็จะสอดคล้องต่อหลักพระธรรมวินัย หลักการปกครองตามทำนองคลองธรรมและของกระบวนการยุติธรรม
แต่สิ่งที่มหาเถรกระทำอยู่ในเวลานี้ มันทำให้สังคมพุทธ รู้สึกอึดอัด ไม่สามารถให้ผู้อื่นยอมรับได้โดยธรรม
ทั้งยังยิ่งสร้างปัญหา และเพิ่มความกังขาต่อการปกครองของมหาเถรสมาคมว่า เป็นการใช้อำนาจโดยสุจริต ยุติธรรมจริงแล้วหรือ
ภิกษุผู้ถูกมหาเถรสมาคมสั่งปลด บางรูป พุทธะอิสระก็มิได้ชอบนัก เช่น เจ้าคณะจังหวัดปทุม ที่มักจะวางเฉยต่อปัญหาของธรรมกาย ด้วยเพราะคุ้นเคยและมีผลประโยชน์ร่วมกัน
แต่มหาเถร ก็ควรทำความผิดของผู้ถูกปลด ให้ปรากฏชัดเจนต่อสังคมพุทธ มิใช่หลบๆ แอบๆ แล้วก็สั่งปลด โดยมิได้อธิบายบอกกล่าวเช่นนี้
มันก็ย่อมสร้างความอึดอัดกังขา แก่ผู้พบเห็นเป็นธรรมดา
มิหนำซ้ำ อาจจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ที่อาจทำให้คณะสงฆ์โดยรวม ไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของมหาเถรสมาคมตามมา
แล้วทีนี้ล่ะจะหนาว
พุทธะอิสระ